เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เข้าสวน ดูลำไยดี...ที่บ้านแพ้ว
   
ปัญหา :
 
 
อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ใครๆ ก็รู้ว่า เป็นแหล่งปลูกลำไยคุณภาพดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของพื้นที่ภาคกลาง หนึ่งในลำไยสายพันธุ์ดีของอำเภอบ้านแพ้ว คือ “ลำไยพวงเพชรบ้านแพ้ว” เจ้าของสายพันธุ์คือ คุณวิรัช ปานบ้านแพ้ว อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 42/2 หมู่ที่ 5+1 ตำบลบ้านแพ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
วิธีแก้ไข :
 

คุณวิรัช ปานบ้านแพ้ว เล่า ว่า ผมได้ซื้อสายพันธุ์ลำไยพวงทองจากจังหวัดกำแพงเพชร และลำไยพันธุ์เพชรน้ำเอก จากจังหวัดอุตรดิตถ์ มาปลูกที่อำเภอบ้านแพ้ว ก็ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ผมได้ปลูกขยายพันธุ์เรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อ 7 ปีก่อน ได้ลำไยพันธุ์ลูกผสมที่เติบโตเร็ว แตกช่อยาว เปลือกผิวบาง ลักษณะผิวเนียน เนื้อแน่นมีกลิ่นหอม เนื้อสีชมพู รสหวานฉ่ำ เหมาะสำหรับรับประทานผลสด 

       คุณวิรัชเคยส่งลำไยพวงเพชรบ้านแพ้วเข้าประกวดในงานพืชสวนดีเด่นของจังหวัด สมุทรสาคร ปี 2555 ก็ได้รางวัลชนะเลิศมาครอง ปีต่อมาส่งประกวดอีกรอบ ก็ประสบความสำเร็จ กวาดรางวัลที่ 1-2-3 มาครองได้ทุกรางวัล ทุกวันนี้ ลำไยพันธุ์พวงเพชรบ้านแพ้ว กลายเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของจังหวัดสมุทรสาคร ชาวสวนลำไยในอำเภอบ้านแพ้วหันมาปลูกลำไยพันธุ์เพิ่มขึ้นกว่าหมื่นต้นแล้ว

      ทุกวันนี้ ลำไยพวงเพชรบ้านแพ้ว กลายเป็นหนึ่งในสินค้าดีของเด่นประจำจังหวัดสมุทรสาครไปแล้ว กิ่งพันธุ์ลำไยพวงเพชรบ้านแพ้วเป็นที่ต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยใน พื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดจันทบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี ลำพูน ฯลฯ โดยติดต่อขอซื้อกิ่งพันธุ์ลำไยจากคุณวิรัชไปปลูกขยายเชิงการค้าในอนาคต ปัจจุบัน สวนลำไยของคุณวิรัชผ่านการรับรองมาตรฐาน จีเอพี จากกรมวิชาการเกษตร และได้รับการยกย่องให้เป็นสวนลำไยตัวอย่างของจังหวัดสมุทรสาคร มีหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกรแวะเวียนเข้าเยี่ยมชมสวนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงที่มีผลผลิตลำไยเข้าสู่ตลาด

 เคล็ดลับการขยายพันธุ์

         คุณวิรัชขยายพันธุ์ลำไยพวงเพชรบ้านแพ้ว โดยใช้วิธีการตอนกิ่ง เพราะเป็นวิธียอดนิยมที่ทำง่ายและได้ลักษณะต้นลำไยตรงตามพันธุ์ แต่การตอนกิ่งของคุณวิรัชมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร เพราะใช้ “กะปิ” เป็นตัวช่วย คุณวิรัชบอกว่า กะปิมีธาตุแคลเซียมในปริมาณสูง จะช่วยกระตุ้นให้รากลำไยงอกเร็วกว่าปกติ

         หากใครสนใจเทคนิคนี้ ควรใส่ใจเลือกซื้อกะปิคุณภาพดีกันสักหน่อย เพราะกะปิที่วางขายในท้องตลาดทั่วไปบางยี่ห้อผสมเนื้อแป้งเข้าไปด้วย เมื่อนำไปใช้งานจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร เมื่อคัดกะปิคุณภาพดีได้แล้ว ให้เตรียมกะปิ 1 ส่วน ผสมกับเนื้อดิน 3 ส่วน ผสมคลุกเคล้าจนเป็นเนื้อเดียวกัน  หลังจากนั้นนำดินสูตรกะปิไปป้ายหุ้มกิ่งตอนที่เตรียมไว้เป็นอันเสร็จวิธี รออีกไม่นานก็จะได้กิ่งตอนคุณภาพดีไว้จำหน่ายต่อไป

การเตรียมแปลงปลูก

         สวนลำไยพวงเพชรบ้านแพ้วแห่งนี้ ปลูกในลักษณะแปลงยกร่อง เนื้อที่ประมาณขนาด 3 วา 2 ศอก หรือประมาณ 7 เมตร  สำหรับเกษตรกรหน้าใหม่ที่สนใจอยากปลูกลำไย คุณวิรัชแนะนำให้ขุดแปลงยกร่อง ให้มีขนาดใหญ่กว่านี้และขุดร่องน้ำให้ดิ่งลึก ประมาณ  8-9 เมตร การเตรียมแปลงปลูกลักษณะนี้จะช่วยให้ต้นลำไยเติบโตแข็งแรง เพราะได้รับน้ำอย่างเต็มที่    

การปลูก

      ระยะแรกของการปลูกลำไย คุณวิรัชจะใช้ต้นลำไยรุ่นเก่า คือ เพชรสาคร มาปลูกเลี้ยงตอก่อน เพราะลำไยเพชรสาครมีขนาดลำต้นใหญ่ เติบโตเร็ว และรากหาอาหารเก่ง ต่อมาจึงค่อยนำลำไยพวงเพชรบ้านแพ้วมาเสียบยอดอีกครั้ง สำหรับพื้นที่ 10 ไร่ สามารถปลูกลำไยในอัตราถี่ ระยะห่างประมาณ 4 เมตร เฉลี่ยไร่ละ 30 ต้น ขณะนี้คุณวิรัชมีเนื้อที่ปลูกลำไยจำนวน 18 ไร่ ปลูกลำไยได้ประมาณ 500 กว่าต้น มีต้นทุนการผลิต 150,000 บาท ผลผลิตรุ่นแรก ขายลำไยได้ 900,000 บาท ส่วนผลผลิต รุ่นที่ 3 ได้ 2.5 ล้านบาท ลำไยให้ผลตอบแทนที่ดี หากทำให้ลำไยออกผลได้             

      “ลำไย ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าไม้ผลชนิดอื่น แต่ต้องทำให้ออกผลนะ เทคนิคอยู่ที่การราดสารและการจัดการผลผลิตที่ดี   สวน ลำไยมีรายได้สูงกว่าการทำสวนมะม่วง แต่เทียบกับการทำสวนมะนาวที่ได้ผลผลิตทุกเดือน ปลูกมะนาวสัก 7 ปี ก็โกยรายได้ดีกว่าทำสวนลำไยเสียอีก” คุณวิรัช กล่าว

          ทุกวันนี้ เมื่อมีเกษตรกรมาขอคำแนะนำเรื่องการทำสวนลำไย คุณวิรัชจะเสนอให้ปรับพื้นที่ปลูกลำไย ในระยะห่าง 8 ศอก เนื้อที่ 10 ไร่ จะปลูกลำไยได้ 600 กว่าต้น การจัดสวนวิธีนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตจำนวนมากออกขายได้ 3 ปี พอเข้าปีที่ 5-6 ต้นลำไยที่ปลูกจะมีทรงพุ่งชนกัน หากปล่อยไว้จะทำให้ต้นลำไยไม่ออกผล ต้องตัดสางต้นลำไยออก ให้มีระยะห่าง 8 เมตร เมื่อถึงช่วงวัยนี้ต้นลำไยจะให้ผลผลิตสูงสุด ไม่ต่ำกว่า 120-130 กิโลกรัม ยิ่งโคนต้นมีขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ ปริมาณผลผลิตก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ขึ้นอยู่กับว่าตัวเกษตรกรจะตัดสินใจเก็บผลผลิตไว้สักเท่าไหร่  

การดูแลสวนลำไย

         “เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมดูแลสวนลำไยโดยใส่ปุ๋ยเคมี 16-16-16 หรือ สูตร 17-17-17 ตกลูกละพันกว่าบาท ผมมองว่า ไม่ใช่สิ่งจำเป็น สามารถลดต้นทุนให้ถูกลงได้ โดยใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ ลูกละ 400 บาท ก็เพียงพอแล้ว โดยใช้ในสัดส่วนเดียวกับที่เคยใช้ปุ๋ยเคมี ทุกวันนี้ผมเลือกใช้ปุ๋ยมูลนกกระทา จากจังหวัดชัยนาท ซื้อในราคากิโลกรัมละ 3 บาทเอง” คุณวิรัช กล่าว

         อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ ในสวนลำไย คุณวิรัชเตือนว่าควรตรวจสอบจนมั่นใจว่า ปุ๋ยที่มาจากแหล่งดังกล่าวปลอดภัย ไร้ปัญหาสารเคมีตกค้าง เพราะปีก่อนน้องชายคุณวิรัชเคยซื้อปุ๋ยมูลไก่หรือมูลสุกรมาใส่ในสวนลำไย ปรากฏว่า โซดาไฟที่ตกค้างในปุ๋ยได้กัดทำลายรากต้นลำไย จนเสียหายล้มตายไปหลายร้อยต้น

หารายได้เสริมในสวนลำไย 

        การปลูกลำไยในช่วงระยะแรก ปี 1-2 คุณวิรัชจะปลูกต้นมะพร้าวแกงเพื่อขายตัดยอด โดยปลูกต้นมะพร้าวขนาบต้นลำไย ในแปลงที่ยกร่อง โดยซื้อพันธุ์มะพร้าวแกง ในราคาลูกละ 12 บาท นำมาปลูกในระยะห่าง ประมาณ 1.50 เมตร 1 ร่อง จะปลูกต้นมะพร้าวแกงได้ประมาณ 60 ต้น ใช้เวลาปลูกมะพร้าว ประมาณ 16 เดือน จะมีแม่ค้ามาเหมาสวนซื้อยอดมะพร้าวในราคาต้นละ 200 บาท เทคนิคง่ายๆ แบบนี้ ช่วยโกยรายได้เข้ากระเป๋าได้หลักแสนทีเดียว 

 การผลิตลำไยนอกฤดู

         หลังจากปลูกลำไยพวงเพชรบ้านแพ้ว ประมาณ 30 เดือน คุณวิรัชจะเริ่มราดสารโพแทสเซียมคลอเรตในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพื่อให้มีผลผลิตลำไยเข้าสู่ตลาดในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่  ตรุษ จีน และเช็งเม้ง ที่ตลาดต้องการซื้อลำไย ขณะเดียวกันลำไยบ้านแพ้วเข้าสู่ตลาดไม่ตรงจังหวะกับสินค้าลำไยจากภาคเหนือ และภาคตะวันออก จึงสามารถขายสินค้าได้ราคาดีกว่าลำไยในช่วงฤดู

         “เมื่อต้องการผลิตลำไยนอกฤดู วันแรกผมจะรดน้ำต้นลำไยในอัตราปกติ วันที่สองจึงเริ่มราดสารโพแทสเซียมคลอเรต โดยไม่ต้องรดน้ำตาม สำหรับต้นลำไย อายุ 1 ปี ราดสารโพแทสเซียมคลอเรตแค่ 1 ขีด ต้นลำไยก็ให้ผลผลิตแล้ว หลังจากนั้น จึงค่อยรดน้ำแบบวันเว้นวัน ผ่านไป 18-20 วัน ต้นลำไยจะเริ่มแทงช่อดอกออกมา ต้นลำไยสาวจะแทงช่อดอกค่อนข้างไว แต่ต้นลำไยเก่าจะแทงช่อช้ากว่า บางครั้งต้องรอเกือบ 30 วัน จึงจะแทงช่อออกมา” คุณวิรัช กล่าว

     ที่ ผ่านมา คุณวิรัชสามารถขายลำไยหน้าสวนได้ในราคากิโลกรัมละ 60 บาท แม่ค้าที่เข้ามาเหมาสวนจะนำไปขายปลีกในราคากิโลกรัมละ 80 บาท ผู้บริโภคก็ยอมรับได้ เพราะติดใจในคุณภาพและรสชาติ คุณวิรัชเคยทดลองนำลำไยพวงเพชร บ้านแพ้วไปวางขายคู่กับลำไยพันธุ์อีดอ (ชาวสวนบ้านแพ้ว เรียกว่า พวงเงิน) และพวงทอง ปรากฏว่า ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อลำไยพวงเพชรบ้านแพ้วเป็นตัวเลือกแรก เพราะพึงพอใจรสชาติและกลิ่นหอมของลำไยพันธุ์นี้ ล่าสุดห้างท็อปส์ซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ติดต่อขอซื้อลำไยพันธุ์นี้ไปวางขายใน ห้าง แต่เนื่องจากสินค้ามีจำนวนจำกัด คุณวิรัชจึงต้องปฏิเสธคำสั่งซื้อดังกล่าว

เทคนิคจัดการ

สวนลำไยให้ได้ผลผลิตดี

          คุณวิรัช บอกว่า ปีแรกต้นลำไยจะให้ผลผลิตไม่เกิน 40 กิโลกรัม หากพบช่อไหนไม่ดี ผมตัดทิ้งเลย สวนลำไยที่เพิ่งปลูกในระยะแรก ลำต้นยังไม่สูงมากนัก ผมจะเอื้อมมือไปปลิดลูกลำไยที่ไม่ได้ขนาดทิ้ง ให้เหลือแต่ผลลำไยเกรดเอ ที่มีขนาดใหญ่น้ำหนักเฉลี่ย 55-60 ผล ต่อกิโลกรัม ซึ่งขายได้ราคาดี

         การผลิตลำไยเกรดเอ ทำได้ไม่ยาก คุณวิรัชบอกว่า เมื่อลำไยมีผลผลิตในช่วงเดือน 1-4 ไม่ต้องเร่งสารใดๆ ปล่อยให้ต้นลำไยเติบโตตามธรรมชาติ จนย่างเข้าเดือนที่ 6-7 ผลลำไยจะเริ่มขยายผลได้เอง เมื่อถึงช่วงนี้คุณวิรัชจะฉีดพ่นธาตุแคลเซียม หรือให้ปุ๋ยเคมีสูตรที่มีธาตุอาหารตัวท้ายสูงๆ เพื่อเป็นตัวช่วยขยายผลลำไยให้เติบโตได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของต้นลำไยด้วย หากเป็นต้นลำไยในช่วงปีที่ 5-10 โอกาสที่จะได้ผลผลิตเกรดเอก็ทำได้ง่าย หากเป็นลำไยต้นเก่าโอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็น้อยลง 

      ต้นลำไยในสวนแห่งนี้ อายุ 13 ปีแล้ว แต่ลำต้นก็ยังไม่สูงมากนัก เพราะคุณวิรัชมีเทคนิคจัดการสวนที่แตกต่างกว่าใคร ทั้งนี้ ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรทั่วไปมักจะตัดช่อลำไยให้มีใบติดออกมา 2-3 ใบ แต่คุณวิรัชนิยมตัดช่อพร้อมใบ ประมาณ 7-8 ใบ เท่ากับเป็นการตัดแต่งกิ่งให้สั้นลงไปพร้อมกัน ช่วยประหยัดเวลาในการทำงาน เพราะไม่ต้องเล็มตัดแต่งกิ่งซ้ำอีกหน

       จุดเด่นที่น่าสนใจอีกอย่างในสวนแห่งนี้ก็คือ ไม่ขึงตาข่ายกันค้างคาวเลย เพราะคุณวิรัชตัดช่อบนทิ้งหมด ทำให้ค้างคาวไม่เจอแหล่งอาหาร ทำให้สวนอายุ 13 ปี แห่งนี้ไม่ถูกค้างคาวรบกวนแม้แต่ครั้งเดียว หากใครมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับลำไยพันธุ์นี้ สามารถพูดคุยกับ คุณวิรัช ปานบ้านแพ้ว ได้โดยตรงที่เบอร์โทรศัพท์ (034) 481-113, (080) 059-5988, (081) 373-4988

ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สมุทรสาคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน 27 พ.ค.57
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM