เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เกษตรกร บางแพ ราชบุรี แนะเทคนิค ผลิต "ชมพู่แพง" คุณภาพ ทำทรงพุ่ม กำหนดลูก
   
ปัญหา :
 
 
“ชมพู่แดง” ที่ปัจจุบันเริ่มมีการเรียกขานกันมากขึ้น “ชมพู่แดง” ก็คือ “ชมพู่ทับทิมจันทน์” นั่นเอง มีการตั้งข้อสงสัยกันว่า ทำไม จึงเรียกขานชื่อ “ชมพู่ทับทิมจันทน์” เสียใหม่เป็น “ชมพู่แดง” ก็ได้คำตอบแบบไม่ฟันธงออกมาว่า ทางหน่วยงานเกษตรที่จัดการประกวดผลไม้ในจังหวัดราชบุรี จะใช้ชื่อการประกวดชมพู่ว่า “ชมพู่แดง” เกษตรกรจะนำชมพู่สายพันธุ์ใด ส่งเข้าประกวดก็ได้ แต่ขอให้เป็นชมพู่สีแดง ทั้งๆ ที่ชมพู่แดงที่กำลังได้รับความนิยมก็มีชมพู่ทับทิมจันทน์และชมพู่เพชร ส่วนชมพู่โบราณที่มีสีชมพูออกแดงก็คงไม่มีใครส่งเข้าประกวดแข่งกับชมพู่ทับทิมจันทน์เป็นแน่ “ชมพู่แดง” หรือ “ชมพู่ทับทิมจันทน์” เป็นชมพู่นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน จนมีชื่อเสียงโด่งดัง ผู้คนให้ความนิยมกันมาก เมื่อชมพู่ทับทิมจันทน์ได้รับความนิยมก็มีเกษตรกรชาวสวนแห่กันปลูกจนผลผลิตชมพู่ล้นตลาด ส่งผลให้ราคาชมพู่ตกต่ำสุดๆ แล้วก็หายไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง สาเหตุเป็นเพราะเกษตรกรเลิกปลูกชมพู่ หันไปปลูกผลไม้และพืชชนิดอื่นแทน เมื่อพื้นที่การปลูกชมพู่ลดลง ผลผลิตชมพู่มีน้อย ระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาชมพู่ทับทิมจันทน์กระเตื้องขึ้นมา ประกอบกับมีการส่งชมพู่ทับทิมจันทน์ออกต่างประเทศจำนวนหนึ่ง ราคาชมพู่จึงค่อนข้างดี เกษตรกรก็หันมาปลูกชมพู่ทับทิมจันทน์กันอีก จนปัจจุบันพื้นที่ปลูกชมพู่ทับทิมจันทน์เริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องราว ของ “ชมพู่ทับทิมจันทน์” หรือ “ชมพู่แดง” จึงได้รับความนิยมอีกครั้ง คุณสมชาย เจริญสุข เกษตรกรคนเก่ง แห่ง ตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เกษตรกรชาวสวนผลไม้ที่ผลิตผลไม้คุณภาพมานานกว่า 20 ปี ล่าสุดหันมาปลูกชมพู่ทับทิมจันทน์ หรือชมพู่แดง ในเนื้อที่ 10 กว่าไร่ เพราะเห็นว่าช่วงระยะนี้ชมพู่ทับทิมจันทน์มีตลาดต่างประเทศและผลผลิตภายในประเทศก็ยังมีความต้องการอีกมาก “คุณสมชาย” ผลิตชมพู่ทับทิมจันทน์คุณภาพ ส่งชมพู่เข้าประกวดในงานประกวดผลไม้ ทั้งงานจังหวัดและงานระดับอำเภอ คว้ารางวัล อันดับ 1-2-3 แทบทุกที่ จนมีผลงานเป็นใบประกาศเกียรติคุณจากการส่งชมพู่เข้าประกวด ได้รับรางวัลมาติดบ้านมากมาย คุณสมชาย กล่าวถึงสถานการณ์ชมพู่ทับทิมจันทน์ที่ผ่านมาว่า ช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา มีการส่งชมพู่ทับทิมจันทน์ออกไปต่างประเทศหลายๆ ประเทศ ทำให้ชมพู่ภายในประเทศมีไม่มากนัก มาระยะหลังเกิดปัญหาต่างประเทศระงับการนำเข้าชมพู่ของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนตรวจพบชมพู่จากไทยมีทั้งหนอนและสารเคมี ซึ่งก็มีการตักเตือนมายังผู้ส่งออกไทยหลายครั้งแล้ว ในที่สุดทางการจีนก็สั่งห้ามนำเข้าชมพู่ทับทิมจันทน์จากประเทศไทยส่งผลให้ชมพู่ล้นตลาดภายในประเทศอยู่ทุกวันนี้ คุณสมชาย กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชมพู่ส่งออกก็เพราะว่าเรายังไม่สามารถทำชมพู่ให้ได้มาตรฐานเดียวกัน เกษตรกรแต่ละสวนต่างคนต่างผลิตชมพู่ ผู้ส่งออกได้ออเดอร์มาก็ต้องจัดส่งชมพู่ไปให้ครบตามจำนวน แต่พอชมพู่ขาด ทางผู้ส่งออกจึงจำเป็นต้องหาชมพู่จากสวนนอกระบบนำมาเติมให้เต็มตามจำนวนออเดอร์ในแต่ละรุ่น ตรงจุดนี้เองเกิดปัญหาชมพู่มีหนอนเจาะอยู่ภายใน และบ้างก็ตรวจพบสารเคมี ทำให้ต่างประเทศระงับการนำเข้าชมพู่จากประเทศไทย “ปีที่แล้ว พอต่างประเทศระงับการนำเข้า ชมพู่ก็มาล้นตลาดภายใน ราคาตกฮวบฮาบ จากที่เคยขายได้ ราคา 80-100 บาท ต่อกิโล ก็ตกลงเหลือ 20-30 บาท ต่อกิโล” คุณสมชาย กล่าวและว่า จากการสำรวจพบว่า พื้นที่ปลูกชมพู่ทั้งประเทศลดลง เกษตรกรตัดชมพู่ทิ้งมากกว่าขยายสวนปลูก ทั้งๆ ที่ในอนาคตหากมีการเปิดการค้าเสรีอาเซียนขึ้นมา ชมพู่ทับทิมจันทน์ของไทยจะโดดเด่นมาก การแก้ปัญหาจึงอยู่ที่เกษตรกรชาวสวนจะร่วมมือกัน หันมาผลิตชมพู่คุณภาพปลอดภัยจากสารเคมีมากน้อยสักเพียงใด แต่ถ้ายังต่างคนต่างทำ แข่งกันเพื่อแย่งตลาดเชิงปริมาณ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ และ คำว่า GAP เส้นทางในอนาคตของชมพู่ไทยก็คงย่ำอยู่กับที่ นั่นก็คือ ปลูกเอง ขายกันเองภายในประเทศเท่านั้น “สำหรับชมพู่ที่สวนของผม ปลอดภัยจากสารเคมีแน่นอน มีการส่งตรวจสารเคมีเป็นประจำ เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ชมพู่ในสวนของผม ผลใหญ่ สีสวยสด ส่งประกวดในงานไหนๆ ได้รางวัลทุกงาน พ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงสวน เขาให้เป็นชมพู่ เกรดเอ ไม่เกี่ยงราคาเลย” ในเรื่องของการปลูกชมพู่นั้น คุณสมชาย บอกว่า ปลูกชมพู่ไม่ยุ่งยากอะไรเลย เพียงแค่ขุดหลุม แล้วเอากิ่งพันธุ์ลงปลูก คอยรดน้ำสม่ำเสมอไม่ให้ต้นตาย แค่นี้ก็ปลูกได้แล้ว แต่ถ้าจะทำให้ชมพู่ได้ผลผลิตดี ผลใหญ่ สีสวย รสชาติหวาน กรอบ อร่อยแล้วละก็ยุ่งยากมาก ปัญหาของชมพู่มีมาก อย่างเช่น ช่วงนี้หน้าแล้ง ชมพู่ต้องการน้ำมาก การติดผลก็ไม่ค่อยดี คนปลูกจะต้องเข้าใจธรรมชาติของชมพู่ และต้องรู้ด้วยว่า เมื่อผลติดออกมาไม่ดีจะต้องแก้ไขอย่างไร ช่วงไหนควรใส่ปุ๋ย หรืองดการให้ปุ๋ย ช่วงไหนควรฉีดยาอะไรบ้าง เหล่านี้เป็นเทคนิคของแต่ละสวนที่เจ้าของสวนจะต้องเรียนรู้กันเอาเอง ต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ จึงจะได้ผลผลิตชมพู่ออกมาดี คุณสมชาย กล่าวต่ออีกว่า การปลูกชมพู่สำหรับมือใหม่ที่คิดจะหันมาเป็นชาวสวนชมพู่จึงต้องเริ่มกันตั้งแต่การเตรียมดิน เตรียมพื้นที่ปลูก จะปลูกแบบระบบร่องสวน หรือระบบพื้นราบก็ได้ ถ้าปลูกแบบพื้นราบก็ต้องติดสปริงเกลอร์ให้ต้นชมพู่ทุกต้น เพราะชมพู่เป็นไม้ที่ต้องการน้ำ ยิ่งเข้าสู่ช่วงระยะติดดอกเรื่อยไปจะต้องให้น้ำชมพู่สม่ำเสมอ อย่าให้ดินขาดน้ำจนแตกระแหงเป็นอันขาด ส่วนการปลูกแบบร่องสวน ก็ต้องยกร่องขนาดหน้ากว้าง ประมาณ 3 เมตร ความยาวอยู่ที่พื้นที่ปลูก ร่องน้ำกว้างประมาณ 1.50 เมตร การทำร่องปลูกชมพู่อย่าให้หน้าร่องแคบ เพราะถ้าต้นชมพู่เจริญเติบโตใหญ่ขึ้น จะทำให้การบริหารจัดการในร่องสวนยาก หน้าร่องกว้างเข้าไปดูแลง่าย คุณสมชาย กล่าวอีกว่า เรื่องของกิ่งพันธุ์ชมพู่ทับทิมจันทน์นั้น ควรเลือกกิ่งพันธุ์จากต้นแม่ที่ไม่เคยมีการราดสารทำดอก ทำใบอ่อนมาก่อน เลือกใช้กิ่งชำที่ไม่แก่และไม่อ่อนจนเกินไป ควรหาซื้อกิ่งพันธุ์จากแหล่งจำหน่ายกิ่งพันธุ์ที่เชื่อถือได้ ซึ่งปัจจุบันมีค่อนข้างมาก พอได้กิ่งพันธุ์มา ก็นำมาชำไว้ในที่ร่มรำไรก่อน จากนั้นก็เตรียมพื้นที่ปลูกโดยการไถดินให้ร่วนซุย การเตรียมดินปลูกชมพู่ไม่ต้องพิถีพิถันมากนัก จะใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยขี้ไก่คลุกกับดินตอนทำร่องพรวนดินเลยก็ได้ เมื่อไถดินร่วนดีแล้ว ก็ขุดหลุมปลูก ขุดหลุมกว้างพอแค่เอากิ่งชำลงหลุมได้ก็พอ กรีดถุงดำที่หุ้มกิ่งชำออก ค่อยๆ วางกิ่งชำลงในหลุมปลูก กลบดินให้แน่น แล้วหาไม้หลักมาปักมัดกิ่งชำกับหลัก ป้องกันลมพัดกิ่งชำโยกไหวจะกระเทือนถึงระบบรากที่เพิ่งจะลงดินใหม่ๆ ระยะปลูกห่าง ประมาณ 4 เมตร ต่อต้น กำลังดี พอปลูกแล้วก็รดน้ำสม่ำเสมอ ชมพู่จะเจริญเติบโตเร็วมาก ไม่ช้าก็จะแตกใบอ่อน ถึงตอนนี้ต้องระวังอย่าให้แมลงมากัดกินใบอ่อนจะเสียหาย ฉีดยาป้องกันแมลงบ้าง ทางดินใส่ปุ๋ยสูตรเสมอให้แต่น้อยๆ ไม่ต้องมาก ควรให้ 2 เดือนครั้ง จนกระทั่งต้นโตใหญ่ หลังปลูกได้ 5-6 เดือน ต้นจะพุ่งสูงใหญ่ขึ้น ก็ต้องคอยตัดยอดไม่ให้พุ่งขึ้น บังคับให้กิ่งแผ่ออกข้างเป็นพุ่ม ต้องเริ่มทำตั้งแต่ต้นยังเล็กๆ เรื่อยไป ตัดกิ่งย่อยกิ่งสาขาภายในทรงพุ่มออกให้หมด ให้ในทรงพุ่มโปร่งเข้าไว้ พอต้นแตกยอดสูงขึ้นก็ต้องตัดออก ทำทรงพุ่มให้แผ่เป็นทรงร่มหรือดอกเห็ด วิธีการนี้จะดูแลและบังคับชมพู่ให้ติดดอกติดผลตามที่ต้องการได้ ชมพู่ให้ระยะเวลาการเจริญเติบโตหลังลงปลูกประมาณปีครึ่ง ต้นก็จะติดดอกออกผล ถึงตอนนี้หากจะทำชมพู่นอกฤดูได้เลย ช่วงเดือนเมษายนต้นจะแตกใบอ่อน ต้องให้น้ำให้ต้นแตกใบอ่อนเต็มที่ หากเห็นว่าต้นยังแตกใบอ่อนไม่ดี ก็ใส่ปุ๋ย 15-0-0 แล้วรอจนกระทั่งต้นแตกใบอ่อนดี การจะทำชมพู่ให้ติดดอกออกผลจะต้องทำใบก่อน ช่วงนี้ให้รูดใบในทรงพุ่มออกให้หมด เมื่อใบอ่อนออกเต็มที่แล้วก็ราดสารแพคโคลบิวทราโซลได้เลย อัตราส่วน 1 ต้น ต่อ 20-30 กรัม ผสมน้ำราดห่างจากโคนต้นให้รอบ หลังราดสารให้ปุ๋ยสะสมฉีดทางใบ เพื่อสร้างตาดอก ถึงตอนนี้ให้งดการให้น้ำ รอไปจนกว่าจะมีตาดอกติดออกมาให้เห็น จึงจะขึ้นน้ำได้ ให้น้ำช่วงเช้าทุกวัน วันละ 1 ครั้ง อัตราการให้น้ำดูที่ดิน แค่ให้ดินชื้นๆ ก็พอ หลังจากติดดอก ประมาณ 10 วัน ให้ปุ๋ย 12-12-17 หรือ 15-5-20 ให้ตลอด 10-15 วัน ต่อครั้ง อัตราส่วนไม่ต้องมาก ใช้วิธีให้น้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เมื่อดอกชมพู่บาน ฉีดยาฆ่าแมลงคลุมเพลี้ยไฟไรแดงและแมลงวันทอง ฉีดคลุมทุก 5 วัน หัวท้าย “ช่วงลมเปลี่ยนทิศ ลมตะเภาขึ้น พวก ไซฮวง แมลงเล็กๆ ที่เรามองไม่เห็นมันจะมาดูดกินเกสรดอก ทำให้ดอกเสียหาย ต้องฉีดยาป้องกันไว้ก่อนเลย” คุณสมชาย กล่าวพร้อมกับอธิบายต่อไปว่า ชมพู่ลองแทงดอกเสมอทั้งต้น จะหลุดร่วงน้อยมาก ต้นจะไม่สลัดดอกทิ้ง พอดอกพัฒนา การเป็นผลก็ต้องห่อผล ก่อนห่อเอาฟ็อกกี้ผสมยาฉีดผลป้องกันโรคแอนแทรกโนส เชื้อรา และแมลง เป็นการล้างลูกก่อนห่อ การห่อ ใช้ถุงหูหิ้ว เกรดเอ เจาะรูที่ก้นถุงช่วงรอยต่อระหว่างในถุงกับนอกถุงไม่ให้ขาดจากกัน ใช้ที่เจาะรูกดลงไประหว่างรอยต่อถุงนั่นแหละ วิธีนี้จะช่วยให้น้ำเหงื่อจากชมพู่ไหลออกได้ ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้แมลงวันทองเล็ดลอดเข้าไปภายในถุงได้ เมื่อห่อชมพู่แล้ว ทุกอย่างก็คลี่คลายลง รอเวลาเก็บผลเท่านั้น ชมพู่ใช้เวลาจากห่อประมาณ 25-30 วัน ก็เก็บขายได้ ขณะที่ผลชมพู่กำลังเติบโตขึ้น ทางดินควรใส่ปุ๋ยสูตรเสมอบ้าง การให้ปุ๋ยช่วงนี้ต้องดูด้วยว่าต้นสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าต้นไม่สมบูรณ์ก็ให้ปุ๋ยได้ แต่หากต้นสมบูรณ์แข็งแรงดี ไม่ควรให้ปุ๋ยเร่ง ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติจะดีกว่า คุณสมชาย บอกว่า ระหว่างผลชมพู่กำลังเจริญเติบโต ต้องฉีดยาป้องกันหนอน ป้องกันโรคแอนแทรกโนสบ้าง ถ้าเห็นอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน ใช้กำมะถันผสมน้ำฉีดคุมต้น จะช่วยไม่ให้แอนแทรกโนสลงทำลายได้ ก่อนเก็บผล 20 วัน ให้ปุ๋ยเร่งสี เร่งหวานบ้าง ก็จะทำให้ได้ชมพู่คุณภาพดีขึ้น หากไม่ใส่ปุ๋ยช่วงนี้ พอเก็บชมพู่ออกมาจะพบว่า มีชมพู่หัวหงอกบ้าง สีไม่แดงบ้าง สีออกแดงออกขาวบ้าง “การทำชมพู่คุณภาพต้องอาศัยประสบการณ์เข้าช่วย ชมพู่หากใส่ปุ๋ย ใส่ฮอร์โมน เร่งมากๆ จะได้ผลใหญ่ แต่สีไม่ดี แต่ถ้าเร่งสีให้ดี ก็จะได้ผลไม่ใหญ่ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ให้เกษตรกรไปคิดและทดลองทำดูว่า จะต้องทำอย่างไร ให้ได้ผลใหญ่และสีแดงเข้มด้วย ตรงนี้อยู่ที่ประสบการณ์ล้วนๆ การให้ปุ๋ยอยู่ที่ช่วงจังหวะของต้น เกษตรกรต้องฝึกสังเกตด้วยตนเอง” คุณสมชาย กล่าวพร้อมกับบอกอีกว่า การไว้ผลก็มีความสำคัญต่อการทำชมพู่ให้ได้คุณภาพ “ชมพู่ห่อเยอะได้น้อย ห่อน้อยได้เยอะ” อย่าเสียดายที่จะต้องปลิดผลอ่อนทิ้งไป ในกิ่งหนึ่งไว้ผลระยะห่าง 1 ช่อ ต่อ 1 ฟุต ทั้งต้น จะทำให้ต้นเลี้ยงลูกได้ดี ผลก็จะใหญ่ตามมา “ใน 1 ต้น ไว้ชมพู่แค่ 50 กิโล ก็พอ เราก็จะได้ชมพู่ไซซ์ใหญ่ การดูแลก็ง่าย ประการสำคัญคือ ทรงพุ่มต้องเป็นร่มข้างในโปร่ง” คุณสมชาย เจริญสุข กล่าวอีกว่า การทำชมพู่ให้ได้ผลผลิตดี ต้องทำที่ต้นก่อน ทำให้ต้นสมบูรณ์ที่สุด ทรงพุ่มโปร่ง จากนั้นก็บริหารจัดการเรื่องน้ำ เรื่องปุ๋ย แค่นี้เกษตรกรก็จะได้ผลผลิตชมพู่เป็นที่น่าพอใจแล้ว สนใจจะปลูกชมพู่หรือจะพูดคุยขอเทคนิคต่างๆ เชิญ โทร. คุยกันได้ ที่ (081) 837-8300 ยินดีต้อนรับทุกท่าน
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ราชบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM