เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
"สุวิทย์ ไตรโชค" มือหนึ่งการปลูกเมล่อน เชิงพาณิชย์ (ตอนที่ 1)
   
ปัญหา :
 
 
"เมล่อน" จัดได้ว่าเป็นผลไม้ปราบเซียน เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีราคาสูงกว่าผลไม้อื่น จึงดึงดูดให้เกษตรกรหลายคนสนใจอยากปลูก แต่เมื่อลงมือปลูกจริง เกษตรกรส่วนใหญ่กลับประสบความล้มเหลวขาดทุน เพราะผลผลิตไม่ได้คุณภาพและต้นทุนสูง ปัจจุบันเหลือเกษตรกรที่ผลิตเพื่อจำหน่ายตลาดบนได้ไม่กี่ราย คุณสุวิทย์ ไตรโชค อยู่ที่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร. (081) 818-0233 ตัวอย่างเกษตรกรมืออาชีพที่มีชื่อเสียง เรื่องการปลูก "เมล่อน" (คนไทยส่วนใหญ่เรียก เมล่อน ว่า "แคนตาลูป") คุณภาพ มานานกว่า 20 ปี โดยคุณสุวิทย์เล่าว่า อาชีพเดิมนั้นไม่ใช่เกษตรกร โดยทำงานประจำคือ เป็นวิศวกรที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แต่ด้วยใจรักการเกษตรจึงทำเกษตรเป็นอาชีพเสริม โดยมีความสนใจปลูกเมล่อนมากเป็นพิเศษ เนื่องจากสังเกตว่า เมล่อน มีราคาสูง ราคาจูงใจมาก โดยตนเองเริ่มทดลองปลูกเมล่อน ตั้งแต่ ปี 2529 แต่ปรากฏว่า 5 ปีแรก ประสบปัญหาขาดทุน เพราะเป็นช่วงของการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกทั้งวิธีการปลูก สายพันธุ์เมล่อน และแสวงหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปลูก กระบวนการเรียนรู้เริ่มจากการทดลองในพื้นที่ขนาดเล็ก 5-10 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของครอบครัว ควบคู่ไปกับการทำงานหลัก จนในที่สุดประสบผลสำเร็จคือ สามารถปลูกเมล่อนนอกโรงเรือนได้สำเร็จ โดยเฉพาะเมล่อนสายพันธุ์ตาข่ายจากญี่ปุ่น ที่มีราคาขายในท้องตลาดค่อนข้างสูง ซึ่งแตกต่างกับผู้ปลูกเมล่อนบางราย ที่ต้องปลูกเมล่อนในโรงเรือนที่มีต้นทุนในการก่อสร้างโรงเรือนสูงมาก เมื่อประสบความสำเร็จ มีความรู้ในด้านการผลิต และสามารถทำตลาดได้ระดับหนึ่งแล้ว คุณสุวิทย์จึงตัดสินใจผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนอย่างเต็มตัว และยังได้สร้างเครือข่ายการปลูกเมล่อนไปยังเกษตรกรที่มีความสนใจ โดยรับซื้อเมล่อนคืนในราคาประกัน ข้อคิดการปลูกเมล่อนให้ได้กำไร คุณสุวิทย์ เห็นว่า การปลูกแตงเมล่อน ถ้าเทคโนโลยีไม่เหมาะสมจะทำให้ต้นทุนสูง และนำไปสู่การขาดทุนได้ การผลิตเมล่อนให้มีคุณภาพดีและออกผลสม่ำเสมอนั้น ความยากจะอยู่ที่การจัดการทั้งด้านพันธุ์ น้ำ ปุ๋ย และการควบคุมศัตรูพืช เพราะเมล่อนเกิดโรคเชื้อราได้ง่าย เกษตรกรบางรายจึงต้องย้ายพื้นที่ปลูกตลอดเวลา และยังมีปัญหาการผลิตให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดระดับบนซึ่งมีอำนาจซื้อสูงจะยอมรับได้ เพราะแตงเมล่อนที่จะขายได้ราคาดีจะต้องมีขนาดลูกสม่ำเสมอ มีความหวานที่ได้มาตรฐานเมื่อเกษตรกรไม่สามารถทำคุณภาพได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ก็ย่อมเกิดปัญหาทางการตลาดตามมา และทำให้เกษตรกรหลายรายต้องเลิกปลูกแตงเมล่อนไปในที่สุด "สายพันธุ์เมล่อน ต้องดี ต้องใช้พันธุ์ที่ดีมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ผลิต โดยเฉพาะเมล่อนสายพันธุ์จากญี่ปุ่น ที่คุณสุวิทย์ต้องใช้ความอดทนรอคอยหลายปีกว่าที่เจ้าของพันธุ์เมล่อนจะยอมขายเมล็ดพันธุ์ให้ ถึงเมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพง แต่ก็นับได้ว่าเมื่อปลูกแล้วได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ก็คุ้มค่าต่อการลงทุน แล้วในแต่ละปีต้องนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ มาปลูกเพื่อทดสอบสายพันธุ์ นับ 100 สายพันธุ์ เพื่อหาสายพันธุ์ที่ดี บางครั้งปลูกทดสอบนานถึง 5 ปี อาจจะพบสายพันธุ์ที่ดีเพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้น แต่ก็คุ้ม เพราะ 1 สายพันธุ์ เราใช้ประโยชน์ได้นานนับ 10 ปีทีเดียว แล้วเมล่อนจะหวานได้ สายพันธุ์ก็ต้องหวานด้วย" ปัจจุบัน คุณสุวิทย์ ปลูกเมล่อนป้อนตลาด ประมาณ 10 สายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ โกลเด้น บอล (เปลือกสีเหลืองทอง เนื้อสีขาว), ซัน บอล (เปลือกสีขาว เนื้อสีส้ม), ฮันนี่ บอล ซึ่ง 3 สายพันธุ์นี้ เป็นเมล่อนตระกูลฮันนี่ดิว คือ "ผิวเปลือกเรียบ หวานง่าย หวานมาก ปลูกง่าย ตายยาก และอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 60 วัน หลังเพาะเมล็ด" ดังนั้น จึงเหมาะจะเป็นสายพันธุ์พื้นฐาน ที่ให้สมาชิกใหม่ที่เข้ากลุ่มใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ในการปลูกเมล่อนทดลองปลูกดูก่อน ให้เกิดความชำนาญเสียก่อน (ราคาประกันที่รับซื้อจากสมาชิกกลุ่ม เฉลี่ย 20-25 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งผลเมล่อนที่ปลูกจะมีน้ำหนักโดยเฉลี่ย 2 กิโลกรัม) ส่วน เมล่อนญี่ปุ่นสายพันธุ์ตาข่าย เช่น พันธุ์ซากุระ เมล่อน (มีเนื้อสีส้มและสีเขียว ที่ญี่ปุ่นขายตั้งแต่หลักพันถึงหมื่นบาทต่อผล ที่ฟาร์มคุณสุวิทย์ ขายส่ง ผลละ 1,000 บาท ลูกค้าต้องสั่งจองล่วงหน้า เพราะจะปลูกจำนวนไม่มาก แต่จะปลูกมากที่สุดคือช่วงเทศกาลปีใหม่ เพราะนิยมซื้อเป็นของขวัญ), ร็อคกี้ เมล่อน (มีเนื้อสีเขียวและเนื้อสีส้ม จำหน่ายปลีก ผลละ 500 บาท), แตงโอนิชิ และแตงจิงหยวน (2 สายพันธุ์ หลังนี้ จะปลูกป้อนซุปเปอร์มาร์เก็ต จำหน่ายปลีก ราคากิโลกรัม 80-90 บาท) ฯลฯ เมล่อนญี่ปุ่น ยังเป็นสายพันธุ์เมล่อนที่ปลูกยาก มีปัญหาในการปลูกมากพอสมควร อายุการเก็บเกี่ยวนานกว่าเมล่อนพันธุ์ผิวเรียบ คือกว่า 70 วัน แล้วเราปลูกแบบกลางแจ้ง ไม่ได้ปลูกแบบโรงเรือนที่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ เช่น เรื่อง "ฝน" เมื่อฝนตกมามาก เมล่อนดูดน้ำมาก ก็จะทำให้ผลแตกเสียหายโดยง่าย จุดอ่อนของเมล่อนญี่ปุ่นคือ ตายง่าย หวานยาก แต่คุณสุวิทย์สามารถปลูกเมล่อนทั้ง 10 สายพันธุ์ ได้ตลอดทั้งปี คุณสุวิทย์ บอกว่า ยังไม่ให้สมาชิกใหม่ที่มีประสบการณ์ปลูกเมล่อนน้อยปลูก เพราะจะมีความเสี่ยงและเสียหายได้สูง อาจจะทำให้เขาขาดทุน ถอดใจเลิกปลูกไปเลยก็มี เกษตรกรมือใหม่จะต้องเก่งก่อน กว่าจะเก่งก็ 3 ปี มาเป็นลูกศิษย์ผมก่อนจึงจะทำได้ ก่อนหน้า 3 ปี จะปลูกแล้วเจ๊ง ไปเรื่อยๆ มันก็ต้องให้เขาปลูกตัวที่ไม่เจ๊ง ตัวที่ง่ายๆ ก่อน คนโลภมากปลูกตัวแพงก่อน เจ๊งก็หมดเงินเลย "ถ้าเราไม่เลิก เราไม่เจ๊ง เราแค่ขาดทุน แต่ถ้าเราเลิกเมื่อไรเราคือเจ๊ง แต่ขาดทุนเดี๋ยวเราก็เอากำไรได้แล้วจริงไหม" คุณสุวิทย์ กล่าว ทำไม ต้องปลูกเมล่อนมากกว่า 10 สายพันธุ์ คุณสุวิทย์ อธิบายว่า ถ้าเราปลูกเมล่อนเพียงพันธุ์เดียว ซึ่งมันอาจจะเป็นพันธุ์ที่ปลูกง่าย ผลผลิตก็ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่เราอาจจะขายไม่หมดในครั้งเดียวก็ได้ ประกอบกับเป็นสายพันธุ์เมล่อนราคาปานกลาง แต่พอเราปลูกเมล่อนหลายสายพันธุ์ มีตัวเลือกให้ลูกค้า มีแบบราคาที่สูงขึ้น ปรากฏว่ามันก็ขายหมดทุกพันธุ์ การที่ปลูกหลายๆ สายพันธุ์ กลับทำให้เราขายของง่ายขึ้น เพราะแต่ละพันธุ์มีลักษณะไม่เหมือนกัน เช่น เนื้อกรอบ, เนื้อนิ่ม, หวานจัด, หวานหอมๆ แล้วแต่ลูกค้าที่มีความชอบไม่เหมือนกัน เราก็กระจายกลุ่มลูกค้าออก เราก็มีการแบ่งเกรดเมล่อน เพื่อให้ง่ายในการทำราคา เช่น เมล่อน เกรด เอ สเปคผลต้องสวย ความหวานต้องสูงกว่า 14 บริกซ์ ขึ้นไป น้ำหนักผลประมาณ 1.5-2.2 กิโลกรัม เป็นต้น การเตรียมแปลงปลูกเมล่อนต้องดี เป็นการยกร่องทำแปลงเหมือนการปลูกพืชทั่วไป โดยต้องการให้มีการระบายน้ำที่ดี ความยาวแปลงปลูกนั้นแล้วแต่พื้นที่ปลูก แต่แนะนำว่าความยาวแปลงปลูกควรมีความยาวไม่เกิน 50 เมตร เพราะจะได้ง่ายในเรื่องของการจัดการ เช่น การปักไม้ไผ่ เกษตรกรจะได้ไม่เหนื่อยมากที่ต้องแบกไม้ไผ่เป็นระยะไกล, วางระบบน้ำที่ความยาวไม่เกิน 50 เมตร จะได้ประสิทธิภาพดี, การเก็บผลผลิตออกจากแปลง เป็นต้น จากนั้นเกษตรกรต้องมีการเช็กค่าความเป็นกรด-ด่าง ของดินว่ามีความเหมาะสมต่อการปลูกพืชหรือไม่ โดยค่าความเป็นกรด-ด่าง ที่เหมาะสมต่อการปลูกเมล่อน คือ 5.5-6.5 ซึ่งดินที่อยุธยาส่วนใหญ่จะมีค่าความเป็นกรด ที่ 4.5-5 ก็ต้องปรับสภาพดิน โดยใช้ "ปูนขาว" ชนิดที่เป็นปูนเผา เป็นหินปูนหรือเปลือกหอยนำมาเผาจนสุก ปล่อยให้เย็นแล้วบดละเอียด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แคลเซียมออกไซด์ (CaO) โดยคุณสุวิทย์ อธิบายเรื่องของการเลือกใช้ปูนขาวในการปรับค่า pH ว่า ปูนขาวดังกล่าว เวลาเจอน้ำ มันทำปฏิกิริยากับน้ำ ปูนขาวจะร้อนมาก ซึ่งมันสามารถปรับค่า pH ดินได้เร็วและทันการ เพราะเมล่อนเป็นพืชอายุสั้น ดังนั้น จะใส่ปูนขาวในขั้นตอนการเตรียมแปลงเท่านั้น แต่พอปลูกพืชไปแล้วห้ามใส่เด็ดขาด การใส่ "ปุ๋ยคอก" ถ้าเลือกได้ จะเลือกใส่ขี้ไก่ ซึ่งแถบอยุธยาจะมีฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อมาก ปุ๋ยคอกที่ใช้จึงเป็นขี้ไก่แกลบ ผลที่ทดลองมาหลายชนิด รู้สึกว่าขี้ไก่ดีที่สุด อาจจะเพราะขี้ไก่มีธาตุอาหารสูงกว่าปุ๋ยคอกอย่างอื่น และไม่ค่อยมีเชื้ออะไรติดมา เราเคยทดลองใส่มาแล้วหลายอย่าง เราพบว่ามันดีที่สุด แต่ถ้าหาไม่ได้ ใช้ปุ๋ยคอกชนิดอื่นก็ได้ แต่ควรเป็นปุ๋ยคอกเก่า การจัดการระบบน้ำ โดยอาศัยความรู้ด้านเครื่องจักรกลที่เรียนมา คุณสุวิทย์ได้ออกแบบระบบน้ำหยดเพื่อใช้ในการปลูก ซึ่งปรับจากหลักระบบการให้น้ำของอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา และส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพดีสม่ำเสมอ เมื่อเตรียมแปลงเสร็จ ก็ต้องวางระบบน้ำหยด เกษตรกรที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก ต้องมาเรียนรู้เรื่องการวางระบบน้ำหยด โดย 1 แปลง จะวางสายน้ำหยด 3 เส้น การให้น้ำจะต้องให้อย่างสม่ำเสมอ และการวางระบบน้ำนี้เองจะถูกนำมาใช้ในเรื่องของการให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำ ซึ่งการให้ปุ๋ยทางน้ำ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการปลูกเมล่อนให้ได้คุณภาพ เมื่อวางระบบน้ำเสร็จก็สามารถปูพลาสติกคลุมแปลงได้ การปลูกเมล่อน เริ่มต้นจากการเพาะกล้า นำเมล็ดแช่ในน้ำอุ่นสัก 6-8 ชั่วโมง ก่อน จากนั้นให้เรียงเมล็ดในถาดเพาะกล้า เคล็ดลับคือ การวางเมล็ด จะต้องวางในแนวนอน ซึ่งจะทำให้เมล็ดมีการงอกที่ดี ต้นที่งอกมาจะตรงสวย แต่เกษตรกรที่ไม่ทราบก็จะเพาะเมล็ดโดยการกดเมล็ดลงวัสดุปลูกแบบตรงๆ ผลที่ได้คือ เมล็ดงอกไม่ 100% ต้นกล้าลำต้นจะบิด ไม่สวย จากนั้นเมื่ออายุกล้าได้ประมาณ 10 วัน (ถ้าเพาะกล้าหน้าหนาว ประมาณ 15 วัน) ก็พร้อมที่จะย้ายปลูกลงแปลง ระยะการปลูก จะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และฤดูกาลการปลูก โดยเฉลี่ย 1 ไร่ จะปลูกได้ ประมาณ 2,500 ต้น โดย 1 ต้น ไว้ 1 ผล ส่วนระยะปลูกระหว่างต้น ถ้าปลูกช่วงหน้าหนาวก็ต้องปลูกระยะที่ห่างกว่า คือ ระยะ 35-40 เซนติเมตร อย่างหน้าร้อนก็ปลูกระยะห่างระหว่างต้น 30 เซนติเมตร เพราะระยะปลูกนั้นจะมีผลต่อขนาดของผลเมล่อนด้วย อย่างปลูกพันธุ์เดียวกัน แต่ระยะห่างต่างกัน ผลเมล่อนจะใหญ่กว่ากัน ระยะปลูกยิ่งห่างผลเมล่อนจะมีขนาดใหญ่นั่นเอง เป็นอีกเทคนิคหนึ่งในการควบคุมขนาดผลจากการเลือกใช้ระยะปลูก "ยกตัวอย่าง ระยะปลูก 30 เซนติเมตร จะได้เมล่อน น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม ถ้าใช้ระยะปลูก 40 เซนติเมตร ก็จะได้ผลเมล่อนน้ำหนักถึง 3 กิโลกรัม เป็นต้น แต่เมล่อนที่มีขนาดผลใหญ่ 3 กิโลกรัม เราจะนำไปขายใน ซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้ เพราะผลมีขนาดใหญ่เกินไป เราก็ต้องส่งขายที่อื่น เช่น โรงแรม ที่เขาไม่เกี่ยงเรื่องขนาดผล แต่ซื้อเขาจะไม่ซื้อในราคาที่สูงมากเหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ต เมล่อนผลใหญ่ หนัก 3 กิโลกรัม สมมุติเราขายให้กับโรงแรม ได้ราคา กิโลกรัม 26 บาท ลูกหนึ่งได้ 78 บาท แต่ถ้าส่งห้าง 2 กิโลกรัม ขายได้ กิโลกรัมละ 36 บาท ลูกละ 72 บาท ซึ่งคนปลูกไม่มีปัญหา เพราะต้นทุนเท่ากัน เรื่องการตลาดเราขายได้หมดเลย ขอแค่ให้เมล่อนเรามีรสชาติหวานอย่างเดียวพอ คนปลูกได้เงินเหมือนเดิม แต่เมล่อนผลใหญ่ๆ ขายแพงคนก็ซื้อยากหน่อย เพราะคิดเป็นเงินออกมามันก็แพง ถ้าให้ดีเมล่อนควรจะควบคุมให้น้ำหนักอยู่ที่ลูกละ 1.8-2 กิโลกรัม กำลังดี ซื้อขายง่ายกว่า" หนังสือ "การปลูกเมล่อน เชิงพาณิชย์" พิมพ์ 4 สี แจกฟรี พร้อมกับหนังสือ "อาชีพเกษตรกรรม ทำง่าย รายได้งาม เล่มที่ 4-10" รวมทั้งหมด 7 เล่ม จำนวน 588 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจ เขียนจดหมายสอดแสตมป์ มูลค่ารวม 250 บาท (พร้อมระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
พระนครศรีอยุธยา
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 25 ฉบับที่ 538
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM