เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ หงส์เหินไม้ดอกที่มีเสน่ห์ อาชีพการทำสวนป่า ทิศทางผลไม้ไทย
   
ปัญหา :
 
 
  1. การจัดการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ พันธุ์ การบำรุง เก็บเกี่ยว และทำแห้ง
  2. ความเชื่อมั่นในการยึดอาชีพ ปลูกสวนป่าเพื่อขายเนื้อไม้ เช่น สักทอง ยูคาลิปตัส และกระถินยักษ์ เป็นต้น จะสามารถยึดเป็นอาชีพได้หรือไม่
  3. ขอคำแนะนำทิศทางผลไม้ไทย
  4. การปลูกผักไร้ดิน (ไฮโดรโปนิก) ตลาดเป็นอย่างไร จะคุ้มทุนและยึดเป็นอาชีพได้หรือไม่
วิธีแก้ไข :
 

ผมต้องขอขอบคุณคุณนายกเล็ก ที่ให้เกียรติผมและคณะที่เขียนจดหมายมาพูดคุยและปรึกษาข้อข้องใจเกี่ยวกับการเกษตรอย่างสม่ำเสมอ ขอขอบคุณและขอตอบปัญหาดังนี้ครับ

  1. พืชอาหารสัตว์ นับว่ามีความสำคัญสำหรับการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น โค และกระบือ เกษตรกรจึงควรเตรียมแปลงหญ้าเพื่อสำรองไว้ให้สัตว์เลี้ยงกินในฤดูแล้ง ด้วยวิธีทำหญ้าแห้งหรือหญ้าหมัก พันธุ์หญ้าแต่ละพันธุ์เหมาะสมที่จะปลูกในแต่ละภูมิภาคดังนี้ ภาคเหนือ ในสภาพดินทรายควรปลูกหญ้ากินนี ถั่วทาวสวิลสะไตโล และถั่วฮามาต้า ส่วนในดินร่วนหรือดินเหนียว ควรปลูกหญ้าขน หญ้าแพงโกล่า และถั่วเซอราโต้ หากใช้วิธีการตัดไปเลี้ยงสัตว์โดยไม่ปล่อยให้แทะเล็มกินเอง แนะนำให้ปลูกหญ้านูเปียร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดินส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นดินทรายและปริมาณน้ำฝนกระจายตัวไม่สม่ำเสมอตลอดฤดู แนะนำให้ปลูกหญ้ากินนี หญ้าเบอร์มูด้า ส่วนพืชตระกูลถั่วควรปลูกถั่วทาวสวิลสะไตโล และถั่วฮามาต้า ส่วนในดินชุดเมืองเลยหรือชุดปากช่อง ให้ปลูกหญ้าขน กินนี และถั่วเซนโตรซีม่า ภาคกลาง ส่วนใหญ่นิยมปลูกในนา เช่น หญ้าขน และหญ้านูเปียร์ ส่วนบนที่ดอนแนะนำให้ปลูกหญ้าแพงโกล่า และถั่วเซอราโต้ ภาคใต้ ในที่ลุ่มให้ปลูกหญ้านูเปียร์ ส่วนบนที่ดอนให้ปลูกถั่วเซนโตรซีม่าและถั่วทาวสวิลสะไตโล การปลูกพืชอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงสัตว์เป็นการค้า เกษตรกรจำเป็นต้องมีแปลงปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ แปลงหญ้าที่ดีนั้น ควรประกอบด้วยพืชตระกูลหญ้าและพืชตระกูลถั่ว โดยมีวัตถุประสงค์ให้อาหารสัตว์มีคุณค่าทางโภชนาการหรือคุณค่าด้านอาหารสูงขึ้น เมื่อปลูกหญ้าครบรอบ 3-4 ปี ให้รื้อแปลงปลูกใหม่ หรือปลูกสลับกับพืชไร่อื่นๆ การปลูกพืชตระกูลหญ้ากับตระกูลถั่วในแปลงเดียวกัน โดยใช้อัตราส่วนพืชตระกูลหญ้า 2 แถว และพืชตระกูลถั่ว 1 แถว การปลูกหญ้าอาหารสัตว์ มีทั้งชนิดปลูกเพื่อตัดให้สัตว์กิน และปลูกแล้วปล่อยให้สัตว์ลงแทะเล็มกินเอง วิธีที่สอง แม้จะใช้แรงงานน้อยกว่า แต่ต้องมีวิธีการจัดการที่ดี ให้มีการหมุนเวียนของแต่ละแปลงอย่างเหมาะสม พันธุ์หญ้าที่ปลูกได้ดีบนที่ดอน ได้แก่ หญ้ารูซี่ หญ้ากินนี และหญ้านูเปียร์ วิธีปลูกหญ้ารูซี่ ให้นำเมล็ดที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลงแช่ในน้ำร้อนที่ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที นำขึ้นผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำไปหยอดหลุมโดยใช้ระยะปลูก 30x40 เซนติเมตร ช่วงปลูกที่ดี ควรปลูกในต้นฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ในดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่รองก้นหลุม และอีกครั้งใส่หลังกำจัดวัชพืช ครบอายุ 40-45 วัน เก็บเกี่ยวนำไปเลี้ยงสัตว์ได้ หญ้ากินนี วิธีปลูก นำเมล็ดหุ้มด้วยผ้าขาวบาง 2 คืน เมล็ดเริ่มงอกรากและต้น แล้วนำไปหว่านในแปลงกล้าแห้ง ขนาด 3x9 เมตร ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 150 กรัม รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ ครบอายุ 1 เดือน ถอนต้นกล้าลงปลูกในแปลง ใช้ระยะปลูก 70x70 เซนติเมตร หากฝนทิ้งช่วงควรมีการให้น้ำ การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-45-0) อัตรา 20-25 กิโลกรัม ต่อไร่ และครั้งที่สอง ให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 20 กิโลกรัม ต่อไร่ หลังกำจัดวัชพืชในแปลง หรือประมาณ 30 วันหลังปลูก เริ่มเก็บเกี่ยวหญ้าได้เมื่ออายุ 40-45 วันหลังปลูก หญ้านูเปียร์ วิธีปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์ ระยะปลูก 70x70 เซนติเมตร วิธีดูแลรักษาใช้วิธีเดียวกับหญ้ากินนี อายุ 40-45 วัน เก็บเกี่ยวไปเลี้ยงสัตว์ได้ หลังเก็บเกี่ยวแล้วต้องบำรุงด้วยการให้น้ำและใส่ปุ๋ย ครบ 3 ปี ควรรื้อแปลงและปลูกใหม่ ในสภาพที่ลุ่มหรือมีความชื้นสูง แนะนำให้ ปลูกหญ้าขน หญ้าชนิดนี้ปลูกและดูแลรักษาง่าย การขยายพันธุ์นิยมใช้แยกหน่อ อายุเก็บเกี่ยว 40-45 วันหลังปลูกลงแปลง การปลูกพืชตระกูลถั่ว ข้อดีของพืชตระกูลถั่วคือ มีปริมาณสารโปรตีนสูงกว่าพืชตระกูลหญ้า นอกจากนี้ รากของพืชตระกูลถั่วยังสามารถตรึงก๊าซไนโตรเจนให้อยู่ในรูปที่พืชเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เมื่อปลูกร่วมกับพืชตระกูลหญ้าจะมีผลทำให้ผลผลิตพืชตระกูลหญ้าสูงขึ้นได้อีกด้วย พืชเลี้ยงสัตว์ตระกูลถั่ว แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทลำต้นเลื้อย เช่น เซนโตรซีม่า หญ้าพันธุ์ดังกล่าวปลูกร่วมกับหญ้ากินนีได้ดี แต่ต้องหมั่นเก็บเกี่ยวไปเลี้ยงสัตว์ การเลือกพื้นที่ปลูกถั่วเซนโตรซีม่า ควรเลือกแหล่งที่เป็นดินร่วนปนทราย เนื้อดินละเอียด อุ้มน้ำและระบายน้ำได้ดี แต่ไม่ควรปลูกในดินลูกรังและดินทรายจัด นำเมล็ดแช่ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5-10 นาที ครบกำหนดนำขึ้นผึ่งลมจนแห้ง เตรียมดินด้วยการไถดะ ไถแปร ย่อยดินให้ละเอียด เก็บวัชพืชออกให้สะอาด ดินเป็นกรดแนะนำให้ใส่ปูนขาวอัตรา 500 กิโลกรัม ต่อไร่ เกลี่ยดินให้เรียบ เปิดร่องตื้นๆ แต่ละแถวห่างกัน 75-100 เซนติเมตร หรือปลูกสลับกับพืชตระกูลหญ้าอัตราพืชตระกูลหญ้า 2 แถว ต่อพืชตระกูลถั่ว 1 แถว จึงจะได้ผลดี ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 2 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่อได้รับน้ำฝนจะงอกเป็นต้น ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20-30 กิโลกรัม ต่อไร่ ด้วยวิธีโรยเป็นแถว ห่างจากต้นประมาณ 1 คืบ พร้อมกลบลงดิน ครบ 45-60 วัน เก็บเกี่ยวไปเลี้ยงโคและกระบือได้ พืชตระกูลถั่วประเภทเจริญเติบโตเป็นพุ่ม เช่น ถั่วฮามาต้า ถั่วพันธุ์นี้ปลูกร่วมกับหญ้ารูซี่ได้ดี โดยเฉพาะปลูกในที่โล่งแจ้ง ถั่วฮามาต้าเหมาะสำหรับปลูกให้สัตว์ลงไปแทะเล็มกิน การปลูก ให้เตรียมดินด้วยวิธีเดียวกับการปลูกถั่วเซนโตรซีม่า นำเมล็ดแช่ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-5 นาที จากนั้นนำขึ้นผึ่งลมจนแห้ง แล้วนำปลูกลงในแปลง ใช้ระยะปลูก 25x50 เซนติเมตร โดยเปิดหลุมตื้นๆ แล้วหยอดเมล็ดลงหลุมละ 3 เมล็ด และกลบให้มิด ก่อนหยอดเมล็ดให้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 และใส่อีกครั้งเมื่อต้นถั่วมีอายุครบ 1 เดือน ด้วยวิธีโรยข้าวแถวแล้วกลบดินพูนโคน ด้วยปุ๋ยสูตรเดิม อัตรา 25-30 กิโลกรัม ต่อไร่ แบ่งใส่ปริมาณเท่ากัน เมื่ออายุ 45-60 วัน ตัดให้สัตว์กินหรือปล่อยสัตว์ลงแทะเล็มกินเองได้ การทำแห้ง ทั้งหญ้าและถั่ว ตัดต้นให้เหลือตอซังเหนือพื้นดิน 1 คืบ ระยะเก็บเกี่ยวที่ดีที่สุด คือระยะที่พืชเริ่มออกดอก เพราะจะได้ผลผลิตสูงที่สุด อีกทั้งลำต้นจะไม่แข็งและเหนียว วิธีทำหญ้าแห้งที่สะดวกและง่ายให้ตัดต้นหญ้าและถั่ว แล้วนำมาผึ่งแดด 2-3 แดด จะเหลือความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ สังเกตด้วยวิธีขูดผิวต้นพืช หากขูดแล้วไม่มีผิวของไม้หลุดออกมานับว่าใช้ได้ การอัดฟ่อน นำหญ้าที่ทำแห้งแล้ว อัดลงในลังไม้ ขนาด 45x45x70 เซนติเมตร เหยียบอัดฟางลงในแบบจนได้น้ำหนัก 10 กิโลกรัม ผูกมัดฟ่อนให้แน่น ก่อนนำออกจากแบบ เก็บฟ่อนหญ้าในห้องหรือโรงเรือนโปร่งระบายอากาศได้ดี มีหลังคากันแดดและละอองฝนได้ วิธีดังกล่าวจะเก็บหญ้าแห้งไว้เลี้ยงสัตว์โดยไม่เสื่อมคุณภาพได้นาน 8-10 เดือน ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามที่กรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท กรุงเทพฯ ในวันและเวลาทำการ 2. การปลูกป่าเป็นอาชีพ อายุไม้โตเร็วสามารถตัดฟันเพื่อใช้ประโยชน์ได้ กินเวลาอย่างน้อย 5-7 ปีขึ้นไป หากไม่มีทุนนอนอยู่ในกระเป๋า ก็คงจะอยู่ลำบาก ดังนั้น จำเป็นต้องมีรายได้จากกิจกรรมอื่น มาหล่อเลี้ยงฟาร์มระหว่างรอผลผลิต เมื่อหลายปีก่อนผมเรียกการปลูกป่าเศรษฐกิจว่า โครงการพ่อปลูก ลูกรวย หมายถึงฝากธนาคารต้นไม้ไว้ให้รุ่นลูกๆ ตัดขาย เปลี่ยนเป็นเงินนั่นเองครับ
  2. ไม่ว่าไม้ชนิดใดก็ตาม อยู่ในลักษณะเดียวกันครับ
  3. ทิศทางผลไม้ไทย แม้ว่าประเทศไทยของเราเป็นแหล่งผลิตพืชสวนได้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่สามารถส่งออกนำเงินตราเข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะ เงาะ มังคุด ทุเรียน และลำไย อย่างไรก็ตาม ปัญหาการผลิตและการจำหน่ายผลไม้ไทยก็ยังคงวนเวียน ยากจะหาความลงตัวได้ ปัญหาการผลิต ต้นทุนการผลิตผลไม้ไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากราคาปัจจัยการผลิตขยับสูงขึ้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ยหรือสารเคมี โดยเฉพาะราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตัวเกษตรกรเองยังขาดการดูแลและบำรุงดินมีผลทำให้ดินเสื่อมสภาพลงทุกปี อีกทั้งแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรนับวันจะประสบปัญหามากขึ้น ที่สำคัญคือ การวางแผนการผลิตพืชสวนยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเกิดขึ้นมาโดยตลอด ปัญหาด้านการตลาด พบว่า ราคาผลผลิตของผลไม้มักมีราคาต่ำในช่วงของผลผลิตออกสู่ตลาด เกิดการกระจุกตัวในระยะเวลาสั้นๆ มีการแข่งขันสูงกับต่างประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ายังมีน้อยมาก มีการกีดกันจากประเทศนำเข้าด้วยวิธีตรวจสอบทางด้านสุขอนามัย และยังขาดการบริหารจัดการผลผลิต ทั้งการบรรจุหีบห่อ การขนส่งจากต้นทางไปสู่ปลายทาง ปัญหาข้างต้นเป็นปัญหาสำคัญที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างจริงจังและเป็นระบบ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแผนรณรงค์ให้ส่งผลไม้ออกไปยังต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายในปี พ.ศ. 2551 ดังนี้ การส่งออก เงาะ มังคุด ทุเรียน และลำไย เป็นเงิน 2,000 2,500 15,000 และ 9,500 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งการยกระดับรายได้ข้างต้นนั้นต้องออกแรงกันอีกมากครับ
  4. การปลูกผักไร้ดิน อุปสรรคคือต้นทุนการสร้างโรงเรือนในระยะเริ่มต้นค่อนข้างสูง จึงไม่สามารถพัฒนาต่อไปใดอย่างราบรื่น
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
จันทบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออก
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 18 ฉบับที่ 382
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM