เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ทุเรียนป่าละอู อร่อยจริง สมคำร่ำลือ
   
ปัญหา :
 
 
คนไทยส่วนใหญ่รู้จักเพียงว่า แหล่งปลูกทุเรียนคุณภาพดี อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก แต่ความจริงแล้ว พื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็เป็นอีกหนึ่งทำเลทองของการปลูกทุเรียนคุณภาพดี ที่เรียกว่า “ทุเรียนป่าละอู” ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ เม็ดลีบเล็ก เนื้อมาก รสหวาน หอม อร่อย จึงเป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง ทุกวันนี้ ทุเรียนป่าละอู ผลผลิตมีมากเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย ผู้เขียนมีโอกาสเยี่ยมชมแหล่งปลูกทุเรียนป่าละอู ของ คุณสมัย ทองอ่อน หรือ ลุงอึ่ง อาศัยอยู่ บ้านเลขที่ 9 หมู่ที่ 11 ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทร. (082) 245-1694 แต่เดิมลุงอึ่งปลูกมะนาว มังคุด ละมุด มะปราง กล้วยหอมกะเหรี่ยง ฯลฯ มีรายได้พออยู่พอกิน เมื่อ 10 ปีก่อน ลุงอึ่งจึงไปหาซื้อพันธุ์ทุเรียนจากจังหวัดชุมพร ในราคากิ่งละ 25 บาท มาปลูกที่สวนของตัวเอง ประมาณ 100 กว่าต้น ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่เหลือเป็นพันธุ์ก้านยาว และชะนี ผสมผสานกับไม้ผลชนิดอื่นๆ จนเต็มเนื้อที่ 8 ไร่ วิธีการปลูกทุเรียนป่าละอู เกษตรกรที่นี่นิยมปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง โดยใช้พันธุ์จากทางใต้ หรือพันธุ์จากจังหวัดจันทบุรีก็ได้ เพราะทุเรียนป่าละอูมีความสำคัญอยู่ที่สภาพดิน อากาศ ความชื้น หรือสภาพทางภูมิศาสตร์มากกว่า ทั้งนี้ เกษตรกรจะนิยมปลูกทุเรียนป่าละอูแบบไร่ ไม่ยกร่อง เนื่องจากต้นทุเรียนชอบดินร่วนปนทราย ไม่มีน้ำขัง เกษตรกรจะเตรียมดินโดยไถดินก่อน 1 ครั้ง เพื่อปรับพื้นที่และกำจัดวัชพืชไถแปร 1 ครั้ง เพื่อให้ดินร่วน เกษตรกรจะขุดหลุม กว้าง 50x50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร โดยใช้ปุ๋ยหมัก จำนวน 2 กิโลกรัม ใส่ก้นหลุมแล้วใช้ดินกลบเล็กน้อย แล้วก็นำทุเรียนมาปลูกได้ โดยปลูกระหว่างต้น 10x10 เมตร และใช้ซาแรน ขนาด 80% ตัดให้มีขนาด 1 ตารางเมตร มาบังแสงแดด สวนทุเรียนบางแห่งก็ติดตั้งระบบน้ำหยด หรือระบบสปริงเกลอร์รดน้ำทุกวัน แต่ไม่ต้องมาก ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปลูกทุเรียนที่น่าสนใจของป่าละอูก็คือ เกษตรกรนิยมปลูกกล้วย นาน 1 ปี ก่อนจะเริ่มปลูกทุเรียน เพราะต้นทุเรียนที่ปลูกใหม่จะไม่ค่อยทนต่อแสงแดดมากนัก เจอแดดจัดทำให้ต้นทุเรียนตายได้ ชาวบ้านจึงนิยมปลูกกล้วยเพื่ออาศัยใบกล้วยและต้นกล้วยเป็นร่มเงาช่วยบังแสงแดดให้ต้นทุเรียน เนื่องจากต้นกล้วยเก็บน้ำไว้ในลำต้นมาก เวลาหน้าแล้งความชื้นของต้นกล้วยก็สามารถถ่ายเทมาที่ต้นทุเรียนได้อีกด้วย ในการดูแลสวน ชาวบ้านจะหมั่นทำความสะอาดโคนทุเรียน ไม่ให้มีหญ้ารบกวน คอยใส่ปุ๋ยหมักรอบโคนต้นเป็นประจำ เมื่อต้นทุเรียนอายุ 3-4 ปี จะเริ่มออกดอก ต้องตัดดอกทิ้งต้นทุเรียนอายุ 5 ปี จะให้ผลประมาณ 10-20 ผล ต้นทุเรียนอายุ 10 ปีขึ้นไป จะให้ผลผลิต ประมาณ 120 ผล ขึ้นไป จะได้น้ำหนัก ประมาณ 250 กิโลกรัม ต่อต้น การเก็บเกี่ยวทุเรียนป่าละอู การเก็บเกี่ยวผลทุเรียนแก่ เกษตรกรจะอาศัยการนับจำนวนวันตั้งแต่ดอกทุเรียนติดผล จำนวน 150-160 วัน ผลทุเรียนแก่สังเกตได้ง่าย ดูจากรองหนามทุเรียนที่กว้าง ปลายหนามจะเหี่ยวเล็กน้อย เมื่อครบกำหนด รอผลทุเรียนหล่นมาผลแรก ก็จะเริ่มดูผลทุเรียนที่มีปลิงบวม ต้นทุเรียนป่าละอู อายุ 5-15 ปี ลำต้นยังไม่สูงมากนัก เกษตรกรจะใช้บันไดไม้ไผ่ยาว ใช้เชือกผูกโยงทั้ง 3 ด้าน การตัดผลทุเรียนต้องใช้คนตัดมากกว่า 3 คน คนแรกจะขึ้นบันไดไปตัดผลทุเรียน โดยใช้มีดเล่มเล็กที่มีความคมมาก หรือใช้กรรไกรตัดขั้วผลทุเรียนให้เนียนติดกิ่ง จะไม่ทำให้ขั้วที่ตัดแตกกิ่งเล็กออกมา หลังจากนั้น โยนผลทุเรียนให้ คนที่ 2 และคนที่ 3 ใช้กระสอบรับผลทุเรียนโดยการจับกระสอบทั้งสองด้าน ผลทุเรียนป่าละอูจะได้ไม่ช้ำเสียหาย เทคนิคพิเศษในการตัดผลและการบ่มทุเรียนป่าละอูก็คือ ก่อนตัดผลทุเรียนต้องงดการให้น้ำ เน้นตัดผลทุเรียนแก่ นิยมตัดผลในช่วงแสงแดดออกจัด ประมาณเวลา 11.00-15.00 น. เมื่อตัดผลแล้ว เกษตรกรจะนำผลทุเรียนมาตากแดด ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ความร้อนของแดดจะขับน้ำออกจากผลทุเรียน ทุเรียนจะมีเนื้อแห้ง นอกจากนี้ ยังอาศัยการบ่มผลทุเรียนเมื่อตัดมาแล้ว โดยใช้กระสอบป่านรองด้านล่างนำผลทุเรียนมากองให้สูง แล้วใช้กระสอบป่านคลุมบนให้มิด ประมาณ 1-2 วัน ก็เริ่มนำทุเรียนออกจำหน่ายได้ ทุเรียนป่าละอู...ตลาดเติบโตสดใส โดยทั่วไป ทุเรียนป่าละอู จะเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมของทุกปี สำหรับผลผลิตที่ออกนอกฤดู ราคาขายหน้าสวน อยู่ที่กิโลกรัมละ 120-150 บาท แม่ค้าจะนำไปขายต่อในราคา กิโลกรัมละ 150-180 บาท ส่วนผลผลิตในช่วงฤดู ราคาขายหน้าสวน อยู่ที่กิโลกรัมละ 80-100 บาท และแม่ค้าจะนำไปขายทำกำไร ในราคากิโลกรัมละ 120-150 บาท ปัจจุบัน ทุเรียนของสวนแห่งนี้ ไม่เน้นขายส่งให้แม่ค้า เพราะทุกปีจะมีลูกค้าจำนวนมากที่เป็นคนในท้องถิ่น นักท่องเที่ยวจากจังหวัดต่างๆ รวมทั้งคนกรุงเทพฯ ที่ติดใจในรสชาติความอร่อยของทุเรียนป่าละอู แห่มาซื้อผลผลิตถึงสวน จนผลผลิตไม่พอขาย แต่ละปีจะมีรายได้จากการขายทุเรียนไม่ต่ำกว่า 200,000-300,000 บาท “ทุเรียนป่าละอู”ยื่นขอจดทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทุเรียนป่าละอู เริ่มนำเข้ามาปลูกที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ (ป่าละอู) ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2527 โดยผู้ที่นำทุเรียนมาปลูกเป็นรายแรกคือ คุณพยุง พรายใย เป็นเกษตรกรในหมู่บ้านเฉลิมพร ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ โดยพันธุ์เม็ดในก้านยาว จากจังหวัดนนทบุรี และพันธุ์หมอนทอง จากจังหวัดระยอง จำนวน 100 ต้น มาปลูก ปัจจุบัน ทุเรียนรุ่นแรกที่ปลูกด้วยพันธุ์เม็ดในก้านยาวเหลืออยู่เพียง 1 ต้น ส่วนพันธุ์หมอนทองเหลืออยู่ 50 ต้น ปัจจุบันคุณพยุง ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้เรื่องการปลูกทุเรียนแก่เกษตรกรในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีพื้นที่ปลูกทุเรียนป่าละอูเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากขึ้น เนื่องจากทุเรียนป่าละอู มีรสชาติอร่อยดีมาก มีเอกลักษณ์ของตัวเอง คือมีความมันมากกว่าความหวาน กลิ่นไม่รุนแรง ทำให้ทุเรียนป่าละอูมีราคาแพงขึ้น และมีแม่ค้านำทุเรียนป่าละอูออกมาขายที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งคนนอกพื้นที่ที่เข้าไปเที่ยวก็ซื้อทุเรียนป่าละอู ระยะหลังมีพ่อค้าหัวใสนำทุเรียนจากแหล่งอื่น ที่มีคุณภาพต่ำกว่า มาหลอกขายในชื่อทุเรียนป่าละอู ซึ่งเป็นการทำลายชื่อเสียงทุเรียนป่าละอู เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มผู้ปลูกทุเรียนบ้านป่าละอู ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ และเกษตรอำเภอหัวหิน จึงได้ยื่นขอจดทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “ทุเรียนป่าละอู” กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว “คุณโอม-สุภิณยา สันตะกิจ” โทร. (089) 881-0353 นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรอำเภอหัวหิน เล่าว่า อบต. ห้วยสัตว์ใหญ่ มีพื้นที่ปลูกทุเรียนป่าละอู จำนวน 1,760 ไร่ ทุเรียนป่าละอู มีจุดแตกต่างจากทุเรียนทั่วไปหลายประการ เช่น ทุเรียนป่าละอูจะมีผลผลิตออกหลังทุเรียนเมืองจันท์ และออกก่อนทุเรียนจากทางใต้ ทุเรียนป่าละอูมีผลผลิตนอกฤดูตลอดทั้งปี แต่มีปริมาณไม่มาก จะหาซื้อผลผลิตทุเรียนป่าละอูได้ง่ายในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมของทุกปี นอกจากนี้ ทุเรียนป่าละอู ยังมีลักษณะเด่นคือ ผลเป็นรูปวงรี บริเวณด้านใต้ผลจะแหลม น้ำหนักจะอยู่ระหว่าง 1.5-5.0 กิโลกรัม เปลือกมีสีเขียวปนน้ำตาล ปลายหนามจะแหลมคมมาก ร่องพูชัดเจน ก้านขั้วค่อนข้างใหญ่ สีน้ำตาล จับดูจะรู้สึกสาก พอแก่จัดขั้วจะมีรสหวาน เนื้อทุเรียนหนา สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งเนียน ละเอียด รสชาติหวานมันอร่อยมาก กลิ่นทุเรียนป่าละอูจะไม่รุนแรง ลักษณะเม็ดลีบเล็ก ทำให้เนื้อทุเรียนค่อนข้างหนา เมื่อ ปี 2555 สำนักงานเกษตรอำเภอหัวหิน สำรวจพื้นที่ปลูกทุเรียนป่าละอู ในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ พบว่า มีเกษตรกรปลูกทุเรียนป่าละอู จำนวน 105 ราย รวม 11 หมู่บ้าน เนื้อที่ปลูกทุเรียนรวมทั้งสิ้น 1,760 ไร่ พันธุ์ทุเรียนที่นิยมปลูกมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด เพราะเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการสูง ขายได้ราคาดี น้ำหนักเฉลี่ย 1.5-5.0 กิโลกรัม ต่อผล นอกจากนี้ เกษตรกรยังนิยมปลูกทุเรียนพันธุ์ชะนี เพราะให้ผลผลิตเร็ว ลูกเล็ก ขนาด 0.5-2.0 กิโลกรัม เวลาสุกจะมีกลิ่นแรงกว่าหมอนทอง เมล็ดใหญ่ เนื้อนิ่ม หวาน แต่ไม่มันมากนัก ชวนชิมทุเรียนป่าละอู รสอร่อย คุณธวัช เกตุรัตน์ ประธานกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนตำบลบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ โทร. (089) 551-6112 แสดงฝีมือผ่าทุเรียนป่าละอูให้ชมและลิ้มลองรสชาติ ทุเรียนหมอนทองป่าละอู ปอกยากสักนิดหนึ่ง กว่าจะฉีกทุเรียนได้สำเร็จต้องใช้เวลาและพลังงานพอสมควร เพราะทุเรียนผลนี้มาจากต้นทุเรียนที่ยังมีอายุไม่มาก สังเกตได้จากเปลือกทุเรียนที่มีลักษณะหนาพอสมควร เนื้อทุเรียนมีสีเหลือง เนื้อเนียน แกะออกจากพูค่อนข้างยาก เมื่อได้ลิ้มรสก็รู้สึกประทับใจมาก เพราะทุเรียนป่าละอูมีรสหวานมัน อร่อยจริงสมคำร่ำลือ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ฝากข่าวเชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมชมงาน “ของดีตำบลห้วยสัตว์ใหญ่” ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2556 ณ ศูนย์จำหน่ายสินค้าตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กิจกรรมหลักในงานครั้งนี้ ประกอบด้วย งานประกวดผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ทุเรียนป่าละอู กล้วยหอมกะเหรี่ยง มังคุด ลองกอง นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมสวนทุเรียนป่าละอูและไม้ผลผสมผสาน เยี่ยมชมเรียนรู้วัฒนธรรมชนชาติกะเหรี่ยง ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทร. (032) 826-771
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ประจวบคีรีขันธ์
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM