เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
อะโวกาโด อำเภอปัว อีกหนึ่งของดีเมืองน่าน
   
ปัญหา :
 
 
วันที่ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านขึ้นไปจังหวัดน่าน เพื่อเตรียมข้อมูลทำรายงานพิเศษนั้น ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากหน่วยงานที่ประสานงานไว้ กำหนดการหนึ่งที่สำนักงานเกษตรจังหวัดแนะนำว่า ควรแวะไปดูนั้น คืองานปลูกอะโวกาโด ที่อำเภอปัว เมื่อลงจากดอยติ้ว อำเภอท่าวังผา แวะกินข้าวริมทาง ลา สจ. บัณฑิต สวยงาม ทาง ผอ. ประสงค์ ไชยลังกา พาไปที่สำนักงานเกษตรอำเภอปัว ซึ่ง คุณสมชาย พรหมลังกา เจ้าถิ่น รออยู่แล้ว ระหว่างนั่งรถ คุณสมชายเล่าว่า ตอนแรกมีปลูกอะโวกาโดที่ฟาร์มบางระจัน บ้านป่ากลาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน เมื่อมีการแจกจ่ายพันธุ์ให้เกษตรกรปลูก ปรากฏว่า กลายพันธุ์ไม่น้อย ซึ่งกลายในลักษณะที่ดีเด่นและด้อยลงก็มี บางต้นน้ำหนักมากถึง 1.5 ผล ต่อกิโลกรัม ทุกวันนี้ ชาวบ้านเริ่มรู้จักอะโวกาโดมากขึ้น ถือว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะเช้าๆ ทีมงานออกไปเดินตลาดเมืองน่าน เห็นผลอะโวกาโดสวยๆ อดที่จะซื้อกลับกรุงเทพฯไม่ได้ เริ่มจริงจัง เมื่อปี 2532 เกษตรกรผู้ปลูกอะโวกาโด ที่คุณสมชายพาไปเยี่ยมชมคือ คุณนิพนธ์ ธุรชน อยู่บ้านเลขที่ 114 หมู่ที่ 4 ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน ปัจจุบัน อายุ 62 ปี คุณนิพนธ์ เรียนจบจากวิทยาลัยเกษตรกรรมบางพระ เมื่อปี 2512 ปัจจุบัน สถาบันแห่งนี้ คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ หลังเรียนจบเขาทำงานอยู่ที่น่าน ตำแหน่งสุดท้ายคือ หัวหน้าศูนย์สนับสนุนการเกษตรฟาร์มบางระจัน บ้านป่ากลาง ศูนย์แห่งนี้ ทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวเขาในยุคเก่าก่อน พืชที่ปลูกมากมายหลายชนิดในศูนย์ มีอะโวกาโดรวมอยู่ด้วย คุณนิพนธ์ ถึงแม้มีภูมิลำเนาอยู่อุบลราชธานี แต่ต้องมนต์เมืองน่าน จึงมีภรรยาเป็นครู ทุกวันนี้กลับอุบลฯแทบไม่ถูกแล้ว เขาลาออกจากงาน เมื่อปี 2530 มาทำสวนผสมพื้นที่กว่า 10 ไร่ พืชที่ปลูกมีไม้ผลพื้นเมือง ที่เขาปลูกกัน ส่วนอะโวกาโดมีต้นใหญ่ๆ ราว 50 ต้น หากนับเวลาที่ศึกษาอย่างจริงจัง เริ่มราวปี 2531-2532 ถึงปัจจุบัน เจ้าตัวได้เขียนถึงอะโวกาโดไว้ว่า อะโวกาโด เป็นผลไม้ที่รู้จักกันมานานในแถบอเมริกา และยุโรป เนื่องจากอะโวกาโดมีคุณค่าอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าผลไม้อื่น โดยชาวต่างชาติใช้เนื้ออะโวกาโดสุกในการประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน เช่น ส่วนประกอบจากสลัด หรือรับประทานเปล่าๆ รับประทานกับไอศครีม น้ำตาล นมข้น หรือปั่นกับนมข้น หรือน้ำเชื่อมทำเป็นเครื่องดื่ม สกัดเอาน้ำมันจากเนื้อทำเครื่องสำอาง แทนน้ำมันมะกอก สำหรับบ้านเราในแง่คิดของคุณนิพนธ์แล้ว อาจจะแปรรูปออกมาหลายอย่าง เช่น ทำขนมหม้อแกง รับประทานกับน้ำกะทิแบบแตงไทย ทำข้าวเกรียบ หรือรับประทานเสร็จเปลือกที่มีเนื้อติด เอามานวดใบหน้ารักษาสิว ฝ้า หรือไม่ก็ปั่นแล้วมาหมักผม หรืออาจจะทำเป็นแชมพูหมักผมก็ได้ เนื่องจากอะโวกาโดมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าไม้ผลชนิดอื่นๆ มีโปรตีนสูง มีน้ำตาล มันข้น ที่ให้ค่าความร้อนต่อร่างกายสูง แต่ปริมาณของคาร์โบไฮเดรตต่ำ ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน บริโภคผลไม้ชนิดนี้ ไขมันก็ย่อยง่าย ประเทศญี่ปุ่นเคยเอาผลไม้ 70 ชนิด ไปวิจัย พบว่าอะโวกาโดสามารถรักษาโรคได้ ในประเทศไทยเกษตรกรยังปลูกอะโวกาโดกันน้อย ปริมาณที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทางประเทศไทยนำเข้ามา และขายกัน ผลละ 80 บาท ต้นอะโวกาโดเป็นพืชพื้นเมืองในแผ่นดินใหญ่ของอเมริกากลางแถบร้อน ที่จังหวัดน่านมีมิชชันนารี นำผลมารับประทานสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นเพาะเมล็ดปลูกไว้ ที่หน้าบ้านอัยการจังหวัดน่าน พบว่า ต้นโตประมาณโอบครึ่ง ผลมีลักษณะกลม ทุกวันนี้อะโวกาโดต้นดังกล่าวได้ตายไปแล้ว คนรู้จักดีขึ้น คุณนิพนธ์ เขียนเล่าไว้ว่า เมื่อปี 2517 ศูนย์อพยพบ้านป่ากลาง ที่รับชาวเขาอพยพลงมาจากดอย เนื่องจากเกิดการต่อสู้กันระหว่างรัฐบาล กับพลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในสมัยนั้น จึงส่งเสริมให้มีการปลูกลิ้นจี่และอะโวกาโด โดยหวังว่า จะให้เป็นผลไม้ประจำจังหวัด องค์การซีอาโต้สมัยนั้นได้สั่งพันธุ์อะโวกาโดจากฟิลิปปินส์มาปลูก จำนวน 11สายพันธุ์ โดยเกษตรกร 1 ราย ปลูกจำนวน 2 ต้น เมื่อปี 2528 ทางการได้มอบศูนย์ให้อยู่ในความดูแลของจังหวัดน่าน ต่อมาปรากฏว่า อะโวกาโดไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร จึงล้มหายตายจากไปมาก คุณนิพนธ์ได้ตามไปเก็บรวมพันธุ์ไว้ได้ 9 สายพันธุ์ "มิชชันนารี ที่สอนอยู่โรงเรียนน่านคริสเตียนนำมากิน แล้วเมล็ดถูกนำลงปลูกไว้ ที่เติบโตมีอยู่หน้าบ้านอัยการ ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว ชาวบ้านที่น่านเรียกอะโวกาโดว่า...หมากแพ...สายพันธุ์หลังๆ ผมนำมาจากสถานีวิจัยปากช่อง ของ อาจารย์ฉลองชัย แบบประเสริฐ อะโวกาโดปลูกต้นเดียวเดี่ยวๆ ไม่ค่อยติดผล เพราะว่ามีการผสมข้ามต้น ดังนั้น ต้องปลูกหลายต้น อีกอย่างหนึ่งที่ควรระวังคือ หากน้ำใต้ดินตื้น น้ำมาก รากจะเน่า ที่ลุ่มอย่างกรุงเทพฯปลูกไม่ดี" คุณนิพนธ์เล่า และบอกต่ออีกว่า "ผลผลิตที่ออกมาในยุคแรกๆ ชาวบ้านกินไม่เป็น เอาไปเตะเล่น ผมแนะนำให้ซื้อน้ำตาลทราย นมข้นหวานราด เมื่อได้ชิมคนรู้จักมากขึ้น ของผมต้นอายุมากสุด ที่ปลูก 20 ปีมาแล้ว ผลผลิต 300-500 กิโลกรัม ต่อต้น ราคาซื้อขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-30 บาท สำหรับทุกวันนี้ คนซื้อส่วนหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยว ซื้อไปชิมแล้วติดใจ" วิธีการปลูกและขยายพันธุ์ เจ้าของอธิบายว่า อะโวกาโดขยายพันธุ์ได้หลายแบบ เริ่มจากการเพาะเมล็ด ติดตา ต่อกิ่ง การเพาะเมล็ดให้ผลผลิตหลังปลูก 5-6 ปี แต่พบว่ามีการกลายพันธุ์ ซึ่งอาจจะมีลักษณะดีขึ้นหรือด้อยลงก็ได้ ส่วนระยะปลูกนั้น ถ้าเป็นพื้นราบ ได้รับคำแนะนำว่า ควรปลูกระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 10 คูณ 10 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 16 ต้น ถ้าที่ลาดเชิงเขา ปลูกระยะ 6 คูณ 8 เมตร ปลูกได้ 24-30 ต้น ต่อไร่ วิธีการเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมกว้าง ยาว และลึก 50-70 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกเก่าๆ หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว ปลูกใหม่ๆ ให้ปุ๋ยสูตรที่มีตัวหน้าสูง เมื่อต้นโต อยู่ในระยะใกล้ออกดอกให้ปุ๋ยสูตรตัวกลางและตัวท้ายสูง อย่าง 8-24-24 สำหรับการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ใส่สูตร 13-13-21 แนวทางการใส่ปุ๋ย ไม่ได้ถือว่าเป็นสิ่งตายตัว ผู้ปลูกอาจจะใส่เฉพาะปุ๋ยหมักให้ก็ได้ แต่ยุคนี้ต้องเป็นปุ๋ยชีวภาพ หรือผสมผสานระหว่างปุ๋ยอินทรีย์และเคมีก็ได้ ถามว่า อะโวกาโดสุกแก่ดูแลอย่างไร เกษตรกรอาวุโสนัยน์ตาสีเหล็กบอกว่า หนึ่ง...ผิวผลจะเริ่มตกกระ สอง...บางพันธุ์เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นม่วง สาม...ผิวผลนิ่ม ฤดูกาลอะโวกาโดที่ปัว จะเริ่มมีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ไปจนถึงเดือนตุลาคม แล้วแต่สายพันธุ์ เช่นพันธุ์ปีเตอร์สัน สุกเร็ว "หลังจากเก็บอะโวกาโดมาแล้ว ต้องบ่ม วิธีการคือ วางไว้ในห้องธรรมดา แล้วใช้ผ้าคลุม ผมว่า ควรศึกษาอะโวกาโดอย่างจริงจัง ทำให้มีคุณภาพ" คุณนิพนธ์ กล่าว สำหรับผู้สนใจเรื่องราวของอะโวกาโด ถามไถ่ได้ที่ โทร. (089) 895-1545 และ (054) 792-017 หรือติดต่อผ่าน คุณสมชาย พรหมลังกา โทร. (089) 895-1545 และ (054) 792-017 ลักษณะทั่วไปของอะโวกาโด 1.ต้นอะโวกาโด เป็นไม้ผลยืนต้นที่มีใบเขียวตลอดปี ต้นโตเต็มที่ สูง 6-18 เมตร เป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งเปราะ ทรงต้นแตกต่างกันมาก มีทั้งทรงต้นตรง ลำต้นอวบใหญ่ จนกระทั่งเป็นทรงพุ่มเตี้ย ลำต้นเล็ก เปลือกลำต้นขรุขระ สีน้ำตาลอ่อน มีร่องตามยาวของกิ่ง ใบเรียงสลับบนกิ่ง 2.ใบ ใบเรียงสลับบนกิ่ง ก้านใบสั้นรูปใบยาว ปลายใบเรียวแหลมถึงแหลมป้าน ใบเป็นใบเดี่ยวมีเขียวสด ด้านบนของใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า ยาวประมาณ 8-40เซนติเมตร และกว้างประมาณ 5-18 เซนติเมตร ก้านใบยาว 3-8 เซนติเมตร ใบจะอยู่หนาแน่นที่ส่วนปลายของกิ่งฝอย 3.ดอก ดอกออกเป็นช่อ ตรงปลายกิ่งมีดอกจำนวนมาก แต่ละดอกมีขนาดเล็ก สีเขียวอมเหลือง ก้านชูดอกสั้น ดอกประกอบด้วยกลีบดอก และกลีบรองดอก ในจังหวัดน่านหรืออำเภอปัว จะเริ่มแทงช่อดอกขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและสายพันธุ์ บางปีเริ่มแทงช่อดอก เดือนธันวาคมหรือมกราคม 4.ผล ผลอะโวกาโดเป็นแบบผลเดี่ยว มีรูปร่างต่างๆ กัน เช่น รูปร่างแบบผลฝรั่ง ผลรูปไข่ ผลกลม หรือยาวคล้ายมะเขือยาว แต่ส่วนใหญ่จะมีรูปร่างเป็นรูปไข่ หรือทรงกลม สีของผิวมีทั้งสีเขียวปนเหลือง หรือม่วง ผิวของผลอาจจะเรียบเป็นมัน หรือขรุขระ เปลือกหนา และเหนียว บางพันธุ์เปราะ เนื้อผลจะมีสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม มีเมล็ดขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายลูกข่าง หรือกลมแป้น หรือแหลม มีเปลือกหุ้มเมล็ด 2 ชั้น เมล็ดมีใบเลี้ยง 1 คู่ ขนาดใหญ่ หนา สีขาวครีม ผิวของใบเลี้ยงอาจจะเรียบหรือขรุขระ คุณค่าทางอาหารของอะโวกาโด เมื่อเทียบกับผลไม้อื่นๆ พลังงาน (แคลอรี) ต่อน้ำหนัก เนื้อ 1 กิโลกรัม (ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม อะโวกาโด เป็นพืชเขตร้อน และกึ่งร้อนที่มีความต้องการดินฟ้าอากาศ ดังนี้ 1.ดิน ไม้ผลชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดีในดินหลายประเภท แต่ดินที่เหมาะสมแก่การปลูกต้องเป็นดินที่มีการระบายน้ำดี ดินสมบูรณ์ และเนื้อดินลึก ดินในที่ราบลุ่มหาดกลาของไทยซึ่งมีน้ำต่ำกว่าผิวดินไม่ถึง 1 เมตร ถึงแม้จะยกร่องปลูกต้นอะโวกาโดก็มีอายุไม่ยืน นอกจากไม่ทนต่อน้ำท่วม นอกจากนี้ ถ้าดินมีความชื้นสูงเกินความต้องการจะทำให้การถ่ายเทอากาศในดินไม่ดี เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรครากเน่าได้ 2.อุณหภูมิ อุณหภูมิของประเทศไทยไม่เป็นอุปสรรคต่อการปลูกอะโวกาโด เพราะต้นอะโวกาโดสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี 3.ปริมาณน้ำฝน ความต้องการน้ำฝนของต้นอะโวกาโด อย่างต่ำเฉลี่ย 750-1,000 มิลลิเมตร/ปี 4.ลม ต้นอะโวกาโด เป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งเปราะ ลมที่พัดกระโชกแรง จึงเป็นอันตรายต่อต้นและผลของอะโวกาโด ในที่ไม่มีแนวป้องกันลมตามธรรมชาติ ต้องปลูกไม้กันลม เพื่อป้องกันความเสียหาย การตัดแต่งต้นให้เตี้ยและทรงพุ่มให้โปร่งจะช่วยได้พอสมควร
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
น่าน
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 24 ฉบับที่ 515
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM