ต้นพริกหวาน จัดเป็นพืชข้ามปี แต่นิยมปลูกเป็นพืชฤดูเดียว การเติบโตในระยะแรกจะเจริญเป็นลำต้นเดี่ยว เมื่อติดดอกช่อแรกตรงยอดแล้ว จากนั้นจะแตกกิ่งแขนงในแนวตั้งเป็นสองกิ่ง
นายครรชิด เหล่าชัย นักจัดการงานในพระองค์ประจำโครงการสถานีพัฒนา การเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านแปกแซม ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่โครงการทำการเกษตรว่า
โครงการ ได้ดำเนินการในหลากหลายชนิดพืชและหลากหลายรูปแบบ และหนึ่งในนั้นที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมากก็คือการเพาะ ปลูกพริกหวานแบบปิดระบบอินทรีย์ภายในถุง
ซึ่งต้นพริกหวาน จัดเป็นพืชข้ามปี แต่นิยมปลูกเป็นพืชฤดูเดียว การเติบโตในระยะแรกจะเจริญเป็นลำต้นเดี่ยว เมื่อติดดอกช่อแรกตรงยอดแล้ว จากนั้นจะแตกกิ่งแขนงในแนวตั้งเป็นสองกิ่ง ทำให้จำนวนกิ่งเพิ่มขึ้น ตลอดฤดูการเจริญเติบโตผลผลิตที่ได้จะขึ้นอยู่กับจำนวนกิ่งและจำนวนผลต่อต้น ในช่วงระยะแรกที่กิ่งเจริญเป็นกิ่งอ่อน ต่อจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นกิ่งแก่ที่มีความแข็งและเปราะหักได้ง่าย โดยมีความสูงของต้นอยู่ประมาณ 0.5-1.5 เมตร มีรากเจริญในแนวดิ่งลึกประมาณ 90-120 เซนติเมตร รากแขนงแผ่กว้างออกด้านข้างประมาณ 90 เซนติเมตร ส่วนรากใหญ่จะอยู่กันอย่างหนาแน่นในระดับความลึกประมาณ 50-60 เซนติเมตร
สำหรับ การปลูกพริกหวานนั้น จะขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่น ความชื้นในอากาศต่ำ อุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตจะอยู่ที่ประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส ผลพริกหวานมีลักษณะกลมยาว มีขนาดใหญ่ ในผลจะประกอบไปด้วยสารให้ความเผ็ดในปริมาณที่ต่ำมาก ผลโดยทั่วไปจะเป็นสีเขียว ถ้าปล่อยให้แก่บนต้นจะ เปลี่ยนเป็นสีแดง แต่บางสายพันธุ์ที่ถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่ อาจจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีส้ม หรือสีม่วงก็ได้ โดยพริกสีเขียวจะประกอบไปด้วยสารคลอโรฟิลล์ พริกสีแดงหรือเหลืองจะเกิดจากเม็ดสีแคโรทีนอยด์ ส่วนพริกสีม่วงจะเกิดจากเม็ดสีแอนโธไซยานิน และสีน้ำตาลจะเกิดจากการผสมระหว่างคลอโรฟิลล์ ไลโคปีน และเบต้าแคโรทีน
ผล จะมีรูปทรงและขนาดแตกต่างกันออกไป บางพันธุ์อาจมีเปลือกหนา แต่บางพันธุ์จะบาง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-30 เซนติเมตร ผลแก่ที่เปลี่ยนเป็นสีแดง เหลือง ส้ม หรือม่วง จะมีปริมาณของวิตามินเอสูงกว่าเดิมถึง 10 เท่า และมีวิตามินซีสูงกว่า 2 เท่า
และเนื่องจากในปัจจุบันความนิยมของผู้บริโภคจะเน้นพืชผักประเภท อินทรีย์เป็นส่วนใหญ่ ทางสถานีจึงส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกพริกในถุงแบบปิด คือใช้ถุงชนิดหนาบรรจุวัสดุปลูกแล้วนำเมล็ดพริกมาเพาะ ตั้งไว้ในโรงเรือนที่มีตาข่ายตาถี่คลุมเพื่อป้องกันแมลงเข้ามารบกวน การปลูกแบบนี้จะมีผลดีหลายประการ อาทิ ผลผลิตจะไม่เสียหายจากแสงที่อาจแรงเกินไป ป้องกันการเข้ามาทำลายของแมลงได้ และแก้ปัญหาเรื่องผลพริกที่อาจตั้งอยู่บนพื้นดินที่จะทำให้เกิดการเน่าเสีย ก่อนการเก็บเกี่ยว ที่สำคัญเป็นพืชประเภทนิยมบริโภคสดจึงไม่ควรใช้สารเคมีเข้ามาเป็นตัวช่วยใน การเพาะปลูก ซึ่งวิธีดังกล่าวจะดีที่สุด
และล่าสุด นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี นายดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการ กปร. นายจรูญ อิ่มเอิบสิน ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวัง นายสมบูรณ์ วงค์กาด ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการฯสำนักงาน กปร. พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางเข้าติดตามการดำเนินงานสถานีฯ
พบว่าการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น ราษฎรสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปขยายผลในพื้นที่ของตนเองได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิต ส่งผลให้ราษฎรมีรายได้เพียงพอในการใช้จ่ายในครัวเรือนเป็นอย่างดี.