แม้ว่าช่วงนี้ไม่ค่อยได้เห็นข่าวการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทำลายผลผลิตข้าวของชาวนา แต่ก็ใช่ว่าจะไม่พบการระบาด ดังนั้น การเฝ้าระวังและหาแนวทางป้องกันจึงเป็นเรื่องที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ณ ปัจจุบันเบาบางลงไปอย่างมาก ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ เกิดจากมาตรการจัดระบบการปลูกข้าวที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้บูรณาการหน่วย งานที่เกี่ยวข้องในการให้ความรู้ ตลอดจนขอความร่วมมือเกษตรกรพี่น้องชาวนาให้ปลูกข้าวปีละ 2 หนการใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ข้าวในปริมาณที่เหมาะสม การใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีตามคำแนะนำก็ดี รวมถึงที่กรมการข้าวได้ปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าวต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็น กข 41 กข 47 กข 49 เพื่อให้เกษตรกรปลูกทดแทนพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานอย่างปทุมธานี 1 หรือการจัดทำโครงการหมู่บ้านนำร่องปลอดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ใน 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี ชัยนาท และปราจีนบุรี จังหวัดละ 5 หมู่บ้าน ซึ่งแนวทางต่าง ๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดจำนวนประชากรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไม่ให้ เข้าทำลายผลผลิตข้าวของเกษตรกร
อย่างไรก็ดี กรมการข้าวยังวิตกกังวลว่าวันหนึ่งเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลก็จะต้องกลับมาสร้าง ปัญหาให้กับพี่น้องชาวนาอย่างแน่นอน เนื่องจากตามสถิติแล้วเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะระบาดหนักในทุก ๆ 5 ปี ฉะนั้น จำเป็นที่จะต้องมีแนวทางในการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่กรมการข้าวได้เร่งดำเนินการคือการทำโครงการความร่วมมือกับ หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกับศูนย์เทคโน โลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพิ่มความสะดวก รวดเร็วและแม่นยำ
นางจันทนา ศรีรัตนศักดิ์ นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่กรมการข้าวได้ทำงานวิจัยโครงการต้นแบบการพยากรณ์การระบาดของ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หรือที่เรียกว่าหมู่บ้านนำร่องปลอดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ใน 3 จังหวัด โดยนำกับดักแสงไฟไปติดในพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อติดตามจำนวนประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่จะมาเล่นไฟ ถ้าพบมากเกษตรกรจะได้หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวในช่วงนั้นสามารถลดความสูญเสีย ที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้แนวทางข้างต้นสำรวจการเคลื่อนย้ายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งขณะนี้กรมการข้าวได้ร่วมมือกับเนคเทค โดยกรมการข้าวจะสนับสนุนข้อมูลการพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตามแหล่งต่าง ๆ เพื่อให้เนคเทคนำไปทำเป็นโมเดลการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลต่อไป เช่น ถ้าพบที่จังหวัดสุพรรณบุรีจะทราบได้ทันทีว่าต่อไปเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะ อพยพไปที่ใดต่อ โดยเบื้องต้นทราบแล้วว่าถ้าพบที่สุพรรณบุรี จะระบาดต่อไปที่ชัยนาทและอ่างทอง ถ้าพบที่สระบุรีจะระบาดต่อไปทางปราจีนบุรี ทั้งนี้ อีก 1 ปี เราจะมีโมเดลการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ที่จะสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แตกต่างจากเมื่อก่อนที่เราไม่รู้ทิศทางว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะอพยพไปทาง ไหนต่อกันแน่
อีกโครงการหนึ่งที่ร่วมมือกับเนคเทค คือการพัฒนาโปรแกรมในการใช้ภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพสุ่มประเมิน ประชากรแมลงในแปลงนา เพื่อสำรวจจำนวนประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลว่ามีความหนาแน่นอยู่ในระดับที่ ต้องควบคุมกำจัดได้หรือยัง เนื่องจากปัจจุบันการสุ่มประเมินประชากรแมลงในแปลงนาต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ หรือเกษตรกรลงไปสำรวจเพื่อนับจำนวนโดยตรง ซึ่งประสบปัญหาอย่างมากคือเกษตรกรมีพื้นที่กว้างจึงไม่สะดวกที่จะดำเนินการ หรือไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ดังนั้น เมื่อพบปัญหาก็อยู่ในขั้นระบาดรุนแรงไม่ทัน การ กรมการข้าวจึงเห็นว่าควรพัฒนาเครื่องมือที่ทันสมัย โดยใช้ภาพถ่ายเพื่อส่งข้อมูลมายังศูนย์วิจัยเพื่อประมวลผล ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่สะดวก รวดเร็ว สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม จากการพบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในหลายรอบที่ผ่านมา ปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดหนักก็เนื่องมาจากการใช้สารเคมีที่เกินความจำ เป็น เพราะสารเคมีไปทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติและระบบนิเวศ ในแปลงนาให้เสื่อมโทรม จึงไม่มีเกราะที่จะป้องกันตามธรรมชาติที่ได้สร้างความสมดุลในการทำลายกันเอง ไว้แล้ว
...ดังนั้น แนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน เกษตรกรควรหันคืนสู่วิถีธรรมชาติ ลดการพึ่งพาเคมี และเพิ่มความใส่ใจในผืนนาแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตของท่านให้มากขึ้น.