เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ขอนแก่น 80 ทางเลือกใหม่ มะละกอบริโภคสุก
   
ปัญหา :
 
 
มะละกอ จัดเป็นผลไม้ยอดนิยมชนิดหนึ่งของคนทั่วโลก สามารถขึ้นได้ดีในเขตร้อนและกึ่งร้อน รวมทั้งประเทศไทยที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม สามารถปลูกมะละกอคุณภาพดีส่งไปขายต่างประเทศได้ แต่ปริมาณการส่งออกในปัจจุบันไม่มากนัก ส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้บริโภคภายในประเทศ แต่ในอนาคตมะละกอน่าจะเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจได้ การปลูกมะละกอของไทยที่ผ่านมาประสบปัญหาการระบาดของโรคจุดวงแหวนเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดแคลนมะละกอพันธุ์ดีเพื่อการบริโภคสุกและทนทานต่อโรคจุดวงแหวน มะละกอพันธุ์ "ขอนแก่น 80" ได้จากการปรับปรุงพันธุ์มะละกอ 2 สายพันธุ์ คือ ฟลอริด้า ทอเลอแรนท์ (เป็นมะละกอที่มีดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่คนละต้น มีผลขนาดเล็กกลม น้ำหนัก 400-700 กรัม เมื่อสุกมีสีเหลืองส้ม ผลสุกเก็บเกี่ยวได้ภายใน 5-6 เดือน มีความทนทานต่อโรคจุดวงแหวนดีมาก) และพันธุ์แขกดำ (เป็นมะละกอที่ปลูกแพร่หลายในประเทศไทย คนไทยคุ้นเคยนิยมรับประทานทั้งผลดิบและผลสุก เป็นพันธุ์ที่มีทั้งต้นที่เป็นเพศผู้ต้นเพศเมีย และต้นสมบูรณ์เพศ (กะเทย) โดยต้นกะเทยให้ผลยาวเรียว เป็นผลขนาดกลาง 1-1.3 กิโลกรัม ผลดิบเนื้อแน่น กรอบ ผลสุกมีเนื้อสีแดงส้ม) ลักษณะเด่นมะละกอ "ขอนแก่น 80" มีการเจริญเติบโตทั่วไปดีและสม่ำเสมอ ดอกแรกบานเมื่ออายุ 74 วัน และติดผลแรกเมื่ออายุ 81 วัน ความสูงของต้นเมื่ออายุ 7 เดือน เฉลี่ย 132 เซนติเมตร ผลแรกเริ่มสุก เมื่ออายุ 7 เดือน หลังย้ายปลูก (ซึ่งมะละกอสายพันธุ์อื่นจะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 9-10 เดือน) มีรูปร่างผลสม่ำเสมอเป็นรูปรี ส่วนหัวเล็กก้นป่อง น้ำหนักผลเฉลี่ย 700 กรัม โดยประมาณ ผลสุกเนื้อสีแดงส้ม รสชาติหวาน หอม อร่อยมาก และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ความหวานเฉลี่ย 13-14 องศาบริกซ์ ผลผลิตเท่ากับ 6,000 กิโลกรัม/ไร่ หรือ 6 ตัน/ไร่ มีความทนทานต่อโรคจุดวงแหวนดี คือ แสดงอาการเหลืองด่างที่ใบ แต่ไม่มีอาการที่ผล นอกจากนี้ ผลมีผิวเป็นมัน เปลือกหนา จึงทนทานต่อการขนส่งได้ดี เนื้อแน่น และหลังการเก็บเกี่ยวสุกช้ากว่าพันธุ์แขกดำและแขกดำท่าพระ ผลมีขนาดเล็ก เหมาะที่จะผ่าและใช้ช้อนตักรับประทาน เป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีมาก มีศักยภาพที่จะเป็นพันธุ์แนะนำและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้าทางเลือกหนึ่งได้ จากการทดสอบ พบว่า สายพันธุ์ขอนแก่น 80 มีคุณภาพดีเด่นกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ ในกรณีของการบริโภคสุก จะว่าไปแล้วมะละกอ "ขอนแก่น 80" เมื่อบริโภคสุก มีรสชาติหวาน หอม และอร่อยกว่าพันธุ์เรดมาราดอลด้วยซ้ำไป ปัจจุบันทั้งคนไทยและต่างประเทศนิยมรับประทานมะละกอสุกผลเล็ก เนื้อสีแดงหนา มะละกอสายพันธุ์ ขอนแก่น 80 ที่มีความดีเด่นในด้านความหวานและขนาดของผลที่เล็กกว่า อาจใช้เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับบริโภคสุก สมควรใช้เป็นพันธุ์แนะนำแก่เกษตรกรปลูกเป็นการค้าขายในประเทศและเพื่อการส่งออกในอนาคต การเลือกพื้นที่ปลูก มะละกอพันธุ์ "ขอนแก่น 80" ปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ที่เหมาะสมควรเป็นดินร่วนปนทรายหรือร่วนปนเหนียวที่มีการระบายน้ำดี ต้นมะละกอไม่ชอบน้ำขัง จะทำให้โคนต้นเน่าตายได้ ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลมแรง การทำสวนขนาดใหญ่ควรปลูกไม้กันลมไว้ เช่น ไผ่ กล้วยหิน มะละกอจะเจริญเติบโตได้ดีถ้าได้รับแสงแดดเต็มที่ จึงไม่ควรปลูกถี่หรือชิดเกินไป ในการเตรียมดินและการปลูก ไถพื้นที่เพื่อปราบวัชพืช 2 ครั้ง ครั้งแรกไถกลบ ครั้งที่ 2 ไถพรวนย่อยดินให้ร่วน โดยทั่วไปใช้ระยะ 2.5x2.5 เมตร ขุดหลุมสี่เหลี่ยม ผสมดินปากหลุมกับปุ๋ยคอกประมาณครึ่งปี๊บ ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 20 กรัม/หลุม ไม่ควรปลูกลึก จะทำให้รากเน่า ปลูกหลุมละ 2-3 ต้น เมื่อมะละกอแสดงเพศแล้วจึงถอนแยกทีหลัง ให้เหลือต้นกะเทยไว้ หลุมละ 1 ต้น การเตรียมต้นกล้า เพาะเมล็ดลงในถุงโดยตรง โดยเตรียมดินผสมให้ร่วนซุย อัตราส่วน ดิน 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน และขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน หยอดเมล็ดมะละกอ ถุงละ 3 เมล็ด ลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน เมล็ดจะงอกหลังเพาะประมาณ 10-14 วัน ควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบและสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เช่น เซฟวิน-85 เมื่อต้นกล้าเริ่มงอก และหลังจากนั้นทุก 10 วัน จนอายุได้ 45-60 วัน จึงย้ายลงปลูก ในระหว่างนี้อาจเร่งการเจริญเติบโตโดยใช้ปุ๋ยทางใบ สูตร 21-21-21 อัตรา 2 ช้อนแกง/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกสัปดาห์ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเพาะต้นกล้าคือเดือนมกราคม ย้ายปลูกในเดือนมีนาคม สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต สำหรับรับประทานสุกได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป การให้ปุ๋ยและน้ำ ในช่วงปลูกใหม่ๆ ควรให้น้ำ 2-3 วัน/ครั้ง ในช่วงติดผล มะละกอต้องการใช้น้ำมาก หากขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วง ผลไม่สมบูรณ์ การให้น้ำจะทำให้มะละกอมีผลผลิตสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ดินหรือสภาพทั่วไปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์หลังปลูก 3-4 ครั้ง/ปี ครั้งละ 1 ปี๊บ/ต้น ส่วนปุ๋ยเคมี ใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 50 กรัม/ต้น หลังย้ายปลูก 1 เดือน และใส่ทุกเดือน เดือนที่ 3 เพิ่มเป็นอัตรา 100 กรัม/ต้น ทุกเดือน เมื่อมะละกอเริ่มติดผล ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 100 กรัม ผสมกับปุ๋ยยูเรีย 50 กรัม/ต้น โดยอาจจะใช้สลับกับปุ๋ย สูตร 8-24-24 เพื่อเพิ่มคุณภาพและความหวาน การใส่ปุ๋ย หว่านห่างจากโคนต้น แล้วใช้ดินกลบ อย่าใส่ปุ๋ยกลบโคนต้น นอกจากนี้ ควรให้ปุ๋ยทางใบเสริม ได้แก่ ปุ๋ยสูตร 21-21-21 ชนิดที่มีธาตุอาหารรอง ฉีดพ่นทุก 2 สัปดาห์ อัตรา 5 ช้อนแกง/น้ำ 20 ลิตร ในฤดูแล้งต้องหมั่นให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ดินแห้ง ส่วนในฤดูฝนถ้าเห็นว่าฝนทิ้งช่วงก็ต้องมีการให้น้ำช่วยเสริม แต่ถ้าฝนตกหนักจะต้องดูแลการระบายน้ำให้ดี ไม่ควรให้น้ำท่วมขังโคนต้น หรือร่องน้ำ ต้องรีบสูบน้ำออกโดยทันที ซึ่งมะละกอเป็นพืชที่ไม่ทนต่อน้ำท่วม การติดดอกออกผล หลังจากมะละกอออกดอก ให้เลือกเฉพาะต้นกะเทย หรือต้นสมบูรณ์ไว้ หลุมละ 1 ต้น ลักษณะเพศของมะละกอ มีดังนี้ ต้นตัวผู้ มีแต่ดอกตัวผู้ล้วนๆ ต้นชนิดนี้ไม่ติดผลหรือติดแต่เป็นผลเล็ก เรียก มะละกอสาย ซึ่งแทบไม่พบเลยในแปลงปลูก ต้นตัวเมีย มีดอกตัวเมียล้วนๆ ลักษณะอวบใหญ่ มีกลีบดอก 5 กลีบ แยกกันเห็นได้ชัดเจน ตั้งแต่โคนกลีบ ปลายรังไข่มีที่รองรับละอองเกสร เป็นแฉกเล็กๆ 5 แฉก ไม่มีเกสรตัวผู้ ก้านดอกสั้น ให้ผลที่มีรูปร่างกลมใหญ่ ข้างในกลวง ซึ่งพบเพียง 2-3 ต้น ในพื้นที่ปลูก 1 ไร่ ที่ จังหวัดพิจิตร ต้นสมบูรณ์เพศ หรือต้นกะเทย อาจมีทั้งดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศในต้นเดียวกัน ดอกสมบูรณ์เพศมีหลายชนิด ที่ต้องการของท้องตลาดคือ ชนิดที่มีผลยาว ลักษณะมีเกสรตัวเมียยาว และมีกลีบดอกหุ้มอยู่โคนกลีบดอกติดกันตลอด ตอนปลายแยกกัน เกสรตัวผู้มี 10 ชุด เชื่อมติดอยู่กับโคนด้านในของกลีบดอก ให้ผลยาวรีรูปทรงกระบอก ข้างในกลวงเล็กน้อย เนื้อหนากว่าผลที่เกิดจากดอกตัวเมีย การกำจัดวัชพืช การดายหญ้าด้วยจอบจะต้องมีความระมัดระวัง อย่าให้คมจอบถากถูกรากมะละกอขาด เพราะจะทำให้โรคเข้าทำลายได้ โดยการใช้ฟางคลุมโคนต้นและหมั่นเติมฟางอยู่เสมอ จะช่วยลดวัชพืชไม่ให้ขึ้นและรักษาความชื้นในดินได้ดี การเก็บเกี่ยว เริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 7-8 เดือน ปกตินิยมเก็บเกี่ยวเมื่อต้นอายุได้ประมาณ ปีครึ่งถึง 2 ปี แล้วปลูกใหม่เนื่องจากต้นจะสูงขึ้น ผลเล็กลง และผลผลิตก็ลดลงเช่นกัน การเก็บเกี่ยวควรใช้กรรไกรหรือมีดตัดขั้วผลให้ติดต้น ไม่ควรบิดผลมะละกอ จะทำให้ขั้วช้ำ และเชื้อราเข้าทำลาย ทำให้ต้นเน่าเสียหายได้ ผลที่ใช้รับประทานสุกควรเก็บเมื่อผิวมีสีส้ม หรือเหลือง ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ผิว แนวทางการป้องกันกำจัดโรคไวรัสจุดวงแหวน ตัดทำลายมะละกอต้นเก่าที่มีอายุเกิน 2 ปี หรือต้นที่เป็นโรครุนแรงทิ้งให้หมดจากพื้นที่นั้น แล้วทิ้งพื้นที่ให้ว่างประมาณ 3 เดือน ก่อนที่จะปลูกมะละกอชุดใหม่, ตัดทำลายมะละกอที่แสดงอาการเป็นโรคใบด่างทิ้งทันทีที่สังเกตเห็น, ในพื้นที่ระบบชลประทานหรือดินมีความชื้นพอจะปลูกมะละกอในช่วงปลายฝน หรือช่วงแล้ง ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนมีนาคม การระบาดของโรคจะน้อย พืชจะเจริญเติบโตและให้ดอกผลในช่วงฤดูร้อน ถึงฤดูฝน ซึ่งเวลานั้นหากจะมีโรคระบาด มะละกอที่ปลูกก็ต้นโตและสามารถให้ผลผลิตได้บ้างแล้ว, ดูแลและบำรุงต้นมะละกอให้ดี จะทำให้ต้นแข็งแรง ให้ลูกเร็ว สามารถลดการทำลายของโรคลงได้ มะละกอเป็นพืชที่ตอบสนองต่อปุ๋ยดีมาก ดังนั้น การบำรุงด้วยปุ๋ยวิทยาศาสตร์จึงได้ผลคุ้มค่า ผลดก และรสชาติดี, ไม่ควรปลูกมะละกอไว้นานเกิน 2 ปี เพราะผลผลิตมะละกอจะสูงสุดใน 2 ปีแรกเท่านั้น นอกจากนี้ มะละกอ ต้นแก่ยังเป็นแหล่งสะสมโรค ทำให้โรคแพร่ระบาดไปยังต้นปลูกใหม่ได้, ใช้มะละกอพันธุ์ทนทานโรค เช่น พันธุ์ "ขอนแก่น 80" (ลูกผสมระหว่าง พันธุ์แขกดำ และพันธุ์ฟลอริด้า ทอเลอแรนท์) ที่ผสมขึ้นโดย สำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น การป้องกันกำจัดโรคที่สำคัญ โรครากและโคนเน่า เกิดได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของมะละกอ ในระยะกล้าเกิดอาการเน่าคอดิน กล้ามะละกอที่เป็นโรค จะเกิดอาการใบเหลือง รากเน่า ต้นมักจะแห้งพับตรงโคน และเหี่ยวตายอย่างรวดเร็ว สำหรับต้นที่โตแล้วจะแสดงอาการโคนเน่า เป็นสีน้ำตาลหรือดำ ลักษณะฉ่ำน้ำ ต่อมารากจะเน่า ใบเหลือง และร่วง ทำให้ต้นตายไปภายใน 2-3 วัน ระบาดมากในช่วงที่ฝนตกชุก การป้องกันกำจัด ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง ระหว่างการดูแลรักษา พยายามอย่าให้โคนต้นมะละกอเป็นแผล และอย่าพูนโคนต้น ป้องกันการเกิดโรคก่อน โดยการคลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วยสารเคมีคลุกเมล็ดพันธุ์ MBC+แมนโคเซบ หลังจากกล้างอก 1-2 สัปดาห์ พ่นด้วยเมตาแลกซิล 20-40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เมื่อฝนตกชุกและมีการระบาดของโรคควรราดโคนต้นทุกๆ 7-15 วัน/ครั้ง โรคแอนแทรกโนส มักเกิดแผลเริ่มแรกที่ก้นผล เมื่อผลเริ่มสุกมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล เป็นแอ่งยุบลงไปในเนื้อเยื่อ ต่อมาแผลจะขยายใหญ่ขึ้น และจะเน่าทั้งผล เชื้อราสามารถเข้าทำลายใบอ่อนของมะละกอ ทำให้เกิดจุดกลมสีน้ำตาลเข้ม และทำให้เกิดโรคที่ก้านใบได้ การป้องกันกำจัด ใช้สารเมเจอร์เบน (เบนโนมิล) อัตรา 6 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ผสมกับน้ำอุ่น 55 องศาเซลเซียส และแช่ผลมะละกอในสารละลายนี้ 3-5 นาที ในแปลงปลูก ใช้สารเมเจอร์เบน (เบนโนมิล) อัตรา 6-12 กรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่น 10-15 วัน/ครั้ง เมื่อมะละกอเริ่มติดผล พบกับผลมะละกอยักษ์ "เรดแคลิเบียน" ได้ ในงาน "เกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี-เทคโนโลยีชาวบ้าน 2011" วันที่ 23-27 พฤศจิกายน 2554 ชั้น 4 MCC HALL เดอะมอลล์ บางแค ที่บู๊ธของ "ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร" หรือ โทร. (081) 886-7398 และ (089) 433-1580 เมล็ดพันธุ์ "มะละกอขอนแก่น 80" มีแจกฟรี พร้อมกับ หนังสือ "การผลิตมะละกอเงินล้าน" จำนวน 84 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจ เขียนจดหมาย สอดแสตมป์ 100 บาท (ระบุชื่อหนังสือและเมล็ดพันธุ์) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 24 ฉบับที่ 514
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM