เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
“สมพงษ์ อุทุมพร” กับการปลูกหัวผักกาดที่ บรบือ มหาสารคาม
   
ปัญหา :
 
 

...หน้าร้อนปีนี้ แล้งจัง...หน้าหนาวปีนี้ หนาวจัด...หน้าฝนปีนี้ น้ำมาก...ล้วนแต่เป็นการบ่นของใครบางคน!!

     ความจริงแล้วแต่ละฤดูกาลย่อมเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ ถ้ามองในแง่ดี ที่เข้าข้างตัวเองสักหน่อย จะพบว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางธรรมชาติและทรัพยากรมากมาย การเกิดขึ้นและจากไปของแต่ละฤดูกาลล้วนเป็นเรื่องที่ธรรมชาติกำหนดขึ้นเอง หากมองออกไปยังหลายประเทศ ท่านจะพบว่าประเทศเหล่านั้นเดือดร้อนทางธรรมชาติมากกว่าบ้านเราเสียด้วยซ้ำ ไหนจะน้ำท่วมซ้ำซาก เมืองที่ไม่เคยมีหิมะตกก็เกิดขึ้น ทางยุโรปที่ไม่เคยร้อนจัดยังเกิดขึ้น ฯลฯ           

    ได้รับทราบข้อมูลจากหน่วยราชการว่า มหาสารคาม เป็นจังหวัดหนึ่งในกลุ่มหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากแล้งที่มาเร็วกว่า กำหนด เมื่อเป็นเช่นนั้นทีมงานเทคโนฯ ไม่รอช้า ฉวยกระเป๋าออกเดินทางสำรวจความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรที่จังหวัด มหาสารคามทันที...

     เป้าหมายแรกที่หยุดสำรวจก่อนคือ ที่อำเภอบรบือ เมืองที่อยากจะบอกกับหลายคนทั่วประเทศว่า มี “มันแกว” มากเหลือเกิน เฉพาะที่ไม่ใช่หน้าเทศกาล ยังมี พ่อค้า-แม่ค้า วางขายเรียงรายข้างทางไม่ขาดระยะ ยิ่งใกล้เมืองเท่าไร จำนวนยิ่งมากขึ้นเท่านั้น แล้วอย่างนี้หากเป็นหน้าเทศกาลคงตั้งเรียงรายตั้งแต่หัวถนนไปจนถึงมหาสารคาม แน่นอน แล้วเท่าที่ทราบจากภาคเกษตรอีกว่า หลายจังหวัดนำมันแกวของบรบือไปจำหน่ายอีก  

      เพราะฉะนั้นด้วยความที่มีมากเช่นนี้ มันแกว จึงถูกนำไปตั้งเป็นคำขวัญประจำเมืองว่า “มันแกวมากเหลือ เกลือใต้ดินมากมี ผ้าไหมดีมากค่า งามสง่าสวนหนองบ่อ ศักดิ์สิทธิ์พ่อปู่จุมคำ รสหวานล้ำแตงโม

      ไหนไหนมาแวะที่บรบือแล้ว ขอบุกเข้าไปดูแปลงปลูกมันแกวของเกษตรกรที่บ้านพงสว่าง ตำบลหนองสิม สักหน่อย ที่นั่นเกษตรกรมีการปลูกมันแกวกันทั่วทุกหลังคาเรือน มีการทำเกษตรกรรมแบบรวมกลุ่ม พืชที่ประกอบอาชีพมีหลายชนิดปลูกสลับผลัดเปลี่ยนสร้างรายได้

      จากนั้นค่อยๆ เดินทางเข้าไปสำรวจพื้นที่ของเกษตรกรแต่ละแห่ง ร่วมกับ คุณสุศฤงคาร แก้วทาสี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรบรบือ ที่ให้ข้อมูลว่า แล้งนี้น้ำน้อยมาก จนกระทบกับการเกษตรกรรม ขณะนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากทางกรมทรัพยากรธรณี ขุดน้ำบาดาลขึ้นมาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

    นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จึงอยากยืนยันด้วยการชวนไปดูการทำเกษตรของชาวบ้านบางราย อย่างกรณีของ คุณสมพงษ์ อุทุมพร อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 120 หมู่ที่ 10 ตำบลหนองสิม อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เกษตรกรรายนี้ปลูกผักหัวผักกาด หรือหัวไชเท้า ที่เราคุ้นชื่อกันมาได้เกือบ 3 รุ่นแล้ว และที่ผ่านมาไม่นานนี้เก็บรุ่นแรกไปได้น้ำหนักกว่า 4 ตัน เขาบอกว่า รายที่เก่งๆ จะได้ผลผลิตตั้งแต่ 6 ตัน ขึ้นไป แต่เขาเพิ่งทดลองปลูกมาไม่นาน ดังนั้น ได้ผลผลิตเพียง 4 ตัน ถือว่าดีแล้ว และคาดว่ารุ่นต่อไปคงได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนรุ่นที่ 2 อยู่ระหว่างการเจริญเติบโต และรุ่นที่ 3 เพิ่งลงปลูกได้ประมาณ 7 วัน

       คุณสมพงษ์ ปลูกหัวผักกาดไว้จำนวน 2 แปลง แปลงหนึ่งเนื้อที่ จำนวน 1 ไร่ ส่วนอีกแปลงมีเนื้อที่ ประมาณ 2 งาน ลักษณะการปลูกจะสลับไป-มา

คุณ สมพงษ์ บอกว่า วิธีการและขั้นตอนปลูกหัวผักกาดจะศึกษาและเรียนรู้ตามคู่มือที่ทางบริษัทขาย เมล็ดพันธุ์ได้แนบมา โดยจะเริ่มต้นจากหยอดเมล็ดพันธุ์ใส่หลุม จำนวนหลุมละ 3-5 เมล็ด ทั้งนี้เพราะต้องเผื่อเมล็ดที่อาจเสียภายหลังด้วย ระหว่างนั้นต้องตระเตรียมดิน โดยจะต้องไถพรวนก่อน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกแล้วจึงยกร่องขึ้นเล็กน้อย ใช้คราดที่ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับการกำหนดระยะปลูกลากลงบนแปลงปลูกตามยาวและ ตามขวาง เพื่อให้เกิดจุดตัด ทำให้เห็นตำแหน่งหลุมที่ปลูก วิธีนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนปลูกสามารถทำงานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

        ทั้งนี้การคราดดังกล่าว จะช่วยให้เกิดเป็นแถวแนวตรงในระยะห่าง ประมาณ 20 เซนติเมตร ตามมาตรฐาน แล้วหยอดเมล็ดลงหลุม จากนั้นราว 7 วัน ต้นอ่อนจะโผล่ขึ้นมาจำนวนหลายต้น และผู้ปลูกจะต้องพิจารณาดูต้นที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดเก็บไว้ จำนวน 1 ต้น ต่อหลุม ส่วนต้นที่เหลือให้ถอนออก

         ระหว่างที่ต้นเจริญเติบโต จะต้องใส่ใจกับการดูแลแปลง ทั้งดิน น้ำ และปุ๋ย คุณสมพงษ์ให้รายละเอียดว่า การดูแลดินจะต้องหมั่นพรวน โดยใช้ตะขอเหล็กที่ออกแบบเป็นซี่ขนาดใหญ่ พรวนดินทุก 7 วัน ควรทำสัก 3 ครั้ง ในแต่ละรอบการปลูก

         การให้ปุ๋ย ควรใช้ปุ๋ย สูตร 16-8-8 ในรอบแรก หลังจากนั้นอีก 7 วัน ให้เปลี่ยนมาใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ใส่ในปริมาณ 15 กิโลกรัม ต่อไร่ ใส่ 2 ครั้ง ระยะห่าง 7 วัน พอเริ่มมีใบจะเปลี่ยนมาใส่ฮอร์โมนฉีดพ่นแทนการให้ปุ๋ย รอให้ถึงเวลา 45 วัน จึงเก็บผลผลิต

       “ฮอร์โมน เป็นอาหารเสริมของพืชที่ผสมเอง ด้วยการนำต้นหัวผักกาดที่มีดอกและไม่สามารถใช้ได้แล้วนำมาหมักส่วนหนึ่ง และอีกส่วนเป็นรกหมู จำนวน 5 กิโลกรัม ผสมกับน้ำตาลหมักแยกไว้ เมื่อต้องการใช้จะนำมาผสมใส่อุปกรณ์เพื่อฉีดพ่น ให้ฉีดทุก 7 วัน จำนวน 6 ครั้ง จนกระทั่งเก็บผลผลิต” คุณสมพงษ์ กล่าว

      สำหรับเรื่องน้ำที่ใช้ในการทำเกษตรกรรมนั้น คุณสมพงษ์ เผยว่า ก่อนหน้านี้ใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติไม่พอ ต่อมาทางราชการคือกรมทรัพยากรทางธรณีมาขุดให้ จึงทำให้สามารถทำต่อไปได้ และการรดน้ำต้นหัวผักกาดจะใช้ระบบสายน้ำพุ่ง

          ด้านการขาย เกษตรกรรายนี้บอกว่า มีพ่อค้ามารับที่สวน ในราคา กิโลกรัมละ 3 บาท ถอนไปทั้งต้น ไม่ต้องแต่งหรือทำความสะอาดแต่อย่างใด เพียงลิดใบออกเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น ปลูกหัวผักกาดได้ผลผลิต 4 ตัน ใช้เวลา 45 วัน จะมีรายได้คราวละประมาณ 12,000 บาท และมีต้นทุนต่อครั้งไม่เกิน 3,000 บาท

       “เคยมีคนบอกว่า ราคาหัวผักกาดต่ำสุด ประมาณ 2 บาท ต่อกิโลกรัม และสูงสุด ประมาณ 16 บาท ต่อกิโลกรัม ถ้าราคาต่ำกว่านี้คงไม่สู้”

         สภาพอากาศที่เย็นมากเกินไป อาจสร้างปัญหาต่อการปลูกหัวผักกาด คุณสมพงษ์ให้รายละเอียดว่า ปัญหาที่พบคือ พอปลูกไปแล้วมีดอก ทำให้หัวไม่สวยและขาดคุณภาพ เนื้อแข็ง สาเหตุที่เกิดเป็นเพราะอากาศเย็นเกินไป ดังนั้น การปลูกเพื่อให้ได้คุณภาพ ควรหลีกเลี่ยงการปลูกหัวผักกาดในช่วงหน้าหนาว

         คุณสมพงษ์ บอกว่า การปลูกหัวผักกาดขายถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่ดีให้กับครอบครัว ใช้ทุนไม่มาก แรงงานนอกไม่มี เพราะคนในครอบครัวช่วยกัน การปลูกพืชชนิดนี้ไม่มีอะไรยุ่งยาก เรื่องพื้นที่ปลูก สามารถปลูกได้ทุกแห่ง แต่ควรหาตลาดจำหน่ายก่อนว่าเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขรายละเอียดอะไรบ้าง และเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หมุนเวียนกับพืชอย่างอื่นอีกหลายชนิด อย่าง พริก มันแกว และอื่นๆ ซึ่งแต่ละชนิดล้วนมีราคาดี ดังนั้น รายได้ที่รับจึงมีจุนเจือครอบครัวอยู่ตลอดเวลาสนใจสั่งซื้อหัวผักกาด ติดต่อได้ที่คุณสมพงษ์ อุทุมพร โทรศัพท์ (087) 950-0498

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
มหาสารคาม
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน 27 พ.ค. 57
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM