เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ชาวสวนยางบึงกาฬ แนะเคล็ดลับ ปลูกพืชผสมผสาน โกยรายได้หลักแสนต่อปี
   
ปัญหา :
 
 
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมวิชาการเกษตร สำรวจพบว่า ปัญหายางราคาแพงจูงใจให้เกษตรกรเร่งเปิดกรีดยางต้นเล็กยังไม่ได้ขนาดเส้นรอบลำต้น 50 เซนติเมตร กว่าร้อยละ 70 ของสวนยางพาราปลูกแห่งใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานในโครงการยางล้านไร่ สำหรับสวนยางพาราในภาคอีสานพบว่า เกษตรกร ร้อยละ 28 เร่งเปิดกรีดยางต้นเล็กอายุเพียง 5 ปีครึ่ง ที่มีขนาดเส้นรอบลำต้นแค่ 34 เซนติเมตร ที่เหลืออีก ร้อยละ 63 เปิดกรีดยางอายุ 6 ปีครึ่ง ขนาดเส้นรอบลำต้น 38 เซนติเมตร ปัญหาการกรีดยางต้นเล็กได้ส่งผลกระทบ ทำให้ต้นยางชำรุด เติบโตช้าลง ต้นยางมีปริมาณน้ำยางลดลงถึง 30-60 เปอร์เซ็นต์ ต้นยางมีอายุการให้น้ำยางสั้นลง และเกิดปัญหาหน้ายางตาย นอกจากนี้ ยังทำให้ไม้ยางพารามีคุณภาพต่ำลง ขายไม้ยางไม่ได้ราคา สรุปว่า เร่งเปิดกรีดยางต้นเล็กได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเจ้าของสวนยางอาจต้องสูญเสียรายได้ก้อนโตในระยะยาวนั่นเอง หากใครรู้ตัวว่ากำลังเปิดกรีดยางต้นเล็กอยู่ในขณะนี้ ยังสามารถกลับตัวได้ทัน กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ หยุดกรีด 1-2 ปี เพื่อรอให้ต้นยางโตได้ขนาด 50 เซนติเมตร ในระหว่างที่พักกรีดควรใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางพารา โดยใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 29-5-18 อัตรา ครึ่งกิโลกรัม/ต้น/ครั้ง ใส่ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงต้นและปลายฤดูฝน ใส่ปุ๋ยบริเวณกึ่งกลางระหว่างแถวยาว โดยวิธีหว่าน หรือหากเป็นที่ลาดเอียงให้ขุดหลุมลึก 10 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยแล้วกลบหลุม จะทำให้ต้นยางพาราฟื้นตัวและกรีดได้อีกครั้ง สำหรับเกษตรกรมือใหม่ ที่ไม่อยากขาดรายได้ระหว่างรอต้นยางโต ขอแนะนำให้หารายได้เสริมโดยปลูกพืชผสมผสาน แซมในสวนต้นยาง เช่นเดียวกับ "คุณลุงสมคิด เลิศประเสริฐ" ซึ่งเป็นเจ้าของสวนยางที่อยู่ในพื้นที่โครงการส่งเสริมปลูกยางพาราใหม่ในพื้นที่ภาคอีสาน คุณโอภาส ชูฤทธิ์ นายอำเภอปากคาด และ คุณประเชิญ โพนพุฒ เกษตรอำเภอปากคาด กรุณาสละเวลานำผู้เขียนไปเยี่ยมชมสวนยางของคุณลุงสมคิด ที่พักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 46 หมู่ที่ 12 บ้านชัยพร ตำบลโนนศิลา อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ โทร. (083) 384-0464 คุณลุงสมคิด เกิดและเติบโตในครอบครัวชาวนา และสืบทอดอาชีพทำนาเลี้ยงครอบครัวมาตลอด คุณลุงสมคิดเล่าว่า ปี 2530 ผมหลงเชื่อคำโฆษณาของบริษัทเอกชนให้กู้เงิน ธ.ก.ส. เพื่อลงทุนปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แต่เอกชนรายนั้นได้ปิดกิจการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่มีใครรับซื้อผลผลิต ทำให้ครอบครัวผมล้มละลาย มีภาระหนี้สินจำนวนมาก ต่อมาในปี 2532 คุณลุงสมคิดมีโอกาสเข้าอบรมความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงลงทุนกู้เงินรอบใหม่จาก ธ.ก.ส. เพื่อปรับปรุงที่ดินโดยจ้างรถแบ๊กโฮเข้ามาขุดสระน้ำในไร่นา รวมทั้งเพาะปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ปรากฏว่าได้ผลดี ทำให้ฐานะความเป็นอยู่เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ และจังหวัดหนองคายได้ยกย่องคุณลุงสมคิด ในฐานะเกษตรกรดีเด่นที่มีผลงานเพาะปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ ประจำปี 2549 อีกด้วย ต่อมา รัฐบาลได้ส่งเสริมปลูกยางล้านไร่ โดยแจกพันธุ์ยางฟรีให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน คุณลุงสมคิดก็มีโอกาสได้รับแจกกล้ายางฟรีด้วย พร้อมควักเงินส่วนตัวอีกจำนวนหนึ่งไปซื้อพันธุ์ยางเอกชนเพื่อปลูกสวนยางบนที่ดินของตัวเอง คุณลุงสมคิดปล่อยให้ต้นยางเติบโตตามธรรมชาติ ไม่เคยใส่ปุ๋ยเคมี แค่ดูแลไม่ให้ต้นหญ้าขึ้นรกในสวนเท่านั้น คุณลุงสมคิดเพิ่งเริ่มต้นใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยน้ำหมักบำรุงต้นยางเมื่อปีกลายนี้เอง ดังนั้น ต้นยางอายุ 6 ปี ของคุณลุงสมคิด จึงมีขนาดลำต้นเล็กกว่าสวนยางทั่วไป คุณลุงสมคิดจึงต้องรอเวลา เพื่อให้ต้นยางโตกว่านี้ จึงค่อยเปิดกรีดยาง ทุกวันนี้ คุณลุงสมคิดมีพื้นที่ปลูกยางจำนวน 10 ไร่ โดยแปลงยางล่าสุดที่เพิ่งปลูกมีอายุเพียง 3 ปี ระหว่างที่รอต้นยางโต คุณลุงสมคิดก็วางแผนหารายได้เสริมโดยปลูกต้นมันสำปะหลังแซมระหว่างต้นยาง เพราะต้นมันสำปะหลังดูแลง่าย ขายได้ราคาดี เมื่อต้นมันสำปะหลังอายุครบ 3 เดือน จะมีร่มเงาปกคลุม ทำให้ไม่มีต้นหญ้าขึ้นในสวนยาง การปลูกมันสำปะหลังแซมสวนยาง คุณลุงสมคิดจะขุดหลุมและใส่ปุ๋ยอินทรีย์รองก้นหลุม ปักท่อนพันธุ์มันสำปะหลังและกลบดิน ปลูกต้นมันสำปะหลังห่างจากต้นยางประมาณ 1.50 เมตร ทุกๆ 1 ไร่ จะปลูกมันสำปะหลังได้ประมาณ 600-800 ต้น เมื่อต้นมันสำปะหลังมีอายุครบ 1 ปี จะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 7-8 ตัน/ไร่ คุณลุงสมคิดจะแบ่งผลผลิตส่วนหนึ่งเก็บเป็นเสบียงสำหรับสัตว์เลี้ยง ส่วนที่เหลือจะแบ่งขายให้พ่อค้าในท้องถิ่น เมื่อสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงปลายปีนี้ คุณลุงสมคิดตัดสินใจเลิกปลูกมันสำปะหลัง เพราะต้นยางเติบโหญ่จนมีร่มเงา ซึ่งไม่เหมาะสำหรับปลูกต้นมันสำปะหลังอีกต่อไป ที่ผ่านมา คุณลุงสมคิดขยันทำงาน เพื่อปลดหนี้ โดยลงทุนซื้อลูกโคเนื้อ จำนวน 4 ตัว มาเลี้ยงในสวนยางพารา ในราคาตัวละ 6,000 บาท เพื่อกินหญ้าในสวนยาง แล้วยังได้มูลโคเป็นปุ๋ยหมัก ทดแทนปุ๋ยเคมีได้ดีระดับหนึ่ง เมื่อปีที่แล้ว คุณลุงสมคิดขายโคเนื้อ จำนวน 1 ตัว ในราคาตัวละ 30,000 บาท เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ธ.ก.ส. ลุงมั่นใจว่า ในอนาคต หากสามารถเปิดกรีดยางได้ทั้งหมด จะมีรายได้เพิ่มเพียงพอสำหรับชำระหนี้สินกับ ธ.ก.ส. ได้หมด เมื่อปี 2554 คุณลุงสมคิดมีโอกาสเข้าร่วมโครงการอบรมความรู้ปลูกนา 1 ไร่ ได้ 1 แสนบาท และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์เพาะปลูกแบบผสมผสาน ปัจจุบันเนื้อที่ 25 ไร่ ของสวนคุณลุงสมคิด ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ที่นา 5 ไร่ ใช้ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวหอมนิล บ่อปลา 4 ไร่ นาบัว 3 ไร่ สวนยาง 10 ไร่ ที่เหลือปลูกพืชผักอายุสั้น เลี้ยงกบ ปลูกผลไม้ คุณโอภาส นายอำเภอปากคาดได้สนับสนุนกล้าพันธุ์มะละกอคุณภาพดี พันธุ์กบ และพันธุ์ปลา เพื่อให้คุณลุงสมคิดนำไปเพาะเลี้ยงตามความถนัด คุณลุงสมคิดเล่าถึงกิจวัตรประจำวันว่า ผมตื่นขึ้นมาทำงานตั้งแต่เช้า กิจกรรมแรกคือ เกี่ยวหญ้าเลี้ยงวัว ตอนสายออกไปดูสวนผัก ช่วงบ่ายออกไปทำงานดูแลสวนไม้ผล ส่วนภรรยาคุณลุงสมคิดจะทำหน้าที่เก็บผักสวนครัว เช่น แตงกวา ถั่ว มะละกอ พริก สายบัว และจับปลา ฯลฯ เพื่อนำไปขายที่ตลาดภายในหมู่บ้าน มะละกอจะส่งขายให้กับแม่ค้าส้มตำซึ่งเป็นลูกค้าประจำ แต่ละวันผมจะมีรายได้จากการขายพืชผัก ผลไม้ ไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท ส่วนนาข้าวปลูกเพื่อกินในครัวเรือนเป็นหลัก เมื่อมีผลผลิตเหลือจึงนำออกขาย นอกจากนี้ คุณลุงสมคิดจะมีรายได้จากการทำนาบัว ปีละ 2 ครั้ง โดยเก็บดอกบัวออกขายในช่วงต้นฝนและปลายฝนได้ทุกวัน ประมาณ 20,000 บาท ทุกวันนี้ คุณลุงสมคิดผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นใช้เองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยนำใบไม้ภายในสวน เช่น ใบกระท้อน มะม่วง ขนุน ฯลฯ มากองใส่กระบะที่เตรียมไว้จนเต็ม นำกากใบชาและกากกาแฟที่ได้จากโรงงานในท้องถิ่น มาโรยทับเศษใบไม้ เติมมูลสุกรโรยทับอีกชั้นหนึ่ง และใส่หัวเชื้อน้ำหมักจุลินทรีย์บนกองปุ๋ย ปล่อยทิ้ง 15 วัน จึงค่อยเกลี่ยปุ๋ยและราดด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เมื่อหมักปุ๋ยได้ครบ 1 เดือน จึงค่อยนำปุ๋ยหมักไปใช้ในสวนยาง นาข้าว และแปลงปลูกผัก เฉลี่ยครั้งละประมาณ 100 กระสอบปุ๋ย หากใครสนใจสูตรปุ๋ยน้ำหมักจุลินทรีย์ของคุณลุงสมคิด ก็ทำได้ไม่ยาก เริ่มจากนำผลไม้สุกพร้อมเปลือก เช่น กระท้อน มะม่วง ลิ้นจี่ มะปราง ขนุน สับปะรด ฯลฯ ประมาณ 30 กิโลกรัม นำมาใส่ถังพลาสติกขนาดความจุ 150 ลิตร เติมน้ำเปล่า 10 ลิตร กากน้ำตาล 10 ลิตร สารเร่ง พด. 2 จำนวน 3 ซอง ใช้เวลาหมักนาน 1 เดือน จะได้ปุ๋ยน้ำหมักประมาณ 50 ลิตร คุณลุงสมคิดแนะนำการใช้งานปุ๋ยน้ำหมักว่า หากนำไปใช้กับไม้ผลและต้นข้าว ให้ใช้ปุ๋ยน้ำหมักปริมาณ 2 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตร ส่วนพืชผักอายุสั้น เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว ควรใช้หัวเชื้อปุ๋ยน้ำหมักแค่ 1 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตร หากต้นพืชเริ่มใกล้ออกผล จึงค่อยเพิ่มปริมาณปุ๋ยน้ำหมักเป็น 2 ช้อนแกง ต่อน้ำ 20 ลิตร คุณลุงสมคิดใช้เทคนิคนี้ในการปลูกและดูแลพืชตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า พืชผักทุกชนิดเติบโตแข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลง ที่สำคัญให้ผลดกมากกว่าเดิม โดยเฉพาะต้นมะละกอ เติบโตแข็งแรง ผลดก ลูกโต หน้าฝนไม่มีอาการใบเหลือง สวนหลังบ้านคุณลุงสมคิด ปลูกมะละกออายุ 7 ปี ต้นสูงสภาพดี ลำต้นเติบโตแข็งแรง แถมมีผลดกให้เก็บกินได้ตลอดทั้งปี ปัจจุบัน สวนแห่งนี้ประสบความสำเร็จในการจัดการไร่นา ตามคอนเซ็ปต์ 1 ไร่ ได้ 1 แสนบาท กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานของเกษตรกรทั่วไป ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ คุณลุงสมคิดยกเครดิตให้กับคุณโอภาส นายอำเภอปากคาด ที่คอยแวะเวียนมาพูดคุยและให้กำลังใจ รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลและจัดหาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ให้แก่คุณลุงสมคิด รวมทั้งขอร้องให้คุณลุงสมคิดสละเวลาพูดคุยให้ความรู้แก่เพื่อนเกษตรกรเพื่อเป็นวิทยาทานต่อไป เมื่อปีที่ผ่านมา คุณลุงสมคิดได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนจังหวัดหนองคาย ทำหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมความรู้เรื่องการทำนา 1 ไร่ ได้ 1 แสน ที่หลวงพระบาง นานถึง 1 สัปดาห์ และ ธ.ก.ส. เชิญคุณลุงสมคิดให้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมความรู้เรื่องการเลี้ยงหมูหลุม และการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกรทั่วไปอย่างต่อเนื่อง หากผู้อ่านมีข้อสงสัยประการใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก คุณลุงสมคิด เลิศประเสริฐ ที่เบอร์โทรศัพท์ (083) 384-0464 ได้ตลอดเวลา
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
บึงกาฬ
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 25 ฉบับที่ 540
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM