เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ทำนอกฤดูด้วยการตัดแต่งกิ่ง เคล็ดไม่ลับ...ชาวสวนส้มโอ ที่แม่กลอง
   
ปัญหา :
 
 
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสมุทรสงคราม ได้เปิดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาส้มโอของจังหวัดสมุทรสงคราม ในระยะเวลา 4 ปี คือ ในระหว่างปี 2556-2560 ภายใต้วิสัยทัศน์ว่า “เป็นผู้นำการผลิตส้มโอคุณภาพของประเทศ” ทั้งนี้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ไว้ 4 ด้าน คือ การพัฒนาเกษตรกร การพัฒนาการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย การพัฒนาด้านการตลาด และการพัฒนาการบริหารจัดการ คุณวิโรจน์ ชลวิริยะกุล เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยรายละเอียดยุทธศาสตร์ดังกล่าวว่า จังหวัดสมุทรสงครามเป็นแหล่งผลิตส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ลักษณะของส้มโอขาวใหญ่จะมีกลีบหรือกุ้งสีน้ำผึ้ง เนื้อแห้ง ไม่มีเมล็ด รสชาติหวานอร่อย ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกส้มโอ จำนวน 2,579 ราย มีพื้นที่ปลูก 12,506 ไร่ ปริมาณผลผลิต 14,607.20 ตัน เฉลี่ย 1.34 ตัน ต่อไร่ ราคาที่ขาย 30-35 บาท ต่อกิโลกรัม ทั้งนี้มีเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP จำนวน 186 ราย พร้อมทั้งได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในพื้นที่แล้ว เกษตรและสหกรณ์ฯ บอกต่ออีกว่า ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาส้มโอต้องการมุ่งเน้นผลิตส้มโอเป็นระบบทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ คือในเรื่องของการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ระดับกลาง น้ำ เป็นการรับรองมาตรฐาน GAPและการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และสุดท้ายที่ระดับปลายน้ำนั้น ทางจังหวัดจะยกระดับมาตรฐานของส้มโอขาวใหญ่ที่ได้มีการพัฒนาแล้วเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังทำให้ราคาขายส้มโอมีความเหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนของเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่ตลาด AEC ต่อไป พร้อมกันนี้คุณวิโรจน์พาไปดูตัวอย่างการปลูกส้มโอขาวที่ประสบความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพส้มโอ ลิ้นจี่ ที่บ้านเลขที่ 14 ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยได้พบกับ คุณบรรหาร อยู่กำเนิด กับกรรมการกลุ่มกว่า 10 คน ที่มาล้อมวงคุยกันเกี่ยวกับวิธีการปลูกส้มโอขาวใหญ่ คุณบรรหารชี้ให้เห็นถึงเหตุผลที่ทางกลุ่มหันมาใช้วิธีนี้ปลูกส้มโอ เป็นเพราะสมัยก่อนเกษตรกรมักมีการใช้สารเคมีกันมาก ขาดการเอาใจใส่ต้นส้มโอ ต้นไหนที่โทรมเมื่อเข้าหน้าฝนจะออกดอกมากเพราะได้น้ำ พอเป็นเช่นนั้นทุกสวนเลยมีผลผลิตออกพร้อมกันและชนกันจนล้นตลาด และทำให้ราคาตก ครั้นพอกระทบอากาศหนาวเข้ามากๆ ยิ่งทำให้เนื้อส้มโอมีรสชาติขม อันนี้จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ราคายิ่งตกต่ำลงไปอีก แล้วพอถึงหน้าเทศกาลกลับไม่มีผลผลิต และเป็นเหตุให้ส้มโอมีราคาสูง คุณบรรหารบอกว่า ตัวเขาและสมาชิกกลุ่มมีพื้นที่ปลูกส้มโอขาวทั้งหมด 400 กว่าไร่ บางรายมีพื้นที่มาก บางรายมีน้อย แต่เมื่อเฉลี่ยแล้วตกรายละประมาณ 10 ไร่ ทั้งนี้แต่ละรายไม่ได้ปลูกเพียงส้มโออย่างเดียว แต่ยังปลูกไม้ผลและพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นร่วมภายในพื้นที่ด้วย ในอดีต คุณบรรหาร ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่เพียง 3 ไร่ การจะปลูกพืชอย่างหนึ่งอย่างใดในพื้นที่เพียงแค่นี้ดูจะเสี่ยงเกินไป ดังนั้น ปัญหาของการมีพื้นที่ทำกินน้อย จึงทำให้เขาแก้ไขด้วยการปลูกพืชร่วมกันแบบพี่เลี้ยงน้องเพื่อนำรายได้มาเป็นทุน แต่ผลที่เกิดขึ้นจากแนวคิดนี้ดูเหมือนจะได้อย่างและเสียอย่าง ทั้งนี้เพราะอาจมีรายได้บางส่วนเข้ามาช่วยจริงแต่เสียตรงการปลูกพืชร่วมกันส่งผลทำให้พืชบางตัวไม่เจริญเติบโตหรือมีผลผลิตไม่เต็มที่ อย่างส้มโอที่มีต้นงามแต่กลับมีลูกน้อย เหตุการณ์นี้ไม่กระทบเพียงแค่สวนส้มโอของเขาเท่านั้น แม้แต่รายอื่นที่ปลูกไม้ผลในพื้นที่อันจำกัดก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นคุณบรรหารคิดว่าควรทำอย่างไรให้ปลูกส้มโอได้ผลผลิตสูงพร้อมกับมีคุณภาพในพื้นที่จำกัด ความไม่พอดีเช่นนี้ส่งผลเสียหายต่อรายได้ของเกษตรกรอย่างมาก คุณบรรหารและเพื่อนสมาชิกร่วมกันคิดหาทางแก้ไขด้วยการไปดูงานตามสถานที่ต่างๆ พร้อมกับหาความรู้เพิ่มเติมแบบคู่ขนาน จนไปพบวิธีการตัดแต่งกิ่งไม้ผลจากเอกชนรายหนึ่ง จากนั้นทางกลุ่มได้นำมาทดลองทำกระทั่งเป็นผลสำเร็จ จึงได้ถ่ายทอดแนวทางนี้ไปสู่เพื่อนสมาชิกและเกษตรกรร่วมอาชีพรายอื่นต่อไป เขาเผยว่า แนวคิดและวิธีการปลูกส้มโอขาวของกลุ่มจนประสบความสำเร็จสามารถบังคับให้มีผลผลิตได้นอกฤดู โดยผลผลิตเหล่านั้นมีทั้งคุณภาพและปริมาณที่ต้องการ เป็นผลมาจาก 2 หลักคิด คือเรื่องดิน น้ำ ปุ๋ย และเรื่องการตัดแต่งกิ่ง พัฒนาดิน น้ำ และปุ๋ย คุณบรรหารอธิบายว่า ในช่วงที่ต้นส้มโอกำลังจะติดดอกออกผลต้องให้อาหารและน้ำอย่างสม่ำเสมอ และการบำรุงรักษาต้นต้องมีการรดน้ำใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ต้นสมบูรณ์แข็งแรงเต็มที่ รอผลผลิตที่กำลังเติบโต อีกทั้งต้องตัดกาฝากและกำจัดวัชพืชออกให้หมดเพื่อเป็นการเตรียมต้นให้พร้อม ต้นส้มโอที่พร้อมจะให้ผลผลิตได้ควรมีอายุตั้งแต่เริ่มปลูกกระทั่งออกผลเป็นเวลา 3 ปี และเมื่อส้มโอเริ่มออกผลปีแรกให้ปล่อยออกดอกติดผลไปตามธรรมชาติก่อนโดยยังไม่ต้องบังคับ หลังจากเมื่อครบกำหนดและต้องการบังคับให้ออกนอกฤดูจะใช้วิธีการงดให้น้ำ ประมาณ 2 สัปดาห์ และเป็นช่วงที่ใบส้มโอแก่จัดเต็มที่ เมื่อต้นส้มโอขาดน้ำจะเริ่มเฉา มีใบห่อลง และพอครบเวลา 2 สัปดาห์ จึงเริ่มให้น้ำพร้อมปุ๋ยหมักผสมปุ๋ยเคมีที่มีตัวกลางสูงคือ 15-30-15 ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นตาดอก ควรใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพที่หมักจากน้ำมะพร้าวแก่หรือน้ำหมักจากปลาทะเลรดต้น พร้อมกับให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสม กล่าวคือวันแรกอย่าให้น้ำมากจนดินแฉะ เพราะต้นส้มโออาจช็อกน้ำ ควรเพิ่มปริมาณน้ำที่ใช้รดในแต่ละวันทีละเล็กน้อยในวันต่อๆ ไป ทั้งนี้ควรสังเกตถ้าดินชื้นไม่ควรให้น้ำในวันนั้น อย่างไรก็ตาม พอวันที่ 5 ให้น้ำ 3 วันครั้ง โดยส้มโอจะเริ่มแทงตาดอกภายใน 1 สัปดาห์ มีใบอ่อนแตกออกมา พร้อมกับสลัดใบแก่ทิ้ง เมื่อส้มโอติดผลอ่อนควรบำรุงรักษาโดยการใส่ปุ๋ยหมักทุกเดือน และให้น้ำทุก 5-7 วันครั้ง กระทั่งส้มโอติดผลได้ถึง 6 เดือน จึงหว่านปุ๋ยหมักจากขี้แดดนาเกลือจำนวน 1 กำมือ ทุก 15 วันครั้ง ต่อพื้นที่รอบต้นขนาด 1 ตารางเมตร ไปจนถึงระยะเก็บผลช่วงเวลา 8 เดือน “ทั้งนี้ก่อนการเก็บผลผลิต 2 สัปดาห์ ควรหยุดการให้น้ำเพื่อให้ต้นส้มโอสะสมอาหารภายในผลซึ่งจะทำให้มีรสชาติหวาน อร่อย อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่งดการให้น้ำก่อนเก็บผลผลิตนอกจากผลดีในแง่ของคุณภาพรสชาติและเนื้อของส้มโอแล้ว ยังถือเป็นการกระตุ้นให้ส้มโอติดดอกออกผลในรุ่นต่อไปด้วย เหตุนี้จึงทำให้ต้นส้มโอสามารถเก็บผลผลิตได้ทั้งปี” เกษตรกรปลูกส้มโอรายนี้บอกถึงเรื่องการใช้ปุ๋ยว่า ที่ผ่านมาเขาจึงใช้วิธีผสมผสานระหว่างอินทรีย์และเคมี แต่จะเน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากกว่าและมักจะผสมคู่กับเคมีไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วยังใช้ปุ๋ยคอก ขี้นกกระทา อีกอย่างที่เขาแนะนำให้ใช้เพราะดีมาก นั่นคือ ปลาหมัก โดยใช้ปลาเป็ดมาหมัก ส่วนมากจะหมักข้ามปี ควรนำมาใส่ต้นส้มโฮที่มีอายุ 45 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นส้มโอเล็กแตกยอดอ่อนขนาดเท่าแขน ทั้งนี้เพราะปุ๋ยปลาหมักมีไนโตรเจนสูง จากแนวทางใหม่นี้เขาเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของดินว่ามีการจับเป็นก้อนและแข็งเหนียว จึงมีการปรับปรุงด้วยการนำปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์มาใช้จึงทำให้ดินเริ่มฟู แล้วยังใช้วิธีการแต่งต้น การเปิดดอก สังเกตจากใบ แล้วอาศัยทำตามธรรมชาติของต้นไม้เป็นหลัก ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เคมีเลย “ปุ๋ยอินทรีย์ใช้ปริมาณ 1 ลิตร ต่อครั้ง ผสมกับน้ำประมาณ 15 ลิตร ระยะเวลาที่ใช้ต้องอยู่ตามความเหมาะสมคือถ้าเป็นลูกขนาดผลมะนาวไปจนมีขนาดเท่ากำปั้น ห้ามใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพราะจะทำให้หนังย่นเสียทรง โดยจะใช้ก่อนช่วงใกล้เก็บและในช่วงเตรียมต้นที่จะตัดแต่งกิ่ง เปิดตาดอก ส่วนปุ๋ยเคมีนั้นใช้ปริมาณ 40 กว่าตัน ซื้อมาใช้เป็นกระสอบยังไม่หมด เพราะใช้ครั้งละเพียง 30 กิโลกรัม เท่านั้น เพราะไปเน้นที่อินทรีย์มากกว่า” สาดเลนโคนต้น ช่วยเพิ่มธาตุอาหาร ด้านการดูแลจัดการภายในสวนนั้น เกษตรกรปลูกส้มโอทุกรายมักนิยมการสาดเลน และให้ความสำคัญกับดินคือ ต้องสังเกตดินให้เป็น อย่าให้ดินแน่น เมื่อพบว่าดินแน่นต้องหาปุ๋ยอินทรีย์มาใส่เพื่อให้ดินฟูขึ้นมา คุณบรรหารบอกว่า เลนถือเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านในการปลูกพืช ทั้งนี้เพราะการสาดเลนแต่ละครั้งหมายถึงทำให้เปลี่ยนรากของต้นพืช 1 ครั้ง เขาเคยสังเกตที่ผ่านมาหากไม่สาดเลนแล้วรากเดิมจะอยู่ได้เพียง 2 ปี จะเป็นสีน้ำตาลออกดำแล้วจะไม่กินอาหาร จากนั้นต้นจะเริ่มเสื่อมโทรมลงอันมาจากการที่ก่อนหน้านี้ให้ลูกดกเกินไป แล้วไม่มีการแตกรากใหม่ออกมาหาอาหาร ครั้นพอมีการสาดเลนเข้าไปที่ต้น ทำให้ดูเหมือนต้นได้รับปุ๋ยคอกอีกครั้ง จึงเริ่มมีการแตกรากใหม่ออกมาเพื่อหาอาหารอีกครั้ง เผย...วิธีตัดแต่งกิ่งที่ประสบความสำเร็จ นอกจากการดูแลเรื่องดิน น้ำ และปุ๋ยที่ทำให้คุณบรรหารประสบความสำเร็จจากการปลูกส้มโอได้ผลผลิตที่มีคุณภาพแล้ว การบังคับให้มีผลผลิตออกนอกฤดูยังมีความสำคัญเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันผลผลิตออกพร้อมกันอันจะทำให้ราคาตกต่ำ และวิธีบังคับให้ได้ผลผลิตนอกฤดูที่คุณบรรหารนำมาใช้คือการตกแต่งกิ่งต้นพันธุ์ “อย่างส้มโอในสวนที่ปลูกจำนวน 63 ต้น ได้ผลผลิตประมาณ 5 ตัน ต่อรุ่น เป็นผลมาจากการตัดแต่งกิ่ง โดยจะเน้นไปที่ตอเพราะตอส้มจะโผล่ง่าย ทั้งนี้แต่ละรุ่นจะใช้เวลา ประมาณ 7 เดือน เพราะฉะนั้นถ้าต้องการเก็บในช่วงตรุษจีนก็จะต้องตัดแต่งกิ่งให้เสร็จราวเดือนกรกฎาคม พอเดือนสิงหาคมจะเปิดดอกซึ่งจะมีขนาดราวผลมะนาว แล้วพอถึงช่วงตรุษจีนสามารถเก็บได้พอดี” เขาบอกว่า คงไม่สามารถกำหนดตายตัวได้ว่าควรตัดแต่งต้นละจำนวนกี่กิ่ง เพียงแต่ต้องพิจารณาดู ถ้าตอใหญ่หากเก็บคู่กลางต้นไว้ปุ๋ยจะขึ้นมาเลี้ยงพอ ซึ่งหากคุณเก็บไว้เพียงลูกเดียวจะทำให้มีขนาดลูกโตมาก และบอกต่ออีกว่าแต่ละต้นสามารถให้ผลผลิตได้หลายรุ่น แต่ไม่พร้อมกัน พอเก็บรุ่นแรกเสร็จอีกไม่นานรุ่นต่อไปจะตามมา ซึ่งรุ่นที่สองไม่ต้องแต่งกิ่ง แต่ให้ไปแต่งในรุ่นที่สามแทน นอกจากนั้นแล้ว ในการตัดแต่งกิ่งจะไม่ตัดกิ่งใหญ่ทิ้ง และไม่ตัดแต่งให้โล่งจนเกินไป อีกทั้งยังมีข้อดีเพราะสามารถกำหนดผลส้มโอได้ตามขนาดของกิ่งที่ตัดแต่งโดยไม่ต้องใช้เคมีเร่งหรือบล็อกลูกเลย โดยเรียกการตัดแต่งกิ่งว่าการวางตอ ทั้งนี้เพื่อเป็นการกำหนดให้ดอกและลูกออกมาตามตอที่วางไว้ แต่ละตอสามารถกำหนดขนาดของผลได้ แม้กระทั่งการฟื้นต้นเก่าที่เสื่อมโทรมหากตัดแต่งกิ่งในจำนวนที่เหมาะสมแล้วต้นที่โทรมนั้นจะกลับมางดงามเหมือนเดิม เจ้าของสวนส้มโอบอกถึงข้อดีของการแต่งกิ่งแล้วไว้ตอคือ ทำให้ใบส้มไม่พลิก ทำให้ไม่หนีไปออกที่ปลายใบ เขาบอกว่า ส้มที่ออกปลายใบจะทำให้ใบพลิก ทำให้กิ่งเสียเพราะท้องใบหงายขึ้น ที่สำคัญเปลืองปุ๋ย เพราะต้องใส่ปุ๋ยมากเพื่อให้ได้ขนาดลูก แต่ถ้าใช้วิธีเก็บลูกไว้ในต้นเหมือนอย่างสวนของเขาที่ล้วนทุกลูกจะอยู่ในต้นทั้งนั้น แล้วยังมีใบที่สมบูรณ์และพร้อมจะปรุงอาหาร คุณบรรหารเผยว่า มีสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มปลูกส้มโอในที่ดินเพียง 1 ไร่ เดิมได้ผลผลิตประมาณ 200 กิโลกรัม ต่อมาเมื่อเขาได้เข้าไปอธิบายรายละเอียดและสอนขั้นตอนการตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ยอย่างถูกวิธี จนในทุกวันนี้ในเนื้อที่เท่าเดิมได้ผลผลิตถึง 2,500 กิโลกรัม เจ้าของสวนส้มโออธิบายต่ออีกว่า เป็นการตัดแต่งกิ่งในทรงพุ่มและควรเป็นกิ่งที่ตั้งขึ้นหรือกระโดงที่ตั้งขึ้นมีขนาดเท่านิ้วก้อยและอยู่ใกล้ลำต้นเพราะจะได้ลูกสวยและสมบูรณ์ ทั้งนี้การตัดแต่งกิ่งส่วนมากถ้าในช่วงฤดูฝนจะตัดออกสัก 40 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องการทำให้โปร่งด้านล่างจะได้รับแสงจะได้ไม่เกิดเชื้อรา แต่ถ้าในช่วงหน้าร้อนจะตัดเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ “ที่สำคัญแนวทางนี้ไม่ทำให้เปลืองปุ๋ย ให้คอยดูหากเมื่อใดลูกเริ่มมีขนาดเล็กให้จัดการตัดแต่งกิ่งอีกรอบและควรแต่งกิ่งที่ตั้งกระโดงเพื่อให้ลูกสามารถโตได้เองตามธรรมชาติ ถือว่าเป็นการให้ธรรมชาติช่วย ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรหลายรายละเลยเรื่องเช่นนี้” ปลูกด้วยวิธีทางธรรมชาติ นำไปสู่การได้รับรอง GAP จากแนวทางวิธีปลูกส้มโอขาวใหญ่ของคุณบรรหารและเพื่อนสมาชิกกลุ่มนับเป็นการปลูกแบบธรรมชาติที่เกื้อกูลกัน เขาอธิบายว่า ความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกในละแวกนี้เป็นผลมาจากระดับความสูงต่ำของต้นไม้นานาชนิดที่ลดหลั่นกันถึง 3 ระดับ ผลเช่นนี้ทำให้เกิดระบบนิเวศที่มีการสร้างความสมดุลทางธรรมชาติและระบบนิเวศนี้ทำให้มีการจัดการของแมลงต่างๆ กันเอง ประเด็นสำคัญที่ตามมาคือ ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี หรืออาจใช้เพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ส้มโอที่คุณบรรหารปลูกจึงไม่ได้ฉีดสารทุกลูก ลูกไหนเสียให้ตัดทิ้ง แล้วเก็บของดีไว้ ส่วนดินให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์รวมกับเคมีเล็กน้อยเพราะต้นส้มโอชอบมาก ดังนั้น ภายใน 1 ปี ทางกลุ่มสามารถระบุการใช้สารเคมีได้อย่างชัดเจน พร้อมไปกับกลุ่มอื่นก็ยังทำแบบเดียวกัน โดยไม่ใช้สารเคมีกันพร่ำเพรื่อ บางครั้งใช้การสุมไฟช่วยไล่แมลง อาจใส่กำมะถันลงไปบ้าง หรือบางรายใช้วิธีกำจัดแมลงวันทองตัวผู้ด้วยดอกกะเพรา ทั้งนี้ถือเป็นการธรรมชาติบำบัด เขาบอกว่า วิธีปลูกแนวนี้ทำกันมานานแล้ว และเป็นความตั้งใจร่วมมือกันของชาวบ้านทุกคน ดังนั้น จึงไม่แปลกเลยที่ผู้ปลูกส้มโอกลุ่มนี้ได้รับการรับรองให้เป็นเกษตรกรดีที่เหมาะสม (Good Agricultural Practice : GAP) ทั้งนี้คุณบรรหารสรุปข้อดีของการปลูกส้มโอในแนวทางของกลุ่มว่า จะช่วยลดต้นทุนปุ๋ยเคมี ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ธรรมชาติกลับคืนเหมือนเดิม สามารถผลิตได้ขนาดตามที่ต้องการ พร้อมกับสร้างคุณภาพและรสชาติเนื้ออร่อย แล้วยังได้ผลผลิตตลอดต่อเนื่องทั้งปี ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาไม่ตกต่ำอย่างที่ผ่านมา เขาเผยถึงรายได้การทำส้มโอในแนวทางนี้ว่า ทำให้มีรายได้ถีบตัวขึ้นดีกว่าเมื่อก่อน และเป็นราคาที่คงที่ ส่งผลดีต่อเกษตรกร อีกทั้งยังบอกว่าเป็นไม้ผลที่ทำรายได้ดีกว่าผลไม้ชนิดอื่นในพื้นที่แถวนี้เมื่อเทียบต่อไร่ต่อปี โดยเทียบทั้งต้นทุนและราคาขาย อย่างไรก็ตาม คุณบรรหารบอกว่า เขาตั้งใจที่จะรวบรวมความรู้และประสบการณ์ของการปลูกส้มโอเพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในจังหวัดเดียวกันและจังหวัดอื่นที่สนใจ ทั้งนี้เพราะเห็นว่าแนวทางที่ถูกพัฒนานี้สามารถสร้างอาชีพเกษตรกรรมที่เป็นการลงทุนต่ำแต่มีรายได้สูง อีกทั้งผลผลิตที่ได้ยังมีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่สนใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงยังเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการเข้าแข่งขันกับการเปิดตลาดเสรีทางการค้า หรือ AEC ในปี 2558 อีกด้วย “ถ้าเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงได้ พร้อมกับการลดการใช้เคมีที่ไม่จำเป็นลง ขณะเดียวกันเมื่อผลผลิตดีมีคุณภาพทำให้ขายได้ราคาสูง ทำไมเราจะสู้กับผลไม้อื่นที่ถูกนำเข้าจากต่างประเทศไม่ได้” เจ้าของสวนส้มโอกล่าวทิ้งท้าย เห็นไหมว่า นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากอีกหลายส่วนในประเทศที่เกษตรกรชาวไร่ ชาวสวนมีความสามารถในการพัฒนาอาชีพของเขาเพื่อสร้างความมั่นคง จากนั้นความมั่งคั่งจะตามมาทันที สนใจแนวทางปลูกส้มโอด้วยวิธีตัดแต่งกิ่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณบรรหาร อยู่กำเนิด โทรศัพท์ (080) 655-2497 หรือที่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสมุทรสงคราม โทรศัพท์ (034) 715-051
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สมุทรสงคราม
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM