เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
แนวทางการปลูกส้มโอแบบมืออาชีพ
   
ปัญหา :
 
 
แหล่งส้มโอพันธุ์ดีและเป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญของไทยในเขตพื้นที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้ประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา และมีน้ำท่วมขังอยู่นานนับเดือน คาดว่ามีพื้นที่ปลูกส้มโอเสียหายและต้นส้มโอตายไป ประมาณ 80% ของพื้นที่ปลูก ซึ่งมีประมาณ 10,000 ไร่ นอกจากนั้น พื้นที่ปลูกส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาในเขตจังหวัดชัยนาท ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน หลายคนยังไม่ทราบว่า ในการทำสวนส้มโอกว่าจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต จะใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปี และยังพบว่า ต้นส้มโอที่ตายจากน้ำท่วม ส่วนใหญ่มีอายุต้น ประมาณ 10 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ให้ผลผลิตเต็มที่ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ราคาส้มโอจะมีราคาสูงขึ้นและแพงอย่างต่อเนื่องอีกหลายปี "ส้มโอ" จึงเป็นไม้ผลอีกชนิดหนึ่งที่น่าปลูกในปัจจุบันนี้ "ส้มโอ" เป็นผลไม้ไทยเพียงชนิดเดียวที่จะมีราคาแพงช่วงในฤดู ถ้าออกนอกฤดูจะมีราคาถูกลง เนื่องจากผลผลิตส้มโอไทยจะมีการส่งออกมากที่สุดในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์และเทศกาลสารทจีน ซึ่งจะตรงกับผลผลิตส้มโอแก่และเก็บเกี่ยวขายได้พอดี ปัจจุบัน ฮ่องกง ยังเป็นประเทศที่สั่งซื้อส้มโอจากประเทศไทยมากที่สุด สำหรับพันธุ์ส้มโอเพื่อการส่งออกมีอยู่เพียง 2 สายพันธุ์ เท่านั้น คือ ขาวน้ำผึ้ง และทองดี แต่พันธุ์ทองดีมีข้อจำกัดในเรื่องของสภาพพื้นที่ปลูกในหลายพื้นที่ปลูกไม่มากนัก แต่พันธุ์ขาวน้ำผึ้งมีการขยายพื้นที่ปลูกในหลายพื้นที่ และเกษตรกรหลายรายสามารถควบคุมคุณภาพได้ใกล้เคียง การขยายตลาดส้มโอในอนาคตจะต้องเร่งพัฒนาตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ จะต้องยอมรับกันว่าต่างประเทศมีการบริโภคส้มโอไทยกันมากขึ้น บางประเทศทดลองส่งไป ปรากฏว่าขายได้หมด ที่สำคัญจะต้องเน้นในเรื่องคุณภาพว่าดีจริงหรือไม่ ปัจจัย 5 ประการ ที่จะทำให้เกษตรกรประสบความสำเร็จในการทำสวนส้มโอ คือ เงินทุน เป็นปัจจัยที่สำคัญในการประกอบการทุกอย่าง ไม่ใช่จำเพาะต่อการทำสวนผลไม้เท่านั้น เมื่อเกษตรกรปลูกส้มโอและจะเริ่มเก็บผลผลิตได้ก็ต่อเมื่อส้มโอมีอายุได้ 5 ปี ซึ่งเกษตรกรจะต้องคิดดู ถ้าเรากู้เงินจากเริ่มต้นปลูกไปจนต้นส้มโอมีอายุได้ 5 ปี แทนที่จะลงทุน 10,000 บาท ต่อไร่ จะกลายเป็น 20,000 บาท ต่อไร่ ดอกเบี้ยจะท่วมตัวขึ้นมา เพราะดอกเบี้ยจะทบกับเงินต้น ซึ่งไม่เหมือนกับอาชีพค้าขายที่หมุนเวียนกัน 2 เดือน แล้วก็ได้เงินคืน เกษตรกรจะต้องยอมรับความจริงว่า การทำสวนส้มโอเงินจะจมในช่วงแรก ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้เราควรจะเริ่มต้นทำสวนส้มโอด้วยเงินทุนของเราเอง จะต้องสำรวจว่า ในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้เงินทุนเท่าไร เมื่อถึงปีที่ต้นส้มโอเริ่มออกดอกติดผลแล้ว เกษตรกรอาจจะขัดสนเงินทุนในช่วงปลายมือบ้าง จะกู้จากธนาคารไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเวลาเพียงปีเดียวเท่านั้น เราก็สามารถคืนทุนได้แล้ว แหล่งน้ำ น้ำยังนับเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการปลูกพืชทุกชนิด ในช่วงที่ต้นส้มโอเริ่มปลูกใหม่อาจจะหาบน้ำไปรดต้นได้ แต่เมื่อต้นส้มโอใหญ่และให้ผลผลิตแล้วจะมีความต้องการน้ำมากและสม่ำเสมอ มักจะพบอยู่เสมอว่าเกษตรกรปล่อยให้พื้นดินแห้งจัดโดยไม่ให้น้ำ เมื่อมีฝนตกลงมาต้นส้มโอได้น้ำมากเกินไป มีผลทำให้ผลส้มโอร่วงหรือแตกเสียหาย จะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย อาทิ ทำให้ใบส้มโอเดี๋ยวใหญ่ เดี๋ยวเล็ก และที่สำคัญ คือ เมื่อต้นส้มโอได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ จะทำให้อายุต้นสั้นลง น้ำที่นำมาใช้รดให้กับต้นส้มโอถ้าเป็นน้ำบาดาลควรจะตรวจสอบให้ดีว่าน้ำมีสภาพความเป็นกรดสูงหรือไม่ สำหรับการทำสวนส้มโอในที่ลุ่ม เรื่องระบบการระบายน้ำเข้า-ออก มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดิน ในงานเกษตรกรรมทุกสาขา ดินเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด อย่างน้อยเกษตรกรจะต้องมีการเตรียมดินให้พร้อมก่อนที่จะปลูกส้มโอ สภาพดินที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกส้มโอคือ ดินร่วนปนทราย เกษตรกรจะต้องมีการเตรียมดินให้พร้อมเสียก่อนที่จะตอนกิ่งหรือหาซื้อกิ่งส้มโอพันธุ์ดีมาปลูก ขณะที่มีการเตรียมพื้นที่ปลูกส้มโอจะต้องสำรวจว่าเราจะใช้กิ่งพันธุ์จำนวนเท่าไร จะต้องมีการเพิ่มสำรองกิ่งพันธุ์อย่างน้อย 10% เช่น ต้องการปลูกส้มโอ จำนวน 1,000 ต้น จะต้องเตรียมกิ่งพันธุ์ไว้อย่างน้อย 1,100 ต้น เนื่องจากเมื่อปลูกไปในแปลงแล้ว อาจจะมีต้นตายบ้าง จะได้มีกิ่งสำรองไว้ปลูกซ่อมได้ทันที กิ่งพันธุ์ กิ่งพันธุ์ส้มโอที่เกษตรกรจะนำมาปลูกจะต้องเป็นกิ่งที่ขยายพันธุ์มาจากต้นส้มโอที่มีลักษณะแข็งแรง ให้ผลดก รสชาติดี และไม่เป็นต้นแม่พันธุ์ที่มีลักษณะของโรคไวรัสทริสเทซ่า และโรคกรีนนิ่ง ขนาดของกิ่งพันธุ์ที่ดีจะต้องมีความยาวประมาณ 70-80 เซนติเมตร และควรจะมีกิ่งแตก 2 กิ่ง จะเหมาะที่สุด การดูแลรักษา เมื่อเกษตรกรตัดสินใจทำสวนส้มโอ จะต้องมีการดูแลรักษาที่ดี ในสภาพการทำสวนส้มโอในที่ลุ่มจะต้องมีความรู้ความเข้าใจว่าต้นส้มโอจะต้องมีการอดน้ำอย่างไร จะให้น้ำเมื่อใด ช่วงจังหวะที่มีความเหมาะสมในการให้ปุ๋ยและฉีดพ่นยาปราบศัตรูพืช การคัดเลือกกิ่งพันธุ์ส้มโอที่จะใช้ปลูก ในอดีตที่ผ่านมา การขยายพันธุ์ส้มโอจะใช้วิธีการตอนกิ่ง ปัจจุบัน มีการขยายพันธุ์ส้มโอโดยวิธีการเสียบยอดหรือติดตาบนต้นตอต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ทางราชการกำลังเร่งส่งเสริมอยู่ในขณะนี้ คือ "กิ่งส้มโอปลอดโรค" ที่ติดตาบนต้นตอส้มต่างประเทศ สำหรับสภาพพื้นที่ดินเหนียวหรือที่ลุ่มบริเวณลุ่มน้ำนครชัยศรีจนถึงจังหวัดสมุทรสงคราม กิ่งตอนยังมีความเหมาะสมที่สุด แต่จะต้องคัดเลือกกิ่งพันธุ์ที่ตอนมาจากต้นส้มโอที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง ติดผลดกสม่ำเสมอทุกปี และที่สำคัญจะต้องขยายพันธุ์จากต้นที่ไม่เป็นโรคไวรัสทริสเทซ่าและโรคกรีนนิ่ง ระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับส้มโอ ในสภาพการปลูกส้มโอในแถบลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี ซึ่งเป็นที่ลุ่ม จำเป็นจะต้องยกร่องน้ำปลูก เกษตรกรจะนิยมใช้ระยะปลูก 6x7 เมตร หรือ 6x8 เมตร โดยใช้ระยะระหว่างต้น 6 เมตร ส่วนระยะระหว่างแถวขึ้นอยู่กับขนาดร่องด้วย บางคนร่องใหญ่ บางคนร่องเล็ก ดังนั้น ระยะระหว่างแถวอาจจะเป็น 7 หรือ 8 เมตร ก็ได้ และสภาพของการปลูกจะนิยมปลูกส้มโอบนกลางร่องเพียงแถวเดียว เพื่อสะดวกต่อการบำรุงรักษา มีเกษตรกรหลายรายปลูกแบบสลับฟันปลา เพื่อให้มีจำนวนต้นต่อไร่มากที่สุด และประหยัดเนื้อที่ปลูก แต่การบำรุงรักษาค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร สำหรับระยะปลูกส้มโอที่ดอน จะใช้ระยะปลูก 8x8 เมตร เป็นส่วนใหญ่ ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 25 ต้น ถ้าเกษตรกรมีพื้นที่น้อยอาจจะใช้ระยะปลูก 6x8 เมตร ก็ได้ (ระหว่างต้น 6 เมตร และระหว่างแถว 8 เมตร) พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 33 ต้น การตัดแต่งกิ่งมีความจำเป็นในการทำสวนส้มโอ เกษตรกรที่ปลูกส้มโอจะต้องทำให้ร่องสวนมีความโล่งเตียนอยู่ตลอดเวลา แล้วการตัดแต่งยังมีส่วนช่วยลดการระบาดของโรคและแมลงได้อีกด้วย เกษตรกรที่ปลูกส้มโอขาวน้ำผึ้งแบบมืออาชีพจะเน้นการตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่งอยู่เสมอ จะมีการตัดแต่งกิ่งปีละอย่างน้อย 3 ครั้ง การตัดแต่งกิ่งในแต่ละครั้งจะดูความหนาแน่นของกิ่งเป็นหลัก การจัดการเรื่องปุ๋ยในสวนส้มโอ กรณีของการทำสวนส้มโอในที่ลุ่มจะใส่ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีควบคู่กันไป ถ้าเป็นไปได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่แนะนำให้ใช้ปุ๋ยขี้ค้างคาวเป็นหลัก โดยปกติแนะนำให้ใช้ปุ๋ยขี้ค้างคาวหนักเป็นหลัก ใส่ปุ๋ยขี้ค้างคาวให้กับต้นส้มโอปีละ 2 ครั้ง ในช่วงก่อนขึ้นน้ำประมาณเดือนมกราคมและเดือนพฤษภาคม ใส่อัตรา ต้นละ 18-20 กิโลกรัม (ต้นส้มโอให้ผลผลิตแล้ว) สำหรับปุ๋ยเคมี จะใช้สูตร 16-16-16 ใส่ให้ต้นส้มโอในช่วงก่อนขึ้นน้ำใส่พร้อมกับปุ๋ยขี้ค้างคาว และจะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณ 30 วัน โดยเน้นการใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 เพื่อเร่งความหวานของผลผลิตส้มโอ โดยยึดหลักในช่วงที่ส้มโอให้ผลผลิตและพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวรุ่นใหญ่ๆ 2 รุ่น คือ เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และ รุ่นที่ 2 เก็บเกี่ยวผลผลิตเดือนกรกฎาคม-กันยายน สำหรับปุ๋ยเคมี สูตร 12-12-17+2 แมกนีเซียม จะใส่เป็นประจำทุกปี เพื่อฟื้นสภาพต้นส้มโอในเดือนกันยายน สำหรับการใช้ปุ๋ยในสวนส้มโอที่ให้ผลผลิตแล้วในการปลูกแบบสภาพไร่ ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 เพื่อสะสมอาหาร เดือนพฤษภาคม จะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-16 เพื่อเร่งการแตกใบอ่อนและเร่งการเจริญเติบโตทางต้น เดือนสิงหาคม ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 เพื่อเร่งความหวานและควบคุมการเจริญเติบโตของผลไม่ให้มีผลขนาดใหญ่เกินไป และในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 12-12-17+2 แมกนีเซียม จะมีการใส่กระดูกป่นเป็นประจำทุกปีในช่วงต้นฤดูฝน คือช่วงเดือนพฤษภาคมใส่ให้ต้นละ 1-2 กิโลกรัม เพื่อให้ต้นส้มโอมีความสมบูรณ์และแข็งแรง รวมทั้งทำให้ผลผลิตของส้มโอมีคุณภาพดียิ่งขึ้น การจัดการเรื่องโรคและแมลงส้มโอ ถ้าเป็นต้นส้มโอเล็กที่เริ่มปลูกจนถึงอายุ 3 ปี (ต้นอายุ 3 ปี ยังไม่ให้ผลผลิต) จะต้องระวังเรื่องหนอนชอนใบและโรคแคงเกอร์ โดยเฉพาะโรคแคงเกอร์มักจะพบการระบาดมากในช่วงส้มเล็ก และถ้าเกษตรกรควบคุมหนอนชอนใบไม่ได้ โรคแคงเกอร์จะมีการระบาดรุนแรงมากขึ้นไปด้วย เมื่อต้นส้มโอมีอายุต้นมากขึ้น ปัญหาเรื่องโรคแคงเกอร์น้อยลง การแก้ปัญหาเกษตรกรจะต้องควบคุมและกำจัดหนอนชอนใบให้ได้ รวมทั้งมีการจัดการสวนให้สะอาด โล่งเตียน และมีการตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ในช่วงที่ส้มโอออกดอกและติดผลอ่อนนั้น เกษตรกรจะต้องป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟโดยการฉีดพ่นสารฟิโพนิล ในอัตรา 100 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร (10 ปี๊บ) ฉีดพ่นสารฟิโพนิลตั้งแต่ส้มโอเริ่มออกดอก จนถึงระยะของผลส้มโอมีขนาดใหญ่เท่ากับผลมะนาว (ผลมะนาวที่แก่และเก็บเกี่ยวได้แล้ว) เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สารฟิโพนิลนี้มีความปลอดภัยต่อดอก สำหรับการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในสวนส้มโอ ซึ่งยังมีความจำเป็นอยู่จะต้องใช้สารเคมีสลับกันตลอดเวลา เพื่อป้องกันการดื้อยา สำหรับปัญหาเรื่องโรครากเน่าและโคนเน่าที่พบการระบาดในสวนส้มโอนั้น จะเน้นถึงวิธีการป้องกัน เพราะถ้าเป็นแล้วจะแก้ปัญหาได้ยากมาก เนื่องจากเราจะสังเกตต้นส้มโอ โดยสังเกตทางใบและทางดินจะไม่รู้ เมื่อทางใบเริ่มมีอาการออกมาทางล่างคือ โคนต้นและรากมักจะเป็นมากแล้ว และจะรักษาได้ยากมาก วิธีการที่สำคัญที่จะป้องกันการระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่าที่มีประสิทธิภาพคือ ปรับสภาพของร่องปลูกให้เรียบ อย่าให้น้ำขังแฉะ การไว้ลูกดกมีส่วนสำคัญทำให้ต้นส้มโอทรุดโทรม และมีโอกาสเกิดโรคได้ง่าย ดังนั้น ควรไว้ผลพอประมาณ โดยปกติในการทำสวนส้มโอทั่วไป ต้นส้มโอที่ให้ผลผลิตแล้วมักจะมีการฉีดพ่นสารอาลีเอท ใน อัตรา 500 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร โดยฉีดพ่นสารอาลีเอทให้กับต้นส้มโอ ปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน สารอาลีเอทจะฆ่าเชื้อราไฟท็อปทอร่า ซึ่งเป็นสาเหตุของโรครากเน่าและโคนเน่าโดยตรง และยังมีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณของรากส้มโอขึ้นมาใหม่
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครปฐม
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 24 ฉบับที่ 526
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM