เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
แนะเคล็ดลับ การทำสวนทุเรียนนอกฤดู ให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพป้อนตลาดในอนาคต
   
ปัญหา :
 
 
ปีนี้ถือเป็นปีทองของทุเรียนไทย เพราะราคาสูงกว่าทุกปี ราคาขายหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท สร้างแรงจูงใจให้คนไทยหันมาสนใจปลูกทุเรียนกันมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น จังหวัดศรีสะเกษ จากเดิมที่มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 2,000 ไร่ ก็แห่ปลูกทุเรียนกันเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ไร่ ส่วนจังหวัดชุมพร ก็ตัดโค่นต้นยาง 200,000 ไร่ เพื่อนำมาปลูกต้นทุเรียนมากขึ้นเช่นกัน แต่การทำสวนทุเรียนให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของต้นทุเรียนเพื่อผลิตทุเรียนคุณภาพ ดีป้อนตลาดในอนาคต
วิธีแก้ไข :
 

ในครั้งนี้ ขอพาท่านผู้อ่านไปเรียนรู้เคล็ดลับการผลิตทุเรียนนอกฤดู ของ คุณสุเนตร สุทธิสถิตย์ โทร. (089) 936-1214) ตั้งอยู่พื้นที่บ้านจำรุง หมู่ที่ 7 ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแถลง จังหวัดระยอง เกษตรกรต้นแบบที่มีประสบการณ์ปลูกทุเรียนมากว่า 20 ปี มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 600 ต้น จำนวน 4 แปลง กระจายอยู่ในพื้นที่ตำบลกองดิน ตำบลบ้านนา ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแถลง และตำบลน้ำเป็น อำเภอเขาชะเมา

สำหรับสวนเนื้อที่กว่า 30 ไร่ แห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเนินฆ้อ ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองกว่า 200 ต้น เป็นต้นทุเรียนอายุ 30 ปี จำนวน 100 ต้น อายุ 11 ปี จำนวน 30 ต้น อายุ 7 ปี จำนวน 50 ต้น อายุ 6 ปี จำนวน 15 ต้น และ อายุ 3 ปี จำนวน 5 ต้น สำนักงานเกษตรอำเภอแถลง ยกย่องให้สวนแห่งนี้เป็นแปลงสาธิตการผลิตทุเรียนนอกฤดูของอำเภอแถลง

คุณสุเนตร เป็นเกษตรกรที่ขยัน ดูแลจัดการสวนทุเรียนแบบประณีต ตั้งแต่เริ่มมีดอก คอยตัดแต่งกิ่ง ควบคุมทรงต้นให้ต้นทุเรียนมีโครงสร้างต้นที่แข็งแรง รับน้ำหนักผลผลิตได้ดี พร้อมกับดูแลป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูสม่ำเสมอ ทำให้ต้นทุเรียนออกดอกเต็มที่และเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้อง การ

“ปีนี้ มีต้นทุเรียนที่มีผลผลิต ไม่เป็นไปตามเป้าหมายแค่ 5 ต้น สำหรับทุเรียนเบอร์สวย จะเก็บผลผลิตที่ความแก่ 75% ส่งขายให้กับบริษัทส่งออกไปขายตลาดจีน ส่วนทุเรียนเบอร์สวย ผลแก่จัดจะเก็บขายให้พ่อค้าขาประจำ  ผลผลิตโดยรวมในปีนี้ ต้นทุเรียนให้ผลผลิตเฉลี่ย ต้นละ 80 ผล น้ำหนัก ผลละ 2-3 กิโลกรัม ราคาขายส่งหน้าสวนประมาณ 80-90 บาท/กิโลกรัม” คุณสุเนตร กล่าว

 

“อากาศแปรปรวน”

อุปสรรคสำคัญของสวนทุเรียน

คุณสุเนตร บอกว่า ภาวะอากาศแปรปรวน ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของสวนทุเรียน เพราะทำให้ปีนี้ ต้นทุเรียนทยอยออกดอกติดผล 5 รุ่น เก็บเกี่ยวรุ่นละ 1 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม-มิถุนายน-กรกฎาคม ทำให้เกษตรกรต้องเสียเวลาในการดูแลจัดการสวนมากขึ้นกว่าเดิม แต่จุดดีคือ ขายทุเรียนได้ในราคาสูง เพราะผลผลิตไม่กระจุกตัวเหมือนกับปีก่อน

สวนทุเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เจอผลกระทบจากภาวะอากาศแปรปรวน ดอกกำลังบาน เจอฝนช่วงปีใหม่ ดอกร่วงกันหมด ปีนี้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แค่ 5-6 ตัน เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยทำได้ถึง 20 ตัน แต่สวนทุเรียนของคุณสุเนตรปีนี้กลับมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 32 ตัน จากเดิมที่เคยทำได้ 30 ตัน เมื่อปีก่อน เพราะคุณสุเนตรดูแลจัดการสวนตามคำแนะนำของ อาจารย์ดนัย อังศุสิงห์ อดีตนักวิชาการด้านอารักขาพืช กรมส่งเสริมการเกษตร หรือที่รู้จักกันในนาม “หมอทุเรียน” อาจารย์ดนัยแนะนำให้คุณสุเนตรใช้ “ฟอส ครอป. เค” เป็นปุ๋ยน้ำตัวใหม่ในรูปฟอสฟอรัสแอซิก เป็นทั้งสารอาหารพืช และเป็นวัคซีนป้องกันโรค ช่วยให้ต้นทุเรียนมีขั้วดอกเหนียวไม่ร่วงง่าย สารฟอสไฟด์ ช่วยแก้ไขปัญหาโรครากลำต้นกิ่งผลเน่า จากเชื้อราไฟทอปทอร่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนะเคล็ดลับเพิ่มผลผลิต

ทุเรียน ปี 2559/2560  

จากปัญหาภัยธรรมชาติที่ผ่านมา เป็นอุปสรรคต่อการปลูกดูแลต้นทุเรียน ทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเจอปัญหาอุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องดอกและผลที่เสียหายจากลมพายุ ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ต้นโทรม เพราะขาดการดูแลอย่างถูกวิธี ชาวสวนทุเรียนส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออก ไม่สามารถทำให้ต้นทุเรียนออกดอกได้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร บริษัท เจียไต๋ จำกัด ส่วนธุรกิจผลิตภัณฑ์อารักขาพืช จึงร่วมกับนักวิชาการอิสระคือ อาจารย์ดนัย อังศุสิงห์ “หมอทุเรียน” จัดสัมมนาให้ความรู้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ในหัวข้อ “ไม้ผลปีการผลิตหน้าจะก้าวไปอย่างไร? เจียไต๋ มีคำตอบ” ที่จังหวัดจันทบุรี โดยชาวสวนทุเรียนที่สนใจเข้าร่วมงาน ประมาณ 300 ท่าน

อาจารย์ดนัย กล่าวว่า ผมศึกษาจากฐานข้อมูลของนักวิชาการและศูนย์อุตุนิยมวิทยา พบว่า ในฤดูการผลิต ปี 2559/2560 ปริมาณน้ำฝนจะอยู่ในเกณฑ์พอดี ไม่มีภัยแล้ง และไม่มีน้ำท่วม ช่วงเดือนกรกฎาคมจะมีปัญหาฝนทิ้งช่วงระยะหนึ่ง หลังจากนั้น ฝนจะตกเพิ่มขึ้นไปจนถึงเดือนตุลาคม หากย้อนดูข้อมูลปริมาณน้ำฝนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า หากมีฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนกรกฎาคม และมีฝนตกหนักในเดือนสิงหาคม-กันยายน ฝนจะไปหมดประมาณช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้น จะเผชิญกับภาวะอากาศหนาวเย็นลงอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้ไม้ผลออกดอกพร้อมๆ กัน

จากการวิเคราะห์แนวโน้มสภาวะอากาศในปีนี้ คาดว่า ช่วงเดือนตุลาคมจะมีปริมาณการแตกใบอ่อนของไม้ผลรุ่นธรรมชาติเป็นจำนวนมากใน ทุกพืช เป็นเหตุให้ผลผลิตรุ่นแรกมีปริมาณการออกดอกน้อย และเข้าสู่ตลาดน้อย สินค้ามีราคาสูง ช่วงเดือนพฤศจิกายนจะมีลมหนาวเข้ามาส่งเสริมให้ไม้ผลได้รับความเครียด และจะออกดอกพร้อมๆ กัน เป็นจำนวนมากถึงเดือนธันวาคม ทุกๆ พืช ปริมาณดอกเริ่มมากขึ้น ผลผลิตจะล้นตลาด เป็นเหตุให้ราคาอ่อนตัวลงมาก 

ส่วนเดือนธันวาคม ลมหนาวยังมีอิทธิพลให้ไม้ผลที่แตกใบอ่อนในเดือนพฤศจิกายนออกดอกรุ่นหลังใน เดือนมกราคม แต่จะมีปริมาณไม่มากนัก เพราะพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ออกดอกหมดแล้วในเดือนธันวาคม ถึงจะแตกใบอ่อนมาจากเดือนตุลาคมก็ออกดอกได้ สำหรับเดือนมกราคม 2560 เป็นเดือนที่ดอกของไม้ผลกำลังอยู่ในระยะดอกบานเป็นส่วนใหญ่ คาดว่าจะพบปัญหาด้านแมลงศัตรูพืชรุนแรง โดยเฉพาะเพลี้ยไฟที่เป็นอาการของทุเรียนหนามจีบหรือหัวจีบ และการระบาดของไรแดง รวมถึงเพลี้ยแป้ง เพลี้ยต่างๆ ทำให้หนามล้มได้

เดือนมีนาคม-15 เมษายน เป็นช่วงระยะเวลาที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนนอกฤดู (กลุ่มทำสาร) และมังคุดที่ออกดอกรุ่นแรก ในวันที่ 25 พฤศจิกายน-10 ธันวาคม ราคาและการตลาดคงดี เพราะมีปริมาณผลผลิตเข้ารุ่นแรกในปริมาณน้อย เดือนเมษายน-พฤษภาคม ตั้งแต่ วันที่ 20 เมษายน เป็นต้นไป จนถึง 20 พฤษภาคม คาดว่าผลผลิตของไม้ผลต่างๆ จะเข้าสู่ตลาดมากขึ้น อันเป็นผลมาจากลมหนาวในเดือนธันวาคม จึงคาดการณ์ว่าราคาผลผลิตจะเริ่มมีความแปรปรวนและผลผลิตล้นตลาด

เดือนมิถุนายน ผลผลิตของไม้ผลโดยรวมเริ่มมีปริมาณที่น้อยลง เป็นเหตุให้ความต้องการของตลาดเริ่มสูงขึ้น ราคาน่าจะขยับสูงขึ้นตาม แต่เกษตรกรจะต้องประสบกับความเสียหายของผลผลิต อันมีเหตุปัจจัยมาจากมีปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่อง ส่งผลต่อคุณภาพ เช่น ทุเรียนเนื้อแข็งเป็นไต มังคุดอาการยางไหลไส้เหลือง และโรคผลเน่าของไม้ผลต่างๆ

ความเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทย และในภาคตะวันออก ในปีการผลิต 2558/2559 ที่ผ่านมาเป็นเหตุปัจจัยหลักที่สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวน ผลไม้เป็นอย่างมาก โดยเริ่มตั้งแต่การมีฝนตกต่อเนื่องผิดฤดูกาลคือ เดือนพฤศจิกายน-มกราคม ซึ่งเป็นระยะที่ไม้ผลควรจะออกดอก แต่กลับมีการแตกใบอ่อนเป็นจำนวนมาก และต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์เกิดสภาวะลมหนาวเย็นและกระแสลมแรงมาก จนทำให้ผลไม้ร่วงหล่นเสียหาย ดอกที่กำลังบานก็ไม่สามารถติดผลได้ ยังประสบกับสภาวะภัยแล้งทุกพื้นที่ จากสภาพความเสียหายดังกล่าว ทำให้ไม้ผลพืชเศรษฐกิจบางส่วนไม่ได้ให้ผลผลิตและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่บางส่วนเสียหายมากจนต้องได้รับการจัดการดูแลอย่างดี

เพื่อเตรียมการเข้าสู่ฤดูการผลิตต่อไป อาจารย์ดนัย มีข้อแนะนำดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การจัดการฟื้นฟูสภาพต้นทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยประมาณ) หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนต้องประเมินสภาพความสมบูรณ์ของต้นว่าอยู่ในระดับใด เพื่อส่งผลต่อขั้นตอนการจัดการฟื้นฟูสภาพต้น โดยดูจากสภาพใบ

ขั้นตอนที่ 2 การปรับโครงสร้างสวนการตัดแต่งกิ่งและการควบคุมโรครากลำต้นเน่า การตัดแต่งกิ่ง เป็นประเด็นสำคัญในความหมายตรงนี้ จะแตกต่างกันออกไปจากการตัดแต่งเพื่อปรับโครงสร้างสวน เพราะการตัดแต่งตรงนี้เป็นการตัดแต่งเพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนการเจริญเติบ โตของต้นทุเรียน เช่น การตัดกิ่งแขนง การตัดแต่งดอก การตัดแต่งผล และการตัดแต่งกิ่งเพื่อส่งเสริมการออกดอก

จากการศึกษาของอาจารย์ดนัย พบว่า ทุกขั้นตอนมีหลักการสำคัญที่สามารถยึดเป็นหลักในการนำไปสู่การปฏิบัติได้ดัง นี้ เริ่มจากการตัดกิ่งแขนง แขนงคือ กิ่งที่มีขนาดเล็ก จะเกิดขึ้นภายในกิ่งใหญ่ โดยจะเกิดด้านข้างของกิ่งหรือด้านล่างกิ่งใหญ่ แขนงมีประโยชน์มากโดยสามารถที่จะสังเคราะห์แสงสำหรับต้นที่ไม่มีใบนอกทรง พุ่มหรืออาการเจ็บป่วยจากอาการยอดแห้งใบ แคระแกร็น และที่สำคัญยังเป็นตัวดึงพลังงานที่ใบด้านนอก ส่วนยอดผลิตแล้วให้ไหลลงมาสะสมตามกิ่งแขนง เพื่อสร้างตาดอกอีกด้วย จึงพบว่ามีการออกดอกได้ดีและทั่วต้น

อาจารย์ดนัย แนะนำหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ

1. ไม่ตัดแต่งต่อเมื่อหากพบว่าทุเรียนต้นนั้นไม่สมบูรณ์ ไม่มีใบด้านนอก และขาดความสมบูรณ์ หรือมีการระบาดของโรครากลำต้นเน่า โรคใบแก้วหรือใบด่างเหลือง

2. เมื่อพบว่าเป็นระยะที่ทุเรียนเริ่มมีการออกดอกในระยะไข่ปลาหรือตาปู และจะตัดแขนงได้เมื่อดอกมีปริมาณมากพอ อยู่ในระยะเหยียดตีนหนูขึ้นไป

อาจารย์ดนัย แนะนำให้ตัดแต่งกิ่งแขนงต่อ ใน 5 กรณี คือ

1. เมื่อต้องการให้ทุเรียนแตกใบอ่อน หรือเมื่อใบอ่อนเริ่มแตกและต้องการให้การแตกใบอ่อนดีขึ้น

2. เมื่อต้องการให้ทุเรียนออกดอกในรุ่นธรรมชาติ โดยต้องมีส่วนประกอบอื่นๆ คือ ต้นสมบูรณ์ ใบแก่ อากาศเริ่มมีความหนาวเย็น หรือมีสภาวะฝนทิ้งช่วง 

3. เมื่อต้องการที่จะเตรียมต้นเพื่อผลิตทุเรียนนอกฤดู

4. เมื่อมีการตัดแต่งดอกทุเรียน ให้ดอกมีความสมบูรณ์ ไม่เป็นที่หลบอาศัยของศัตรูพืช 

5. เมื่อพบว่าหลังจากการออกดอกแล้วหรือติดผลแล้วมีการแตกแขนงภายในตามตำแหน่ง ตาดอกหรือผลอ่อนที่หลุดร่วง โดยมักจะเป็นแขนงที่ท้องกิ่งด้านล่าง

อาจารย์ดนัย แนะนำการปรับโครงสร้างของสวนเพื่อผลในการป้องกันโรค โดยปรับปรุงระบบหัวจ่ายน้ำ ไม่ให้น้ำเหวี่ยงโดนบริเวณลำต้นตรงจุดนี้ ต้องให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤษภาคม เกษตรกรต้องให้ทำทุเรียนแห้งนานถึง 6 เดือน ซึ่งจะช่วยลดการระบาดของโรคลำต้นเน่า จะลดลงอย่างมาก ยกเว้น ต้นที่มีอาการรากเน่าอยู่แล้ว หากเปิดหัวเหวี่ยงเข้าต้นได้เพียงเล็กน้อยกันอาการเปลือกแตกต้นโทรม และถ้าเป็นไปได้ให้ปรับระบบเป็นให้ปุ๋ยทางระบบน้ำ รวมถึงสารเคมีหรือยาฆ่าเชื้อได้จะเป็นผลดีอย่างมาก

ขั้นตอนที่ 3 การจัดการใบเพื่อเตรียมความพร้อมของต้นต่อแผนการผลิต การผลิตทุเรียน โดยทั่วไปจะมีแนวทาง 3 ประการ คือ การผลิตทุเรียนนอกฤดูรุ่นธรรมชาติและรุ่นหลัง หรือรุ่นล่า คือออกดอกเก็บเกี่ยวช้ากว่าแปลงอื่นๆ ซึ่งตามลักษณะของพื้นที่และในสภาพต้นทุเรียนในแปลงเดียวกัน ก็อาจจะมีความพร้อมที่แตกต่างกันได้ เกษตรกรต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้สภาพใบโดยรวมมีความสมบูรณ์และมีปริมาณ ใบที่ใกล้เคียงกัน ตรงจุดนี้คือความหมายสำคัญของการเตรียมความพร้อมของต้น

ขั้นตอนที่ 4 การเตรียมความพร้อมของต้นและใบในใบชุดสุดท้ายก่อนการออกดอก อาจารย์ดนัย อธิบายเพิ่มเติมว่า ความหมายของใบที่ 2 หรือ 3 ทำความเข้าใจได้ยาก โดยแต่ละคนจะเรียกไม่เหมือนกัน แต่หากได้ดำเนินการมาจาก ขั้นตอนที่ 3 แล้วเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจะทราบดีว่า “ใบสุดท้าย” คือใบรุ่นใดซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในการผลิตทุเรียนนอกฤดูรุ่นธรรมชาติหรือ รุ่นล่าหรือรุ่นหลัง จะแตกต่างกันที่ วัน เดือน ปี แต่การจัดการเหมือนกันคือ “การสะสมความสมบูรณ์ของต้นให้พร้อมต่อการออกดอก”

อาจารย์ดนัย ให้ข้อสังเกตว่า ใบอ่อนทุเรียนชุดสุดท้ายนี้จะแตกต่างกัน เช่น

ทุเรียนที่ผลิตนอกฤดู (ทำสาร) จะแตกใบอ่อนในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ทุเรียนที่ผลิตหัวธรรมชาติ จะแตกใบอ่อนในเดือนกันยายน

ทุเรียนที่ผลิตธรรมชาติ จะแตกใบอ่อนในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

หากมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับการผลิตทุเรียนนอกฤดู หรือการดูแลไม้ผลอื่นๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก อาจารย์ดนัย อังศุสิงห์ ได้ที่เบอร์โทร. (092) 656-9529 เวลา 8.00-13.00 น. ได้ทุกวัน

ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ระยอง
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออก
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน 23 ส.ค. 59
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM