เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปูทะเล เป็น ปูนิ่ม "พหลฟาร์ม" สมุทรสงคราม ทำได้
   
ปัญหา :
 
 
ปูนิ่ม ที่เรารู้จักและรับประทานกันเป็นอาหาร หลายคนเข้าใจกันว่าแหล่งผลิตส่วนใหญ่จะอยู่ติดกับทะเลหรือในท้องทะเลที่กว้างใหญ่ ต้องบอกว่าทำความเข้าใจกันใหม่เถอะครับ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาคิดค้นวิธีการเลี้ยงปูนิ่มจากที่เลี้ยงบริเวณริมทะเลหรือในท้องทะเลมาเป็นบ่อเพาะเลี้ยงแบบพัฒนาในหลายพื้นที่ ซึ่งมีการเลี้ยงทั้งแบบตัดก้ามและแบบธรรมชาติ ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเดินทางกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พบปะเยี่ยมพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีอาชีพที่ไม่คาดคิดว่าจะมีอยู่ในพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครเพียง 100 กว่ากิโล คือ อาชีพเพาะเลี้ยงปูนิ่ม เมื่อรถของทีมงาน กว่า 20 ชีวิต มาถึง พี่พิธาน ลิปิสุนทร เจ้าของฟาร์ม ก็เข้ามาต้อนรับและอธิบายเล่าถึงที่มาที่ไปของอาชีพเพาะเลี้ยงปูนิ่มให้กับทีมงานได้ฟังอย่างล้วงลึกในทุกขั้นตอนการเลี้ยง พี่พิธาน เล่าให้ฟังว่า ที่ดินผืนนี้เป็นของป้าและย่า ซึ่งเดิมจะปล่อยให้เช่าทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง แต่หลังจากสัญญาเช่าหมดลง ตนก็มาขอเช่าต่อ เพื่อจะใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งหวังจะสร้างเป็นอาชีพให้กับตนเอง "ตอนนั้นเองผมยังไม่ได้คิดว่าจะเลี้ยงอะไร ไปปรึกษากับเพื่อนที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสัตว์น้ำ เขาก็บอกว่า อย่างเราเนี้ย ประสบการณ์เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็ยังมีน้อย อย่างการเลี้ยงกุ้งมันก็ยาก อีกอย่างพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นนากุ้งเก่า เชื้อโรคที่เคยมีก็ยังฝังตัวอยู่ ปลาก็ไม่แนะนำ ในที่สุดมาจบที่การเลี้ยงปู เพราะมีความทนทานต่อโรค ความเค็ม สภาพอากาศ อุณหภูมิ ที่มากกว่าสัตว์น้ำ แต่จะเลี้ยงปูธรรมดาก็จะเหมือนคนอื่นๆ จึงคิดต่อยอดนำปูทะเลมาทำเป็นปูนิ่ม" พี่พิธาน เริ่มต้นทำธุรกิจการเพาะเลี้ยงปูนิ่ม เมื่อปลายปี 52 บริเวณตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม โดยเริ่มปรับพื้นที่ เตรียมทำคันดิน สร้างสะพาน ทำบ่อเพาะเลี้ยง และบ่อพักน้ำ โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน "เนื่องจากบริเวณนี้ จะมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่เพาะเลี้ยง ผมจึงต้องแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ทำเป็นบ่อพักน้ำเพื่อใช้รองรับน้ำไว้ก่อนจะถ่ายเข้าบ่อเพาะเลี้ยงในบางช่วงเวลาที่มีปริมาณน้ำน้อยในบางฤดูการผลิต" การเตรียมบ่อเพาะเลี้ยง การเตรียมบ่อเพาะเลี้ยง พี่พิธาน บอกว่า จะทำคล้ายกับการเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้ง ซึ่งภายในบ่อจะประกอบไปด้วยประตูระบายน้ำเข้า-ออก จะ 1 หรือ 2 ประตู ขนาดบ่อกินเนื้อที่กว่า 6 ไร่ ความลึกของบ่อประมาณ 1.5 เมตร ภายในบ่อจะมีเครื่องสูบน้ำเข้า-ออก 1 ตัว (ตัวใหญ่) บริเวณกลางบ่อเพาะเลี้ยงจะมีสะพานไม้ความยาวเกือบสุดขอบบ่ออีกข้าง เพื่อใช้เป็นทางเดินตรวจเก็บปูนิ่มที่ลอกคราบ รวมถึงใช้เดินให้อาหารปูที่เลี้ยงในแต่ละวัน โดยสะพานจะใช้วัสดุธรรมชาติเป็นหลัก สำหรับตัวแพรองรับตะกร้า พี่พิธานจะใช้ท่อ พีวีซี สีฟ้า เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 1-2 นิ้ว ปิดปลายทั้ง 2 ข้าง แล้วต่อเป็นแพยาวประมาณ 80 เมตร กว้าง 1 เมตร ใน 1 แพ จะมี 4 แถว แต่ละแถวจะวางตะกร้าเลี้ยงปูได้มากถึง 300 กล่อง ซึ่งเฉลี่ย 1 แพ จะวางกล่องเลี้ยงปูได้ถึง 1,200 กล่อง ส่วนขนาดของตะกร้าที่ใช้เลี้ยงจะมีความกว้างราวๆ 22.6 เซนติเมตร ยาว 30.0 เซนติเมตร สูง 16.1 เซนติเมตร ใน 1 ตะกร้า จะใส่ปูลงไปเพียง 1 ตัว เท่านั้น ขั้นตอนการเพาะเลี้ยง และเลือกพันธุ์ปู การปล่อยปูที่นี่จะไม่เลือกเวลาปล่อย พี่พิธาน บอกว่า จะปล่อยลงได้ตลอดทั้งวัน เพราะเนื่องจากคนงานที่มียังไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยง อีกทั้งขั้นตอนการเลี้ยงปูนิ่มจะมีกระบวนการและวิธีที่ค่อนข้างมาก ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาและความชำนาญ ไม่เหมือนกับการเลี้ยงปูธรรมดาทั่วไปที่ตัดเชือกแล้วปล่อยลงน้ำได้เลย ดังนั้น คนเลี้ยงจะต้องระมัดระวัง" "ก่อนปล่อยปูลงเลี้ยงในตะกร้าจะมีการปรับสภาพของปูให้เข้ากับแหล่งน้ำที่จะเลี้ยง โดยการใช้น้ำในบริเวณที่เลี้ยงรดตัวปูให้ชุ่ม จากนั้นจึงตัดเชือกมัดปูออกแล้วปล่อยลงกล่องเพาะเลี้ยง พันด้วยลวด แล้วนำไปวางลงบนแพที่ทำไว้ สำหรับพันธุ์ปูที่ใช้เป็นปูทะเลที่เห็นตามท้องตลาด โดยจะสั่งพันธุ์มาจากแพปูทางภาคใต้ ซึ่งจะมีขนาดตัวประมาณ 1 ขีด ซึ่งในแต่ละรอบ ผมจะสั่งขึ้นมาครั้งละประมาณ 40-50 กิโล" แต่ละเดือน พี่พิธานจะสั่งปูทะเลขึ้นมาเพื่อเพาะเลี้ยงทำเป็นปูนิ่ม เดือนละ 2 รอบ เฉลี่ยรอบละประมาณ 45 กิโลกรัม ซึ่งแต่ละเดือนจะใช้ปูทะเล 700-800 ตัว การดูแล และการให้อาหาร ทุกๆ วัน กิจกรรมที่พี่พิธานและลูกน้องต้องทำหลักๆ ของการเลี้ยงปูนิ่ม คือ เดินตรวจเช็กว่าปูที่เลี้ยงลอกคราบหรือยัง โดยช่วงเวลากลางวันจะเดินดู 3 รอบ กลางคืน 3 รอบ และส่วนรอบ 15.30 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาให้อาหาร จะดูอีกรอบหนึ่ง (การให้อาหารจะให้วันเว้นวัน) ส่วนการเปลี่ยนถ่ายน้ำแต่ละครั้งจะต้องตรวจเช็กสภาพน้ำภายในบ่อเพาะเลี้ยงและบ่อพักน้ำ ซึ่งความเค็มของน้ำจะให้อยู่ประมาณ 25 พีทีที โดยการเปลี่ยนถ่ายหรือเติมน้ำเข้าบ่อเพาะเลี้ยงแต่ละครั้ง จะสังเกตน้ำด้านนอกเป็นหลัก ซึ่งหากช่วงไหนน้ำมาก ก็จะใช้วิธีเปลี่ยนถ่ายน้ำ แต่หากช่วงไหนที่น้ำด้านนอกน้อย หรือช่วงที่น้ำตาย จะใช้วิธีเติม ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยง พี่พิธานจะให้เนื้อปลาที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ (ปลาข้างเหลือง หรือปลากิมซัว) ขนาดเท่าเหรียญ 5 บาท ใส่ลงไปกล่องละ 1 ชิ้น ระยะเวลา ในการเลี้ยงปูจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน โดยเฉลี่ย แต่บางครั้งปูที่นำมาปล่อยมีความพร้อม เมื่อปล่อยลงไปประมาณ 2-3 วัน ก็สามารถลอกคราบได้เช่นกัน อีกทั้งปูที่มีอวัยวะในบางส่วนหลุดหายไป ก็จะสลัดคราบออกได้เร็วกว่าปูปกติทั่วไป การสังเกตปูลอกคราบ พี่พิธานบอกว่าดูได้จากปูในตะกร้า หากพบปู 2 ตัว ในตะกร้าเดียวกัน แสดงว่าตัวหนึ่งจะเป็นคราบและอีกตัวหนึ่งจะเป็นปูนิ่มที่ลอกคราบ ซึ่งในแต่ละวันบางรอบสามารถเก็บปูนิ่มได้มากถึง 10-20 ตัว และยิ่งช่วงที่ใกล้ครบ 45 วัน ของการเลี้ยง จะได้ปูนิ่มสูงถึง 80 ตัว สำหรับการดูแลบ่อจะใช้ปูนขาวและจุลินทรีย์เป็นตัวย่อยสลายเศษอาหารที่ตกลงพื้น ซึ่งเป็นการเอาธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังปล่อยปูไข่ลงไปภายในบ่อเพาะเลี้ยง เพื่อให้เก็บเศษซากอาหารที่หลุดออกจากกล่อง จนสามารถจับปูไข่จำหน่ายได้อีกทางหนึ่ง ส่วนอุปกรณ์ อย่างตะกร้าที่ใช้เลี้ยง เมื่อปูลอกคราบแล้ว ก็จะนำขึ้นมาทำความสะอาด ใช้แปรงขัดและนำไปตากแดด ก่อนที่จะนำกลับไปใช้ใหม่อีกครั้ง ส่วนท่อ พีวีซี ที่ใช้ทำเป็นแพ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ได้ระยะเวลาที่นาน ไม่ค่อยพบปัญหาชำรุด ทุกวันนี้ พหลฟาร์ม สามารถผลิตปูนิ่มออกจำหน่ายให้กับพ่อค้าแม่ค้าทั้งที่เป็นขาประจำ นักท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ค้าขาจร อีกทั้งส่งให้กับร้านอาหารในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามได้ทุกวัน โดยมีราคาตั้งแต่ 250 บาท ไปจนถึง 300 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของปู โดยรูปแบบการจำหน่ายนั้น พี่พิธานจะบรรจุใส่กล่องพลาสติก กล่องละ 1 ตัว และนำแช่แข็งไว้ในห้องเย็น อุณหภูมิ -18 องศา ก่อนส่งต่อไปยังมือพ่อค้าแม่ค้า ท่านใดที่สนใจ อยากสอบถามข้อมูล หรือติดต่อซื้อปูนิ่มมาประกอบอาหาร พหลฟาร์มเปิดบริการทุกวัน ติดต่อได้ที่ คุณพิธาน ลิปิสุนทร โทรศัพท์ (086) 755-2252 กรมประมง หนุนชุมชน ทำปะการัง "ซั้งกอ" ภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ปัจจุบัน ทรัพยากรทางทะเลกำลังเผชิญกับปัญหาสภาวะเสื่อมโทรม ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดน้อยลง อันเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงที่เกินกำลังผลิตของธรรมชาติ การจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือที่ผิดกฎหมาย การใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพการทำประมงสูง รวมถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ซึ่งได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้านที่ประกอบอาชีพด้วยเครื่องมือประมงเรียบง่ายและเลือกจับสัตว์น้ำเฉพาะอย่าง เช่น เบ็ด แห ลอบ ไซ อวนลอยปู และอวนลอยกุ้ง เป็นต้น เนื่องจากขาดแคลนทรัพยากรสัตว์น้ำในการทำประมง ส่งผลให้รายได้ลดน้อยลง ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ การบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้มีใช้อย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นภารกิจของกรมประมง ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งการเพิ่มจำนวนผลผลิตสัตว์น้ำ การฟื้นฟูแหล่งทำการประมง การสร้างความรู้ ความเข้าใจในการอนุรักษ์ควบคู่กับการปลูกจิตสำนึกให้ผู้ใช้ทรัพยากรประมงรู้คุณค่าและมีจิตสำนึกในการหวงแหนทรัพยากรโดยการสร้างเครือข่ายการจัดการประมงทะเลแบบชุมชนมีส่วนร่วม "ซั้งกอ" หรือ "ปะการังเทียมพื้นบ้าน" เป็นอีกโครงการหนึ่งภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรประมง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาตั้งแต่อดีต ใช้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โดยการนำซั้งกอหรือปะการังเทียมที่ชาวบ้านได้ประดิษฐ์ขึ้นเองไปวางเป็นกลุ่มไว้ในทะเล จุดละประมาณ 3 กลุ่ม โดยห่างจากฝั่ง 3 กิโลเมตร เพื่อใช้เป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็กให้มีโอกาสได้เจริญเติบโตและขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณ และยังสามารถช่วยป้องกันเรือประมงขนาดใหญ่เข้ามาทำการประมงในเขตบริเวณชายฝั่งได้อีกด้วย สำหรับการจัดทำซั้งกอ สามารถเลือกใช้วัสดุที่มีราคาถูก และหาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ลำไม้ไผ่ ใบมะพร้าว เชือกกระสอบ กิ่งไม้ เป็นต้น โดยนำมาประกอบกันเป็นซั้งกอแล้วนำไปวางบริเวณแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล โดยรูปแบบการทำซั้งกอจะแตกต่างกันตามภูมิปัญญาชาวบ้านของแต่ละชุมชน โดยการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ทะเลแล้วในหลายพื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำซั้งกอชุมชนที่ บ้านปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี บ้านบ่อนอก บ้านคั่นกระได อำเภอเมือง บ้านโคกตาหอม อำเภอทับสะแก บ้านกรูด อำเภอบางสะพาน บ้านหนองเสม็ด และบ้านบางเบิด อำเภอบางสะพานน้อย, จังหวัดปัตตานี ได้ดำเนินการที่ บ้านตันหยงเปาว์ อำเภอหนองจิก บ้านตะโล๊ะสะมิแล บ้านปาตาบูดี บ้านตะโล๊ะกาโปร์ บ้านดาโต๊ะ อำเภอยะหริ่ง บ้านปะนาเระ บ้านปะเสยะวอ อำเภอปะนาเระ และบ้านละเวง อำเภอไม้แก่น, จังหวัดนราธิวาส ได้ดำเนินการทำซั้งกอในบริเวณแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินการดังกล่าว กรมประมงได้รับความร่วมมือจากชาวประมงพื้นบ้านเป็นอย่างดี เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการจัดทำซั้งกอโดยเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถฟื้นฟูทรัพยากรประมงให้มีไว้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ โดยไม่ต้องออกเรือไปทำการประมงไกลๆ ซึ่งเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาข้อพิพาทระหว่างชาวประมงพาณิชย์กับชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นแบบอย่างในการจัดการทรัพยากรประมงโดยการอาศัยชุมชนมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สมุทรสงคราม
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 25 ฉบับที่ 538
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM