เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปลาสลิด ในนาข้าว ภูมิปัญญาสร้างอาชีพ ของ ปัญญา โตกทอง ที่อัมพวา
   
ปัญหา :
 
 
ปี 2537 เป็นปีแรกที่ คุณปัญญา โตกทอง เกษตรกรแห่งจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ตัดสินใจเริ่มต้นการประกอบอาชีพเลี้ยงปลาสลิดในนาข้าว และได้กลายเป็นก้าวสำคัญของความสำเร็จในวันนี้
วิธีแก้ไข :
 
วันนี้กล่าวได้ว่า เขาคือ เกษตรกรหัวก้าวหน้าที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ และได้กลายเป็นแบบอย่างแก่เพื่อนเกษตรกร โดยล่าสุดได้รับการคัดเลือกเป็น Smart Farmer ต้นแบบของจังหวัดสมุทรสงคราม สำหรับ Smart Farmer เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความภูมิใจในการเป็นเกษตรกร มีความรอบรู้ในระบบการผลิตด้านเกษตรของแต่ละสาขาอาชีพ อีกทั้งยังมีความสามารถในเชิงวิเคราะห์ เชื่อมโยงในการบริหารจัดการการผลิตและการตลาด ทั้งนี้ จะมี Smart Officer ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของทุกหน่วยงานช่วยขับเคลื่อนให้ Smart Farmer ทำงานด้วยความคล่องตัว ทั้งนี้ การคัดเลือก Smart Farmer ดำเนินการโดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดได้คัดกรองเกษตรกรจากทุกอำเภอ จำนวนทั้งสิ้น 12,263 ราย แบ่งการคัดกรองด้วยการแยกอำเภอ แยกอาชีพ และคุณสมบัติต่างๆ ที่กำหนดไว้ และมีเกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์ต่างๆ จนได้เป็น Smart Farmer จำนวน 1,433 ราย คิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ ของเกษตรกรทั้งหมด สำหรับการคัดเลือก Smart Farmer ต้นแบบดำเนินการใน 3 สาขาอาชีพ ได้แก่ ด้านพืช (เกษตรผสมผสาน), ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ สาขาละ 1 ราย รวม 3 ราย คุณวิโรจน์ ชลวิริยะกุล เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ในอำเภออัมพวามีเกษตรกรที่เลี้ยงปลาสลิดอยู่ 304 ราย มีพื้นที่เลี้ยงทั้งหมด 5,892.35 ไร่ มีปริมาณผลผลิต 1,666.39 ตัน และมีมูลค่า 77.68 ล้านบาท เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า คุณปัญญา โตกทอง นับเป็นเกษตรกรที่มีความเหมาะสมที่สุดทางด้านประมง ทั้งนี้ เพราะเขาเลี้ยงปลาสลิดด้วยการจัดโซนนิ่ง โดยใช้พื้นที่ทำนาเลี้ยงปลา แล้วยังมีองค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงปลาสลิดแบบอินทรีย์ที่ใช้ธรรมชาติด้วยการตัดหญ้าเป็นอาหารปลา จนทำให้มีรายได้ดี ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยพบปัญหาและอุปสรรคเรื่องระบบน้ำที่เปิดเข้า-ออก ระหว่างน้ำเค็มและน้ำจืด เนื่องจากในพื้นที่ของจังหวัดมีการทำเกษตรทั้งการเลี้ยงกุ้ง และปลูกพืช “กระทั่ง คุณปัญญา ได้ทำหน้าที่เป็นแกนหลักของกลุ่มชาวบ้านในการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมกับทาง สกว. ในการจัดรูปแบบการจัดการน้ำในคลองตำบลแพรกหนามแดง เพื่อแก้ไขปัญหาระบบการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำ และในปัจจุบันได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว ส่วนหนึ่งของความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ คุณปัญญาได้ทำงานร่วมกับ สกว. ทำให้เขาได้เรียนรู้กระบวนการของแนวคิด ที่ต้องนำข้อมูลจากการจดบันทึกมาวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจ นอกจากความโดดเด่นในการเลี้ยงปลาสลิดแล้ว เขายังสามารถเป็นต้นแบบให้เกษตรกรรายอื่นได้” คุณวิโรจน์ กล่าว เริ่มจาก ไม่รู้ ทำตามเพื่อนบ้าน อาชีพดั้งเดิมของคุณปัญญาคือ การช่วยพ่อ-แม่เลี้ยงกุ้งในนามาก่อน กระทั่งมีครอบครัวจึงแยกออกมาทำเอง แต่ไม่นานอาชีพนี้เกิดปัญหาขึ้นและกระทบกับรายได้ของครอบครัว จนทำให้จำเป็นต้องหยุดทันที เพื่อป้องกันภาระหนี้สิน แต่แล้ว ในปี 2537 คุณปัญญา ตัดสินใจมาตั้งต้นใหม่ด้วยการเลี้ยงปลาสลิดในพื้นที่นาข้าว จำนวน 30 กว่าไร่ ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อนเลย เพียงแต่ทำตามเพื่อนบ้าน ความด้อยประสบการณ์ และขาดความรู้ ความชำนาญ จึงทำให้การออกสตาร์ตอาชีพเลี้ยงปลาสลิดของคุณปัญญาดูไม่ดีนัก ทั้งนี้เพราะเพียงปีแรกเขาทำได้เพียง 5 หมื่นบาทเท่านั้น ถือว่าขาดทุนและเสียเวลามาก จากบุคลิกและนิสัยที่มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท พร้อมกับความเชื่อมั่นในตัวเอง ส่งผลให้คุณปัญญาเร่งสะสมประสบการณ์และเรียนรู้วิธีการเลี้ยงปลาสลิดหลายอย่าง จนเมื่อเข้าปีที่ 3 ทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นและมองเห็นตัวเลขกำไรบ้าง ซึ่งในตอนนั้นมีรายได้ปีละ 3 แสนกว่าบาท ที่เป็นเช่นนั้นเพราะได้เรียนรู้วิธีและแนวทางการเลี้ยงปลาที่ถูกต้อง และสามารถลดต้นทุนได้ “เหตุผลที่ประสบความสำเร็จและมีเงินเหลือ เพราะใช้วิธีการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ด้วยการฟันหญ้าให้ปลาเป็นอาหาร พอเข้าปีที่ 4 เป็นต้นมา รายได้ชักเพิ่มขึ้น เป็นปีละ 6 แสนกว่าบาทไปจนถึง 2 ล้านกว่าบาท จนถึงในปัจจุบันนี้” ความสำเร็จที่เกิดขึ้น คุณปัญญา บอกว่าไม่ได้มาจากประสบการณ์ที่เรียนรู้มาด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่หากถ้าเขาไม่ได้ถูกอบรมบ่มเพาะนิสัยการจดบันทึกสถิติข้อมูลการเลี้ยงปลาสลิดทุกวัน จากทาง สกว. แล้ว วันแห่งความสำเร็จเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น คุณปัญญา เล่าว่า อาชีพการเกษตรในจังหวัดสมุทรสงครามมีการใช้น้ำจืดและน้ำเค็ม จึงเกิดปัญหาการใช้น้ำในพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร แล้วสร้างความเสียหายต่อผลผลิต ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวจึงถูกนำมาแก้ไขบนโต๊ะเจรจาและมี สกว. เป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือ กระทั่งในที่สุดทุกอย่างจบลงด้วยการที่ชาวบ้านในตำบลแพรกหนามแดงได้ประตูระบายน้ำบานใหม่ที่ถูกพัฒนารูปแบบและการทำงานที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังสามารถเอื้อประโยชน์โดยตรงกับเกษตรกรทุกกลุ่มอาชีพ เลี้ยงอย่างไร… คุณปัญญา บอกว่า เขาใช้เนื้อที่นา จำนวน 30 ไร่ เพื่อเลี้ยงปลาสลิด โดยจะมีร่องล้อมรอบ และแต่ละร่องมีความกว้าง 1.5-2 เมตร ความลึก 1-1.2 เมตร คันบ่อไม่ควรให้น้ำท่วมถึง และสามารถเก็บกักน้ำได้ในระดับ 50-70 เซนติเมตร บ่อมีลักษณะสี่เหลี่ยม ทำประตูน้ำไว้เข้า-ออก ที่มุมหนึ่งของแปลงนา ให้สร้างเป็นนาหรือบ่อขนาดเล็ก มีพื้นที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ของแปลงนาทั้งหมด ไว้สำหรับใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และปล่อยให้ปลาสลิดผสมพันธุ์วางไข่ อีกทั้งยังต้องขุดบ่อพักเลน ขนาด 50 ตารางวา และบ่อขังปลา บนพื้นที่นาต้องปล่อยให้หญ้าขึ้นหนาแน่น เพื่อให้เป็นที่ก่อหวอดและวางไข่ของปลาสลิด และควรรักษาระดับน้ำให้สูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง แต่ที่สำคัญในบ่อเลี้ยงต้องมีหญ้า เพราะหญ้ามีความสำคัญและประโยชน์ต่อการอยู่อาศัยของปลาสลิดมาก โดยใช้เป็นที่กำบังลมและฝนของหวอดไข่ปลา เป็นที่หลบภัยของลูกปลาวัยอ่อนจากศัตรู เป็นปุ๋ยสำหรับก่อให้เกิดอาหารธรรมชาติของพวกแพลงตอนและสัตว์หน้าดิน เป็นกำบังป้องกันไม่ให้อุณหภูมิบนแปลงนาร้อนจนเกินไปเมื่อมีแสงแดดจัด และการหมักหญ้าในนาก่อนเพาะฟัก ประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะช่วยแก้ปัญหาความเป็นกรดของน้ำได้ เจ้าของบ่อปลาสลิดให้รายละเอียดว่า การให้อาหารปลาสลิดที่เลี้ยงมี 2 แบบ คือใช้หญ้าอ่อนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยจะฟันหญ้าอ่อนให้ปลาสลิด ที่มีอายุราว 20 วัน ให้กินทุก 15 วัน ไปจนเมื่อปลาอายุได้สัก 4 เดือน กระทั่งเหลือแต่หญ้าแก่ที่ลอยน้ำ จึงให้นำหลักไม้ปักเป็นจุดเพื่อให้หญ้าแก่รวมกันเป็นกอ ครั้นพอสักเดือนจะมีหญ้ารุ่นใหม่แตกขึ้นมา จากนั้นจึงพลิกกอหญ้าเพื่อให้หญ้าอ่อนจมน้ำเป็นอาหารปลาอีกครั้ง “พอปลาอายุสัก 3 เดือน จะเริ่มให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปควบคู่ไปด้วย โดยทำยอเป็นที่ให้อาหาร ปักยอให้ทั่วบ่อ สำหรับบ่อที่ใช้เลี้ยงอยู่จำนวน 30 ไร่นี้สามารถทำยอได้ 400 จุด ให้อาหารในอัตรา 2 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว ให้เพียงวันละครั้งตอนเช้า สำหรับอาหารเม็ดสั่งมาคราวละ 300-400 กระสอบ และสั่งทุก 15 วัน พอช่วงบ่ายจะออกตรวจดูตามจุดต่างๆ เพื่อดูว่าจำนวนอาหารในแต่ละวันเหมาะสมเพียงใด เพราะถ้าวันใดมากไปอาหารเหลือจะลด ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนและป้องการน้ำเสีย แต่ถ้าวันใดอาหารหมดเกลี้ยง พอวันรุ่งขึ้นจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จะมีการสุ่มน้ำหนักและขนาดของปลา พร้อมจดบันทึกไว้ทุก 15-20 วัน จนกว่าจะจับขาย” คุณปัญญา ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า จำนวนอาหารเม็ดที่ใช้คือ ปลา 1 กิโลกรัม ใช้อาหารประมาณ 1.6-1.7 กิโลกรัม อันนี้เป็นอัตราการแลกเนื้อ เพราะถ้าทำอัตราการแลกเนื้อได้ต่ำแล้ว จะทำให้มีกำไรสูง ตรงนี้สำคัญและต้องใส่ใจมาก บางรายยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอัตราแลกเนื้อคืออะไร อย่างไรก็ตาม การเตรียมอาหารโดยการตัดหญ้าจะให้ผลล่าช้า คือจะต้องใช้เวลานานกว่า 7 วัน ดังนั้น จึงมีการใส่ปุ๋ยคอกควบคู่ไปกับการตัดหญ้าด้วย โดยใส่ปุ๋ยทุกวัน วันละ 2.5 กิโลกรัม ต่อไร่ วิธีนี้จะช่วยให้เกิดอาหารในปริมาณมากและเร็วภายในเวลาเพียง 3 วัน ผลผลิตที่ได้ก็สูงกว่าการเลี้ยงแบบไม่ใส่ปุ๋ย สำหรับความสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติในนาปลานั้น ให้สังเกตดูน้ำว่าเป็นสีเขียวขุ่น โดยจุ่มมือลงไปประมาณแค่ข้อศอก ถ้ายังเห็นมืออยู่ในน้ำ ก็แสดงว่ายังใช้ไม่ได้ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะอาหารตามธรรมชาติไม่เพียงพอ จึงควรตัดหญ้าหรือใส่ปุ๋ยเพิ่มลงไปอีก แต่ถ้ามองเห็นมือลางๆ นั่นแสดงว่าน้ำมีความสมบูรณ์สูง “ปลาสลิด มักมีนิสัยชอบกินอาหารเป็นจุด เป็นที่ มีนิสัยรักความสงบ ต้องมีน้ำนิ่ง น้ำเรียบ และน้ำทึบ ปลาขาวอยู่น้ำขาว และปลาดำอยู่น้ำดำ ปลาสลิดชอบอยู่ในน้ำที่มีสีแดงทึบ เขียวทึบ และดำทึบ แต่สีเขียวชอบมากที่สุด ดังนั้น จึงต้องสั่งปุ๋ยมาใส่ในบ่อจำนวนกว่าหมื่นลิตรเพื่อทำให้น้ำมีสีเขียว” เลี้ยง 9 เดือน จับขาย คุณปัญญา บอกว่า ปลาสลิดที่จับขายส่วนมาก มีขนาด 7-8 ตัว ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นปลาที่ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 9 เดือน เขาบอกว่าจะมีพ่อค้าจากจังหวัดสมุทรปราการมาเหมาเป็นรายใหญ่ นอกจากนั้น อาจมีรายอื่นแถวสุพรรณบุรี บ้านแพ้วมาร่วมด้วย คุณปัญญาบอกรายละเอียดถึงวิธีการจับปลาขายว่า ควรใช้วิธีเปิดอวนออกเพื่อไม่ให้ปลาช้ำและมีน้ำหนักดี แต่ถ้าปลาขึ้นระหัดจะทำให้เสียเลือด และเสียน้ำหนัก เกล็ดปลาหลุด ปลาช้ำ มีเกษตรกรหลายรายใช้วิธีวิดปลาขึ้นแผง แต่ผมใช้วิธีเปิดออกและเป็นวิธีเดียวกับการเลี้ยงกุ้ง เจ้าของบ่อปลาสลิดบอกต่อว่า อวนที่ใช้ดักปลาต้องมีขนาดยาวพอที่จะไม่ทำให้ปลาช้ำหรือตาย ควรระวังไม่ให้น้ำแห้งเร็วเกินไป ควรให้น้ำแห้งพื้นลาดในช่วงกลางวัน เพื่อปลาจะได้ลงร่องคันนาได้หมด และเมื่อน้ำไม่สามารถไหลลงได้แล้วจึงใช้ระหัดวิดออก และควรหาอวนล้อมรอบเพื่อไม่ให้ปลาติดระหัดขึ้นมาจนเวลาน้ำใกล้แห้งจึงนำอวนที่ใช้ล้อมไว้ออก แล้วจึงเริ่มเดินระหัดวิดน้ำเพื่อรวบรวมปลา ควรจับปลาให้เสร็จภายในวันเดียว เพราะภายหลังน้ำลดปลามักไม่กินอาหาร จึงอาจทำให้มีน้ำหนักลดลง “ถามว่า รู้หรือไม่ว่า จำนวนปลาในบ่อมีเท่าไร ต้องบอกว่ารู้จำนวนแน่นอนจากอาหารที่ให้ เพราะปลาหนัก 1 ตัน ใช้อาหารปริมาณ 20 กิโลกรัม อย่างตอนนี้ใช้อาหารวันละ 500 กิโลกรัม ดังนั้น มีปลาจำนวน 3.5-3.7 แสนตัว หรือประมาณ 25 ตัน คาดว่าเมื่อถึงเวลาขึ้นปลาน่าจะได้สัก 40 ตัน หรือไม่เกิน 4.2 หมื่นกิโลกรัม การที่สามารถกำหนดวันที่ได้แน่นอน เพราะมีการจดบันทึกรายละเอียดไว้ทุกอย่าง” คุณปัญญา มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังเลี้ยงปลาสลิดหรือมีแผนจะเลี้ยงว่าการเก็บปลาสลิดไว้มากหรือน้อย ผู้เลี้ยงจะต้องดูความเหมาะสมในเรื่องทุนด้วยว่าจะไหวหรือไม่ เพราะหากต้นทุนไม่มาก ควรเก็บไว้สักไร่ละ 5 พันตัวก็พอ เพราะการมีปลามากต้องให้โปรตีนสูงซึ่งทำให้ต้นทุนสูงตามไปด้วย “ที่ผ่านมาพบว่า มีเกษตรกรบางรายที่ประสบปัญหาทำไม่ไหว เพราะไม่พิจารณาตัวเองให้ดีเสียก่อน กล้าเสี่ยงเกินไป หรือบางรายก็ทำตามกันโดยไม่ดูตัวเอง แต่สิ่งที่ข้อย้ำและละเลยไม่ได้คือการจดบันทึกและการสังเกต เพราะเมื่อใดที่เกิดปัญหาขึ้นสามารถย้อนกลับไปดูรายละเอียดในข้อมูลที่บันทึกไว้ได้” “สำหรับผู้สนใจ ผมยินดีให้ความรู้ แนะนำ ถ่ายทอดทุกอย่างเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาสลิด แต่ทั้งนี้ทุกคนต้องเข้าใจว่าในทุกพื้นที่และทำเล ตลอดจนสิ่งแวดล้อมแต่ละแห่งมีองค์ประกอบที่ต่างกัน และควรนำข้อมูลเหล่านี้ไปประยุกต์เข้ากับพื้นที่เลี้ยงของแต่ละคนเป็นหลัก” คุณปัญญา กล่าวทิ้งท้าย หากสนใจ สอบถามข้อมูลวิธีเลี้ยงปลาสลิดจาก คุณปัญญา โตกทอง ได้ที่โทร. (083) 706-6006
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สมุทรสงคราม
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM