เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปลูก มะระ ต้องเซียน "เพื้อน แก้วคำ" ปลูกเป็นอาชีพ ที่ ปากท่อ ราชบุรี
   
ปัญหา :
 
 
"มะระ" ผลมีรสขม รูปร่างดูขรุขระชอบกล จัดอยู่ในประเภทพืชผักสมุนไพร ผู้ใหญ่ชอบมาก แต่กับเด็กๆ ไม่รับประทานกันเลย เหตุเพราะความขมของมะระนั่นเอง เขาบอกว่าถ้าจะนำมะระมาประกอบอาหาร หลังจากผ่ามะระเอาไส้ออก ตัดเป็นชิ้นๆ แล้ว ต้องนำไปแช่น้ำเกลือเสียก่อน จึงจะลดความขมของเนื้อมะระลงได้ แต่ยังไงก็ต้องคงความขมของเนื้อมะระเอาไว้บ้าง เพราะถ้ารับประทานมะระไม่ขม เนื้อจืดชืดเหมือนฟักแฟงแล้ว จะทำให้ขาดอรรถรสในการบริโภคมะระอย่างสิ้นเชิง มะระ มีหลายสายพันธุ์ แบ่งออกเป็นมะระขี้นก มะระจีน และมะระลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ๆ สรรพคุณทางยาสมุนไพรของมะระมีมาก โดยเฉพาะมะระขี้นกที่มีรสขมจัด คนโบราณนิยมบริโภคมาก มักจะได้ยินคำที่ว่า "หวานเป็นลม ขมเป็นยา" ก็เนื่องจากมะระนั่นเอง มะระขี้นกนำผลมาหั่นตากแห้งชงกับน้ำดื่ม แก้เบาหวาน ถ้าจะแก้รสขมให้เติมใบชาลงไป จะช่วยให้การจิบน้ำชามะระดีขึ้น การปลูกมะระ ถ้าปลูกแบบพืชผักสวนครัวก็คงไม่ยาก แต่ถ้าจะปลูกมะระให้ได้ผลผลิตดี เก็บผลขายเชิงธุรกิจรุ่นต่อรุ่น ก็คงจะต้องพูดกันยาวหน่อย เพราะมะระเป็นพืชเถาไม้เลื้อยขึ้นค้าง ค่อนข้างจะอ่อนแอต่อโรคและแมลงศัตรูมะระก็มีมากมายในสภาพแวดล้อม หากไม่ใช่มือโปรที่มีประสบการณ์การปลูกมะระจริงๆ ก็ยากที่จะปลูกมะระรุ่นต่อรุ่น และหลายๆ รุ่นให้ประสบความสำเร็จได้ คุณเพื้อน แก้วคำ เกษตรกรคนเก่ง สามารถปลูกมะระเป็นอาชีพเก็บขายเชิงการค้ารุ่นต่อรุ่นได้ ปัจจุบัน ทำแปลงมะระอยู่ในพื้นที่ดินไม่ค่อยจะดีนัก เขตบ้านหมู่ที่ 3 ตำบลอ่างหิน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี คุณเพื้อน บอกว่า แปลงมะระที่ปลูกอยู่แปลงนี้ เนื้อที่ประมาณ 6 งาน ปลูกมะระกว่า 500 ต้น "ผมมาอยู่ที่บ้านหมู่ที่ 3 อ่างหิน ตั้งแต่ ปี 2523 มาเริ่มต้นด้วยการปลูกผัก ส่วนใหญ่จะเป็นมะระสลับกับถั่ว มะเขือ แตงค้างลูกใหญ่ๆ ผักที่ปลูกจะต้องไม่เกิน 50-60 วัน เก็บขายได้" คุณเพื้อน เล่าว่า มะระที่ปลูก ใช้อยู่ 4 พันธุ์ คือ พันธุ์หยกทิพย์ พันธุ์แชมป์ พันธุ์ลาดบัวขาว และพันธุ์ศรแดง แต่ที่ปลูกอยู่ในแปลงขณะนี้ใช้ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์หยกทิพย์ และพันธุ์แชมป์ สาเหตุที่เลือกหยกทิพย์เพราะผลใหญ่พอสมควรไม่ใหญ่จนเกินไป ทางน้ำดีไม่บาง หมายถึงร่องกลางของมะระ ถ้าทางน้ำบางจะทำให้มะระสุกไว เนื้อหนาพอสมควร มีน้ำหนักค่อนข้างดี มะระพวกนี้เป็นพันธุ์ลูกผสม การเริ่มต้นปลูกมะระแบบมืออาชีพ คุณเพื้อน อธิบายว่า ต้องดูดินที่จะปลูก หากดินไม่ดีแนะนำให้นำปอเทืองมาปลูกก่อน พอปอเทืองโตออกดอกให้ไถกลบ ไถพรวน แล้วยกร่อง ขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้นอีกว่ามีฝนชุกหรือไม่ ถ้าฝนชุกจะแฉะก็ต้องยกร่อง ตีร่อง ความกว้างหน้าร่องแล้วแต่ใครจะชอบระยะเท่าไหร่ สำหรับตนหน้าร่องกว้าง 3 เมตร ตีร่องตรงกลางทำเป็นร่องน้ำทิ้ง กว้าง ประมาณ 50 เซนติเมตร ความยาวลึกเข้าไปแล้วแต่พื้นที่ เมื่อเตรียมพื้นที่เตรียมดินปลูกแล้ว ก็ต้องเพาะเมล็ดพันธุ์มะระก่อน นำเมล็ดพันธุ์ไปใส่แผงเพาะเมล็ด จนกล้างอกสูง ประมาณ 3-4 นิ้ว ใช้เวลาประมาณ 10 วัน จึงนำกล้าพันธุ์ลงปลูกได้ วิธีการปลูกก็ขุดหลุมปลูกไม่ต้องกว้าง ประมาณ 1 คืบ ลึกพอประมาณ เอาเชื้อไตรโคเดอร์ม่ารองก้นหลุม จากนั้นก็เอาต้นกล้าพันธุ์ลงปลูก ใส่ปุ๋ยหมักกลบปากหลุมทีหลัง ระยะห่างระหว่างต้น ประมาณ 1 ศอก ระหว่างแถว ประมาณ 2 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน ใช้ต้นกล้าพันธุ์ประมาณ 550 ต้น ปลูก 18 แถว ยาวแถวละ 32 วา พอเอากล้าปลูกเรียบร้อยแล้ว ให้นำฟางมาช่วยบังแดดรอบๆ โคนต้น ใช้สายยางลากสายฉีดน้ำรดทั้งแปลง แต่ถ้าจะใช้สปริงเกลอร์ต้องตั้งให้สูง ประมาณ 1 ศอก หลังจากลงกล้าประมาณ 15 วัน ให้สับดินรอบโคนแล้วก็ใส่ปุ๋ยคอก ใส่ไตรโคเดอร์ม่าอีกรอบ การปลูกมะระเมื่อลงกล้าพันธุ์ก็ต้องทำค้างให้ยอดมะระเลื้อยขึ้นค้างเลย ใช้ตาข่ายทำค้างให้มะระไต่ขึ้นสูง ประมาณ 4 ศอก แต่ถ้าจะให้ดีทำแผงไม้ไผ่จะดีกว่า มะระถ้าต้นสมบูรณ์ 45 วัน ก็มีผลให้ตัดได้แล้ว ช่วงมะระอายุได้ 30 วัน ยังไม่ติดผลให้รดน้ำวันละครั้ง ทิ้งน้ำไม่ได้เลยช่วงนี้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ต้นมะระงัน คือ ยืนนิ่งไม่ค่อยอยากจะโต เมื่อได้น้ำสม่ำเสมอทุกวันระยะนี้มะระจะติดดอกติดผล สังเกตต้นมะระถ้าสมบูรณ์ดียอดพุ่งดีไม่ต้องไปทำอะไรเลย มันจะติดดอกติดผลดีมาก เราเพียงแค่ดูสภาพดินเป็นอย่างไร อุ้มน้ำดีหรือไม่ ดินแห้งหรือเปล่า ถ้ายอดเหี่ยวใบห่อ ใบไม่ใส แสดงว่าน้ำไม่ถึง เมื่อมะระติดผล ก็ให้น้ำธรรมดา ดูว่ายอดยังสมบูรณ์ดี ก็ไม่ต้องทำอะไร พอผลมะระโตได้ 4-5 วัน เริ่มห่อได้แล้ว สังเกตผลมะระยาวประมาณ 1 นิ้วมือ ก็ห่อได้ ถ้าห่อตอนผลเล็กกว่านี้ไม่ดี จะทำให้ผลเหลือง เวลาห่อใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อเลย เอาไม้กลัดเย็บให้แน่นพอประมาณ เพื่อไม่ให้ผลมะระถูกลม ช่วงนี้ให้ดูว่ามีเพลี้ยไฟเกาะอยู่ใต้ใบหรือไม่? สังเกตดูที่ใบจะหงิกก็ต้องฉีดยากำจัดเพลี้ยไฟ "สำหรับผม หมักพวกหนอนตายหยาก สะเดา ใบยาสูบ และโล่ติ๊น กับน้ำ แล้วฉีดพ่นใบ" เพลี้ยไฟมากับลม ถ้าเห็นว่าระบาดมากควรใช้สารเคมีสกัดยับยั้งเสียก่อน ประเดี๋ยวจะเอาไม่อยู่ ฉีดครั้งสองครั้งก็ใช้ได้แล้ว มะระหลังจากห่อประมาณ 8 วัน ตัดขายได้ ถ้าต้นสมบูรณ์ ระยะเก็บผลอยู่ที่เดือนครึ่งถึง 2 เดือน การเก็บผลแต่ละครั้งก็ไม่เท่ากัน ทยอยเก็บผลใหญ่ส่งขายตลาดไปเรื่อย ระหว่างเก็บผล ประมาณ 1 เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน ต้องรดน้ำสม่ำเสมอ สังเกตหากผลไม่ใหญ่ต้องเพิ่มปุ๋ย สูตร 15-15-15 เข้าช่วยด้วย ผลมะระดีหรือไม่ดีอยู่ที่ต้นสมบูรณ์แค่ไหน ถ้าต้นสมบูรณ์ ดินดี ปุ๋ยถึง น้ำถึง ผลมะระออกมาจะตรง ที่ผลงอเพราะต้นไม่สมบูรณ์นั่นเอง หลังจากเก็บมะระจนหมด คุณเพื้อน บอกว่า ที่แปลงไม่รื้อค้างทิ้ง จะลงพริกโป่ง (พริกหยวก) หรือแซมด้วยถั่วต่ออีก 1 รอบ "เรื่องผัก เรียนกันไม่จบหรอกครับ ตลาดผักของผมจะเป็นตลาดทั่วไป พอตัดผักจะมีพ่อค้าโทร.เข้ามาขอรับซื้อเลย การปลูกมะระง่ายสำหรับคนที่ใจรัก ผมเคยพลาดมา 3 ครั้ง หมดเงินไป 70,000 กว่าบาท บางทีใบมันหงิกแบบไม่รู้สาเหตุเหมือนกัน ถึงได้บอกว่า เรื่องของผักต้องเรียนรู้กันอยู่ตลอด เพราะบางทีมันขึ้นอยู่กับลม กับธรรมชาติด้วย" ผู้ใหญ่สุวรรณ ขาวขำ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลอ่างหิน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี มาร่วมให้ข้อมูลและนำเข้าสวนลงไร่ กล่าววว่า ในเขตบ้านหมู่ที่ 3 นี้ ชาวบ้านทำเกษตรกันทุกครัวเรือน คุณเพื้อน ผู้ปลูกมะระแปลงนี้ถือว่าเป็นจอมยุทธ์เซียนมะระก็ว่าได้ คนที่จะปลูกมะระให้ได้ดีต้องเรียนรู้มาก่อน มีประสบการณ์ และต้องประสบปัญหาที่เกี่ยวกับมะระมาก่อน จึงจะแก้ปัญหาเอาตัวรอดในแต่ละรอบการผลิตได้ ผู้ใหญ่สุวรรณ กล่าวอีกว่า แปลงผักของคุณเพื้อนเคยนั่งจับเข่าคุยกัน เขาเคยบอกว่าท้อเหมือนกัน เพราะประสบปัญหาที่เข้ามารุมเร้ามากมาย ไหนจะเรื่องแมลงศัตรู เพลี้ยไฟ ไรแดง และเชื้อรา ซึ่งเชื้อรานั้นก็ชักชวนกันไปเรียนรู้เรื่องไตรโคเดอร์ม่า เรียนรู้เรื่องการรู้จักใช้สารชีวพันธุ์ เรียนรู้การใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักน้ำ อีเอ็ม ซึ่งการเรียนรู้เหล่านี้นำมาใช้ช่วยในการลดต้นทุนการผลิตพืชผักได้เป็นอย่างดี ในเขตชุมชนที่อยู่จะปลูกผักเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีตลาดรับซื้อหลัก คือ ตลาดศรีเมือง ใครมีพืชผักอะไร นำไปขายได้หมด "ผมพูดกับเกษตรกรอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าเป็นผักทานผล ขอจนเงินแค่ 45 วัน หลังจากนั้น จะมีผักให้เก็บเกี่ยวได้ตลอด และจะไม่จนแล้ว จะมีเงินหมุนเวียนตลอดเวลา" ผู้ใหญ่สุวรรณ บอกด้วยว่า สำหรับมือใหม่หัดขับไม่ต้องกลัว ถ้าเสียรอบนี้ ไม่เสียเลย ยังมีวิธีแก้ไข ต้องลงมือปลูกแล้วจะรู้ว่าโอกาสมีเงินมีทองนั้นมีแน่ๆ
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ราชบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 25 ฉบับที่ 538
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM