เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ยางอีสาน ปลูกอย่างไร ให้ดีขึ้นอีก?
   
ปัญหา :
 
 

กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้จัดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2013 ได้ จัดเวทีเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “พัฒนาผลผลิตยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านยางพารา มาร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาการจัดการสวนยางในท้องถิ่น และมีข้อสรุปร่วมกันว่า การพัฒนาผลผลิตยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ได้ผลดี เกษตรกรควรตัดสินใจก่อนปลูกว่า ต้องการน้ำยาง หรือเนื้อไม้ รวมทั้งคัดเลือกสายพันธุ์ยางให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ และต้องจัดการสวนยางอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการป้องกันปัญหาอาการเปลือกแห้งที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการให้ปริมาณ น้ำยาง หากทำได้ครบทุกข้อจะช่วยให้สวนยางมีผลผลิตสูงขึ้นและเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น

วิธีแก้ไข :
 

หลายคนสงสัยว่า พันธุ์ยางชนิดใดที่เหมาะสมสำหรับปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณรัชนี รัตนวงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยยางหนองคาย สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ให้คำตอบว่า สถาบันวิจัยยางมีพันธุ์ยางหลายสายพันธุ์ที่แนะนำให้เกษตรกรปลูก แต่ก่อนปลูกยาง เกษตรกรควรคำนึงถึงความต้องการในการลงทุนทำสวนยางพารา ว่าต้องการผลผลิตแบบใด อยากได้น้ำยาง หรือเนื้อไม้ เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ยางให้ตรงกับวัตถุประสงค์ในการปลูก

สำหรับพื้นที่ภาคอีสาน กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรปลูกยางพารา 3 พันธุ์หลัก คือ

1. พันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตน้ำยางเป็นหลัก ได้แก่ พันธุ์ยางสถาบันวิจัยยาง 408 หรือ เฉลิมพระเกียรติ 984 สถาบันวิจัยยาง 251 และสถาบันวิจัยยาง 226 ซึ่งเป็นพันธุ์ยางของประเทศไทยทั้งหมด ยกเว้น พันธุ์ยาง RRIM 600 ของประเทศมาเลเซียมาให้เกษตรกรไทยได้รู้จักและเป็นที่นิยมปลูกอย่างแพร่หลาย ถึงร้อยละ 80 ของพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศจนถึงทุกวันนี้

2. พันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูง เจริญเติบโตดี และให้ไม้ยางดีด้วย  ได้แก่ พันธุ์ยาง RRII 118 ที่มาจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพันธุ์ยางชั้น 1 ในกลุ่มที่ให้ผลผลิตและคุณภาพเนื้อไม้ดี รวมไปถึงพันธุ์ PB 235 ที่มาจากมาเลเซีย และ 

3. พันธุ์ยางที่เน้นเนื้อไม้เป็นหลัก ได้แก่ พันธุ์ฉะเชิงเทรา 50 พันธุ์ AVROS 2037 และพันธุ์ BPM 24 ที่มาจากอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรคำนึงถึงพื้นที่ที่เหมาะสม รวมไปถึงการดูแลทั้งก่อนและหลังการกรีด เพื่อให้ได้ต้นยางพาราที่ดีมีคุณภาพ

หลักการจัดการสวนยางพาราอย่างเหมาะสม ควรทำอย่างไร คุณพิศมัย จันทุมา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขั้นตอนแรกในการปลูกยางพารา เกษตรกรต้องเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ต้องเป็นดินร่วนปนทราย มีความลึกอย่างน้อย 1 เมตร ดูสภาพพื้นดินอย่าให้มีความลาดเอียงมากเกินไป และควรจะต้องใช้ระยะแถวในการปลูกอย่างน้อย 7 เมตร และระยะแถวระหว่างต้น ประมาณ 3 เมตร โดยในพื้นที่ 1 แปลง ควรปลูกยาง 25% ส่วนพื้นที่เหลืออีก 75% แนะนำให้ปลูกพืชแซมต้นยาง เช่น ข้าวโพด สับปะรด และพืชตระกูลถั่ว

สำหรับ ยางต้นเล็ก ควรปลูกให้ห่างจากต้นยาง ประมาณ 1 เมตร ส่วนต้นใหญ่ควรมีระยะห่าง ประมาณ 1.5 เมตร การปลูกยางพาราเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตเกษตรกรในบ้านเรา จากเดิมที่เคยปลูกพืชไร่สามารถสร้างรายได้เพิ่มได้ทุกปี แต่การปลูกยางใหม่ มักทำให้รายได้เกษตรกรหายไป 7 ปี เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร อยากแนะนำให้ปลูกพืชแซมในสวนยาง เพื่อลดความเสี่ยงก่อนการได้ผลผลิตยางพารา 

ส่วน การปลูกพืชแซมในสวนยาง ควรเน้นปลูกพืชอายุสั้นที่ต้องการแสงแดดมาก เช่น กลุ่มพืชผัก พืชคลุมดิน พืชล้มลุก ที่ปลูกง่าย และเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น พริก มะระ มะเขือ สับปะรด ฯลฯ เมื่อเปิดกรีดต้นยางได้แล้ว เกษตรกรยังมีช่องทางเพิ่มรายได้ ในพื้นที่ด้วยการปลูกพืชร่วมยาง เช่น กาแฟ ดาหลา กระวาน ไม้ดอกสกุลหน้าวัว ไม้ดอกวงศ์ขิง ไม้ดอกสกุลเฮลิโคเนีย ขิง ข่า ขมิ้น ผักพื้นบ้าน ฯลฯ นอกจากนี้ การดูแลรักษาก็เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะการกำจัดวัชพืช เช่น หญ้าคา และหญ้าขจรจบ เพราะวัชพืชเหล่านี้มักแย่งธาตุอาหาร ทำให้ต้นยางมีอาการแคระแกร็น

ประเด็น สุดท้ายที่หยิบมาพูดคุยในเวทีเสวนาแห่งนี้คือ อาการเปลือกยางแห้ง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการให้ผลผลิตน้ำยาง โรคเปลือกแห้งหรืออาการเปลือกแห้งยางพารา (Tapping panel dryness) ยัง ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่มีรายงานว่าเป็นความผิดปกติทางสรีรวิทยาของต้นยางพาราที่ถูกชักนำโดยหลาย ปัจจัย อาทิ การใช้ระบบกรีดหักโหม การใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง ความผิดปกติของพันธุ์ยาง และสภาพแวดล้อม และยังไม่สามารถตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อโรคใด จึงอาจถือว่าไม่ใช่โรคยาง แต่เป็นอาการหนึ่งของต้นยางพาราที่ไม่มีน้ำยางหรือเปลือกแห้ง นั่นเอง

คุณเกษตร แนบสนิท นักวิชาการเกษตรชำนาญพิเศษ ศูนย์วิจัยยางหนองคาย สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ได้พูดถึงวิธีสังเกตอาการผิดปกติของยางพาราว่า อาการผิดปกติของต้นยางที่พบบ่อยและก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุด คือ อาการเปลือกแห้ง แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สำหรับระยะต้นน้ำนั้น สามารถสังเกตได้จากอาการน้ำยางไหลมากหรือน้อยผิดปกติ หรือมีความเข้มข้นของน้ำยางมากหรือน้อยผิดปกติ ซึ่งจริงๆ แล้วในน้ำยาง 100% จะมีน้ำยางอยู่ประมาณ 35% ส่วนระยะกลางน้ำ สังเกตได้ในช่วงเวลากรีดยาง น้ำยางจะไหลออกมาจากรอยที่กรีดไม่หมด หรือเรียกว่า อาการฟันหลอ และสุดท้ายคือ ระยะปลายน้ำ เป็นระยะที่น้ำยางจะเริ่มหยุดไหล

นอกจากนี้ อาการเปลือกแห้งยังจำแนกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ Tapping Panel Dryness หรือ TPD เป็น ความผิดปกติที่เกิดจากการกรีดยางต้นเล็กเกินไป และเกิดจากความถี่ในการกรีดเอาน้ำยางและการใช้น้ำยากระตุ้นให้น้ำยางไหลมาก เกินไป จนทำให้เกิดอาการเปลือกแห้ง และหากปล่อยให้ต้นยางเป็นโรคเปลือกแห้งแบบถาวร จะทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้ และ Trunk Phloem Necrosis หรือ TPN เป็น อาการผิดปกติของท่ออาหาร ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยอาจเกิดขึ้นบริเวณโคนต้นยางพารา ภายในเปลือกยาง และพบบริเวณต้นตอและกิ่งตาพันธุ์ ฉะนั้น เกษตรกรจึงควรดูแลจัดการสวนต้นยางด้วยความเอาใจใส่ เพื่อให้มีผลผลิตที่ดี และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนในอนาคต

อนึ่ง ปัญหาสวนยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประสบความล้มเหลวในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากเกษตรกรบางรายปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ลุ่มที่เคยใช้ปลูกนาข้าว พื้นที่ที่มีหน้าดินตื้น พื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง หรือระดับน้ำใต้ดินอยู่ใกล้ผิวดิน พื้นที่ที่มีชั้นดาน หรือดินที่มีชั้นกรวดอัดแน่น หรือแผ่นหินแข็งในระดับลึกจากผิวดิน ประมาณ 1 เมตร จึงเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของต้นยางพาราหลังจากปีที่ 3 ทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต ขอบใบแห้ง เกิดอาการตายจากยอดและยืนต้นตายในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากรากแขนงของต้นยางพาราไม่สามารถชอนไช เพื่อดูดน้ำในฤดูแล้งได้

ปัญหา การปลูกยางพาราในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว หากไม่ได้รับการแก้ไขจะเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจ จึงอยากแนะนำให้เกษตรกรขุดคูระบายน้ำออกจากแปลงยางพาราให้ลึกกว่าระดับน้ำ ใต้ดิน (ซึ่งระดับน้ำใต้ดินในแต่ละพื้นที่ย่อมแตกต่างกัน) จึงจะสามารถระบายน้ำได้ และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยมูลสัตว์ หรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับโครงสร้างของดินให้ร่วนซุย ทำให้การระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศของดินดีขึ้น ก็จะช่วยให้ต้นยางพารารอดตาย อย่างไรก็ดี ก่อนตัดสินใจปลูกยางพารา เกษตรกรควรพิจารณาเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมจะเป็นการดีกว่าปลูกยางพาราใน พื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เพราะการมาจัดการสวนยางพาราในภายหลัง ย่อมเพิ่มต้นทุน ซึ่งอาจไม่คุ้มค่าและอาจไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

หาก ผู้อ่านมีข้อสงสัยประการใด สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร. (02) 579-1576, (02) 579-7557-8 www.rubberthai.com ศูนย์วิจัยยางหนองคาย โทร. (042) 490-924 ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา โทร. (038) 136-225-6 ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี โทร. (077) 274-097 ศูนย์วิจัยยางสงขลา โทร. (074) 212-401-5 ได้ทุกวัน ในวันและเวลาราชการ

ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
บึงกาฬ
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 8 มกราคม 2557
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM