เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
“มันเทศสีม่วง โอกินาว่า” มีชื่อเสียงระดับโลก มีปลูกที่“พิจิตร”คุณภาพไม่เเพ้กัน!
   
ปัญหา :
 
 
เป็นที่สังเกตว่า ในอดีตการบริโภคอาหารของประชากรโลกส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นในเรื่องของรสชาติและ ความอร่อยเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันหรือโปรตีนสูง แต่ปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีประชากรเริ่มหันมาเน้นบริโภคอาหารสุขภาพกันมากขึ้น เน้นในเรื่องคุณค่าของอาหารและประโยชน์ที่ร่างกายจะได้รับเป็นหลักอย่างกรณีของ มันเทศ ยังเป็นพืชหัวที่คนไทยหลายคนยังมองว่าด้อยค่าและเป็นอาหารสำหรับคนยากจน เท่านั้น แต่ในทางการแพทย์ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบันได้มีการวิเคราะห์สารที่มี ประโยชน์ในมันเทศซึ่งมีอยู่มากมายในประเทศญี่ปุ่นไต้หวันและเกาหลีใต้ได้มี งานศึกษา วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์มันเทศที่มีความก้าวหน้ากว่าประเทศไทยมาก ขณะเดียวกัน ประชากรทางแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็หันมาบริโภคมันเทศกันมากขึ้นเป็นลำดับ ในบางประเทศให้ความสนใจมากกว่าบริโภคมันฝรั่งด้วยซ้ำไป
วิธีแก้ไข :
 
ปกติแล้ว แหล่งคาร์โบไฮเดรตของคนไทยจะได้จากการบริโภคข้าวเป็นหลัก ในกลุ่มของผู้สูงอายุในทางการแพทย์แผนไทยได้มีคำแนะนำให้ผู้สูงอายุบริโภค มันเทศทดแทนข้าวในบางมื้อ เนื่องจากในหัวมันเทศจะมีแป้งแล้ว ยังมีวิตามินและสารที่เป็นประโยชน์อีกหลายชนิด อาทิ สารเบต้าแคโรทีน สารแอนโทไซยานิน และสารสเตียรอยด์ที่มีประโยชน์อยู่สูง (ในวงการแพทย์เชื่อว่าสารสเตียรอยด์มีส่วนช่วยในการลดคอเลสเตอรอลและช่วย ป้องกันโรคถุงลมโป่งพองในลำไส้ได้) ในรายละเอียดของการวิเคราะห์สารที่มีประโยชน์ในหัวมันเทศพบ ว่า สารสำคัญที่มีอยู่อย่างน้อย 2 ชนิด คือ สารเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ที่ช่วยในการบำรุงสายตาและมีส่วนช่วยลดอัตราการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งได้ มันเทศเนื้อสีม่วงจะมีสารแอนโทไซยานินมากกว่ามันเทศสายพันธุ์อื่นๆ เช่นกัน เชื่อว่า สารแอนโทไซยานิน นั้น จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้ ทำหน้าที่เป็นตัวล้างพิษและช่วยชะลอความแก่ชรา ในต่างประเทศมีรายงานว่า มีการใช้มันเทศเนื้อสีม่วงเป็นคาร์โบไฮเดรตแทนข้าวสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรค เบาหวาน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไม มันเทศเนื้อสีม่วง จึงมีราคาค่อนข้างแพง ในซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าใหญ่ในบ้านเราจะขายมันเทศเนื้อสีม่วง ถึงผู้บริโภคในราคาที่แพง เกาะโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกาะแห่งนี้นับเป็นแหล่งผลิตเกษตรกรรมที่สำคัญของญี่ปุ่น ถ้าเป็นไม้ผล มะม่วง ที่เกาะแห่งนี้ผลิตส่งขายทั่วประเทศญี่ปุ่นและปลูกในสภาพโรงเรือน ในกลุ่มพืชผัก“มะระขี้นกยักษ์” ของโอกินาว่ามีชื่อเสียงระดับโลก ในกลุ่มพืชไร่ “อ้อย” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ส่วนพืชหัวที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ มันเทศ โดยเฉพาะมันเทศเนื้อสีม่วง มีรสชาติอร่อยระดับโลก ด้วยการปรับปรุงพันธุ์ให้มีเนื้อสีม่วงเข้ม และเนื้อมีความนุ่มนวล ในขณะที่มันเทศเนื้อสีม่วงของที่อื่นส่วนใหญ่จะพบเนื้อแข็งกว่านี้ สวนคุณลี ได้หัวพันธุ์มันเทศเนื้อสีม่วงมาจากเกาะโอกินาว่า มาทดลองปลูกในอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ผลปรากฏว่า มีการลงหัวที่ดีและมีคุณภาพไม่แตกต่างจากที่ปลูกบนเกาะโอกินาว่า สิ่งที่ต้องยอมรับและเกษตรกรไทยควรนำเอามาเป็นแบบอย่างจากเกษตรกรรม ญี่ปุ่น ยกตัวอย่าง มันเทศเนื้อสีม่วง หรือคนไทยที่ไปเที่ยวเกาะโอกินาว่า จะเรียกมันแดงนั้น นอกจากจะมีการจำหน่ายเพื่อการบริโภคสดแล้ว ยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขบเคี้ยว อาทิ Kitkat มันสีม่วง กูลิโกะมันสีม่วง ฯลฯ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า ข้อเสนอแนะที่สำคัญ สำหรับผู้ปลูกมันเทศเกษตรกรไทยจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมจากการปลูกมันเทศในอดีตที่คิดว่าไม่จำ เป็นต้องมีการบำรุงรักษาโดยเฉพาะเรื่องของการให้น้ำน้ำมีผลต่อการลงหัวของ มันเทศ ถ้าต้นมันเทศได้น้ำสม่ำเสมอในช่วงระยะเวลาลงหัว จะได้มันที่ได้น้ำหนักและหัวขนาดใหญ่ ท่อนพันธุ์มันเทศที่ตัดจากต้นมันเทศมาขยายพันธุ์ต่อ ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกตัดจากยอดมาเพียง 1 ท่อน เท่านั้น ถ้าตัดยอดที่ 2-3 จากต้นเดียวกัน จะมีผลต่อการให้ผลผลิต ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมว่า เมื่อใช้ยอดมันเทศเป็นท่อนพันธุ์นั้น ควรจะใช้เพียง 3 รุ่น ควรจะเปลี่ยนมาขยายพันธุ์จากหัวเพื่อปลูกในรุ่นต่อไป แมลงและโรคศัตรูมันเทศ ถึงแม้ว่าจะมีการระบาดไม่มากเท่ากับพืชอีกหลายชนิด แต่ที่เห็นว่าเป็นศัตรูที่มีความสำคัญยิ่งก็คือ “ด้วงงวงมันเทศ” เกษตรกรจะต้องเน้นในการป้องกันการระบาดจะดีกว่าพบการระบาดแล้ว ถึงจะมีการฉีดพ่นสารเคมี เมื่อพบการระบาดแล้วจะควบคุมได้ยากมาก สิ่งที่ต้องพิจารณาและระมัดระวังเป็นพิเศษที่เสี่ยงต่อการระบาดของแมลงชนิด นี้ก็คือ การปลูกมันเทศซ้ำที่เดิมและการป้องกันและกำจัดในช่วงระยะเวลาที่ต้นมันเทศลง หัว การปลูกมันเทศ ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิม เมื่อปลูกมันเทศไปแล้ว 1 รุ่น พื้นที่นั้นควรปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ถั่วเขียว ปอเทือง ทดแทนหลังจากที่ต้นถั่วเขียวมีอายุต้นได้ 45 วัน หรือระยะที่ออกดอกให้ไถกลบทั้งต้น จะได้ปุ๋ยพืชสดอย่างดีแล้วค่อยปลูกมันเทศต่อไป เทคนิคในการฉีดพ่นสารป้องกันและกำจัดโรคแมลงสำหรับการปลูกมันเทศโดยเฉพาะ ถ้าฉีดเพื่อป้องกันและกำจัด“ด้วงงวงมันเทศ” จะต้องฉีดน้ำยาให้ชุ่มโชกถึงดิน การเตรียมแปลง ปลูกมันเทศสีม่วง ปลูกมันเทศให้ลงหัวได้ดีนั้น ปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เรื่องโครงสร้างของดิน ถึงแม้ว่ามันเทศจะปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ดินร่วนปนทรายมีความเหมาะสมที่สุด สภาพดินที่ปลูกมีผลต่อการลงหัวของมันหรือรูปร่างของหัวมัน พื้นที่ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยคอก เช่น มูลวัว มูลไก่ ฯลฯ ในอัตรา 1-2 ตัน หรือใส่ปุ๋ยคอกหลังการเตรียมแปลงเสร็จแล้ว โดยหว่านบนสันร่องแปลง ยกตัวอย่าง พื้นที่แปลงปลูกมันเทศที่เคยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดต่อเนื่องมาหลายปี ทางชมรมเผยแพร่ความรู้การเกษตรได้มีการหว่านเมล็ดปอเทืองลงไปในแปลงก่อนที่ จะเตรียมแปลงปลูกมันเทศ หลังจากต้นปอเทืองเริ่มออกดอกจะไถกลบทันทีเป็นปุ๋ยพืชสด ในการเตรียมแปลงปลูก ให้ไถดะก่อน 1 ครั้ง และทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน จากนั้นไถพรวนแปลง 1-2 รอบ หรือใช้โรตารี่ติดรถไถตีดินให้ดินมีความละเอียดยิ่งขึ้น หลังจากนั้น ให้ยกร่องแปลงปลูกขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 70-100 เซนติเมตร สูง 30-50 เซนติเมตร (ความสูงของแปลงยิ่งมีความสูง ยิ่งส่งผลต่อการลงหัวมันดี) ส่วนความยาวของแปลงปลูกขึ้นกับสภาพพื้นที่ ถ้าจะให้เหมาะสมควรจะปลูกแบ่งเป็นแปลงเล็กๆ โดยแปลงมีความกว้าง 40 เมตร และยาว 80 เมตร เพื่อสะดวกและง่ายต่อการจัดการ การจัดระบบน้ำ ในแปลงปลูกมันเทศ โดยปกติทั่วไปสำหรับเกษตรกรที่ปลูกมันเทศทั่วประเทศ มักจะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของระบบน้ำในแปลงปลูก ถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนอาจจะพึ่งเพียงน้ำฝนจากธรรมชาติเท่านั้น ถ้าปลูกในฤดูแล้งอาจจะมีการให้น้ำแบบท่วมแปลงบ้างเท่านั้น แต่การปลูกมันเทศสมัยใหม่ ควรจะมีการจัดระบบน้ำที่ดี ในแปลงปลูกมันเทศสายพันธุ์ต่างประเทศของชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จะมีการวางระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ซึ่งมีรัศมีกระจายน้ำได้ 3-4.5 เมตร ระบบน้ำดังกล่าว มีข้อดีตรงที่ต้นมันเทศได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง ส่งผลให้ต้นมันเทศตั้งตัวได้เร็ว พบเปอร์เซ็นต์การรอดตายสูง แต่จะพบข้อเสียตรงวัชพืชจะขึ้นเร็ว ทำให้มีต้นทุนในการกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น สำหรับการให้น้ำแบบอื่นๆ อย่างกรณีของการให้น้ำแบบท่วมร่อง ถ้าสภาพดินปลูกเป็นดินเหนียว เมื่อดินแห้งดินจะแข็งและจับตัวกันแน่น มีผลต่อการลงหัวของมันเทศ ทำให้ผลผลิตลดลง การเตรียม ท่อนพันธุ์มันเทศในการตัดท่อนพันธุ์ ควรจะตัดให้มีความยาวราว 30 เซนติเมตร จะไม่ลิดใบทิ้ง หรือลิดทิ้งก็ได้ เนื่องจากยอดมันเป็นพืชที่แตกยอดออกมาใหม่ได้ง่าย ถ้าลิดใบทิ้งก็จะทำให้เสียเวลา แต่ยอดมันเทศเมื่อลงปลูกจะตั้งตัวได้เร็วกว่าไม่ลิดใบ การตัดยอดใช้ส่วนที่เป็นยอดจะดีที่สุด สำหรับท่อนที่ 2-3 ลงไป สามารถปลูกให้ผลผลิตได้เช่นกัน แต่การให้หัวจะน้อยลงไปตามลำดับ เมื่อตัดท่อนพันธุ์มาแล้ว ควรจะมัดรวมกันเป็นท่อนหรือเป็นกำ เอาใบตองหรือกระสอบปุ๋ยห่อมัดเอาไว้ ควรนำท่อนพันธุ์แช่น้ำยาฆ่าแมลงในกลุ่ม “คาร์โบซัลแฟน” เช่น ไฟท์ช็อต จุ่มแช่ไว้นานราว 5-10 นาที จะช่วยลดเรื่องแมลงที่จะติดไปกับท่อนพันธุ์ได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้น ให้นำมัดท่อนพันธุ์วางไว้ในที่ร่ม รดน้ำ เช้า-เย็น ประมาณ 2-3 วัน ยอดท่อนพันธุ์ก็จะมีรากออกมา แสดงว่าท่อนพันธุ์พร้อมปลูกแล้ว ถ้าจะให้ดี ท่อนพันธุ์มันเทศที่จะตัดควรจะตัดจากต้นที่มีอายุไม่เกิน 45 วัน หรือก่อนที่จะมีการฉีดพ่นปุ๋ยหรือสารเคมีเพื่อหยุดยอด ในพื้นที่ปลูกมันเทศสายพันธุ์ต่างประเทศ 1 ไร่ จะใช้ท่อนมันเทศ ประมาณ 8,000-16,000 ยอด การปลูกมันเทศ สายพันธุ์ต่างประเทศ ก่อนที่เกษตรกรจะลงมือปลูก ควรจะมีการให้น้ำในแปลงปลูกอย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อให้ดินมีความชื้น จะปลูกได้ง่ายและรวดเร็ว วิธีการเตรียมหลุมปลูกแบ่งได้ 3 วิธี คือปลูกแบบใช้จอบขุด ปลูกแบบใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งนำไปก่อน หรือจะปลูกแบบนำท่อนพันธุ์เสียบลงแปลงปลูกเลย จากการทดลองปลูกทั้ง 3 วิธี พบว่าวิธีปลูกแบบใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งนำไปก่อนได้ผลดีกว่าวิธีการอื่น เพราะทำได้ง่ายรวดเร็ว ไม่เสียแรงในการขุดดินและท่อนพันธุ์ไม่ช้ำ ระยะปลูกระหว่างต้น ประมาณ 25-30 เซนติเมตร หากใช้จอบขุดปลูกบนสันร่อง หลุมที่ปลูกควรมีความลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ควรจะวางยอดท่อนพันธุ์ทำมุม 45 องศา ฝังลึกลงดิน 2-3 ข้อ ของท่อนพันธุ์มันเทศและให้ข้อโผล่พ้นดินขึ้นมา ประมาณ 2-3 ข้อ หลังจากนั้น กลบดินให้แน่นเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ท่อนพันธุ์โยกคลอน และหากปลูกแบบใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งนำ จะปลูกท่อนพันธุ์มันเทศให้เป็นคู่บนสันร่อง โดยใช้ไม้แหลมกระทุ้งนำไปก่อนทำมุม 45 องศา จากนั้นเสียบท่อนพันธุ์ลงดิน 2-3 ข้อ ของท่อนมันเทศ ในพื้นที่ปลูกมันเทศสายพันธุ์ต่างประเทศ 1 ไร่ ทางชมรมจะใช้ท่อนพันธุ์มันเทศ ประมาณ 11,000-12,000 ยอด ซึ่งพบว่าเป็นจำนวนที่ให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างสูง
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
พิจิตร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
หนังสือพิมพ์มติชน 30 ม.ค.59
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM