เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เคล็ดลับการดูแล ช่อดอกมะม่วงให้ติดผลดก
   
ปัญหา :
 
 
ผ่านพ้นฤดูกาลมะม่วงแล้วจะเข้าสู่กาลผลิตฤดูกาลใหม่ เกษตรกรหลายๆ รายอาจจะพลาดในการผลิตมะม่วงออกสู่ตลาดซึ่งอาจจะด้วยหลายๆปัจจัย ซึ่งก่อนจะเข้าสู่การผลิตฤดูกาลใหม่จึงนำประสบการณ์จริงของเกษตรกรที่ถือว่าเป็นเซียนมะม่วงคนหนึ่งของ จ.พิจิตร ที่สามารถทำให้มะม่วงออกดอกติดผลดกทุกๆปี แม้จะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ก็ตาม โดยเคล็ดลับและวิธีการดังกล่าวอาจจะนำไปใช้เป็นแนวทางให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกมะม่วงของแต่ละท่าน การออกดอกของมะม่วง ที่พบส่วนมากในสวนของเกษตรกร มีการออกดอกใน 3 รูปแบบ คือ 1. ออกดอกพร้อมกันทั้งต้น 2. ออกดอกครั้งละ ครึ่งต้น 3. ทยอยออกดอกหลายรุ่น การดูแลช่อดอกนั้นจะต่างกันไปขึ้นอยู่กับรูปแบบของการออกดอก ต้นมะม่วงที่มีออกพร้อมกัน ทั้งต้นจะดูแลง่ายกว่ามะม่วงที่ทยอยออกดอก เพราะมีช่วงระยะเวลาในการดูแลดอกสั้น ถ้าต้นที่ทยอยออกดอก จะต้องดูแลนานกว่า จะติดผลหมดทุกรุ่น ดังนั้นเกษตรกรมืออาชีพส่วนใหญ่จะนิยมทำให้มะม่วงออกดอกพร้อมกัน เพื่อความสะดวกในการจัดการ และประหยัดต้นทุน การทำให้มะม่วงออกดอกพร้อมกัน ถ้าถามว่า “ จะทำอย่างไรให้มะม่วงออกดอกพร้อมกัน? ” เกษตรกรมืออาชีพหรือที่เรียกกันว่า “เซียน” จะตอบเหมือนกันว่า “ ต้องดูแลมะม่วงตั้งแต่เริ่มแต่งกิ่งให้ดี ถ้าแต่งกิ่งแล้วใบอ่อนไม่ออกพร้อมกัน โอกาสที่จะทำให้ดอกออกพร้อมกันยาก ” คุณจรัญ อยู่คำ “สวนโชคอำนวย” บ้านเลขที่ 63 หมู่ 1 ต.วังทับไทร อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร โทร. 099-2711303 เจ้าของสวนมะม่วงรายใหญ่ มีพื้นที่ปลูกมะม่วงกว่า 400 ไร่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดพิจิตร ผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้คุณภาพดี ถือเป็นเกษตรกรระดับเซียนของจังหวัดพิจิตรที่ประสบความสำเร็จในการทำสวนมะม่วงคุณภาพ ผลผลิตส่วนใหญ่ส่งขายตลาดต่างประเทศ บางส่วนส่งโรงงานแปรรูปนอกจากมะม่วงน้ำดอกไม้แล้ว ที่สวนจรัญยังมีมะม่วงรับประทานผลดิบ เช่น พันธุ์ฟ้าลั่น เพชรบ้านลาด ไว้ขายก่อนฤดู เป็นการลดความเสี่ยง หากตลาดมะม่วงน้ำดอกไม้มีปัญหา ที่สวนแห่งนี้ผลิตมะม่วงคุณภาพดีส่งขายทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ จุดเด่นของสวนคือ ผลิตมะม่วงให้ดกและมีคุณภาพดี จัดเป็นสวนตัวอย่างของแนวคิด “ ทำสวนมะม่วงน้อยได้ผลผลิตมาก ถ้าทำสวนมะม่วงมาก ก็ต้องให้ได้ผลผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ” ซึ่งดูจะค้านกับแนวคิดของหลายๆ คนที่ว่า ทำน้อยได้มาก แต่ถ้าทำมากจะได้น้อย เรามาดูกันซิว่า ัวอย่างของแนวคิด ทำสวนมะม่วงน้อยได้ผลผลสวนโชคอำนวยมีแนวคิดและแนวทางในการปฏิบัติเช่นไร จึงทำให้สวนแห่งนี้มีชื่อเสียงในเรื่องการผลิตมะม่วงดกที่สุดแห่งหนึ่งในเขตจังหวัดพิจิตร สวนโชคอำนวยปลูกมะม่วงมานานกว่า 30 ปี คุณจรัญ อยู่คำ กล่าวว่า “ คนส่วนมากไม่ค่อยเข้าใจ เห็นคนอื่นแต่งกิ่งมะม่วงก็ทำบ้าง เห็นเขาดึงใบอ่อนก็ดึงบ้าง แต่ไม่ดูเลยว่าต้นมะม่วงของเราพร้อมหรือเปล่า ” คุณจรัญแนะนำว่า ก่อนตัดแต่งกิ่งต้องดูก่อนว่าดินมีความชื้นพอหรือไม่ ในพื้นที่ชลประทาน หรือ พื้นที่ที่มีน้ำสะดวกแนะนำให้รดน้ำดินให้ชุ่ม แต่ถ้าเป็นพื้นที่แล้งอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ต้องรอให้ฝนตกใหญ่ 3-4 ครั้งก่อน จึงจะแต่งกิ่ง เพราะถ้าดินแห้งแล้ง แต่งกิ่งไปแล้ว โอกาสที่ใบอ่อนจะออกเสมอกันมีน้อยมา หลังแต่งกิ่งเสร็จ จะต้องเร่งมะม่วงให้แตกใบอ่อนให้เสมอกัน ทางดิน จะต้องใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 ต้นละ 1-2 กิโลกรัม ตรงจุดนี้เกษตรกรหลายท่านไม่ให้ความสำคัญเลย แต่ที่สวนคุณจรัญจะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอหลังแต่งกิ่งทุกปี เพราะเมื่อเราต้องการให้มะม่วงได้ผลดี จะต้องเอาปุ๋ยให้ต้นมะม่วงก่อน ไม่เช่นนั้นผลผลิตจะไม่ดี มีหลายคนสอบถาม เรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ในสวนมะม่วง คุณจรัญตอบว่า “ ใช้ได้ แต่ให้ใส่ก่อนแต่งกิ่งแค่ครั้งเดียว เพราะถ้าใส่บ่อยๆ จะบังคับให้ออกดอกยาก ” ทางใบ ฉีดพ่น ปุ๋ยไทโอยูเรีย อัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร ผสมกับฮอร์โมนจำพวกสาหร่าย-สกัด 2 ครั้ง โดยเว้นระยะห่างกัน 5-7 วัน มะม่วงจะออกใบอ่อนพร้อมกันทั้งสวน คุณจรัญ อยู่คำ ย้ำว่า “ จะทำมะม่วงให้ออกดอกเสมอ ต้องทำใบอ่อนให้เสมอกันก่อน ถ้าใบออกเสมอสวยงาม เวลาดึงดอก ดอกก็จะออกเสมอเช่นกัน ” ราดสารแพคโคลบิวทราโซลในช่วงเวลาที่เหมาะสม ควรเลือกใช้สารราด (แพคโคบิวทราโซล) ที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบันมีบริษัทขายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรมากมายมาเสนอขายสารราดให้ถึงสวน แต่คุณจรัญจะเน้นใช้สารราดที่มีคุณภาพ และมีเลขทะเบียนถูกต้อง เช่น สารแพนเที่ยม 10% เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรหลายรายโดนหลอกขายสารราดที่มีเปอร์เซ็นต์ต่ำ โดยจูงใจว่าของตนเองมีราคาถูก พอเกษตรกรหลงเชื่อใช้ไปก็ไม่สามารถควบคุมการแตกใบอ่อนของมะม่วงได้ ทำให้เสียเงิน และเสียโอกาส ที่ดีในการผลิตมะม่วงในปีนั้นๆ ไปเลย คุณจรัญจึงเน้นย้ำว่า จะต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มั่นใจได้เท่านั้น ไม่ควรใช้สารราดของบริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือ เมื่อต้นมะม่วงแตกใบอ่อนพร้อมกัน จะเป็นช่วงเวลาของการราดสารแพคโคฯ คุณจรัญจะนับวันโดยคำนวณจากวันที่จะดึงดอกเป็นหลัก ซึ่งทุกปีจะเริ่มราดสารตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม เพื่อจะให้ต้นมะม่วงสะสมอาหารและพร้อมจะดึงดอกในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ถามว่าทำไมต้องเป็นช่วงนั้น? คุณจรัญตอบว่า การดึงดอกมะม่วงในช่วงกันยายนและตุลาคม จะเป็นช่วงฝนน้อย โอกาสที่ช่อดอกจะโดนทำลายจากพายุก็น้อยลง คุณจรัญ เคยดึงช่อมะม่วงก่อนช่วงนั้นเพื่อทำนอกฤดู แต่ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรจะเกิดพายุฝนรุนแรง ทำความเสียหายให้ช่อดอกจำนวนมาก ไม่คุ้มกับการลงทุน เลยเลี่ยงมาดึงในช่วงที่เหมาะสมแทน หลังราดสารต้องบำรุงอย่างดี เกษตรกรส่วนใหญ่หลังจากราดสารแล้วจะใช้วิธีสะสมอาหารด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบเพียงอย่างเดียว แต่ที่สวนคุณจรัญจะเน้นการใส่ปุ๋ยทางดินร่วมด้วย “ ปุ๋ยทางดินสำคัญมาก เราต้องดูว่าปีหนึ่งเราเก็บมะม่วงไปจากต้นกี่กิโล ต้นมะม่วงต้องเสียอาหารไปเท่าไร ถ้าเราไม่ใส่คืน ต้นมะม่วงจะเอาแรงที่ไหนออกลูกให้เราอีก ”การใส่ปุ๋ยทางดิน จะใช้ปุ๋ยสูตร 9-25-25 อัตราต้นละ 2 กิโลกรัม เน้นใส่ในวันที่มีฝน เพราะที่สวนคุณจรัญไม่มีระบบน้ำ อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว จึงต้องคอยติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุว่าจะมีฝนตกชุกช่วงวันไหน ก็จะใช้โอกาสวันนั้นเร่งการใส่ปุ๋ย แล้วให้ฝนเป็นตัวละลายปุ๋ย หากใส่แล้วฝนตกน้อย ก็ต้องใช้คนงานรดน้ำ ให้ปุ๋ยละลายจนหมด คุณจรัญย้ำว่า การใส่ปุ๋ยที่ดี ต้องรดน้ำให้ปุ๋ยละลายไม่เช่นนั้น ก็สูญเปล่า ส่วนทางใบ จะเน้นการฉีดปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัส กับ โปแตสเซียมสูง เช่น ปุ๋ย 0-52-34 หรือ ปุ๋ยนูแทคซุปเปอร์-เค การฉีดปุ๋ยทางใบจะเริ่มฉีดหลังจากที่ราดสารไปแล้วประมาณ 15 วัน คุณจรัญได้สรุปสูตรฉีดพ่นปุ๋ยเพื่อการสะสมอาหาร ดังนี้ ช่วงที่มีฝนตกชุก – ปุ๋ย 0-52-34 1 กิโลกรัม – เฟตามิน 400 ซีซี. – สังกะสี 100 ซีซี. – โกรแคล 100 ซีซี. (ต่อน้ำ 200 ลิตร) – โรคและแมลง ใช้ตามการระบาด การใช้ปุ๋ยสูตร 0-52-34 ช่วงฝนตกชุก จะช่วยยับยั้งการแตกใบอ่อนได้ดีมาก แต่ไม่ควรฉีดพ่นติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง เพราะจะทำให้ตายอดของมะม่วงแห้ง และบอดได้ (ถ้าตาบอดจะดึงดอกยาก) การใส่ฮอร์โมนเฟตามิน โกรแคล และ สังกะสี ร่วมด้วย จะทำให้ ตายอดสดใส เต่งตึง อวบอั๋น ตาไม่บอด ช่วงที่ฝนน้อย – ปุ๋ยนูแทค ซุปเปอร์-เค 400 กรัม – เฟตามิน 400 ซีซี. – สังกะสี 100 ซีซี. – โกรแคล 100 ซีซี. (ต่อน้ำ 200 ลิตร) – โรคและแมลง ใช้ตามการระบาด เมื่อฝนทิ้งช่วงจะเปลี่ยนปุ๋ยโดยให้กลับมาใช้ปุ๋ยนูแทค ซุปเปอร์-เค (6-12-26) เพราะมีไนโตรเจน 6% จะช่วยให้ตายอดสมบูรณ์ ไม่แห้ง หรือ บอดง่าย การสะสมอาหารจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน (ในมะม่วงพันธุ์เบา เช่น น้ำดอกไม้ ฟ้าลั่น เพชรบ้านลาด) การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบจะฉีด 4-5 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน ดึงดอกอย่างไร ให้ออกทั้งต้น ถ้าเราทำใบอ่อนได้เสมอ ใส่ปุ๋ยถูกช่วงเวลา บำรุงรักษา ใบดีมาตลอด โอกาสดึงดอกให้ออกมาพร้อมกันจะสูงมาก ส่วนใหญ่ชาวสวนจะดูองค์ประกอบหลายๆ อย่างก่อนทำการดึงดอก เช่น อายุหลังราดสาร ต้องไม่น้อยกว่า 60 วัน (มะม่วงพันธุ์เบา) และ 90 วัน สำหรับมะม่วงพันธุ์หนัก ,ใบมะม่วงแก่ดี เอามือกำแล้วกรอบ ใบหลุบลง , ตายอดนูน พร้อมดึง, ถ้าใบยังไม่พร้อม หรือ มีใบอ่อนแตกออกมาขณะสะสมอาหาร อย่ารีบร้อน ให้ฉีดพ่น ปุ๋ยทางใบสะสมอาหารจนกว่าใบจะพร้อม จึงทำการเปิดตาดอก ,ดูสภาพอากาศ ฝนต้องทิ้งช่วงนิด ดินไม่ชุ่มน้ำเกินไป เพราะหากเปิดตาดอกขณะฝนตกชุก โอกาสเป็นใบอ่อนสูง ในการเปิดตาดอก เกษตรกรส่วนมากจะใช้ไทโอยูเรียผสมกับโปแตสเซียมไนเตรท (13-0-46) ที่สวนคุณจรัญ จะใช้สูตร สูตรเปิดตาดอก – ไทโอยูเรีย 1 กิโลกรัม – สาหร่าย-สกัด 300 ซีซี. (ต่อน้ำ 200 ลิตร) ฉีดพ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน แล้วรอดูการเปลี่ยนแปลงของตายอด โดยปกติแล้ว ตาดอกจะเริ่มแทงหลังเปิดตาดอกครั้งแรกประมาณ 10-15 วัน แต่ถ้าเริ่มแทงในวันที่ 3-4 โอกาสเป็นใบอ่อนจะสูงมาก ในการฉีดเปิดตาดอกมะม่วง เกษตรกรส่วนมากจะใช้ไทโอยูเรียผสมกับโปแตสเซียม- ไนเตรท (13-0-46) ที่สวนคุณจรัญ จะใช้สูตร สูตรเปิดตาดอก ไทโอยูเรีย 1 กิโลกรัม + สาหร่าย-สกัด 300ซีซี. (ต่อน้ำ200ลิตร) ฉีดพ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน แล้วรอดูการเปลี่ยนแปลงของตายอด โดยปกติแล้ว ตาดอกจะเริ่มแทงหลังเปิดตาดอกครั้งแรกประมาณ 10-15 วัน แต่ถ้าเริ่มแทงใน วันที่ 3-4 โอกาสเป็นใบอ่อนจะสูงมาก กรณีเปิดตาดอกแล้วเป็นใบสามารถแก้ไขได้ แต่ใบอ่อนที่ออกมาต้องมีความยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร หรือ ยังไม่คลี่ใบ ให้ใช้ ครั้งที่ 1 – ปุ๋ย 10-52-17 500 กรัม – ไฮเฟต 500 ซีซี. (ต่อน้ำ 200 ลิตร) ฉีดพ่นโดยห้ามใส่อาหารเสริม จำพวกสาหร่าย-สกัด หรือ จิ๊บ โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้มีปริมาณ ใบอ่อนออกมามาก จากนั้นเว้น 3 วัน แล้วซ้ำด้วย สูตรที่ 2 ครั้งที่ 2 – ปุ๋ย 10-52-17 500 กรัม – ไฮเฟต 300 ซีซี. (ต่อน้ำ 200 ลิตร) หลังฉีดครั้งที่ 2 เราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของตาใบอย่างชัดเจน ใบจะหยุดนิ่งแล้วเริ่มใบเพื่อเปลี่ยนเป็นตาดอก สูตรนี้ เกษตรกรจำนวนมากใช้แล้วได้ผลดี แต่ต้องดูว่าความยาวของตาใบ ต้องไม่เกิน 1 เซนติเมตร จะได้ผลดีที่สุด การดูแลต้นมะม่วงกรณีออกดอกพร้อมกัน จำไว้ว่า ใบอ่อนเสมอ ดอกจะเสมอ การดูแลจะง่าย เมื่อเราเห็นช่อดอกเริ่มแทงออกมา ให้ดูแลตามขั้นตอนดังนี้ ระยะเดือยไก่ เป็นระยะแรกของการออกดอก เราจะสังเกตเห็นตาดอกที่ออกมาเริ่มแตกและบิดเป็นเหมือนเดือยของไก่ แต่ถ้ายอดแตกออกมาเป็นทรงหอกหรือตั้งชู นั่นคือ อาการแตกใบอ่อน ไม่ใช่ออกดอก จำไว้ ต้องแทงแล้วบิดถึงจะเป็นช่อดอก การดูแลระยะเดือยไก่ การให้น้ำ ระยะนี้ถ้าฝนตกปกติ ไม่ต้องเปิดน้ำให้ แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงจะต้องทำการรดน้ำเพื่อให้ดอกออกมาสมบูรณ์และยาวมากขึ้น การให้ปุ๋ย ทางดินจะใส่ปุ๋ยสูตร 9-25-25 หรือ 8-24-24 อัตราต้นละ 1 กิโลกรัม ถ้าเป็นพื้นที่ดินเหนียวอาจใช้สูตร 12-24-12 ก็ได้ การให้ปุ๋ยทางดิน จะทำให้ดอกสมบูรณ์ติดผลง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่ใส่จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องเร่งให้ช่อดอกสมบูรณ์ที่สุดจึงจำเป็นต้องให้อาหารที่เพิ่มพลังการติดผล ตัวหลักๆ เลยก็คือ ปุ๋ยสูตร 10-52-17 เป็นปุ๋ยเร่งดอกสูตรดั้งเดิมที่เป็นที่นิยมของเกษตรกรทั้งในอดีตและปัจจุบัน ปุ๋ยสูตรนี้หาซื้อง่าย มีขายตามร้านเคมีเกษตรทั่วไป อัตราการใช้ 25-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน หรือ จนกว่าดอกจะโรย สำหรับเกษตรกรยุคใหม่ อาจเลือกใช้ปุ๋ยบำรุงดอกสูตรใหม่ๆ ที่ผลิตโดย บริษัทเคมีเกษตรชั้นนำก็ได้ ปุ๋ยบำรุงดอกที่สามารถเลือกใช้แทนปุ๋ยสูตร 10-52-17 ก็อย่าง เช่น ปุ๋ยเฟอร์ติไจเซอร์ (3-16-36) ปุ๋ยซุปเปอร์เค (6-12-24) ฮอร์โมนที่นิยมใช้ช่วงเดือยไก่ ได้แก่ โปรดั๊กทีฟ ฮอร์โมนช่วยเพิ่มประมาณดอก ดอกสมบูรณ์ ก้านดอกยาว เพิ่มเปอร์เซ็นต์การติดผล ป้องกันดอกและผลอ่อนร่วง แนะนำให้ใช้ 3 ระยะ คือ เดือยไก่ ก้างปลา และ ดอกโรย , เอ็นเอเอ (NAA) เช่น บิ๊กเอ เป็นฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มจำนวนดอกสมบูรณ์เพศ เหมาะมากสำหรับแปลงมะม่วงที่ออกดอกช่วงฤดูหนาว หรือ ออกดอกเต็มต้น บางครั้งเราจะพบว่าแม้มะม่วงจะออกดอกทั้งต้น แต่ก็ไม่ติดผล ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศทำให้ดอกมะม่วงแปรผัน การฉีดพ่น NAA จึงช่วยแก้ปัญหาเรื่องเพศของมะม่วงได้เป็นอย่างดี การใช้ NAA ที่ถูกต้อง ให้ฉีดพ่นช่วงเดือยไก่ ความยาวช่อดอก 2-3 เซนติเมตร และ ฉีดพ่นเพียงครั้งเดียวจะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณดอกสมบูรณ์เพศได้มากกว่าต้นที่ไม่ได้พ่น 4-5 เท่าตัว , จิบเบอเรลลิน ห้ามใช้ช่วงก่อนดอกบาน ข้อควรระวัง เกษตรกรหลายท่านเข้าใจผิดในการใช้ฮอร์โมน จิบเบอเรลลิน ว่าฉีดแล้วทำให้ช่อยาว ติดผลดี ความเข้าใจนี้คลาดเคลื่อน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การใช้จิ๊บในมะม่วงให้ฉีดช่วงดอกใกล้โรย หรือ ช่วงติดผลเล็กๆ เท่านั้น ฮอร์โมน จิบเบอเรลลิน จะไปช่วยขยายขนาดผล ลดการหลุดร่วงของผลอ่อน แต่หากใช้ฉีดพ่นในระยะก่อนดอกบาน จะทำให้ช่อมะม่วงมีดอกตัวผู้มากขึ้น การติดผลจะยากขึ้น อาหารเสริมที่จำเป็นช่วงดอก “ มะม่วงเล่นยาก ให้ฉีดฮอร์โมนอาหารเสริมให้ตาย ถ้าอากาศไม่อำนวยก็ไม่ติดนะ แต่ถ้าอากาศดี ไม่ต้องฉีดอะไรก็ติดเองได้ ” คำพูดเหล่านี้มักได้ยินจากปากของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเสมอๆ เป็นคำพูดที่มีส่วนจริงและไม่จริง เพราะเมื่อสอบถามบรรดาเซียนๆ มะม่วงต่างพูดเหมือนกันว่า “ จะต้องบำรุงช่วงช่อดอกให้ดี มีฮอร์โมนอาหารเสริมเท่าไร ใส่ไม่อั้น เพราะเราไม่สามารถล่วงรู้อนาคตได้เลยว่า ต่อไปเมื่อถึงช่วงดอกมะม่วง เราจะบาน สภาพอากาศจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นเราจะคอยแต่พึ่งอากาศไม่ได้ต้องเตรียมความสมบูรณ์ให้ช่อดอกมะม่วงก่อน ” อาหารเสริมที่นิยมใช้ ได้แก่ แคลเซี่ยม-โบรอน มีประโยชน์ในด้านการติดผลดี ดอกสมบูรณ์ ไม่หักร่วงง่าย เกษตรกรจะเลือกใช้เป็นอันดับต้นๆ ,สาหร่าย-สกัด ช่วยให้ช่อสมบูรณ์ ยาวเร็ว สดใส ช่วยเพิ่มขนาดของผลอ่อน ,สังกะสี ช่วยเร่งความเขียว เร่งการติดผล , แม็กนีเซียม ช่อสด แข็งแรง เร่งการติดผล การใช้อาหารเสริมเกษตรกรต้องศึกษารายละเอียดของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดให้ดี เพราะบางครั้ง เราซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มา 5-6 ขวด เวลาเอามาดูจริงๆ กลับเป็นอาหารเสริมชนิดเดียวกัน เกษตรกรต้องดูให้ดี อย่าเชื่อแต่คำโฆษณาเชิญชวน เพราะจะทำให้เราสูญเงินโดยใช่เหตุ ช่วงช่อดอกดูแลเต็มที่ ในช่วงช่อดอกมะม่วงจะต้องการอาหารมาก ดังนั้นในช่วงนี้ คุณจรัญจะเน้นอาหารเสริมทางใบเป็นหลัก ตัวที่ใช้ประจำก็คือ สารโกรแคล อัตรา 1 ลิตร ผสมกับสาร โปรดั๊กทีฟ อัตรา 1 ลิตรต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง และให้สังเกตดูที่ก้านช่อว่าสมบูรณ์หรือไม่ (ก้านช่อที่สมบูรณ์จะต้องมีสีแดงเข้ม ถ้าขาวซีดต้องเร่งอาหารเสริม) ในช่วงช่อดอกจะต้องดูแลให้ดี เพราะศัตรูทั้งหลายจะมารุมทำลายช่วงนี้ และจะทำให้ผลผลิตเสียหาย ซึ่งศัตรูที่พบมากที่สุดก็คือเพลี้ยไฟ และโรคแอนแทรคโนส เพลี้ยไฟ เป็นแมลงที่ทำความเสียหายแก่ดอกและผลอ่อน หากระบาดมาก ดอกมะม่วงจะแห้งไม่ติดผล หรือ หากทำลายในระยะผลอ่อนก็จะทำให้ผลลาย ขายไม่ได้ราคา ยาที่กำจัดเพลี้ยไฟได้ดีมีอยู่หลายตัว แต่จะต้องฉีดสลับกันเพื่อป้องกันการดื้อยา คุณจรัญ จะเลือกจับกลุ่มยาหลายชนิด แล้วฉีดสลับกัน เช่น ใช้ยา เมทโธมิล กับ โปรวาโด สลับกับ ยาไซฮาโลทริน หรือ ใช้ยาคาร์โบซัลแฟน(เช่น โกลไฟท์) สลับกับ สารฟิโพรนิล เป็นต้น เมื่อคุมเพลี้ยไฟจนผลอ่อนมีขนาดเท่านิ้วมือก็ปลอดภัย โรคแอนแทรคโนส เป็นโรคที่ทำลายรุนแรง หลายคนเรียกว่า โรคช่อดำ คุณจรัญจะเน้นการป้องกันโดยใช้ยา 2 ตัว บวกกัน คือ ฟลิ้นท์ อัตรา 200 กรัม ผสมกับ แอนทราโคล อัตรา 2 กิโลกรัม ฉีดพ่นสลับกับสารเอ็นทรัส อัตรา 500 ซีซี. ต่อน้ำ 1,000 ลิตร หรือ สารเมอร์แพน อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่นจนถึงระยะผลอ่อน “การใช้ยาในช่วงดอกถือว่าสำคัญมาก เจ้าของสวนจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและจะต้องดูให้ออกว่า ช่วงนี้ศัตรูอะไรลงทำลาย หรือ ต้องพยากรณ์ว่า ช่วงนี้เราจะต้องฉีดยาอะไร ถ้าเราดูศัตรูผิดหรือจัดยาไม่ถูกกับโรค ฉีดพ่นกี่ครั้งก็ยังเสียหาย ไม่สามารถขายผลผลิตได้ ยิ่งถ้าสวนไหนผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกจะต้องรู้ถึงระยะเวลาในการฉีด ต้องซื่อสัตย์และควบคุมให้ดี เพราะนอกจากจะต้องทำผลผลิตให้สวยมีคุณภาพแล้ว จะต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย” คุณจรัญ กล่าวเสริม เมื่อถามถึงรายได้ในการผลิตมะม่วงในแต่ละปี คุณจรัญ อยู่คำ เจ้าของ “สวนโชคอำนวย” บ้านเลขที่ 63 หมู่ 1 ต.วังทับไทร อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร โทร. 099-2711303 กล่าวว่ามะม่วงเป็นไม้ผลที่สามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างเป็นอย่างดี แม้จะมีความเสี่ยงในเรื่องของสภาพอากาศ ภัยธรรมชาติก็ตาม ราคาซื้อขายในแต่ละปีที่มีปัจจัยแตกต่างกันไปในแต่ละปี แต่ในภาพรวมการปลูกและผลิตมะม่วงยังถือว่าเป็นอาชีพเกษตรกรรมที่ยังสร้างรายได้ดี แต่การเลือกปลูกมะม่วงสายพันธุ์ต่างๆก็สร้างรายได้แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง พื้นที่ปลูกมะม่วง 1ไร่ (อายุต้น 4 ปีขึ้นไป) จะให้ผลผลิตราว 1,500 – 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งที่ผ่านมาจะขายมะม่วงได้ดังนี้ ถ้าเป็นมะม่วงมัน เช่น ฟ้าลั่น จะขายได้ราคาเฉลี่ย 18 – 25 บาทต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ประมาณ 27,000 – 50,000 บาท ต่อไร่ , มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์4 จะขายได้เฉลี่ย 25 – 40 บาทต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ประมาณ 37,500 – 80,000 บาทต่อไร่ , มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จะขายได้ราคาเฉลี่ย 25 – 60 บาทต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ประมาณ 37,500 – 120,000 บาทต่อไร่ ซึ่งสำหรับราคาขายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองอาจจะมีราคาสูงมากกว่านี้ซึ่งในบางปีราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 100 บาททีเดียว เกร็ดความรู้ นำมาฝากหลายท่านมีข้อสงสัยว่า หลังจากมะม่วงออกดอกแล้วกี่วันจะเก็บได้ ดูได้จากตารางนี้ พันธุ์ อายุการเก็บเกี่ยว นับจาก – น้ำดอกไม้ 100 วัน วันที่ดอกบานเต็มช่อ – เขียวเสวย 110 วัน วันที่ดอกบานเต็มช่อ – ฟ้าลั่น 90 วัน วันที่ดอกบานเต็มช่อ – โชคอนันต์ 80 – 100 วัน วันที่ดอกบานเต็มช่อ – เพชรบ้านลาด 90 – 100 วัน วันที่ดอกบานเต็มช่อ ความแก่ที่นับจะอยู่ที่ 80-90% เราสามารถบวก-ลบจำนวนวันได้ประมาณ 10 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย เช่น อากาศร้อนมะม่วงก็จะแก่เร็วขึ้น หรือบางท่านใช้วิธีตัดผลไปจุ่มน้ำ ถ้าลอยเป็นมะม่วงอ่อน ถ้าจมน้ำแสดงว่าผลมะม่วงแก่แล้ว
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
พิจิตร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน 11 ก.พ.62
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM