เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
รองพ่อเมืองนครสวรรค์ ลุยปลูกเผือกหอม แปลงใหญ่ ที่ วิหารแดง สระบุรี
   
ปัญหา :
 
 
"เผือก" พืชอวบน้ำประเภทล้มลุก ลำต้นอยู่ใต้ดิน ใช้เป็นที่สะสมอาหาร หรือที่เรียกกันว่า "หัว" ส่วนที่โผล่ขึ้นมาจากดินเป็นก้านยาวที่ตั้งของใบ เรียกว่า "ก้านใบ" ใบเผือกเป็นรูปหัวใจค่อนข้างใหญ่ ลักษณะคล้ายกับใบต้นบอน พืชอวบน้ำชนิดหนึ่งที่ชอบขึ้นอยู่ชายเลน เผือก มีอยู่หลายพันธุ์ ที่ได้รับความนิยมบริโภคกันคือ "เผือกหอม" แหล่งปลูกเผือกใหญ่อยู่ที่ภาคกลาง จังหวัดสระบุรี นครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรี ส่วนภาคเหนือ ที่เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ก็มีการปลูกเผือกกันมาก เผือก เป็นพืชที่ค่อนข้างไวต่อการถูกแมลงศัตรู และเชื้อโรค เชื้อราที่อยู่ในดินเข้าทำลาย ดังนั้น การปลูกเผือกจำเป็นต้องดูแลใกล้ชิดในแทบทุกระยะของการเจริญเติบโต จะปลูกเผือกให้ได้ผลผลิตดีจะต้องมีประสบการณ์ เทคโนโลยีชาวบ้าน มีโอกาสไปเยี่ยมแปลงเผือกแปลงใหญ่ เนื้อที่เกือบ 100 ไร่ ของ คุณศักดิ์ สมบุญโต รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ในฐานะนักการเกษตรตัวจริง เสียงจริง ผู้มีประสบการณ์การทำเกษตรมากว่า 20 ปี วันนั้นที่สวนกำลังชุลมุนวุ่นวายกับการเก็บเผือก โดยมีพ่อค้านำคนงานเข้ามาตัดเผือก รับซื้อถึงที่ โดยให้ราคารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท เป็นราคารับซื้อที่ดีพอสมควร คุณศักดิ์ จัดว่าเป็นคนขยันที่สุดอีกคนหนึ่งก็ว่าได้ อาชีพหลักทำงานรับราชการมาตลอด จนมียศตำแหน่งเป็นถึง "รองพ่อเมือง" ยามว่างวันหยุดราชการ ก็เข้าสวนทำเกษตร คุณศักดิ์ ลุยปลูกพืชผัก ผลไม้ มาแล้วแทบทุกชนิด ที่ปลูกจนประสบความสำเร็จก็คือ "ส้ม" หลังจากที่หมดยุคของส้มก็หันมาปลูก "ฝรั่ง" และพืชผักทุกชนิด จนมาถึงกล้วยหอม กล้วยไข่ ล่าสุดปลูกเผือกในเนื้อที่เกือบ 100 ไร่ ที่ตำบลหนองหมู อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี คุณศักดิ์ กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องมาปลูกเผือกว่า ตอนนี้เผือกราคาดี อยู่ในช่วงหน้าฝนที่ใครๆ เขาไม่นิยมปลูกกัน ก็เลยอยากจะลองปลูกดู หากทำสำเร็จก็จะบอกกับชาวบ้านได้อย่างเต็มที่และชัดเจน ว่าสิ่งไหนทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จอย่างไร? และจะได้นำความรู้ไปถ่ายทอดให้ชาวบ้านได้รับทราบว่า หน้าฝนเราก็สามารถปลูกเผือกในพื้นที่มากๆ ทำเป็นแปลงใหญ่จนสำเร็จได้ คุณศักดิ์ กล่าวอีกว่า อย่างที่ตนอยู่จังหวัดนครสวรรค์รับผิดชอบทางด้านการเกษตร เวลาไปดูชาวบ้านเขาปลูกข้าว ปลูกอ้อย ปลูกข้าวโพด ก็ต้องมีความรู้พอสมควรและองค์ความรู้ต่างๆ นั้น เราเองก็จะต้องทดลองทำควบคู่กันไปด้วย ต้องมีการทดลองกันมาก่อนจึงจะสามารถพูดได้เต็มที่ว่าสิ่งนี้จะต้องทำอย่างไร? ไม่ควรทำอย่างไร ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะกลายเป็นว่ารู้น้อยกว่าชาวบ้านแล้วไปสั่งสอนเขา "การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เราทดลองทำมาแล้วว่าได้ผลเป็นอย่างไร ไปถ่ายทอดต่ออีกทีหนึ่ง จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี" "ผมมีประสบการณ์ทางเกษตรมา 10 กว่าปี ฉะนั้น การเลือกทำอะไรก็ย่อมมีประสบการณ์เก่าๆ มาช่วยเสริม มาอุดช่องว่างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ผมปลูกเผือกจนประสบความสำเร็จในครั้งนี้ ก็สามารถนำความรู้เหล่านี้ไปพูดกับชาวบ้านได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า การปลูกเผือกหน้าฝนที่เหมาะสมควรทำอย่างไร" สำหรับการปลูกเผือกหอมนั้น คุณศักดิ์ เล่าว่า เผือกหอมเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ต้องใช้การดูแลค่อนข้างมาก และวิธีการยุ่งยาก เพราะว่าเผือกอ่อนแอต่อโรคและศัตรูเข้าทำลาย เผือกมีหัวอยู่ใต้ดิน เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับหัวเผือก เราไม่สามารถรู้ได้ว่า ข้างล่างใต้ดินเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันด้านบนที่เป็นก้านใบ และใบก็อ่อนแอต่อโรคเช่นกัน ธรรมชาติของเผือก คือต้องมีอาหาร มีน้ำพอสมควร การที่เผือกจะลงหัวได้ดีก็ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง เพื่อให้ได้หัวที่มีน้ำหนักเป็นที่ต้องการของตลาด หัวเผือกมนุษย์ชอบ แมลงและศัตรูหลายๆ ชนิดก็ชอบเช่นกัน เมื่อขุดเผือกขึ้นมาแล้วไม่ได้หัวก็มีเหมือนกัน หรือได้ก็หัวเล็ก หรือมีหนอน มีศัตรูพืชอยู่ในหัวเผือกก็มี แต่ที่แปลงของตนที่กำลังขุดอยู่นี้ ส่วนใหญ่ได้เผือกหัวใหญ่ น้ำหนักเกิน 1 กิโลกรัม ต่อหัวทั้งนั้น พ่อค้าที่เข้ามารับซื้อเขาบอกว่า ส่วนมากแล้วจะได้เผือกหัวใหญ่ ที่หัวเล็กมีน้อย ปนๆ กันไป คุณศักดิ์ กล่าวอีกว่า การปลูกเผือกมี 2 วิธี คือ ปลูกแบบระบบนา หรือแบบพื้นราบกับการปลูกแบบระบบยกร่อง ซึ่งการปลูกระบบยกร่องนี้มีคนปลูกกันน้อย สำหรับตนนั้นเลือกการปลูกแบบยกร่อง การเตรียมดินเพื่อปลูกเผือกนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะผลผลิตของเราอยู่ในดิน ดังนั้น จึงต้องเตรียมดินให้ดี ทำดินให้ปลอดโรค ซึ่งโรคเผือกมีหลายชนิดที่สำคัญคือ เชื้อรา กับศัตรูเผือกประเภทหนอน ด้วง แมลงในดินต่างๆ การจัดการเรื่องดินจึงสำคัญมาก ถ้าดินไม่สมบูรณ์ ความร่วนซุยไม่ดี และมีศัตรูอยู่ในดินมาก หัวเผือกก็จะไม่ดี การเตรียมดิน ต้องไถตากดินให้ดีก่อน เผือกชอบดินร่วนซุย เพื่อที่จะลงหัวได้ง่าย เผือกไม่ชอบดินที่เป็นกรด จึงควรหลีกเลี่ยง หากดินเป็นกรดต้องทำดินให้เป็นกลางให้ได้ และในดินก็ต้องมีอินทรียวัตถุมากพอเพื่อการเจริญเติบโตของเผือก ทุกขั้นตอนจะต้องเตรียมไปพร้อมๆ กัน คือทำให้ดินร่วนซุย ปรับสภาพดินให้เป็นกลาง และใส่อินทรียวัตถุให้เต็มที่ จากนั้นก็ไถพรวนดินและตากดิน เพื่อให้ศัตรูพืชน้อยลง หรือไม่มีเลยจะดีมาก การตากดินก็เพื่อให้แมลงศัตรูพืชและโรคทั้งหลายหายไป กรณีถ้าเป็นดินเหนียวต้องปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใส่ขี้ไก่ ใส่แกลบ ปรับสภาพให้ดินร่วนซุย หลังจากที่ไถพรวนดินและตากดินแล้ว ต้องระวังเรื่องหญ้าให้ดี ต้องคุมหญ้าทั้งแปลง เพราะเมื่อปลูกเผือกไปแล้วจะไม่ต้องเสียเวลาดายหญ้าอีก หลังจากตากดินประมาณ 1 เดือน จึงยกร่องเพื่อปลูกเผือก วิธีการปลูกเผือกก็ต้องหาซื้อลูกเผือกมาเพาะในแปลงเพาะกล้าพันธุ์เสียก่อน พอต้นกล้าโตประมาณ 1 ศอก จึงถอนออกมาลงแปลงปลูก ฉะนั้นการเตรียมดินกับการเพาะลูกเผือกควรทำไปพร้อมๆ กัน ลูกพันธุ์เผือกที่จะนำมาปลูกจะต้องเลือกแหล่งซื้อให้ดีๆ เลือกเอาแปลงที่ไม่มีโรคมาปลูก สังเกตได้จากเวลาเขาเก็บเผือก หากมีการปาดเผือกมากๆ แสดงว่าเผือกเป็นโรค ไม่ควรนำมาเป็นพันธุ์ลงปลูกในแปลง การเพาะลูกเผือก ต้องทำแปลงอนุบาล เอาแกลบดำลง เอาลูกเผือกลง แล้วเอาแกลบกลบอีกครั้ง เอาหญ้าฟางคลุม จากนั้นก็หมั่นรดน้ำ ประมาณ 1 เดือน พอต้นสูง ประมาณ 1 ศอก ก็ถอนนำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ การปลูกควรขุดดินให้ลึก ประมาณ 1 คืบ เพราะเผือกเป็นพืชลงหัว ระยะห่า งประมาณ 15 เซนติเมตร อย่าให้ห่างมาก ลงปลูกเป็นแถวระหว่างแถวห่าง 1 ศอก หลังจากปลูกเผือกระหว่างที่เผือกกำลังแตกใบ 1-2-3 ต้องคอยฉีดยาคุมหญ้าอย่าให้หญ้าขึ้นมาแข่งกับต้นเผือก ฉีดยาคุมหญ้าประมาณ 15 วันครั้ง จนกระทั่งใบเผือกใหญ่ ต้นเผือกโตขึ้น คราวนี้ใบจะคลุมดิน คลุมหญ้าอีกที ระยะนี้ต้องรดน้ำตลอด "เทคนิคอีกอย่าง หากเกษตรกรจะทำตามเพื่อเป็นการลดต้นทุน ที่ผมทำ ผมใช้ปุ๋ยขี้ไก่ และหินฟอสเฟต ใช้ปุ๋ยขี้ไก่ปริมาณ 60 กิโล ฟอสเฟต 25 กิโล กากน้ำตาล 10 กิโล ใส่ลงไปในถังน้ำ 200 ลิตร ผสมฮอร์โมนลงไปด้วย ใส่น้ำแล้วเปิดออกซิเจนเหมือนกับที่ใช้ในตู้ปลา หมักทิ้งไว้ 10 วัน นำมาใส่ท้ายเรือรดเผือกทุกๆ 10 วัน เป็นสูตรปุ๋ยที่ให้เผือกกินประจำ ประหยัดต้นทุนมาก" นอกจากนี้ ยังต้องใส่ปุ๋ยเป็นรอบๆ ทุก 15 วันครั้ง โดยใช้ปุ๋ยสูตรตัวหน้า วิธีการใช้ปุ๋ยควรซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมเอง แต่จะเน้นปุ๋ยสูตรตัวหน้ามากเป็น 2 เท่า ใส่ทางดินทุก 15 วัน เวลาใส่ต้องใส่ข้างๆ ต้น อย่าใส่แบบหว่านเข้าไปในกาบใบไม่ได้เลย ต้นเผือกจะเสียหาย รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ต้องสนใจ หลังจากนั้นรดน้ำวันละรอบ เผือกจะขาดน้ำไม่ได้ ดินก็แข็งไม่ได้ หากดินแข็งจะทำให้ต้นลงหัวลำบาก แต่ถ้าใบเผือกชนกันแล้ว ดินก็จะชุ่มอยู่ตลอด หลังจากปลูกไประยะหนึ่ง ลูกเผือกจะแตกแขนงออกมา ก็ต้องตัดทิ้งให้หมด ให้ต้นหนึ่งมีเพียงเผือกหัวเดียวเท่านั้น เผือกเป็นพืชอายุสั้นเพียงแค่ 6 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว แต่ในช่วง 6 เดือน มักมีศัตรู และโรคเผือกมาเยี่ยมเยือนโดยไม่ได้เชิญเสมอๆ ใบเผือก และหัวเผือกจะเสี่ยงต่อโรคและศัตรู โดยเฉพาะโรคเน่าทั้งหัวและใบ เชื้อโรคเน่ามีหลายโรค เช่น เชื้อไฟทอปทอร่า ดังนั้น จึงต้องป้องกันไว้ก่อน "ใช้สารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ และไบทาร์แลกซิน 2 ตัวนี้ ฉีดสลับกัน 7 วันครั้ง สารไบทาร์แลกซินจะป้องกันโรคเน่า ส่วนคอปเปอร์ฯ ป้องกันโรคไฟทอปทอร่า ถ้าเผือกเป็นโรคจริงๆ ต้องใช้ยาพวกฟอรั่มฉีด การฉีดต้องฉีดให้เสร็จทั้งแปลงภายในวันเดียวกันให้หมด อย่านิ่งนอนใจว่ารอไปก่อนก็ได้ เมื่อเห็นเผือกเป็นโรคโดนเชื้อราเล่นงานต้องรีบฉีดยาทันที เพราะว่าโรคนี้ถ้าระบาดแล้วรุนแรงมาก พอเป็นแล้วจะเสียหายทั้งแปลงเลยทีเดียว อย่างที่เกษตรกรกลัวๆ กันนั่นแหละ สาเหตุที่เราต้องใช้ยาฉีดคุมเพราะว่าเราปลูกเผือกหน้าฝนนั่นเอง" คุณศักดิ์ กล่าวต่อว่า จนกระทั่งได้เวลาก็เก็บเผือกขาย การปลูกเผือกหน้าฝนดูแลยาก แต่ราคาขายดี ช่วงไหนปลูกง่ายราคาจะถูก เราจึงต้องหนีราคา และต้องค้นคว้าหาวิธีการปลูกเผือกให้สำเร็จให้ได้ ซึ่งก็ได้ผลมาแล้ว หลังจากเก็บเผือกหมด ในแปลงก็จะปลูกผักคะน้าสักรอบหนึ่ง จากนั้นก็จะเริ่มต้นปลูกเผือกใหม่ แต่การปลูกครั้งต่อไปจะลงกล้วยไข่ในแปลงเผือกด้วย อายุกล้วยไข่ 8 เดือน อายุเผือก 6 เดือน ไล่ๆ กัน ถ้าปลูกกล้วยไข่แซมลงไปก็จะไม่เสียปุ๋ยเพิ่มขึ้น เพราะให้ปุ๋ยเผือก ต้นกล้วยไข่ก็จะได้ปุ๋ยด้วย หลังจากเก็บเผือกแล้วดูแลกล้วยไข่ต่ออีก 2 เดือน ก็เก็บได้ เทคนิคนี้จะนำมาทดลองแล้วนำความรู้ไปเผยแพร่เกษตรกรต่อไป "ในแปลงเผือกของผมทำเป็นธุรกิจใหญ่ การควบคุมจึงค่อนข้างยาก จึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีเข้ามาเป็นตัวช่วย แต่สำหรับชีวภาพก็ใช้ไปด้วย ควบคู่กันไป ถ้าทำเล็กๆ น้อยๆ เชื้อไตรโคเดอร์ม่าจะได้ผลดีมาก" คุณศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ถ้าเราทำด้วยความคิด และศึกษาให้มากๆ จะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าว อ้อย หรือพืชอะไรก็แล้วแต่ ต้องศึกษาให้มากๆ เข้าไว้ อย่างการปลูกเผือกแบบระบบนาที่ต้องใช้วิธีบังคับน้ำเข้า-ออก นานั้น ก็จะใช้แหนแดงมาช่วย ซึ่งวิธีนี้คิดว่ายังไม่มีใครทำมาก่อน "ผมจะทำเป็นตัวอย่าง หากได้ผลดีก็จะเผยแพร่ให้พี่น้องเกษตรกรนำไปทำต่อไป" คุณศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ฐานะเกษตรกรคนเก่ง กล่าวในที่สุด
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สระบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 25 ฉบับที่ 540
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM