เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
“บัญชา หนูเล็ก” กับการปลูก "ขึ้นฉ่าย" เงินล้าน ที่ ราชบุรี
   
ปัญหา :
 
 
คุณบัญชา หนูเล็ก อยู่บ้านเลขที่ 9/5 หมู่ที่ 7 ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี โทร. (089) 220-8438 ถือเป็นเกษตรกรมืออาชีพท่านหนึ่ง ในอำเภอบางแพ ที่สะสมประสบการณ์ในการปลูกผักมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ประกอบกับ คุณบัญชา ได้นำเอาวิชาการ และเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตรของตนเอง ส่งผลให้การปลูกผักประสบผลสำเร็จและเกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ทั้งยังมีผลกำไรสูงสุด “ขึ้นฉ่าย” ถือเป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่คุณบัญชา กล่าวว่า เป็นการทำการเกษตรแบบแจ๊กพ็อต ที่ปลูกเพียงครั้งเดียว สามารถสร้างรายได้ถึง 1 ล้านบาท แต่สามารถปลูกได้เพียงครั้งเดียว ในรอบ 3-5 ปี เป็นเพราะอะไร คุณบัญชา มีคำตอบและข้อแนะนำเคล็ดลับดีๆ ในการปลูกขึ้นฉ่าย ตลาดมีความต้องการ “ขึ้นฉ่าย” ทุกวัน เช่นเดียวกับผักชี ต้นหอม ขึ้นฉ่ายมีราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปีที่ค่อนข้างดี และมีปริมาณการใช้ผักขึ้นฉ่ายมากในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ ฯลฯ คล้ายกับผักชนิดอื่นๆ ซึ่งในช่วงเทศกาลดังกล่าวจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท โดยเกษตรกรที่ปลูกผักขึ้นฉ่ายก็ต้องมีการคำนวณช่วงเวลาเพาะปลูก มองหาช่องทางว่าจะให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงใด จึงจะมีผลกำไรมากที่สุด คุณบัญชา อาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า ช่วงเวลาใด ที่ผักมีในตลาดน้อย หรือตลาดมีความต้องการมาก ซึ่งได้คำตอบจากคุณบัญชา ว่า ถ้าจะผลิต “ผักขึ้นฉ่าย” จำหน่ายให้ได้ราคาสูง และตลาดมีความต้องการนั้น คุณบัญชา จะผลิตออกมาสู่ตลาดให้ตรงกับวัน “ออกพรรษา” โดยคุณบัญชาให้เหตุผลว่า ไม่ใช่เพราะตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นเรื่องของช่วงจังหวะเวลาที่ในช่วงวันออกพรรษา ที่ส่วนใหญ่ทุกคนจะต้องหยุดงานแล้วไปทำบุญ นั่นก็รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกผักและแรงงานที่เก็บผักด้วย ที่หยุดไปทำบุญด้วย ทำให้ผักป้อนเข้าสู่ตลาดน้อยมากในทุกปี ทั้งที่ปริมาณการใช้ผักยังคงเท่าเดิม หรือมีมากขึ้น แต่สินค้าไม่มี ทำให้ราคาผักหรือผักขึ้นฉ่ายที่เตรียมปลูกส่งตลาดมีราคาสูงขึ้นนั่นเอง นี่ถือเป็นเคล็ดลับที่คุณบัญชายอมเปิดเผยว่า เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และเป็นอย่างนี้มานานนับสิบปีแล้ว จึงทำให้รู้ว่าสินค้าพืชผักจะแพงในช่วงใด ทำไม จึงเรียก “เกษตรแจ๊กพ็อต” คุณบัญชา อธิบายว่า ส่วนหนึ่งคือ การคาดการณ์ในเรื่องของผลผลิตที่จะให้ออกสู่ตลาดช่วงใด ให้ได้ราคาสูงสุด ซึ่งเกษตรกรต้องเลือกปลูกผักชนิดที่คิดว่าจะได้ราคาดีที่สุด ซึ่งปีที่ผ่านมา คุณบัญชาเลือกปลูกขึ้นฉ่าย เพราะเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีราคาค่อนข้างดี ราคาเฉลี่ย 100 บาท ขึ้นไป ในช่วงเทศกาล แต่ขึ้นฉ่ายเป็นผักที่สามารถปลูกได้เพียงครั้งเดียวในรอบ 3-5 ปี ไม่สามารถปลูกซ้ำพื้นที่เดิมได้ เนื่องจากจะประสบปัญหาเรื่องของโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราเป็นอย่างมาก หากปลูกซ้ำในพื้นที่เดิมมักจะเกิดปัญหาโรคระบาด ผลผลิตเสียหาย ทำให้การปลูกผักขึ้นฉ่ายของคุณบัญชานั้นเป็นเพียงการปลูกผักแบบเฉพาะกิจ เมื่อครบรอบเวลาที่คิดว่าจะปลูกขึ้นฉ่ายได้อีกครั้ง และตลาดมีแนวโน้มว่าราคาน่าจะดีที่สุด ก็จะกลับมาปลูกผักขึ้นฉ่ายอีกครั้งหนึ่ง ก็จะได้ราคาดีเหมือนถูก “แจ๊กพ็อต” นั่นเอง ในปีที่ผ่านมา คุณบัญชา เลือกที่จะเพาะกล้าขึ้นฉ่ายช่วงเดือนสิงหาคม แล้วเก็บเกี่ยวขึ้นฉ่ายขายราวเดือนตุลาคม ซึ่งในปีที่แล้ว วันออกพรรษา ตรงกับ วันที่ 12 ตุลาคม 2554 ขึ้นฉ่ายของคุณบัญชาเก็บเกี่ยวได้พอดี โดยคุณบัญชาปลูกขึ้นฉ่ายไว้ ประมาณ 6 ร่องแปลงปลูก โดย 1 ร่องแปลง มีขนาดพื้นที่ ประมาณ 180 ตารางวา หรือเกือบ 2 งาน ใน 1 ร่องแปลงปลูก หากคิดรวมกัน ประมาณ 3 ไร่ เท่านั้น การเก็บขึ้นฉ่ายขายได้ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 บาท เป็นขั้นต่ำ ซึ่งเก็บขึ้นฉ่ายขายต่อเนื่องราว 10 วัน วันละประมาณ 900-1,000 กิโลกรัม พื้นที่แค่ 3 ไร่ ได้เงินเกือบล้านบาท นี้ไงคือ การทำ “เกษตรแจ๊กพ็อต” การปลูก “ขึ้นฉ่าย” แบบคุณบัญชา เริ่มต้นจากการเตรียมดินที่ต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ ต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของพืชผักแต่ละชนิด ว่ามีลักษณะอย่างไร มีความต้องการปัจจัยในการเจริญเติบโตแบบไหน อย่างขึ้นฉ่ายนั้นเป็นพืชรากตื้น การเตรียมดินจึงไม่จำเป็นต้องขุดดินลึกมากนัก ใช้เพียงรถไถติดผาลตีดิน ตีให้ละเอียด ลึกเพียง 2-3 นิ้ว ก็ใช้ได้ เคล็ดลับอยู่ที่แปลงปลูก จะใส่ขี้ไก่ แกลบ ประมาณ 60 กระสอบ (อาหารสัตว์) ต่อร่องแปลงปลูก ตีกับดินให้ละเอียดจนดินฟู ขี้ไก่ แกลบ นอกจากจะเป็นปุ๋ยคอกที่ช่วยให้ขึ้นฉ่าย งาม ใบเขียวแล้ว ยังเป็นเคล็ดลับหนึ่งที่ช่วยให้ดินอุ้มน้ำเก็บความชื้นได้อย่างเหมาะสม เพราะขึ้นฉ่ายเป็นพืชที่ชอบน้ำ ต้องการดินที่ค่อนข้างฉ่ำน้ำสักนิด เปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่ได้ใส่ขี้ไก่หรือใส่น้อย ก็ปลูกได้ไม่ดีเท่าไรนัก และวิธีดังกล่าวทำให้คุณบัญชา ไม่ต้องกางซาแรนบังแดดให้แปลงขึ้นฉ่ายเหมือนเกษตรกรท่านอื่น ซึ่งถ้าต้องกางซาแรนบังแดดยาวตลอดทั้งแปลง นั่นหมายถึง ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เมล็ดพันธุ์ขึ้นฉ่าย คุณบัญชา เลือกใช้ขึ้นฉ่าย พันธุ์ “ซุปเปอร์โพธิ์ทอง” ของ บริษัท เจียไต๋ ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ ต้นใหญ่ ต้นขาว ใบใหญ่ เป็นที่ต้องการของตลาด และมีการเจริญเติบโตที่เร็ว ทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี อายุการเก็บเกี่ยวหลังการหว่านราว 90 วัน แต่การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์นั้น ก็ต้องเลือกดูสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ก่อนหว่านเมล็ดพันธุ์ควรรดน้ำให้กับแปลงปลูกพอหมาดก่อนล่วงหน้าสัก 1 วัน เพื่อให้ดินมีความชื้น หว่านเมล็ดขึ้นฉ่ายให้ทั่วๆ แปลงนั้นก็ต้องอาศัยความชำนาญในการหว่านเมล็ดให้มีความสม่ำเสมอ จากนั้นคลุมด้วยฟาง รดน้ำตามให้ชุ่ม ดินก็จะละลายมากลบทับเมล็ดพอดี ให้น้ำแปลงปลูกทุกวันในช่วงเช้าหรือเย็น ไม่ควรรดน้ำแปลงปลูกในช่วงอากาศร้อนจัด เช่น เวลาเที่ยง สวนผักของคุณบัญชาจะใช้เรือในการรดน้ำ ซึ่งสามารถให้น้ำได้ทั่วถึง หรือเกษตรกรท่านอื่นก็ใช้ระบบน้ำแบบสปิงเกลอร์ก็ได้เช่นกัน หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ไปได้ราว 10-14 วัน เมล็ดขึ้นฉ่ายจะเริ่มงอก โดยจะแทงรากออกมาก่อน แล้วจึงจะเห็นเป็นใบ ช่วงระยะเวลาดังกล่าวสำคัญที่สุดของการดูแลรักษาขึ้นฉ่าย อย่าให้แปลงปลูกขาดน้ำเป็นอันขาด แปลงต้องมีความชุ่มชื้น เพื่อสามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ (เพราะแปลงปลูกไม่ได้กางซาแรนพรางแสงให้) ถ้าดินแห้งจะทำให้รากหรือใบของต้นขึ้นฉ่ายแห้งตายได้ง่าย และยังมีแมลงศัตรูพืชที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ “จิ้งหรีด” ที่ชอบมากินใบกัดต้นอ่อน การป้องกันจำกัด จะต้องฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดแปลง กลุ่ม “โอเมทโทเอท” โดยอัตราที่แนะนำ คือ 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ในช่วงแรก การให้ปุ๋ยขึ้นฉ่าย ในช่วงแรก ต้นขึ้นฉ่ายยังคงได้ปุ๋ยจากปุ๋ยคอกที่อยู่ในแปลง แต่เมื่อต้นกล้าอายุได้ 1 เดือน จะมีใบจริง 2-5 ใบ เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ยเคมีช่วย โดยจะใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 16-16-16 หว่านบางๆ ให้ทั่วแปลงปลูก โดยจะหว่านให้ทุกๆ 10-15 วัน ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากสภาพต้นและการเจริญเติบโตว่าดีมากน้อยเพียงใด ถ้าสังเกตว่า ต้นขึ้นฉ่ายเจริญเติบโตไม่ดี หยุดชะงัก ก็อาจมีการกระตุ้นการเจริญเติบโตด้วยการหว่านปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ช่วยให้บ้างตามความเหมาะสม ซึ่งการให้ปุ๋ยเคมีทุกครั้งต้องให้น้ำตาม จนกว่าปุ๋ยจะละลายจนหมดทุกครั้ง นอกจากปุ๋ยเคมีที่ใส่ให้ทางดินแล้ว เกษตรกรสามารถเสริมด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ฮอร์โมน สารป้องกันกำจัดโรคแมลง ตามความเหมาะสม โดยคุณบัญชาจะใช้ให้น้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องโรค เช่น โรคใบด่างลาย โรคก้านใบแตก โรคใบไหม้ ใบจุด ฯลฯ ซึ่งสาเหตุมาจากเชื้อรา คุณบัญชา อธิบายว่า พื้นฐานของเชื้อราจะเจริญได้ดีในสภาพดินที่เป็นกรด ดังนั้น ต้องแก้ไขดินให้เป็นด่าง เมื่อพบอาการของโรค คุณบัญชา จะเลือกใช้วิธีการใส่ “ปูนขาว” เพื่อปรับสภาพความเป็นกรดของดินให้เป็นด่าง ทำให้สภาพดินไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตหรือแพร่กระจายพันธุ์ของเชื้อรา ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างได้ผลดี แต่ปูนขาวที่นำมาใช้นั้น คุณบัญชา แนะนำว่า ต้องเป็นปูนขาวที่ได้จากเปลือกหอยเผาเท่านั้น นอกจากปรับสภาพดิน ลดความรุนแรงและฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชแล้ว ยังมีธาตุอาหาร เช่น แคลเซียม ช่วยทำให้ต้นผักหรือต้นขึ้นฉ่ายมีความแข็งแรงขึ้น เมื่อต้นขึ้นฉ่ายมีอายุได้ 90 วัน ก็สามารถเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ การเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะเรียกกันว่า “ถอน” โดยวิธีการเก็บเกี่ยวขึ้นฉ่าย หรือการถอน นั้นคือ การดึงต้นขึ้นฉ่ายออกมาจากดิน เกษตรกรต้องแกะใบขึ้นฉ่ายที่เหลืองออก และเขย่าเอาดินออก (ดินจะหลุดออกจากรากง่ายเพราะเป็นผลจากการเตรียมดินที่มีส่วนผสมของขี้ไก่ แกลบ นั้นเอง) จากนั้นจะเข้ากำ โดยใช้หนังยางรัด เวลาชั่งจะมีเคล็ดลับในการบรรจุที่เป็นวิธีที่ทำให้การบรรจุผักขึ้นฉ่ายลงถุงได้รวดเร็ว ใช้แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดวางบนตาชั่ง จากนั้นวางขึ้นฉ่ายที่เข้ากำแล้ว ประมาณ 5 กิโลกรัม นำถุงพลาสติกเหนียว ชนิดเจาะรูมาสวม จับปากถุงฟิวเจอร์บอร์ดให้ห่อเข้า เพื่อให้เข้าถุงพอดี หลังจากนั้น ดึงแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดออก ก็จะสามารถใส่ขึ้นฉ่ายลงถุงละ 5 กิโลกรัม อย่างง่ายดายและรวดเร็ว แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีม้วนปากถุงพลาสติกและใส่ขึ้นฉ่ายลงในถุงทีละกำจนเต็มถุง แล้วเอาไปชั่งบนตาชั่ง ถ้าหนักเกิน 5 กิโลกรัม ก็ดึงต้นขึ้นฉ่ายออก ตอนที่ดึงต้นขึ้นฉ่ายออก มักจะทำให้ผักช้ำ ต้นหัก และเกิดการเน่าได้ง่าย ผักขึ้นฉ่ายมักจะถอนและเข้ากำบรรจุกันในแปลงปลูก ซึ่งอากาศค่อนข้างร้อน เกษตรกรจึงต้องมีร่มขนาดใหญ่ คอยบังแดดให้เข่งหรือกองผักไม่ให้โดนแสงแดดโดยตรง คุณบัญชา ฝากทิ้งท้ายว่า แม้ผักขึ้นฉ่ายเป็นผักที่มีราคาดี แต่ก็ยังไม่สามารถปลูกได้อย่างต่อเนื่อง ปลูกซ้ำที่ไม่ได้ หรือได้ผลที่ไม่ดีเท่าไรนัก เคยให้นักวิชาการเกษตรเข้ามาศึกษา ว่าพอจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ยังแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ได้ จนในบางพื้นที่ต้องมีการปลูกขึ้นฉ่ายในถุงดำ เพื่อหนีปัญหาเรื่องโรค ซึ่งก็สามารถผลิตออกมาได้ดี เป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังให้ผลผลิตได้ไม่สูงเท่าการปลูกลงดิน
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ราชบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2555
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM