เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เลี้ยงปลาอย่างไร ตายทุกที
   
ปัญหา :
 
 
ระยะนี้เจอคนตั้งคำถามนี้บ่อยมากครับ สงสัยเป็นเพราะส่วนหนึ่งไปคลุกคลีกับร้านขายปลา จึงได้ยินได้ฟังบทสนทนาระหว่างคนขายที่เป็นเพื่อนกัน กับลูกค้าอยู่บ่อย จนจับประเด็นหลักๆ ได้ คำถามยอดฮิตมีอีกเยอะเลย เช่น มีปลาอะไรบ้างเลี้ยงแล้วไม่ตาย (จะมีเรอะ) ปลาเลี้ยงมาตั้งนาน อยู่ดีๆ ทยอยตายยกตู้ (มันอยู่ไม่ดีน่ะซี แต่คุณไม่ทันสังเกต) ปลาทองที่บ้านน่ารัก น่าเอ็นดู เชื่องด้วย ชอบว่ายตีลังกาหงายท้อง ตอนนี้อ้วนปุ้กเลย (กระเพาะลมผิดปกติจนใกล้ตายแล้วรู้มั้ยเนี่ย) ผมเคยนำเรื่องพวกนี้มาเขียนเป็นบทความนานแล้ว แต่ก็ยังได้ยินคำถามคำกล่าวเช่นนี้อยู่เสมอ ไม่เห็นว่าจะลดลง แสดงว่าคนเลี้ยงปลาส่วนใหญ่ขาดการศึกษาข้อเท็จจริง เลี้ยงไปตามสัญชาตญาณและความเข้าใจของตน
วิธีแก้ไข :
 
คำถามที่ผมนำมาเป็นชื่อเรื่อง “เลี้ยงปลายังไงตายทุกที” ก็ได้ยินมาจากเหล่าลูกค้าของร้านเพื่อนอีกนั่นแหละ ประมาณตัดพ้อที่ตัวเองก็เลี้ยงปลามาไม่ใช่ประเดี๋ยวประด๋าว แถมเอาใจใส่ดูแลให้อาหารอย่างดี แต่เลี้ยงไม่เท่าไหร่ ก็ทยอยตาย ต้องมาหาซื้อไปเติม คำถามนี้แค่ไม่กี่พยางค์ แต่การตอบให้ตรงประเด็นไม่ใช่ง่าย ต้องอธิบายความกันยืดยาว ลูกค้าที่ฟังแล้วเข้าใจก็นำไปปรับปรุง แต่บางคนไม่อดทนฟังจนจบ รีบซื้อ รีบกลับ อย่างนี้อีกเดี๋ยวก็ต้องมาซื้อใหม่ พร้อมกับคำถามประโยคเดิมๆ ไม่จบสิ้น จนกว่าจะเบื่อหน่ายการเลี้ยงไป คล้ายกับหมอดีๆ ทั่วไป เวลาคนไข้มาบอกว่า ไม่สบาย ก็จะเริ่มซักถามย้อนหลังเพื่อหาสาเหตุของการป่วย เพื่อนผมก็เช่นกัน เริ่มจากถามชนิดปลาที่ป่วยตาย วิธีการเลี้ยงการดูแลและให้อาหาร อาจลงลึกไปถึงชนิดปลาอื่นๆ ที่มีอยู่ในตู้ ขนาดของตู้ เครื่องกรองน้ำ วัสดุกรองน้ำ ขนาดของปั๊มน้ำ ฯลฯ ไล่ไปจนกว่าจะเจอสิ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุของการป่วยหรือตาย เมื่อเจอแล้วก็ให้คำแนะนำ ถ้าเป็นที่การเลี้ยง ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีการ ถ้าเป็นที่อุปกรณ์ ก็แนะนำให้เปลี่ยนหรือปรับปรุง ถ้าเป็นที่การเข้ากันไม่ได้ของสายพันธุ์ปลา ก็แนะนำให้นำตัวที่มีปัญหาออก ในระหว่างนั้นลูกค้าจะมีคำถามแทรกอยู่ตลอด ทำให้การพูดคุยยืดเยื้อยาวนาน บางทีขัดจังหวะด้วยลูกค้ารายอื่นเข้ามาซื้อของ ผมเลยคิดว่าน่าจะหยิบคำถามนี้มาเขียนเป็นบทความเสียเลย จะได้รวบรัดอ่านง่ายเป็นขั้นเป็นตอนไป เป็นประโยชน์ดีกับนักเลี้ยงปลาทั้งมือเก่ามือใหม่ครับ เลี้ยงปลาอย่างไร ตายทุกที ประมวลจากการบอกเล่าและสืบค้นตามตำรา ปัญหามักเกิดมาจากเรื่องซ้ำๆ กัน ดังนี้ครับ 1. ขนาดของตู้ อาจไม่สัมพันธ์กับขนาดของปลา หรือจำนวนปลาที่เลี้ยง 2. ระบบกรอง หรือวัสดุกรอง อาจเล็กเกินไป หรือมีประสิทธิภาพต่ำ 3. เลี้ยงรวมโดยไม่ศึกษาพฤติกรรมของแต่ละสายพันธุ์ 4. วิธีการเลี้ยงไม่ถูกต้อง ยึดความเข้าใจของตัวเองเป็นที่ตั้ง เริ่มกันเลยนะครับ 1. ขนาดของตู้ไม่สัมพันธ์กับขนาดของปลา หรือจำนวนปลาที่เลี้ยง บางคนมีตู้เล็กนิดเดียว แต่อัดปลาทองไปตั้ง 9 ตัว (ตามหลักฮวงจุ้ย) แรกซื้อมาปลายังเล็กก็เลยพออยู่ได้ ทว่าพอโตขึ้นหน่อยคราวนี้เกิดปัญหาแล้ว น้ำเน่าเสียบ่อย ปลาว่ายกันเบียดเสียด ทั้งสภาพน้ำที่แย่กับพื้นที่แออัด ทำให้ปลาเกิดความเครียด เริ่มมีการติดเชื้อ เริ่มป่วย เมื่อป่วยแล้วก็ลามติดกันอย่างรวดเร็ว การแก้ไข ถ้าไม่อยากเปลี่ยนตู้เป็นใบใหญ่ขึ้น ก็จำเป็นต้องลดจำนวนปลา หรือโละปลาฝูงเก่าที่ตัวเริ่มใหญ่แล้วให้ใครไป ก็สุดแล้วแต่ เปลี่ยนนำลูกปลามาเลี้ยงแทน (วิธีนี้เคยเห็นคนทำอยู่นะ แต่ออกจะวุ่นวาย ต้องคอยหาผู้อุปการะกันตลอด) 2. ระบบกรอง หรือวัสดุกรอง อาจเล็กเกินไป หรือมีประสิทธิภาพต่ำ ตู้ปลาที่เลี้ยงปลาหลวมๆ คือเลี้ยงในอัตราส่วนจำนวนปลาต่อพื้นที่เหมาะสม จะใช้ระบบกรองยังไงก็ได้ ไม่ค่อยมีปัญหา เห็นหลายคนเลี้ยงปลาแพงๆ แต่ใช้ระบบกรองพื้นๆ อย่าง กรองโฟม กรองใต้กรวด เขาก็เลี้ยงกันมาได้อย่างสบาย แถมปลายังสวยมากเสียด้วย แต่คนที่เลี้ยงปลาแออัดหนาแน่นจำเป็นอย่างยิ่งต้องให้ความสำคัญต่อระบบกรองน้ำ มิเช่นนั้นปลาจะป่วยด้วยคุณภาพน้ำที่เสีย การแก้ไข ตู้ขนาดใหญ่เลี้ยงปลากินเนื้อ อย่าง อะโรวาน่า เสือตอ โกไลแอต หรือปลากินพืช อย่าง ปลาทอง ปลาคาร์พ ซึ่งกินจุและขับถ่ายของเสียในปริมาณมาก หากใช้ระบบกรองพื้นฐานก็ต้องควบคู่ไปกับการเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยมากๆ ซึ่งกินเวลาและเป็นภาระ ควรติดตั้งระบบกรองที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถรองรับของเสียได้มากและนาน เช่น กรองนอกตู้ (External Filter) กรองล่าง (คล้ายกรองในบ่อปลาคาร์พ ทำเป็นตู้กระจกแนวนอน ซอยเป็นห้องๆ จัดวางวัสดุกรอง เช่น ใยแก้ว หินพัมมิส ถ่านแอ๊กทิเวทเต็ดคาร์บอน) หรือหากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพตู้ได้หรือขาดปัจจัยในการขยายระบบกรอง ก็อาจเพิ่มกรองพื้นฐานเข้าไปอีก การเติมจุลินทรีย์ชนิดน้ำก็เป็นตัวช่วยที่น่าสนใจ ควรใช้เป็นประจำสม่ำเสมอและเลือกใช้อย่างดีเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด วัสดุกรองในระบบกรอง ควรมีการนำออกมาล้างบ่อยๆ การล้างอย่าใช้น้ำยาฆ่าเชื้อใดๆ เพียงแค่น้ำเปล่าก็เพียงพอ ส่วนวัสดุบางอย่าง เช่น แอ๊กทิเวทเต็ดคาร์บอน หรือ ซีโอไลต์ มีอายุการใช้งานจำกัด ควรเปลี่ยนใหม่ทุก 2-3 เดือน 3. เลี้ยงรวมโดยไม่ศึกษาพฤติกรรมของแต่ละสายพันธุ์ ตู้ปลาที่เลี้ยงรวมกันหลายสายพันธุ์ หากไม่ศึกษาอุปนิสัยใจคอของปลาดีพอ ก็มักเกิดปัญหาการรบกวนกระทบกระทั่งจนถึงขั้นตายอยู่เป็นประจำ ปลาบางชนิดมีขนาดเล็กก็จริง แต่นิสัยดุร้ายก้าวร้าว เช่น ปลาเสือสุมาตรา ปลากาแดง ปลาหมอสี ควรเลี้ยงรวมกับปลาที่แข็งแรง ว่ายน้ำว่องไว กินอาหารเก่ง ปลากินตะไคร่บางชนิดชอบไล่ดูดตามตัวปลาที่ขับเมือก เช่น ปลาน้ำผึ้ง หลายคนนำไปเลี้ยงรวมกับปลาทองก็มักจะพบว่าปลาทองเกิดบาดแผลตามตัวเป็นประจำ การแก้ไข ควรศึกษาอุปนิสัยและพฤติกรรมของปลาที่คิดจะซื้อ ก่อนนำมาเลี้ยงรวมกัน แต่หากเลี้ยงไปแล้วก็ต้องหาวิธีนำตัวที่มีปัญหามากที่สุดออกมา 4. วิธีการเลี้ยงไม่ถูกต้อง ยึดความเข้าใจของตัวเองเป็นที่ตั้ง ผู้เลี้ยงที่มีปัญหาปลาตายเป็นประจำ มักมีวิธีการเลี้ยงที่ผิด เช่น ให้อาหารมากๆ ให้ปลาสมบูรณ์อ้วนท้วน หรือเลี้ยงไปเรื่อยจนน้ำเริ่มขุ่นส่งกลิ่น ถึงค่อยเปลี่ยนถ่ายน้ำ แถมเป็นการเปลี่ยนถ่ายน้ำ 100% นำปลาออก ยกตู้ไปขัดล้างตากแดด ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้ปลาเกิดความเครียดมาก ให้อาหารมากเกินพอดี ปลาก็เกิดปัญหากับระบบย่อยและขับถ่าย น้ำที่ไม่มีการเปลี่ยนถ่ายเป็นเวลานาน ก็เป็นแหล่งรวมความสกปรกทำให้ปลาอ่อนแอและป่วยได้ การตักย้ายปลาเข้า-ออก ขณะล้างตู้ ก็ทำให้ปลาช็อกน้ำได้ง่าย ปลาที่อ่อนแอมักอยู่นิ่ง หลบมุม หรือมีอาการว่ายน้ำแปลกๆ บางคนคิดว่าเป็นบุคลิกภาพของปลาบางตัว เลยไม่คิดรักษา ปล่อยทิ้งไว้จนอาการหนักค่อยวิ่งโร่ไปซื้อยา ซึ่งก็ไม่ทันเสียแล้วล่ะครับ การแก้ไข ศึกษาวิธีการเลี้ยงอย่างถูกต้อง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องง่ายมาก เดี๋ยวนี้มีให้อ่านทั้งจากนิตยสารปลาสวยงาม ทั้งจากอินเตอร์เน็ต อย่าใช้ความเข้าใจของตนเองมากเกินไป
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM