เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
“ชมพู่สตรอเบอรี่” สุดยอดชมพู่พันธุ์ใหม่ จากไต้หวันสู่ไทย
   
ปัญหา :
 
 
เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2553 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานการเกษตรที่เกาะไต้หวันและได้กิ่งพันธุ์ชมพู่ ไต้หวันมาเลี้ยงให้ต้นเจริญเติบโตและได้นำยอดมาเสียบบนต้นชมพู่พันธุ์ทับทิม จันท์ที่แผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร
วิธีแก้ไข :
 

เวลาประมาณ 2 ปีต่อมา ยอดชมพู่พันธุ์ไต้หวันเจริญเติบโตดีเรื่อยมา และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นมา ทางผู้เขียนเห็นว่าต้นชมพู่ไต้หวันแตกทรงพุ่มใหญ่ ควรจะใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อบังคับให้ต้นชมพู่ออกดอกติดผลนอกฤดู โดยใช้สารแพคโคลบิวทราโซล ในการบังคับให้ต้นชมพู่ออกนอกฤดูนั้น ผลปรากฏว่า ต้นชมพู่ได้ออกดอกมาเพียง 1-2 ช่อ เท่านั้น

         ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นมาก ได้พยายามบำรุงรักษาเป็นอย่างดีเพื่อดูว่าผลชมพู่จะมีขนาดใหญ่จริงหรือไม่ ในขณะที่ต้นชมพู่เลี้ยงผลอยู่เพียง 1-2 ช่อนั้น  พอเข้าเดือนมีนาคม 2555 ผลปรากฏว่าต้นชมพู่ไต้หวันที่เสียบไว้ทยอยออกดอกทั้งต้น หลังจากที่ห่อผลชมพู่ไต้หวันไปได้ประมาณ 25-30 วัน (โดยเริ่มห่อในระยะที่ผลชมพู่ถอดหมวกหรือผลใหญ่ขนาดนิ้วโป้ง) พบว่า ผลชมพู่ไต้หวันที่เก็บเกี่ยวมานั้นมีขนาดของผลใหญ่กว่าชมพู่สายพันธุ์อื่นๆ ที่ผู้เขียนเคยพบมา  โดยมีคุณสมบัติของผลดังนี้

       “ผลมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักผล ประมาณ 200 กรัม หรือ 5 ผล ต่อกิโลกรัม ผิวผลมีสีขาวอมชมพูหรือสีชมพูอมแดง เมื่อแก่จัดมีสีชมพูเข้ม ลักษณะของผลเป็นรูประฆังคว่ำใหญ่ มีความกว้างของผลเฉลี่ย 7 เซนติเมตร และความยาวของผลเฉลี่ย 9-10 เซนติเมตร เนื้อหนามากและเป็นชมพู่ไร้เมล็ด รสชาติหวานกรอบ มีความหวาน ประมาณ 13-14 องศาบริกซ์ ถ้าผลผลิตแก่และเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งจะมีความหวานสูงกว่านี้ จัดเป็นชมพู่สายพันธุ์หนึ่งที่ออกดอกและติดผลดกมาก

       ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรจึงได้ตั้งชื่อชมพู่ไต้หวันสายพันธุ์นี้ว่า ชมพู่ยักษ์ไต้หวันผู้ เขียนมีความเชื่อที่ว่า ชมพู่ยักษ์ไต้หวันนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการปลูกชมพู่ในประเทศไทย เพราะมีความโดดเด่นในเรื่องขนาดผลและความอร่อยไม่แพ้ชมพู่พันธุ์การค้าสาย พันธุ์อื่น มาถึงปี 2557 ต้นชมพู่ยักษ์ต้นนี้ได้ออกดอกและติดผลเต็มต้น ให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 เรื่อยมาจนถึงเดือนเมษายน 2557 ก็ยังออกดอกและติดผลอยู่ ให้ผลผลิตมีน้ำหนักผลเฉลี่ยอย่างน้อยที่สุด 200 กรัม ต่อผล ผลใหญ่สุด หนักถึง 350 กรัม ยิ่งได้อากาศหนาว สีผลยิ่งสวย และรสชาติหวานอร่อยมาก

        ระหว่าง วันที่ 11-15 กรกฎาคม 2555 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานการเกษตรที่ไต้หวันอีกครั้งหนึ่งโดยมีเป้าหมาย หลักเพื่อเข้าชมงานเทศกาลมะม่วงประจำปีของไต้หวันและดูงานการเกษตรอื่นๆ ด้วย การดูงานในครั้งนี้ได้มีโอกาสเข้าชมสวนชมพู่ของเกษตรกรรายหนึ่งที่ ตำบลหยวนซาน (Yuanshan) เมืองยี่หลาน (Yilan) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน และจัดเป็นสวนชมพู่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของเกาะไต้หวัน และปลูกชมพู่มานาน ประมาณ 30 ปี

     อาจารย์ประทีป กุณาศล ผู้เชี่ยวชาญไม้ผลท่านหนึ่งของเมืองไทย เคยคุยกับผู้เขียนว่า ไต้หวันเป็นแหล่งผลิตชมพู่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านพัฒนาสายพันธุ์, การจัดการสวนและการปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต

        เมื่อผู้เขียนได้เข้าไปดูในแปลงปลูกชมพู่ของเกษตรกรไต้หวันรายหนึ่งเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2555 จะต้องยอมรับว่าเป็นแปลงปลูกชมพู่ที่มีการจัดการสวนที่ดีมาก หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่าต้นชมพู่ของสวนแห่งนี้ มีอายุต้นได้ 28 ปี เส้นผ่าศูนย์กลางของต้นเฉลี่ย 10-12 นิ้ว มีการควบคุมทรงพุ่มให้ความสูงของต้นเฉลี่ย 3-4 เมตร เท่านั้น

          ทางด้านสายพันธุ์ที่ปลูก เจ้าของสวนบอกว่า นำพันธุ์มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ไม่ได้ระบุประเทศ แต่คาดว่าน่าจะนำพันธุ์มาจากประเทศมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย (สำหรับพันธุ์ทับทิมจันท์ของไทยมีเกษตรกรนำไปปลูกที่ไต้หวัน ประมาณ 10 ปี ที่ผ่านมา แต่พื้นที่ปลูกไม่มากนัก)

        เนื่องจากพันธุ์ชมพู่ที่ผลิตขายส่งในไต้หวันในปัจจุบันนี้จะมีขนาดผลใหญ่ ลักษณะผลเป็นทรงระฆังและผลมีสีชมพูอมแดง เท่าที่ได้ชิมนับได้ว่าอร่อยมาก นอก จากพันธุ์ชมพู่ที่ได้กล่าวมาแล้ว ที่สวนชมพู่แห่งนี้ยังมีชมพู่อีกสายพันธุ์หนึ่งที่เจ้าของสวนอ้างว่าได้สาย พันธุ์มาจากประเทศโปรตุเกส และเป็นพันธุ์ที่เจ้าของหวงมากและยังไม่มีผลผลิตวางขายในไต้หวัน

         เจ้าของสวนได้ชมพู่พันธุ์นี้มาปลูกประมาณ 3 ปี และกำลังขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเติม โดยปลูกแซมในแปลงชมพู่เดิม เนื่อง จากเป็นพันธุ์ชมพู่ที่มีลักษณะเด่นหลายประการ นอกจากผลจะมีขนาดใหญ่แล้ว ผลจะมีสีแดงสดคล้ายกับชมพู่ทับทิมจันท์ แตกต่างกับพันธุ์ทับทิมจันท์ตรงที่ทรงผลของชมพู่พันธุ์โปรตุเกส ลักษณะผลทรงระฆังใหญ่ รสชาติหวานกรอบ เนื้อแข็ง อร่อยมาก เจ้าของสวนจะเรียกชมพู่พันธุ์นี้ว่า ชมพู่สตรอเบอรี่แต่จะเปรียบเทียบลักษณะใบคล้ายกับใบของชมพู่ม่าเหมี่ยว

         เจ้าของสวนคาดว่าชมพู่พันธุ์โปรตุเกสนี้จะได้รับความสนใจในตลาดไต้หวันมากใน อนาคต เนื่องจากเป็นชมพู่ที่มีเนื้อละเอียด เวลากัดจะไม่รู้สึกปวดฟัน เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและวัยรุ่นที่ชอบชมพู่ที่มีสีสันสวยงาม

แต่ สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ระบบการจัดจำหน่ายชมพู่ของสวนแห่งนี้มีการขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต และชมพู่ทุกเกรดมีตลาดรองรับทั้งหมด

นอก จากนั้น จากการเดินสำรวจและสอบถามข้อมูลจากเจ้าของสวนทำให้ทราบถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่น่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับการปลูกชมพู่ในประเทศไทยได้

         ทางแผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร โทร. (081) 886-7398 ได้ยอดพันธุ์ชมพู่สตรอเบอรี่มาเสียบยอดกับต้นชมพู่ทับทิมจันท์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 ต้นชมพู่สตรอเบอรี่ใหญ่เต็มที่ เริ่มออกดอกและติดผลพบว่า ให้ผลผลิตดกมาก มีลักษณะติดผลเป็นพวงและผลร่วงน้อยกว่าชมพู่พันธุ์อื่นๆ เมื่อผลชมพู่แก่สีของผลมีสีแดงเลือดนก โดดเด่นมาก มีน้ำหนักผลไม่ต่ำกว่า 200 กรัม และรสชาติหวานกรอบ อร่อยมาก

          ที่สำคัญเมื่อปล่อยชมพู่ให้แก่จัดบนต้นพบว่า เน่าเสียได้ยากกว่าชมพู่ทุกพันธุ์ที่ปลูกในบ้านเรา สรุป ได้ว่าเป็นพันธุ์ชมพู่ที่ทนต่อการขนส่ง ชมพู่พันธุ์สตรอเบอรี่จะมีความแตกต่างจากชมพู่การค้าพันธุ์อื่นๆ ตรงที่ลักษณะของใบจะใหญ่มาก

         ปัจจุบันชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรมีปลูกอยู่รายเดียวเท่านั้นในประเทศ ไทย ผู้เขียนคาดว่าชมพู่พันธุ์สตรอเบอรี่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการปลูกชมพู่ ในอนาคตของชาวสวนผลไม้ไทย ด้วยรสชาติและสีผลที่สวยงามสะดุดตา สนใจกิ่งพันธุ์ติดต่อได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886- 7398

 การตัดแต่งกิ่งชมพู่ในไต้หวัน

         ความจริงแล้วการตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่มของต้นชมพู่ไม่ให้สูงเกินไป ได้มีเกษตรกรไทยบางรายได้นำมาปฏิบัติแล้วต่างก็ยอมรับว่าได้ผลดี สะดวกต่อการจัดการ โดยเฉพาะในการห่อผลและการเก็บเกี่ยว

ช่วง ของการตัดแต่งกิ่งชมพู่ในไต้หวันจะมีการตัดแต่งช่วงระหว่างเดือน กันยายน-เดือนตุลาคม จะออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม และผลผลิตจะแก่เก็บขายได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม

         ในการตัดแต่งต้นชมพู่ทุกปีจะต้องควบคุมความสูงไม่ให้เกิน 4 เมตร แต่ถ้าจะให้ดีควรจะควบคุมให้สูง ประมาณ 3 เมตร วิธีการตัด จะไม่ตัดแต่งกิ่งอย่างหนัก (Heavy Pruning) แตกต่างจากการตัดแต่งกิ่งมะม่วง การตัดแต่งกิ่งควรจะตัดกิ่งที่อยู่ใต้ใบ หรือยอดที่แตกข้างใบล่าง

โดยย้ำว่าไม่ควรตัดแต่งกิ่งแล้ว บริเวณที่ตัดนั้นโดนแสงแดด จะทำให้กิ่งใหม่ที่แตกออกมาเป็น 3-4 ยอด จะทำให้จัดการได้ยากมาก รวมถึงควบคุมการออกดอกและติดผลได้ยาก ดังนั้น จะต้องตัดกิ่งที่มีใบบังอยู่

 ระยะปลูกชมพู่ไต้หวัน และการให้ปุ๋ย

         เกษตรกรไต้หวันที่ผู้เขียนได้เข้าไปดูงานในครั้งนี้ มีพื้นที่ปลูกชมพู่ ประมาณ 10 ไร่เศษ และปลูกพันธุ์ที่นำมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไม่มีการระบุว่าชื่อพันธุ์อะไร) โดยใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 6 เมตร

เจ้า ของสวนได้แนะนำคุณสมบัติที่สำคัญของเกษตรกรที่จะปลูกชมพู่ให้ประสบความ สำเร็จจะต้องเป็นคนช่างสังเกต เมื่อต้นชมพู่มีปัญหาว่าจะขาดปุ๋ยหรือต้นไม่สมบูรณ์ จะแสดงอาการให้เห็นที่ใบก่อน เช่น ใบซีดและไม่สดชื่น เกษตรกรจะต้องดูแลโคนต้นชมพู่ให้สะอาด และจะต้องมีความรู้ว่ารากฝอยที่มีหน้าที่ดูดน้ำและปุ๋ย รากฝอยของต้นชมพู่จะอยู่ห่างจากทรงพุ่มประมาณ 1 ศอก หรือประมาณ 0.5 เมตร

        ดังนั้น ในการให้ปุ๋ยแต่ละครั้งจะต้องใส่ห่างจากทรงพุ่ม ประมาณ 0.5 เมตร สำหรับปุ๋ยที่ให้กับต้นชมพู่ในช่วงออกดอก นอกจากจะเน้นธาตุฟอสฟอรัส (P) แล้ว แร่ธาตุปลีกย่อยจะใช้ธาตุแมกนีเซียม (Mg) และแคลเซียม (Ca) เป็นหลัก

         ในช่วงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีการฉีดพ่นโพแทสเซียมไนเตรต (KNO3) เพื่อเพิ่มความหวาน ซึ่งสอดคล้องกับการปรับปรุงคุณภาพของชมพู่ในประเทศไทย ก่อน อื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ระยะเลี้ยงผลของชมพู่นั้นสั้นมาก หลังจากระยะถอดหมวกคือ ติดผลเท่ากับนิ้วก้อยจนแก่และเก็บเกี่ยวได้ จะใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน เท่านั้น  ดังนั้น ระยะที่ผลใกล้แก่ก่อนเก็บเกี่ยว 15 วัน จะต้องมีการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ไฮโปส เพื่อเพิ่มความหวานให้กับชมพู่

 ผลผลิต และการค้าขายชมพู่ไต้หวัน

       เจ้าของสวนชมพู่ไต้หวันได้ให้รายละเอียดของการติดผลของชมพู่ โดยยกตัวอย่างต้นชมพู่ที่มีอายุ 10 ปี จะปล่อยให้ติดผลไม่เกิน 100 ช่อ ต่อต้น โดยแต่ละช่อจะได้น้ำหนักเฉลี่ย 1 ชั่ง (1 ชั่ง = 600 กรัม)

ดังนั้น ต้นชมพู่ที่มีอายุต้น 10 ปี จะให้ผลผลิตเฉลี่ย 600 ชั่ง ต่อต้น หรือประมาณ 360 กิโลกรัม ต่อต้น แต่ถ้าต้นชมพู่มีอายุต้น 28 ปี จะให้ผลผลิตได้ถึง 500 กิโลกรัม ต่อต้น  นับเป็นผลไม้ที่ให้ผลผลิตดกมาก

         จากการที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่าต้นชมพู่จะสะสมอาหารที่ใบ ดังนั้น ผลผลิตบนต้นจะต้องสัมพันธ์กับใบ โดยเจ้าของสวนบอกว่า ในการเลี้ยงผล 1 ช่อ จะต้องมีใบชมพู่อย่างน้อย 25 ใบ

        จากการสอบถามจากเจ้าของสวนถึงเรื่องการจัดจำหน่ายชมพู่ทราบว่า ที่สวนแห่งนี้จะแบ่งเกรดชมพู่เป็น 5 เกรด คือ เกรดเอ ราคา 150 บาท ต่อชั่ง, เกรดบี ราคา 100 บาท, เกรดซี ราคา 60 บาท, เกรดดี ราคา 50 บาท และ เกรดอี ราคา 30 บาท

     จาก การที่ผู้เขียนได้ไปดูงานในครั้งนั้น โชคดีที่เป็นช่วงที่สวนแห่งนี้กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตและคัดเกรดส่งตลาดพอดี เกรดที่ดีที่สุดจะขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต เกรดรองลงมาบรรจุลงกล่องส่งตลาดเมืองใหญ่ สิ่งที่น่าสนใจและชาวสวนผลไม้ไทยควรนำมาเป็นแบบอย่างก็คือ ผลผลิตชมพู่ของสวนแห่งนี้ขายได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผลแตกหรือมีตำหนิ โดยส่งไปขายตลาดกลางคืน (Night Market)

ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
พิจิตร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน 27 พ.ค.57
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM