เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
พุทธรักษา พันธุ์แคระ บางกรวย ของ สุทธิพันธ์ บุญใจใหญ่ กะทัดรัด หลากสี ปลูกง่าย
   
ปัญหา :
 
 
หากดูคำนิยามของ "ไม้ดอก" จะหมายถึงพืชที่ปลูกเพื่อประโยชน์จากดอก และต้องเป็นพืชที่มีดอกสวยงาม บางชนิดมีดอกสวยงามติดทรงต้น ซึ่งนิยมปลูกไว้เพื่อประดับตกแต่งอาคารสถานที่ เช่น ลั่นทม ชวนชม ยี่โถ เข็ม พุทธรักษา เป็นต้น สำหรับบางชนิดปลูกเพื่อตัดดอกนำไปใช้ประโยชน์โดยตรง ที่เรียกว่า "ไม้ตัดดอก" พืชกลุ่มนี้ เช่น กุหลาบ ดาวเรือง หน้าวัว เป็นต้น ไม้ดอกชื่อ "พุทธรักษา" เป็นพรรณไม้ที่คนโบราณเชื่อว่า มีพระคุ้มครองรักษาให้มีความสงบสุข คือเป็นไม้มงคลนั่นเอง แต่ที่ผ่านมามักไม่ค่อยได้รับความนิยมมากสักเท่าไรเมื่อเทียบกับไม้ดอกชนิดอื่น ที่เห็นผ่านมามักไปพบปลูกอยู่ริมถนนบ้าง ปลูกเป็นรั้วตามบ้าน หรือตามสถานที่ต่างๆ บ้าง มีใครจะคิดบ้างว่า เมื่อชายคนหนึ่งชื่อ สุทธิพันธ์ บุญใจใหญ่ นำต้นพุทธรักษามาปลูกริมร่องสวนผัก เพียงเพื่อแค่ยึดไม่ให้ดินไหลลงน้ำ แต่กลับกลายเป็นการสร้างจุดเด่น สะดุดตาต่อนักข่าวเทคโนโลยีชาวบ้านท่านหนึ่งที่กำลังไปทำข่าวเรื่องอื่นอยู่ จนต้องขอสัมภาษณ์เพื่อนำมาลงหนังสือ ภายหลังตีพิมพ์ทำให้โด่งดังจนมีคนมาอุดหนุน สร้างรายได้อย่างงดงาม ดีกว่าอาชีพปลูกผักเสียด้วยซ้ำ นัดพบ กับ คุณสุทธิพันธ์ หรือ คุณเล็ก ที่บ้านเลขที่ 102/5 หมู่ที่ 7 ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งจัดไว้เป็นสถานที่สำหรับเพาะและจำหน่ายต้นพุทธรักษา ที่ดินผืนนี้แต่เดิมเมื่อหลายสิบปีก่อน คุณเล็กและครอบครัวเช่าไว้เป็นสวนปลูกผักหาเลี้ยงครอบครัว ปัจจุบัน (หลายปีมาแล้ว) เขาได้ซื้อเป็นกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้วจากน้ำพักน้ำแรงที่ตรากตรำกับต้นพุทธรักษาจนทำให้มีวันนี้ เริ่มปลูกพุทธรักษา ริมร่องสวนผัก กันดินไหล ภายในพื้นที่ 1 ไร่เศษ ของบ้านหลังดังกล่าว ด้านหน้ามีต้นพุทธรักษาสูงสักคืบ (น่าจะอยู่ในช่วงรุ่นเพราะยังไม่มีดอก) ปลูกไว้ในกระถางพลาสติกสีดำจำนวนมาก วางเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ ด้านหลังเป็นกลุ่มต้นพุทธรักษาอีกจำนวนมากที่โตมีดอกแล้วถูกวางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบเช่นกัน ส่วนบริเวณรายรอบมีต้นกล้วยนานาพันธุ์ รวมถึงพันธุ์ไม้อื่นที่น่าสนใจจำนวนมาก คุณสุทธิพันธ์เริ่มต้นเล่าเรื่องราวที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับต้นพุทธรักษาว่า ด้วยความชอบแล้วนำมาปลูกเล่นเพียงไม่กี่ต้นภายในพื้นที่ พอประมาณปี 2534 ขณะที่กำลังประกอบอาชีพทำสวนผัก ได้นำต้นพุทธรักษามาปลูกที่ริมร่องผักขนาดความสูง 1-1.50 เมตร มีจำนวนหลายสิบสี เพื่อยึดไม่ให้ดินด้านริมตลิ่งพัง อีกทั้งยังเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้มีต้นหญ้าและวัชพืชอื่นขึ้น ผู้สื่อข่าวพบ นำลงตีพิมพ์ งานเข้าทันที พอดีกับช่วงเวลานั้น คุณพานิชย์ ยศปัญญา ผู้สื่อข่าวนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน (สมัยนั้น) ได้มาทำข่าวปศุสัตว์ที่อำเภอบางกรวย เป็นข่าววัวนมของพ่อคุณสุทธิพันธ์ จังหวะเดียวกันได้เหลือบไปเห็นและสนใจต้นพุทธรักษาที่ปลูกไว้ที่ร่อง จึงขอสัมภาษณ์มาทำข่าวไปพร้อมกัน ภายหลังที่ได้นำลงตีพิมพ์ มีคนให้ความสนใจมาเลือกซื้อกันมากขึ้น และไม่คิดว่าในปีเดียวกันนั้น ต้นพุทธรักษาซึ่งถูกมองว่าเป็นไม้ข้างทางกลับมาอยู่ในแถวหน้าของวงการไม้ประดับจะสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้แก่เขาอย่างรวดเร็ว จึงทำให้คุณสุทธิพันธ์ กระโดดเข้ามาสู่วงการไม้ดอกไม้ประดับอย่างไม่รู้ตัว เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงได้ขยายจำนวนต้นด้วยการยกร่องให้เป็น 12 ร่อง ร่องละ 2 ด้าน จำนวน 24 ด้าน มีความยาว 100 เมตร ทำให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับกับความน่าสนใจที่เพิ่มขึ้น "จากต้นไม้ที่ปลูกอยู่ข้างทาง ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถทำรายได้ในเชิงธุรกิจ ถือว่าเป็นการปลุกกระแสไม้ดอกไม้ประดับในช่วงนั้นประมาณ ปี 2534-2537 ทำให้วงการไม้ดอกไม้ประดับที่ดูกำลังซบเซาเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจ กลับคึกคักสดใสขึ้นมาอีกครั้ง" คุณเล็กบอก ดูเหมือนโชคจะยังคงอยู่เคียงข้างคุณเล็ก เมื่อ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ในสมัยนั้น) มีนโยบายปลูกต้นพุทธรักษาที่เกาะกลางถนนหลายแห่ง จึงมาติดต่อขอซื้อจากคุณสุทธิพันธ์จำนวน 60,000 ถุง ราคาถุงละ 6 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 360,000 บาท ภายในเวลา 30 วัน เขาบอกว่า ถ้าเทียบกับการทำสวนผักใช้เวลา 7 ปี มีเงินเก็บเพียงหมื่นกว่าบาทเท่านั้น การขายพุทธรักษาช่วงนั้นเป็นการขายแบบหน่อและกำหนดราคาเดียวกับราคาหน่อกล้วยคือ ราคาหน่อละ 3 บาท ซึ่งมีขนาดหน่อเท่าหัวแม่โป้ง ขณะที่หน่อกล้วย 1 หน่อ มีน้ำหนักถึง 4-5 กิโลกรัม แห่ปลูกขายแพร่หลาย จนราคาตก หนีไปทำเฮลิโคเนียและกล้วย สร้างกระแสอีก หลังจากสร้างกระแสอย่างแรง และถือว่าไม้ดอกไม้ประดับเป็นของใหม่ของชาวบางกรวย เพราะก่อนหน้านั้นไม้ชนิดนี้ถูกมองข้าม และไปสนใจกับการประกอบอาชีพสวนผัก ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน จึงทำให้ผู้คนแถวนี้หันมาปลูกต้นพุทธรักษากันอย่างคึกคัก สร้างรายได้ดีกันทั่วหน้า พออีกไม่นานราคาตกลง คุณเล็กเห็นว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นก็มาคิดว่าต้องปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน จึงพิจารณาว่ามีไม้ดอกไม้ประดับประเภทไหนบ้างที่ใกล้เคียงกับต้นพุทธรักษา และควรเป็นพืชในตระกูลหน่อที่สามารถปลูกใกล้น้ำหรือน้ำท่วมได้สัก 1-2 วัน โดยไม่ตาย จึงได้เลือกมาเล่นที่ต้นเฮลิโคเนีย เพราะเป็นสายพันธุ์ของกล้วยชนิดหนึ่งที่อยู่ในเขตร้อนทั่วโลก ซึ่งดูแล้วใกล้เคียงกับต้นพุทธรักษา พอทำได้สักพัก ก็มีคนแห่มาปลูกอีก ราคาก็ตกอีก เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงหนีไปปลูกอย่างอื่น แล้วก็มาเลือกปลูกกล้วย เพราะเป็นพืชตระกูลหน่อเช่นเดิม จากเมื่อก่อนที่เคยปลูกอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด แต่คราวนี้คุณสุทธิพันธ์ทำอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการค้นคว้าพันธุ์กล้วยที่มีทั้งหมดก่อน แล้วหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมกล้วยบางชนิดจึงมีรูปร่างแปลกและแตกต่างกัน การค้นข้อมูลพบว่า กล้วยมีทั้งหมด 75 ชนิด ทุกสายพันธุ์จะอยู่ตามภาคต่างๆ ของประเทศ และมีชื่อเรียกขานไม่เหมือนกัน จากนั้นพยายามเสาะหาพันธุ์ที่แปลกมาเพาะขยายพันธุ์ นำไปขาย เขาบอกว่า ความจริงความแปลกของกล้วยเป็นของดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติในสถานที่ต่างๆ เพียงแต่พวกเราไม่รู้ ไม่เห็นเท่านั้น จุดเด่นของการขายจึงมุ่งไปที่ความแปลกของกล้วยพันธุ์ต่างๆ นำออกมาเสนอ ขณะที่ทำต้นกล้วยขาย ผู้สื่อข่าวนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน คนเดิมก็มาสัมภาษณ์ และลงตีพิมพ์อีก จนปลุกกระแสคนรักกล้วยขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้ราคาหน่อกล้วยจากเดิม 5-10 บาท ขยับราคาขึ้นมาถึงหน่อละ 150 บาท ไปถึงพันกว่าบาทก็ยังมีคนมาซื้อ คุณเล็กให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีลูกค้าบางรายบ่นว่าทำไมราคาต้นกล้วยจึงแพง ซึ่งในเรื่องนี้เขาจึงแจงรายละเอียดว่าระยะเวลาการเจริญเติบโตของต้นกล้วยกว่าจะได้รับประทานต้องใช้เวลาร่วม 1 ปี นับจากวันปลูก เริ่มจากการเป็นหน่อใช้เวลา 8 เดือน จึงออกลูก จากนั้นอีก 4 เดือน จึงแก่ และอีก 4 วัน จึงสุก ดังนั้น ใช้เวลารวม 12 เดือน กับอีก 4 วัน จึงจะได้รับประทาน จุดสนใจของกล้วยที่มีลูกที่มีความแปลก (ทั้งที่ไม่ใช่ของแปลก) แล้ว ยังมีสายพันธุ์กล้วยบางชนิดสามารถให้ดอกที่มีสีสันสวยงาม บ้างมีสีส้ม หรือสีม่วงอ่อน และที่น่าสนใจคือมีพันธุ์กล้วยที่ปลีมีลักษณะคล้ายดอกบัว จึงมีการตั้งชื่อว่า "กล้วยบัว" เป็นพันธุ์กล้วยที่ได้รับความนิยมทางด้านงานจัดสวน รวมไปถึงพันธุ์อื่นๆ อีก เพราะลักษณะขนาดใบใหญ่ของกล้วยจึงเป็นจุดเด่นที่สร้างเสน่ห์เมื่อนำไปจัดสวน น้ำท่วมใหญ่ ต้นไม้ตายหมด กลับมาทำพุทธรักษาอีกรอบ คราวนี้เป็นพันธุ์แคระ แต่แล้วคุณสุทธิพันธ์ต้องกลับมาทำพุทธรักษาอีกครั้งหลังน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 เนื่องจากพื้นที่บริเวณบางกรวยทั้งหมดจมอยู่ใต้น้ำ ต้นไม้ทุกอย่างตายหมด ยากที่นำกลับมาทำพันธุ์ใหม่ได้ เขาเผยว่า เพราะคิดถึงต้นพุทธรักษาที่เคยสร้างรายได้และนับเป็นต้นไม้ที่ถือเป็น "ดาวค้างฟ้า" แม้กระแสจะเงียบไปแต่ความสวยงามยังคงอยู่ ดังนั้น จึงเสาะหาพันธุ์ต้นพุทธรักษาเพื่อนำกลับมาทำใหม่ ได้เดินหาตามท้องตลาดหลายแห่ง ก็ไปพบแม่ค้ารายหนึ่งมีพันธุ์ต้นเตี้ยอยู่ สอบถามว่าซื้อมาจากแหล่งไหน แม่ค้าคนดังกล่าวก็ไม่ทราบ จึงซื้อมา อย่างไรก็ตาม ด้วยความอยากรู้จึงสืบค้นพบว่าเป็นพันธุ์จากต่างประเทศที่ถูกนำเมล็ดมาเพาะในบ้านเรา จากนั้นเริ่มขยายพันธุ์พุทธรักษาเตี้ยหรือแคระ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าจะขายทำเงินได้เหมือนครั้งก่อนที่ทำพันธุ์ต้นสูงมาก่อน จึงขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อและเพาะเมล็ด ส่วนที่มีสีสันสวยงามมากมายเป็นเพราะไปเสาะหาต้นที่มีสีต่างกัน จากหลายแหล่งแล้วนำมาเพาะขยายพันธุ์ รูปร่างเล็ก กะทัดรัด ดอกมีสีให้เลือก เหมาะปลูกเพื่อตกแต่ง ความสูงเต็มที่ของพันธุ์แคระนี้หากปลูกลงดินไม่เกิน 50 เซนติเมตร แต่หากผู้ปลูกมีรสนิยมที่ชอบต้นเตี้ยแบบกะทัดรัด ต้องใช้วิธีจำกัดความสูง อาจจะเลี้ยงในลักษณะเดียวกับบอนไซ ด้วยการกำหนดพื้นที่เฉพาะในกระถางขนาดที่ต้องการและให้อาหารแต่พอควรเท่านั้น อีกทั้งยังสามารถเชยชมต้นใหม่ด้วยระยะเวลาเมื่อแยกหน่อปลูกใหม่จนถึงมีดอกใช้เวลาเพียงเดือนครึ่งเท่านั้น "เป็นพันธุ์ที่เหมาะกับผู้ที่มีที่พักอาศัยที่มีเนื้อที่จำกัด เช่น ตามหมู่บ้านจัดสรรขนาดเล็ก ตามอาคารห้องชุด ที่อาจทำให้ต้นสูงเพียงแค่คืบเดียวหรือสัก 6 นิ้ว ก็ย่อมทำได้ อีกทั้งเมื่อซื้อไป 1 กระถาง สามารถนำไปแยกหน่อได้อีกมากมาย ดังนั้น พันธุ์นี้จึงมีจุดเด่นที่มีขนาดความสูงเล็กน้อย กะทัดรัด แล้วยังสามารถใช้ตกแต่งสถานที่ภายในบ้าน ยกโยกย้ายไปตามจุดต่างๆ ได้อย่างสะดวก อาจใช้ตกแต่งห้องประชุม งานเลี้ยง ที่สามารถใช้แทนดาวเรืองได้" เจ้าของสวนบอก ปลูกต้นไม้เป็นอาชีพ ต้องเน้นเทคนิค และลูกเล่น คุณสุทธิพันธ์กล่าวว่า เป็นธรรมดาของการค้าขายแบบเสรีที่ใครจะมาทำการค้าแข่งขันกันก็ได้ แต่ทั้งนี้ความแตกต่างและการสร้างความน่าสนใจ ขึ้นอยู่กับคนปลูกว่าจะสร้างมูลค่าและคุณค่าให้แก่ต้นไม้ชนิดนั้นได้อย่างไร เพราะต้องขึ้นอยู่กับความสามารถ ทักษะ สติปัญญา การใส่ลูกเล่นหรือเทคนิคใหม่ๆ เข้าไป ทั้งนี้เขาเสริมอีกว่า วิธีที่ใช้กับต้นไม้ที่ปลูกขายอยู่จะใช้เทคนิคการเพาะปลูกทางธรรมชาติล้วน โดยไม่มีการพึ่งพาการใช้สารหรือยาประเภทใดเลย นอกจากจุดเด่นที่มีรูปร่างทรงต้นเล็ก กะทัดรัด ช่อดอก ใบที่มีความสมบูรณ์สวยงามแล้ว ในส่วนของ "สีดอก" ถือเป็นอีกจุดเด่นที่สร้างความมีเสน่ห์ให้กับพุทธรักษาแคระ เพราะการที่มีสีให้เลือกมากกว่า 10 สี ซึ่งแต่ละสีก็มีความสวยงามแตกต่างกันออกไป จึงเป็นความลำบากใจ ทำให้คนซื้อลังเลที่จะเลือกเพียงสีใดสีหนึ่งเท่านั้น ส่วนใหญ่จะรักพี่เสียดายน้อง จึงจำเป็นต้องเลือกหลายสี หลายต้น รวมถึงบางคนมองไปถึงโชคลาภ หรือเลือกสีให้ตรงกับโฉลกตัวเอง เพราะนอกจากชื่อจะเป็นมงคลแล้ว การมีสีที่ถูกโฉลกนับว่าเป็นสิ่งที่เป็นมงคลมาก เจ้าของสวนพุทธรักษาแคระเผยว่า มีเป้าหมายว่าจะขยายพันธุ์ให้ได้สักหมื่นกระถางในช่วงต้นปี 2556 สำหรับขณะนี้ที่มีอยู่ จำนวน 4,000 กระถาง "จากเดิมที่มีอยู่เพียงพันต้นใช้เวลา 2 เดือน แยกได้ถึง 4,000 กระถาง ถ้าหากมีความขยัน เอาใจใส่ จะสามารถแยกต้นไม้พันธุ์นี้เป็นทวีคูณ" ลูกค้าที่มาซื้อจะเป็นพ่อค้า-แม่ค้าขายต้นไม้แถวนี้ หรืออาจมีมาจากต่างจังหวัดบ้าง เมื่อก่อนเคยออกไปสร้างตลาดขายต้นไม้ให้กับคนอื่นมาหลายรายแล้ว จนกระทั่งกลับมาดูตัวเองว่า ทำไมไม่ทำบ้านตัวเองให้เป็นตลาดต้นไม้ จากนั้นจึงเป็นที่มาของถนนสายต้นไม้ดอกไม้ประดับของถนนบางกรวย และจะเห็นว่ามีแต่รถข้างนอกมารับซื้อต้นไม้จากชาวบ้านแถบนี้ทั้งสิ้น ส่วนสีที่ได้รับความนิยมยังคงเป็นสีแดง (ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะ) สีอื่นๆ ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ขึ้นอยู่กับความชอบมากกว่า ปัญหาที่เกิดคือ โรคกาบเน่า ทำให้มีเชื้อรา ดังนั้น ต้องหมั่นสังเกตใบถ้ามีสีเหลืองหรือมีความผิดปกติต้องดึงออกทันที และควรวางในสถานที่โปร่งได้รับแดดพอสมควร เขาเผยว่า ในตอนนั้นตัวเองเกือบแย่ เพราะหาเงินยากมาก และถ้าหากไม่ได้แจ้งเกิดในคราวนั้นก็คงไม่มีวันนี้ จึงต้องขอขอบคุณผู้สื่อข่าวท่านนั้นที่มีสายตาเฉียบแหลม ขอบคุณนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านที่เปิดโอกาสให้เขาได้ใช้พื้นที่แสดงความสามารถ ในสังคมไทยมีคนเก่งมากมาย เพียงแต่เขาเหล่านั้นขาดโอกาส แล้วเมื่อมีช่องทางหรือพื้นที่สำหรับการแสดงความสามารถก็จะเป็นโอกาสของเขา คุณสุทธิพันธ์ นอกจากจะประสบความสำเร็จทางด้านการเพาะต้นพุทธรักษาพันธุ์สูง ปลูกเฮลิโคเนียและกล้วยแล้ว ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ซึ่งได้ยกระดับไม้ท้องถิ่นให้เป็นไม้ที่ใช้สำหรับงานตกแต่งสวน สำหรับท่านที่มีแผนจะปลูกต้นไม้แบบต้องการเชยชมความสวยงามของดอก ขอแนะนำต้นพุทธรักษาพันธุ์แคระ ที่ปลูกง่าย ไม่ยุ่งยาก กะทัดรัด เหมาะสำหรับที่พักอาศัยทุกขนาด สนใจไปเลือกสีได้ที่สวนของ คุณสุทธิพันธ์ บุญใจใหญ่ สอบถามเส้นทางได้ที่โทรศัพท์ (080) 587-2370 หรือ (089) 153-0391 ชวนชาวพุทธ ปลูกต้นพุทธรักษากันดีกว่า พุทธรักษา เป็นพรรณไม้ล้มลุก เนื้ออ่อนอวบน้ำ ลำต้นมีความสูงประมาณ 1-2 เมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า มีการเจริญเติบโตโดยแตกหน่อเป็นกอคล้ายกับกล้วย ลักษณะหน่อที่เจริญเป็นต้นเหนือพื้นดินนั้นมีลักษณะกลมแบน สีเขียว ขนาดลำต้นโตประมาณ 2-4 เซนติเมตร ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียว โคนใบและปลายใบรีแหลม ขอบใบเรียบ กลางใบเป็นเส้นนูนเห็นได้ชัด โคนใบมีก้านใบซึ่งยาวเป็นกาบใบหุ้มลำต้นซ้อนสลับกัน ขนาดใบกว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25-35 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อตรง ส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอก 8-10 ดอก และมีกลีบดอกบางนิ่ม ขนาดของดอกและสีสันแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์ การเป็นมงคลของต้นพุทธรักษา คนโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นพุทธรักษาไว้ประจำบ้านจะช่วยคุ้มครอง ป้องกันอันตรายแก่บ้านและผู้อาศัยได้ เพราะพุทธรักษาเป็นพรรณไม้ที่คนโบราณเชื่อว่า มีพระคุ้มครองรักษาให้มีความสงบสุข คือเป็นไม้มงคลนั่นเอง ตำแหน่งที่ปลูก และผู้ปลูกพุทธรักษา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นพุทธรักษาไว้ทางทิศตะวันตก ผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธ เพราะโบราณเชื่อว่า การปลูกไม้เอาประโยชน์ทั่วไปทางดอกให้ปลูกในวันพุธ การปลูกพุทธรักษา นิยมปลูก 2 วิธี 1. การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ถ้าปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ควรใช้แปลงปลูก ขนาด 2x10 เมตร โดยการยกร่องคล้ายแปลงปลูกผัก การเตรียมดินใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 10-20 กิโลกรัม/แปลง ขนาดหลุมปลูก 30x30x30 แต่ถ้าปลูกเพื่อประดับบ้าน คนไทยโบราณนิยมปลูกไว้เป็นแนวรั้วบ้านหรือปลูกเป็นกลุ่มเล็กๆ ในพื้นที่ที่จำกัด ขนาดหลุมปลูก 30x30x30 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 1 ผสมดินปลูก 2. การปลูกในกระถางเพื่อประดับอาคารบ้านเรือน ส่วนใหญ่ใช้เป็นไม้ดอกประดับภายนอก ควรใช้กระถางทรงสูง ขนาด 10-16 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : แกลบผุ : ดินร่วน อัตรา 1 : 1 : 1 ผสมดินปลูก และควรเปลี่ยนกระถาง 12 ครั้ง/ปี เพราะการขยายตัวของหน่อแน่นเกินไป และเพื่อเปลี่ยนดินปลูกใหม่ แทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป การดูแลรักษาพุทธรักษา แสง ชอบแสงรำไร หรือแสงแดดจัดกลางแจ้ง น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 3-5 วัน/ครั้ง ดิน เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/กอ ปีละประมาณ 4-6 ครั้ง การขยายพันธุ์ นิยมขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ เพาะเมล็ด โดยวิธีที่นิยมและได้ผลดีคือ การแยกหน่อ
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นนทบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 24 ฉบับที่ 533
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM