เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
วิธีการเลี้ยงปลาสลิดและปลาบู่ให้ได้ผลดี
   
ปัญหา :
 
 
    ผมมีความสนใจต้องการเลี้ยงปลาสลิดและปลาบู่ ผมควรเริ่มต้นและต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะทำให้ได้ผลดี ขอความกรุณาให้คำแนะนำด้วยครับ
วิธีแก้ไข :
 
    ปลาสลิด มีนิสัยชอบอาศัยอยู่ในน้ำนิ่ง ในหนอง บึง ที่มีพันธุ์ไม้น้ำขึ้นอยู่ เพื่อใช้เป็นแหล่งอาศัย หากินสาหร่าย พืช และสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร จะได้ผลดีเมื่อนำปลาสลิดมาเลี้ยงในบ่อหรือนาข้าว รูปร่างของปลาสลิด มีลำตัวแบน ส่วนครีบท้องยาวเพียงครีบเดียว ลำตัวสีเขียวอมเทาหรือคล้ำเป็นพื้น มีริ้วดำพาดขวางลำตัว หลายเส้นตั้งแต่ส่วนหัวไปถึงหาง ข้างลำตัวมีเกล็ดนับได้ 42-47 อัน ขนาดของปลาที่ใหญ่ที่สุดมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ปลาสลิดเพศผู้มีลำตัวยาวเรียว สันหลังและสันท้องเกือบขนานกัน สีลำตัวเข้มกว่าเพศเมีย ลักษณะของเพศเมีย มีลำตัวกลมมนกว่าเพศผู้และครีบหลังยาวไม่ถึงโคนหาง การเตรียมบ่อปลาสลิด ต้องเป็นแหล่งที่มีน้ำสะอาดอย่างพอเพียงตลอดฤดู ขนาดของบ่อตั้งแต่ 2 งาน ไปจนถึง 1 ไร่ รักษาระดับน้ำได้ 75-120 เซนติเมตร ขุดบ่อรวมขนาด 3x4 เมตร ไว้มุมใดมุมหนึ่งให้เป็นที่หลบภัยและรวมตัวกันก่อนจับ บ่อที่ขุดใหม่ให้หว่านปูนขาวให้ทั่วบ่อ อัตรา 100-160 กิโลกรัม เพื่อปรับฤทธิ์ความเป็นกรดด่างให้อยู่ในระดับเกือบเป็นกลาง ส่วนบ่อปลาเก่าต้องสูบน้ำหรือระบายน้ำออก เก็บวัชพืชที่ไม่เป็นประโยชน์และรกรุงรังออกจากบ่อให้สะอาด ขุดลอกและตกแต่งขอบบ่อให้มั่นคงแข็งแรง น้ำไม่รั่วซึม ตากบ่ออย่างน้อยเป็นเวลา 1 สัปดาห์ พร้อมกับกำจัดสัตว์ที่เป็นศัตรูของปลาสลิดออกให้หมด จากนั้นให้สูบน้ำหรือระบายน้ำเข้าบ่อ โดยป้องกันศัตรูเข้ามาในบ่อ แนะนำให้กรองด้วยตาข่ายไนล่อนสีฟ้า เมื่อสูบน้ำเข้าในบ่อตามต้องการ จึงหว่านปุ๋ยคอกมูลโค หรือกระบือ อัตราเดียวกับปูนขาวเพื่อให้เกิดแพลงตอนที่เป็นอาหารของปลา พร้อมกับปลูกผักบุ้งหรือผักกระเฉดที่ขอบบ่อให้เป็นร่มเงาและที่วางไข่ของปลา เมื่อเห็นว่าในบ่อน้ำมีแพลงตอนเกิดขึ้น ให้นำลูกปลาขนาดความยาว 5-7 เซนติเมตร ปล่อยลงในบ่อ หากมีการเคลื่อนย้ายในระยะทางไกลด้วยถุงพลาสติคอัดออกซิเจน จำเป็นต้องปรับอุณหภูมิของน้ำให้ใกล้เคียงกัน ด้วยวิธีแช่ถุงบรรจุปลาลงในบ่ออย่างน้อยเป็นเวลา 20-30 นาที แล้วจึงเปิดปากถุงปล่อยน้ำเข้าภายในถุง 1 ใน 5 ของน้ำที่มีอยู่ ทิ้งไว้อีกชั่วครู่ปล่อยน้ำเข้าถุงอีกครึ่งหนึ่งใช้เวลาเท่ากัน จากนั้นให้เปิดปากถุงปล่อยปลาลงน้ำในบ่อ การปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยให้อัตราการตายของลูกปลาต่ำลง เห็นว่าลูกปลาแข็งแรงดีจึงให้อาหารปลาที่มีส่วนผสมของรำละเอียดต้มกับผักบุ้งสับ อัตราส่วน 2 ต่อหนึ่ง วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ปริมาณที่ให้อยู่ระหว่าง 3-5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว หากจะให้ได้ผลดีและประหยัดอาหาร ควรทำแท่นหรือแป้นแขวนไว้ใต้ผิวน้ำ ลึก 20 เซนติเมตร ระยะแรกควรตีน้ำฝึกให้ลูกปลาเคยชินขณะให้อาหาร ครั้งต่อไปเมื่อตีน้ำลูกปลาจะว่ายมากินอาหารพร้อมกัน หมั่นดูแลอย่าให้น้ำเน่าเสีย ในช่วงฤดูฝนควรกั้นขอบบ่อโดยรอบด้วยตาข่ายไนล่อนสีฟ้า ป้องกันศัตรูเข้ามาทำลาย หรือปลาที่เลี้ยงไว้หนีออกไปนอกบ่อ ครบ 10-11 เดือน จับขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภคได้ วิธีจับ ให้สูบน้ำหรือระบายน้ำออกจากบ่อ ในที่สุดปลาจะไปรวมกันอยู่ที่บ่อรวม ให้ใช้อวนหรือสวิงจับปลาขึ้นจากบ่อ นำมาคัดขนาดส่งจำหน่ายต่อไป การป้องกันโรค เนื่องจากปลาสลิดเป็นปลาที่ทนต่อโรคดีกว่าปลาชนิดอื่น การระบาดของโรคจึงมีน้อย การรักษาคุณภาพน้ำในบ่อให้สะอาดอยู่เสมอเป็นวิธีป้องกันโรคปลาได้ดีที่สุด ปลาบู่ เป็นปลากินเนื้อชนิดหนึ่ง มักนอนสงบนิ่งอยู่ตามพื้นดินที่อ่อน ตอไม้ เสาไม้ รากหญ้าที่หนาทึบหรือตามซอกหิน เพื่อคอยโอกาสเข้ากัดกินเหยื่อที่ว่ายน้ำผ่านมา ปลาบู่ หรือปลาบ่อทราย พบได้ทั่วไปในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน และไทย ในประเทศไทยพบตามแหล่งน้ำต่างๆ เช่น ที่จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี ชลบุรี ยะลา สงขลา พิจิตร และพิษณุโลก ลักษณะของปลาบู่ มีลำตัวยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ส่วนหัวมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ด้านบนแบน มีจุดสีดำประปราย ปากมีขนาดใหญ่ ขากรรไกรล่างยื่นยาวกว่าขากรรไกรบน ฟันมีแถวเดียว ทั้งฟันบนและฟันล่าง ตาโปนกลม รูจมูกมีลักษณะเป็นหลอดสั้นยื่นยาวออกมา ครีบหูและครีบหางกลมมนและมีขนาดใหญ่ มีครีบหลัง 2 อัน เพศผู้แยกได้ชัดเจนคือ มีอวัยวะเพศเป็นแผ่นเนื้อสามเหลี่ยมขนาดเล็กและมีปลายแหลม ส่วนเพศเมียแผ่นเนื้อสามเหลี่ยมส่วนปลายไม่แหลมและมีรูเปิดมองเห็นได้ชัด การเลี้ยงปลาบู่ในบ่อดิน เตรียมบ่อขนาด 1-3 ไร่ เก็บรักษาระดับน้ำได้ 75-120 เซนติเมตร วิธีเลี้ยงให้ได้ผลดีควรเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่น เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน หรือปลาไน อัตราปล่อยลูกปลาขนาด 3.0 เซนติเมตร 12 ตัว ต่อตารางเมตร วิธีให้อาหาร ควรมีแท่นหรือกระบะไม้แขวนไว้ในน้ำ ลึก 20-25 เซนติเมตร ปริมาณอาหารที่ใช้ 5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว ใช้เวลา 8-12 เดือน จะได้ปลาขนาด 400-500 กรัม ต่อตัว ปัจจุบันนิยม เลี้ยงปลาบู่ในกระชัง มากขึ้น การเลือกแหล่งเพาะเลี้ยง ต้องมีน้ำพอเพียงตลอดฤดู หากเป็นน้ำขุ่นแต่สะอาดจะยิ่งดีเนื่องจากปลาบู่เป็นปลาขี้ตกใจ จึงชอบน้ำขุ่นเพื่อพรางตัวจากศัตรู หาซื้ออาหารปลาได้สะดวก แหล่งผลิตกับแหล่งจำหน่ายไม่ควรอยู่ห่างกันเกินควร ควรห่างจากแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมและต้องเป็นแหล่งที่ปราศจากศัตรูธรรมชาติ ทั้งนี้ต้องมีระดับน้ำไม่ต่ำกว่า 2 เมตร กระชังเลี้ยงปลาบู่ ทำได้ทั้งไม้ไผ่ล้วน ไม้ไผ่มีโครงไม้เนื้อแข็ง กระชังไม้เนื้อแข็งหรือไม้จริงล้วน และกระชังที่ทำจากท่อเอสลอน ขนาดของกระชังนิยมใช้ในปัจจุบันมี 3 ขนาด คือ กว้าง ยาว และสูง 2.5x8x1.5 เมตร 2.5x5x1.5 เมตร และ 2.5x3x1.5 เมตร บุด้านข้างและด้านล่างด้วยตาข่ายไนล่อนสีฟ้า ทุ่นลอยอาจใช้ลำไม้ไผ่ผูกเป็นลูกบวบ หรือใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ก็ได้เช่นเดียวกัน วางกระชังลงน้ำ ลึก 75-100 เซนติเมตร ป้องกันปลากระโดดออกจากกระชังหรือป้องกันศัตรูเข้ามาทำอันตราย อัตราการปล่อย ลูกปลาขนาดน้ำหนัก 100 กรัม ต่อหนึ่งตัว ควรปล่อยในอัตรา 70-80 ตัว ต่อตารางเมตร วิธีป้องกันโรคที่ติดมากับลูกปลา ให้แช่ลูกปลาในน้ำเกลือเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 20 นาที จากนั้นนำลงแช่ในน้ำละลายด่างทับทิมเจือจางอีก 20 นาที ปลาบู่เป็นปลากินเนื้อ มีความต้องการปริมาณโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และวิตามิน เกลือแร่ ปริมาณ 3.8-40, 5-8, 9-12 และ 0.5-1 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ที่ได้จากส่วนผสมของปลาเป็ดบด รำละเอียด และวิตามิน เกลือแร่ 94, 5, 1 กิโลกรัม ปลาบู่มีนิสัยอีกอย่างหนึ่งคือ กินอาหารค่อนข้างเชื่องช้ากว่าปลาชนิดอื่น จึงควรปั้นเป็นก้อน วางลงในถาดหรือแคร่ที่แขวนลงในน้ำ ลึก 50 เซนติเมตร ปริมาณ 8-10 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักปลา ทุก 2 วัน การจัดการและการให้อาหารที่ดี ปลาจะมีอัตราแลกเนื้อ 7.3-12.2 ต่อ 1 ครบอายุ 6 เดือน เป็นวัยที่สามารถจับเพื่อจำหน่ายได้ โดยได้น้ำหนักเฉลี่ย 435 กรัม ต่อตัว การลำเลียงและขนส่ง ปัจจุบันนิยมใช้ถาดสังกะสี ขนาดความสูง กว้าง และยาว 9, 45 และ 70 เซนติเมตร ตามลำดับ เจาะรูด้านข้างใต้ขอบบนเป็นรูกลมขนาดเล็กกว่าฝาเบียร์เล็กน้อย ห่างกันทุกๆ 20 เซนติเมตร ทั้ง 4 ด้านของถาด พร้อมมีฝาปิดหรือฝาครอบด้านบน ปลาที่จับได้พอเพียงกับปริมาณที่ต้องการ ให้นำปลาบรรจุลงในถาดสังกะสีที่เตรียมไว้ ระวังอย่าให้อัตราหนาแน่นเกินไป ฉีดพรมน้ำสะอาดให้ทั่วเมื่อได้ระดับน้ำสูงขึ้นประมาณครึ่งเซนติเมตรแล้วจึงปิดฝาครอบ หากมีหลายถาดให้วางซ้อนกัน เมื่อถึงปลายทางทิ้งระยะไว้สักพัก ก่อนนำลงบ่อพักหรือภาชนะอื่นๆ ให้ลูกค้าเลือกได้ ปลาที่แข็งแรงสมบูรณ์และยังมีชีวิตอยู่จะขายได้ราคาดี ปลาบู่เป็นปลาที่แข็งแรงทนทานต่อโรค หากมีการจัดการน้ำ และอาหารอย่างดีแล้ว โรคทั้งภายในและภายนอกจะไม่มีการระบาดเกิดขึ้น ขณะนี้ย่างเข้าฤดูแล้ง จึงควรป้องกันภาวะแห้งแล้งตามที่กรมประมงแนะนำไว้ดังนี้ ควรดูแลอย่าให้มีรอยรั่วซึมของน้ำออกจากบ่อเลี้ยงปลา ทำร่มเงาให้บ้างตามความเหมาะสม ลดปริมาณการให้อาหารลงบ้างเพื่อลดโอกาสของน้ำเน่าเสียลง เพิ่มปริมาณออกซิเจนให้น้ำด้วยกังหันและแบ่งจับปลาจำหน่ายหรือบริโภคบางส่วน การปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นจะสามารถลดความเสียหายจากภาวะแห้งแล้งลงได้ในระดับที่น่าพอใจ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
8
ตำบล / แขวง :
สาริกา
อำเภอ / เขต :
เมือง
จังหวัด :
นครนายก
รหัสไปรษณีย์ :
26000
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 18 ฉบับที่ 378
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM