เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
สับปะรดตราดสีทอง พืชทอง ของคนเมืองตราด
   
ปัญหา :
 
 
จากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดตราด ที่อยู่ปลายสุดแผ่นดินของประเทศไทย และมีพื้นที่ด้านหนึ่งติดฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย ทำให้สภาพของอากาศ ความชื้น และสภาพดินเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชกลุ่มไม้ผล เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง เกษตรกรที่นี่จึงทำสวนไม้ผลกันมายาวนานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีสับปะรดตราดสีทองที่เป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของเกษตรกรจังหวัดตราด เป็นพืชที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรค่อนข้างสูง มีการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดปี ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ จัดเป็นสับปะรดบริโภคผลสดพันธุ์เดียวของไทย ที่ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ด้วยลักษณะเด่นที่รูปทรงผล สีผิวเหลืองส้ม รสชาติหวานมาก เนื้อเหลืองทองสม่ำเสมอ เนื้อแห้งกรอบและมีกลิ่นหอมกว่าสับปะรดทุกสายพันธุ์ จุดเด่นสับปะรดตราดสีทอง ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสับปะรดพันธุ์นี้ จัดเป็นสับปะรดกลุ่มควีน (Queen) ลักษณะเด่นภายนอกคือ ขอบใบที่ต้นและขอบใบที่จุกผลมีหนามสั้นๆ แหลมคม ทรงโค้ง สีน้ำตาลแดง ผลเป็นรูปทรงกระบอก ผิวเปลือกเมื่อแก่สุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้มหรือเหลืองส้ม ตาใหญ่ ร่องตาลึก เปลือกหนา ตาลึก ทนทานต่อการขนย้าย ลักษณะภายในนั้นมีความหวาน 16-20 บริกซ์ กลิ่นหอมมาก เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อและไส้กรอบ เนื้อแห้งไม่ฉ่ำน้ำ เนื้อมีเส้นใยอ่อนนุ่ม เคี้ยวไม่ติดฟัน สอบถามเกษตรกรและนักวิชาการสำนักงานเกษตรจังหวัดตราดว่า สับปะรดตราดสีทองเข้ามาเมื่อไร เป็นเรื่องระบุได้ยากมาก เพราะไม่มีการบันทึกไว้ แต่อาจเป็นไปได้ว่าในช่วงแรกๆ เป็นการนำเข้ามาจากทางภาคใต้เป็นพันธุ์ภูเก็ต ต่อมามีการยกระดับขึ้นมาเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด ซึ่งสมัยนั้นเกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอเขาสมิง จัดให้มีการประกวดสับปะรดตราดสีทอง ในงานเทศกาลผลไม้ประจำปีของดีจังหวัดตราด ทั้งที่ก่อนนั้นจัดประกวดเฉพาะสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียอย่างเดียว ในปีนั้นจึงได้จัดประกวดสับปะรดตราดสีทองอีกชนิดหนึ่ง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมสับปะรดตราดสีทองอย่างจริงจัง มีเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดรายใหญ่ เช่น คุณสุนทร สุนัติ คุณวิเชียร สุนทร และแกนนำกลุ่มสับปะรดเป็นผู้จัดส่งผลสับปะรดทั้ง 2 สายพันธุ์ เข้าประกวด นับแต่นั้นมาสับปะรดตราดสีทองก็เป็นที่รู้จักและสามารถเปิดตลาดการค้าได้อย่างกว้างขวาง เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคตลอดมา ผลพวงจากการส่งเสริมและพัฒนาสับปะรดตราดสีทอง นอกจากจะเปิดช่องทางตลาดด้านการค้า สร้างรายได้กับเกษตรกร ผู้ค้า และระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดตราดแล้ว ยังส่งผลให้คุณสุนทร สุนัติ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ สาขาการทำไร่ ประจำปี 2535 เข้ารับรางวัลโล่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มลฑลพิธีท้องสนามหลวง นอกจากนั้น สับปะรดตราดสีทองยังส่งผลให้ คุณอภิชัย เจริญกิจ นักวิชาการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด ผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสับปะรด (ขณะนั้น) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่นของจังหวัดตราด จากผลงานส่งเสริมสับปะรดตราดสีทองจนเป็นที่รู้จักและกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดตราดในเวลาต่อมา สับปะรดผลสด สินค้าใหม่ตลาดโลก จากข้อมูลด้านการส่งออกสับปะรดของไทยที่มีสัดส่วนการครองตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลกมาตลอดมากกว่า 10 ปี แต่เป็นการส่งออกผลิตภัณท์สับปะรดแปรรูปเกือบทั้งสิ้น ส่วนสับปะรดผลสดนั้นส่งออกน้อยมาก เทียบไม่ได้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไต้หวัน และประเทศผู้ผลิตสับปะรดแถบอเมริกาใต้และแอฟริกา ทั้งนี้ เพราะขาดการส่งเสริมด้านการวิจัย การพัฒนาและการส่งเสริมที่จริงจัง และขาดความต่อเนื่อง ยังไม่มีการพัฒนาสายพันธุ์สับปะรดใหม่ๆ ที่เป็นของไทยเอง ทั้งพันธุ์สับปะรดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม และพันธุ์สับปะรดเพื่อบริโภคผลสด เกษตรกรและภาคโรงงานจึงไม่มีทางเลือก และไม่มีโอกาสแข่งขันการค้าในตลาดต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าประเทศที่ผลิตสับปะรดเป็นการค้า มีพันธุ์สับปะรดผลสดเป็นของตัวเอง การส่งออกสับปะรดผลสดทำเงินเข้าประเทศกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เช่น พันธุ์ Tainung และ Honey Gold ของไต้หวัน พันธุ์ Josapine ของมาเลเซีย อีกวิธีหนึ่งคือเขานำเข้าสับปะรดพันธุ์ดีจากต่างประเทศเข้ามาส่งเสริมเกษตรกรเพื่อผลิตเป็นการค้า เช่น พันธุ์ MD-2 หรือพันธุ์ Gold เป็นสับปะรดพันธุ์ล่าสุดจากฮาวายที่ใช้ประโยชน์ได้ 2 อย่าง คือ เป็นสับปะรดบริโภคผลสดและอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ ที่กำลังมาแรงแซงหน้าทุกพันธุ์ เนื่องจากเข้าครองตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาไปเรียบร้อย แม้จุดกำเนิดจะอยู่ที่จากฮาวาย แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งออกมาจากหลายประเทศ เช่น คอสตาริกา ฮอนดูรัส กานา ไอวอรี่โคส เม็กซิโก เอกวาดอร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ขณะที่ไทยเราคงมีแต่พันธุ์ปัตตาเวียเท่านั้นที่ใช้เป็นผลสด และใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป แล้วก็ใช้กันมายาวนาน มากว่าประมาณ 40-50 ปี แต่ก็ไม่มีการพัฒนาสับปะรดพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ตราดสีทอง ของฝากจากธรรมชาติ จากการที่เกษตรกรจังหวัดตราดได้มีการนำสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตจากภาคใต้ไปปลูกเป็นเวลานานจนมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม (กลายพันธุ์) หรือการผสมข้ามพันธุ์กัน และให้ลักษณะต่างๆ ที่เด่นกว่าต้นพันธุ์ภูเก็ตของเดิม เช่น ผลมีความยาวและขนาดผลใหญ่กว่าทางภาคใต้ รสชาติที่หวาน สีเนื้อเหลือง เกษตรกรจึงเรียกชื่อใหม่ว่า พันธุ์ "สิงคโปร์-ปัตตาเวีย" ต่อมา ปี 2532 สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด จัดให้มีการประกวดสับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง และยกระดับให้เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดตราดอีกพืชหนึ่ง มีการส่งเสริมและขยายการผลิตสู่เกษตรกร และขยายการตลาดในเชิงการค้าอย่างรวดเร็ว มีการยอมรับจากผู้บริโภคมาก จัดว่าเป็นสับปะรดบริโภคผลสดพันธุ์เดียวของไทย ที่โดดเด่นกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย จึงสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดตราดเป็นอย่างมาก คณะกรรมการจังหวัดตราดเห็นความสำคัญและคุณค่า จึงมีมติให้ตั้งชื่อใหม่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดว่า "สับปะรดตราดสีทอง" ผลผลิตน้อยตลาดต้องการมาก ข้อมูลการผลิตสับปะรดตราดสีทอง ปี 2553 ของสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด สรุปไว้ดังนี้ พื้นที่ปลูก 8,947 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 6,180 ไร่ ผลผลิตรวม 24,700 ตัน มีแหล่งปลูกที่สำคัญ คือ เขตอำเภอเมือง เขาสมิง บ่อไร่ และแหลมงอบ ตามลำดับ จากข้อมูลการบริโภคสับปะรดผลสดในประเทศ ตกประมาณ 400,000-500,000 ตัน ต่อปี เป็นสับปะรดปัตตาเวียเกือบทั้งหมด เมื่อครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสได้นำคาราวานผลไม้พวกเงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง จากจังหวัดระยองไปออกร้านประชาสัมพันธ์ของดีภาคตะวันออกที่ตลาดสดในอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดขอนแก่น โดยเปิดให้มีการซื้อขายสินค้าเกษตรและสินค้าอื่นทั้งแบบขายส่งและขายปลีกตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้เกี่ยวข้องและผู้มาใช้บริการ ประมาณ 20,000-30,000 คน/วัน ครั้งนั้นทีมคาราวานจากระยองได้นำผลไม้ 4 ชนิด คือ เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง ไปเปิดตลาด จึงนำสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียไปทดลองการตลาดด้วย จำนวน 2,000 กิโลกรัม ดูว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งๆ ตอนที่ไปเป็นช่วงที่เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง มีผลผลิตออกมากที่สุด ราคาก็ต่ำที่สุด ในวันที่เริ่มมีการซื้อขายผลไม้ ผู้คนที่มารออยู่นั้น ต่างกรูเข้าซื้อผลไม้ทุกอย่างกันแบบโกลาหล ปรากฏว่าสับปะรดปัตตาเวีย 2 ตัน (ประมาณ 1,500 ผล) ที่ขายกิโลกรัมละ15-20 บาทนั้น ขายหมดเกลี้ยงในพริบตา จากการสอบถามพ่อค้าแม่ค้าและผู้ที่มาซื้อของที่ตลาดแห่งนี้ ทราบว่า คนขอนแก่นชอบรับประทานสับปะรดมาก โดยเฉพาะสับปะรดจากภาคตะวันออก เพราะมีรสชาติหวานกว่าสับปะรดจากจังหวัดหนองคาย ราคาในตลาดก็ซื้อขายกัน 15-20 บาท/กิโลกรัม แต่ไม่ค่อยเห็นสับปะรดพันธุ์ตราดสีทองวางขายที่ตลาดเลย จึงขอยืนยันว่า สับปะรดตราดสีทองเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่มีศักยภาพด้านตลาดในประเทศที่ไม่จำกัดขอบเขตภูมิภาค เพียงแต่จัดการด้านการกระจายผลผลิต และการขนส่งสู่จุดจำหน่ายให้ดี จะช่วยส่งเสริมการผลิตของเกษตรกรให้ขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น และควรดำเนินการพัฒนาเพื่อการส่งออกอย่างจริงจัง แม้มีรายงานผลการวิจัยที่ยังไม่สรุปแน่ชัดว่า มีการทดลองส่งไปประเทศญี่ปุ่นโดยทางเรือแล้วเกิดอาการไส้สีน้ำตาล (internal browning) ที่ยังแก้ไขไม่ได้ ขณะที่บางการทดลองสรุปว่า ไม่เกิดอาการดังกล่าวหรือเกิดขึ้นน้อยมาก และคุ้มค่ากับการลงทุนในการทำธุรกิจส่งออกไปญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้มาจากหลายส่วนสรุปได้ว่า สับปะรดตราดสีทองเป็นสับปะรดบริโภคผลสดหนึ่งเดียวที่ยังโดดเด่นมาก แม้ระยะหลังจะมีการพัฒนาสับปะรดภูแล นางแล และห้วยมุ่นขึ้นมาเป็นทางเลือกของผู้บริโภคก็ตาม แต่ก็ยังมีปริมาณที่น้อยมากและมีจุดอ่อนบางอย่างเมื่อเทียบกับสับปะรดตราดสีทอง การผลิตง่าย ต้นทุนต่ำ กำไรสูง การทำไร่สับปะรดอาจมองดูว่ามีการลงทุนที่สูงมากกว่าพืชชนิดอื่น นั่นเพราะมีการบริหารจัดการผลิตที่ไม่เหมาะสม แต่ชาวไร่ที่เป็นมืออาชีพ กลับเห็นว่าสับปะรดเป็นพืชที่ดูแลไม่ยาก เมื่อเทียบกับไม้ผลจำพวกเงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง หรือลำไย เพราะสับปะรดทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่ฝนไม่มากเกินไป ความต้องการน้ำปานกลาง ไม่มากเท่าไม้ผล โรคแมลงศัตรูก็ไม่ค่อยมี ที่สำคัญสับปะรดเป็นพืชที่สามารถกำหนดแผนการผลิตได้ค่อนข้างแน่นอน จัดเป็น programe crop ได้จริง สามารถกำหนดวันปลูก เก็บเกี่ยวได้ กระจายการผลิตได้ตลอดปี มีความแน่นอน แผนการผลิตและเก็บเกี่ยวจะผิดพลาดไม่มาก สับปะรดตราดสีทองยังมีอายุการเก็บเกี่ยวนับแต่วันที่บังคับการออกดอกเพียง 135 วัน ซึ่งเร็วกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย 15-20 วัน บังคับการออกดอกง่ายคือ จะออกดอกถึง 95-100 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้สารบังคับดอกเพียง 1 ครั้ง เท่านั้น ให้จำนวนหน่อที่มากกว่า ซึ่งจะเป็นรายได้ของเกษตรกรอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ทรงผลของสับปะรดตราดสีทองยังมีความสม่ำเสมอทั้งขนาด ความยาวผล น้ำหนัก รูปทรงที่ดีมาก หากมีการดูแลและบำรุงตามข้อแนะนำที่ดี จะให้ความยาวของผลระหว่าง17-20 เซนติเมตร ที่เรียกว่าผลจัมโบ้ (ผลใหญ่) ขายได้ราคาหน้าฟาร์ม 8-14 บาท/ผล ซึ่งปกติผลผลิตสับปะรดตราดสีทองช่วงเก็บเกี่ยว จะให้ขนาดของผลเป็นผลจัมโบ้ 40-50 เปอร์เซ็นต์ ผลขนาดกลาง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ผลเล็ก และ จิ๋ว 10 เปอร์เซ็นต์ ราคาขายที่ต่างกันแต่ละขนาด ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายแบบคละหรือขายเหมาเป็นไร่ เฉลี่ย 8-10 บาท/ผล เกษตรกรมีกำไรสุทธิจากการลงทุน 50-200 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับช่วงเดือนที่เก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น เดือนกรกฎาคม-กันยายน ราคาสับปะรดจะสูงมาก ส่วนเดือนเมษายน-มิถุนายน ราคาจะตกลงมาบ้าง เพราะเป็นฤดูกาลของผลไม้พวก ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกองที่ออกสู่ตลาดมาก ขณะที่เกษตรกรที่ปลูกสับปะรดตราดสีทองแซมสวนยางพารา ใช้หน่อปลูกระหว่าง 4,000-6,000 ต้น/ไร่ แต่หากปลูกเป็นพืชเดี่ยวจะปลูกได้ถึง 7,000-8,000 ต้น/ไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้และกำไรจากการลงทุนปลูกสับปะรดตราดสีทองค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพืชอื่น อย่างไรก็ตาม ราคาที่เกษตรกรขายได้จะสะท้อนผลกำไรหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของเกษตรกรด้วยว่า มีการปฏิบัติอย่างไร ด้านการใช้ปัจจัยการผลิต ปุ๋ยเคมี สารกำจัดวัชพืช สารบังคับการออกดอก ฮอร์โมน อาหารเสริม รวมทั้งแผนการปลูก การบังคับการออกดอกของสับปะรดด้วย สำหรับเกษตรกรที่มีประสบการณ์และเป็นมืออาชีพจะทำต้นทุนการผลิตสับปะรดตราดสีทอง 3.50-4.00 บาท/ต้น แต่มีเกษตรกรหลายคนที่ใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพและปุ๋ยขี้ไก่ทดแทน ปุ๋ยเคมีกลับมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าคือระหว่าง 2.80-3.00 บาท/ต้น เท่านั้น ลองคิดดูว่าเกษตรกรจะมีกำไรสุทธิต่อการลงทุนระหว่าง 20,000-30,000 บาท/ไร่ จึงเป็นพืชทองของคนเมืองตราดอย่างแท้จริง ล้งใหญ่ สับปะรดตราดสีทอง ป้าละเมียด กองแก้ว เจ้าของล้งสับปะรดตราดสีทอง "ป้าเมียด" ตั้งอยู่ที่ตำบลแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ให้ข้อมูลว่า ทำธุรกิจด้านรับซื้อผลผลิตสับปะรดเพื่อขายส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าจากต่างจังหวัด โดยรับซื้อสับปะรดตราดสีทองเป็นหลัก อาจเป็นผลไม้ตามฤดูกาลบ้าง ซึ่งเกษตรกรที่มาขายมักเป็นขาประจำกันมานาน ราคาซื้อขายแบ่งตามขนาดผล (เบอร์) ที่แบ่งเป็น 5 ขนาด คือ ผลโต ผลกลาง ผลเล็ก ผลจิ๋ว และผลดอก การแบ่งขนาดผลสับปะรดใช้ความยาวของผลเป็นข้อกำหนด คือ วัดจากโคนจุกถึงรอยต่อของก้านผลสับปะรด (นับจำนวนตาตามแนวตั้ง) ซึ่งจะมีความแตกต่างขนาดละ 2-3 ตา หรือประมาณ 1-2 นิ้ว ราคาซื้อขายมีความต่างกันขนาดละ 2-3 บาท ปริมาณผลผลิตสับปะรดตราดสีทองจะมีมาก และราคาจะลดลงบ้างในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน และเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ราคาจะค่อนข้างสูงในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และเดือนกรกฎาคม-กันยายน ส่วนลูกค้าที่มาซื้อสับปะรดตราดสีทองจะแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ 1. โรงงานแปรรูปที่นำไปทำสับปะรดอบแห้ง (vaccumn fried) 2. โรงงานที่ปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นตามยาว (spear) เสียบไม้แล้วแพ็กกล่องแช่แข็งส่งตลาดต่างประเทศ 3. โรงงานทำสับปะรดกระป๋องแบบแว่นเล็ก (baby slice) 4. พ่อค้าจากกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ที่ติดต่อมาซื้อตลอดปี ป้าละเมียด บอกว่า ตลาดกรุงเทพฯชอบสับปะรดตราดสีทองมาก ที่ล้งนี้มีเกษตรกรนำสับปะรดเข้ามาขายประมาณ 3,000,000-4,000,000 ผล ราคารับซื้อที่ล้งโดยเฉลี่ยทั้งปี 5-10 บาท/ผล ขึ้นกับขนาดผลและช่วงเดือนที่เก็บเกี่ยว หากเกษตรกรวางแผนการปลูกให้เก็บสับปะรดในช่วงไม่ตรงกับฤดูผลไม้จะได้ราคาสูง ผลใหญ่อาจถึง 13-15 บาท/ผล ป้าละเมียด ฝากข้อคิดไว้ว่า สับปะรดตราดสีทองเป็นของมีคุณค่าของคนจังหวัดตราด ทุกคนควรส่งเสริมทางวิชาการให้เกษตรกร เพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิต ด้านการลดต้นทุนชาวไร่ และที่สำคัญควรทำให้เป็นสินค้าโอท็อปเด่นของจังหวัดอย่างจริงจัง เพราะเป็นจังหวัดเดียวที่มีการปลูกสับปะรดพันธุ์นี้ และช่วยสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดตราดเป็นที่รู้จักมากขึ้น นำรายได้เข้าจังหวัดจำนวนมากในแต่ละปี ชนิดไม่เป็นรองผลไม้อื่น เยี่ยม บริษัท ตราดสีทอง จำกัด คุณพีระพงศ์ ครองธรรม ผู้จัดการบริษัท ตราดสีทอง จำกัด ตั้งอยู่ที่เขตอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด บริษัทในเครือบางกอกแอร์เวย์ เล่าให้ฟังว่า ผู้บริหารเล็งเห็นคุณค่าของสับปะรดตราดสีทอง จึงปลูกสับปะรดขึ้นในพื้นที่ 400 ไร่ เพื่อใช้เป็นผลไม้หลักในการบริการลูกค้าบนเครื่องบินโดยสารของสายการบินบางกอก แอร์เวย์ และลูกค้าที่มาใช้บริการธุรกิจในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพทั่วประเทศ ส่วนผลผลิตที่มีมากเกินความต้องการใช้ของบริษัทจะขายให้กับพ่อค้าที่ไปรับซื้อที่ไร่ โดยจะมีการติดต่อกันก่อนล่วงหน้า ราคาก็ตกลงกันตามขนาดผลสับปะรดและตามช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว บริษัทจะขายผลผลิตเป็น 2 แบบ คือ ขายเหมาแปลงและให้พ่อค้ามาตัดสับปะรดในแปลง พร้อมขนผลผลิตออกจากไร่เอง ส่วนอีกวิธีนั้นทางบริษัทจะตัดสับปะรดออกมาแล้วคัดแยกไว้ตามขนาดต่างๆ ราคาขายกำหนดเป็นบาท/ผล ราคาทั่วไปคือ ผลดอก 3-5 บาท ผลจิ๋ว 6-7 บาท ผลเล็ก 8-9 บาท ผลโตกลาง 10-12 บาท และผลจัมโบ้ 14-15 บาท ด้านการบริหารการผลิตมีการปลูกเป็นรุ่นๆ ห่างกันเป็น 1-2 เดือน แล้วบังคับการออกดอกเป็นแปลงย่อย แบ่งเป็นรุ่น เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวสับปะรดได้ตลอดทุกเดือน เพื่อส่งให้กับสายการบินและโรงพยาบาลในสังกัดได้ตลอดปี โดยจะปลูกเพียง 4,000 ต้น/ไร่ เท่านั้น เพื่อให้ได้ผลผลิตสับปะรดขนาดเบอร์จัมโบ้และเบอร์โตกลางจำนวนมากในแต่ละรุ่น และต้องการเลี้ยงหน่อสับปะรดไว้เก็บเกี่ยวในรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 ซึ่งก็เป็นวิธีการจัดการที่เหมาะสม ด้านรายได้ คุณพีระพงศ์ บอกว่า ค่อนข้างดีมาก เพราะพ่อค้าชอบและต้องการนำไปขายต่อเพื่อเอากำไรปัจจุบันนโยบายระดับสูงกำหนดให้ทางไร่ทำการผลิตให้ได้ปีละ 1,000,000 ผล เท่านั้น แต่อนาคตจะมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น เพื่อส่งสับปะรดตราดสีทองไป ตลาดญี่ปุ่นและประเทศแถบเอเชีย "สับปะรดตราดสีทองนั้นมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ สังเกตจากผู้โดยสารที่มาใช้บริการของบางกอกแอร์เวย์ และคนไทยทั่วไปชื่นชอบมาก จึงควรส่งเสริมการผลิตให้เป็นระบบ เพราะตลาดยังกว้างทั้งในและต่างประเทศ ส่วนคุณภาพผลผลิตนั้น เกษตรกรสามารถทำได้ดีระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังต้องปรับวิธีการปฏิบัติบ้าง เพื่อพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น และลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง โดยการแนะนำการใช้ปัจจัยการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสมและการจัดการที่ดี" จากข้อเขียน สับปะรดตราดสีทองฉบับนี้ เป็นการเสนอข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกรผู้ค้า นักธุรกิจ กับมุมมองของผู้เขียนที่พอมีประสบการณ์ในงานส่งเสริมการผลิตและตลาดสับปะรด โดยพิจารณาคุณค่าและเอกลักษณ์ของพืชนี้ที่มีจุดเด่น และหากใช้ศักยภาพในการสร้างโอกาสทางการตลาดได้กว้างขวางยิ่งขึ้น เชื่อว่าสับปะรดตราดสีทองจะเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปหนึ่งเดียวที่คนจังหวัดตราดพูดได้อย่างเต็มภาคภูมิ หากมองไปในอนาคตอันใกล้ปี 2558 ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) และภาคี AFTA ในบริบทของเอเชีย-จีน สับปะรดตราดสีทองมีโอกาสจะเป็นพืชทองคำของชาวไร่จังหวัดตราด และหรือชาวไร่ในภาคตะวันออก ด้วยเส้นทางการค้าที่เอื้อต่อการขนส่งผลสับปะรดตราดสีทองไปประเทศจีน เพราะจะใช้เวลาเดินทางสั้นๆ ไม่เกิน 3-5 วัน จะไม่เกิดอาการไส้สีน้ำตาล และด้วยที่ประเทศจีนมีประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน กำลังซื้อสูง อีกทั้งจุดเด่นของสับปะรดตราดสีทองที่ดีกว่าสับปะรดทุกพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน ข้อจำกัดด้านการค้าน้อยมาก ไม่ต้องกังวลกับสารตกค้าง ในวงการผลไม้สากลเขายอมรับและยกให้สับปะรดเป็นตัวจริงแห่ง King of Fruit หากพวกเราจะมาช่วยกันยกระดับให้ "สับปะรดตราดสีทอง" กลายเป็น "พืชทองของคนเมืองตราด" อย่างแท้จริง คงจะไม่ยากเกินไปใช่ไหมครับ
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ตราด
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออก
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 24 ฉบับที่ 515
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM