เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
โกโก้ปลูกได้ แต่ตลาดยังจำกัด
   
ปัญหา :
 
 
    ผมสนใจอยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับโกโก้ว่า เจริญเติบโตในสภาพภูมิอากาศอย่างไร วิธีการปลูกและดูแลรักษานั้น ควรทำอย่างไร และแหล่งพันธุ์จะหาได้ที่ไหน ขอคำแนะนำด้วยครับ
วิธีแก้ไข :
 
    โกโก้ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง เจริญเติบโตได้ดี ภายใต้ร่มเงาของพืชอื่น ความสูงเฉลี่ยประมาณ 4-10 เมตร ลำต้นตั้งตรง ใบเรียงตัวเป็นขั้นบันไดเวียนกับลำต้น เมื่อต้นสูง 1-2 เมตร จะแตกกิ่งข้างออกมาหลายกิ่ง แต่เกษตรกรมักตัดกิ่งออกให้เหลือเพียง 3-5 กิ่ง โกโก้มีรากแก้วหยั่งลงดินลึก 1.50 เมตร ส่วนรากแขนงและรากฝอยจะแพร่กระจายออกรอบโคนต้น บางกรณีสามารถแพร่ออกไปได้ไกลถึง 6 เมตร ดอกโกโก้แทงออกจากกิ่งและลำต้น ฤดูออกดอกคือฤดูฝน การผสมเกสรเกิดขึ้นในช่วงเช้า โดยธรรมชาติของโกโก้ การผสมเกสรติดเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น หลังผสมเกสรแล้วอีก 5-6 เดือน จึงเก็บผลได้ ในหนึ่งผลมีเมล็ด 30-40 เมล็ด สีของเมล็ดมีตั้งแต่สีขาว ม่วงอ่อน จนถึงสีม่วงแก่ โกโก้ (CaCoa) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2446 ส่วนใหญ่นิยมปลูกแซมในสวนมะพร้าว แถบภาคใต้ปลูกมากที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และชุมพร ส่วนภาคกลางพบที่จังหวัดสมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ประโยชน์ของโกโก้นั้นนำมาใช้ทำเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ ทำช็อกโกแลต ลูกอม ลูกกวาด เค้ก และคุกกี้ มีการนำไปทำเครื่องสำอางก็มี เช่น ทำน้ำหอมและลิปสติค พันธุ์โกโก้ ที่นิยมปลูกในปัจจุบัน มีอยู่หลายพันธุ์ คือ พันธุ์คริออลโล ลักษณะผลมีสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม เปลือกบาง ผิวขรุขระ ผลยาว ก้นแหลม เมล็ดมีขนาดใหญ่ สีม่วงอ่อน โกโก้พันธุ์นี้มีกลิ่นและรสชาติดี เหมาะสำหรับทำช็อกโกแลต แต่มีข้อเสียคือ ผลผลิตต่ำและไม่ทนโรค พันธุ์ฟอเรสเตอโร ผลมีสีเขียวยาว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เปลือกหนา ก้นมน เมล็ดค่อนข้างแบน สีแดงเข้มจนถึงม่วงเข้ม เป็นพันธุ์ให้ผลผลิตสูง แต่ไม่ทนโรคยอดและกิ่งแห้ง และ พันธุ์ทรินิทาริโอ มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ก้นแหลม เมล็ดสีม่วงอ่อน ผลผลิตต่ำกว่าพันธุ์อื่นๆ แต่มีคุณภาพดีกว่า ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกร ปลูกพันธุ์ลูกผสม เช่น สายพันธุ์ลูกผสม พีเอ 7 กับ เอ็นเอ 32 เป็นสายพันธุ์อายุเบา ให้ผลผลิตสูง น้ำหนักเมล็ดแห้งเฉลี่ย 150-200 กิโลกรัม ต่อไร่ สายพันธุ์ลูกผสม ยูไอที 1 กับ เอ็นเอ 32 มีขนาดผลใหญ่ เมล็ดแบน ผลผลิตเฉลี่ย 130-150 กิโลกรัม และ สายพันธุ์ลูกผสม เอ็นเอ 33 และยูไอที 1 มีขนาดผลค่อนข้างใหญ่ ให้ผลผลิต เมล็ดแห้ง 100-120 กิโลกรัม ต่อไร่ โกโก้เจริญเติบโตได้ดีในแหล่งที่มีปริมาณน้ำฝน 1,500-2,000 มิลลิเมตร ต่อปี อุณหภูมิที่เหมาะสมระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส ดินอุดมสมบูรณ์ มีความเป็นกรด-ด่าง 5.0-7.0 ต้องการแสงแดด 30 เปอร์เซ็นต์ ระยะแรก แต่เมื่อเติบโตเต็มที่แล้ว ต้องการแสง 50-70 เปอร์เซ็นต์ วิธีปลูก ใช้ระยะปลูก 3x3 เมตร หรือบางกรณีที่ปลูกแซมในสวนไม้ผลยืนต้นอาจใช้ระยะ 6x6 เมตร ก็ได้ เตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมกว้าง 50 เซนติเมตร และลึก 50 เซนติเมตร เท่ากัน รองก้นหลุมด้วยใบหญ้าแห้ง หรือฟางข้าวแห้งอย่างใดอย่างหนึ่ง คลุกดินที่ขุดจากหลุมด้วยปุ๋ยคอกเก่าอัตราหนึ่งปุ้งกี๋ ต่อหลุม เกลี่ยกลับลงหลุมเดิม การเตรียมต้นกล้า อาจใช้วิธีเพาะเมล็ด ต้นกล้าควรมีอายุ 4-6 เดือน ขึ้นไป ปัจจุบันนิยมใช้ต้นพันธุ์ที่ใช้วิธีเสียบยอด เนื่องจากได้พันธุ์ดีที่ต้องการ เลือกต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ ปลูกลงที่กลางหลุมที่เตรียมไว้ ขณะฉีกถุงระวังอย่าให้รากฉีกขาด ขุดดินตอนกลางหลุม วางต้นกล้าลง กลบดินพอแน่น ปักหลักไม้ผูกกับต้นกล้าป้องกันต้นโยกและรดน้ำตามทันที การใส่ปุ๋ย ปีกแรก เมื่อครบอายุ 5 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 300 กรัม ต่อต้น ด้วยวิธีเซาะร่องตื้นๆ รอบโคนต้น ห่างออกมา 30-50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยตามร่อง กลบดินทับและรดน้ำตามทันที ปีที่สอง ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 500 กรัม ต่อต้น และปีที่ 3 ใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17-2 อัตรา 500-800 กรัม ต่อต้น วิธีเดียวกัน โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่ต้นฤดูฝน และอีกครั้งปลายฤดูฝน หมั่นกำจัดวัชพืชรอบต้น รัศมี 50 เซนติเมตร ให้สะอาดอยู่เสมอ เนื่องจากโกโก้เป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูง ดังนั้น ในช่วงแล้ง ขาดฝนเกิน 3 เดือน จำเป็นต้องให้น้ำเป็นครั้งคราว ครบ 3 ปี โกโก้เริ่มติดผล แต่จะให้ผลผลิตคุ้มค่าทางเศรษฐกิจต้องมีอายุ 4-5 ปี ขึ้นไป โรคสำคัญของโกโก้ โรคกิ่งแห้ง เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง โดยเข้าทำลายระบบท่อน้ำท่ออาหาร จนไม่สามารถส่งน้ำและอาหารไปเลี้ยงส่วนยอดได้ ทำให้ยอดแห้งตาย เมื่อผ่าดูตามแนวยาวของกิ่ง มักพบเส้นสีน้ำตาลหลายเส้น เกิดจากการทำลายของเชื้อราข้างต้น วิธีป้องกันกำจัด เมื่อพบการระบาดระยะแรก ให้ตัดกิ่งที่เป็นโรคเผาทำลายทิ้งไป ป้องกันไม่ให้โรคลุกลามไปยังบริเวณอื่น โรคผลเน่า เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง จะเข้าทำลายผล ทำให้เกิดแผลสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ฉ่ำน้ำ เมื่อระบาดรุนแรงจะลุกลามไปทั่วผล ทำให้เก็บผลผลิตไม่ได้ วิธีป้องกันกำจัด ด้วยวิธีตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง เก็บผลสุกแก่ที่ร่วงหล่นใต้ต้นนำไปฝังทำลายเพื่อลดแหล่งสะสมโรค เมื่อเกิดการระบาดรุนแรง ให้ฉีดพ่นด้วย คอปเปอร์ ออกซีคลอไรด์ หรือคูปราวิท ตามอัตราแนะนำ แมลงศัตรูที่พบการระบาดอยู่เสมอ คือ มวนโกโก้ แมลงชนิดนี้เข้าทำลายได้ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวโตเต็มวัย มักเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดและผลอ่อน การขยายพันธุ์เริ่มจากเพศเมียวางไข่ลงที่ผลโกโก้ ตัวอ่อนจะเจาะเข้ากินเนื้อผล เมื่อเป็นตัวเต็มวัยและออกจากผลเข้ากัดกินยอดอ่อนจนเกิดความเสียหาย การป้องกำจัด ให้เก็บผลที่ร่วงหล่น หรือผลที่มีการทำลายของมวนโกโก้ เผาหรือฝังทำลาย หากพบการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วย เซฟวิน 85 หรือพอสส์ ตามอัตราแนะนำ ข้อควรระวังขณะฉีดพ่นสารเคมี ให้สวมหน้ากาก ห้ามสูบบุหรี่ หลังฉีดพ่นสารเคมีแล้วให้เปลี่ยนเสื้อผ้า เก็บสารเคมีในที่เด็กเอื้อมไม่ถึง และอาบน้ำให้สะอาด การเก็บเกี่ยว หลังออกดอกแล้ว 5-6 เดือน ผลเริ่มแก่เก็บเกี่ยวได้ ให้ใช้มีดคมและสะอาดตัดที่ขั้วผล ไม่แนะนำให้ปลิดด้วยมือ เก็บผลที่มีการะบาดของโรคหรือแมลงแยกออกจากผลที่สมบูรณ์ การผลิตเมล็ดโกโก้เพื่อการค้า การหมัก ให้เก็บรวบรวมผลผลิตจำนวนพอเหมาะกับปฏิบัติ แล้วจึงทุบหรือผ่าด้วยมีด แยกเมล็ดออกจากไส้กลาง นำไปผึ่งแดดนาน 3-4 ชั่วโมง ครบกำหนดจึงนำลงหมักในภาชนะที่มีลักษณะเป็นตะแกรง เพื่อระบายของเหลวที่เกิดขึ้นในขั้นตอนของการหมัก และควรหลีกเลี่ยงใช้ภาชนะที่เป็นโลหะ น้ำหนักรวมขณะหมักควรอยู่ระหว่าง 60-80 กิโลกรัม ปิดทับภาชนะที่หมักเมล็ดโกโก้ด้วยกระสอบหรือผ้าหนา ครบ 3 วัน ให้กลับกองเมล็ดที่หมักไว้ ครบ 6 วัน จึงนำไปตากแห้งหรืออบแห้ง ให้เหลือความชื้นเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ ในเขตที่มีแดดจ้า แนะนำให้ใช้วิธีตากแห้ง แต่ในแหล่งที่มีฝนตกชุกควรใช้วิธีอบแห้ง วิธีอบแห้งด้วยเตาอบชนิดเป่าลมร้อนด้วยพัดลม เป็นวิธีนิยมปฏิบัติกันในปัจจุบัน เตาอบชนิดนี้ใช้เวลาอบ 1 วันครึ่ง เมล็ดโกโก้จะแห้งสนิทตามต้องการ คุณภาพที่เมล็ดโกโก้ที่ตลาดต้องการ คือผิวเมล็ดต้องเต่ง ผิวเรียบ ไม่เหี่ยว ขนาดเมล็ดค่อนข้างสม่ำเสมอ เมล็ดสะอาดปราศจากสิ่งเจือปน เมล็ดไม่หัก หรือเกาะกันแน่น และมีเยื่อหุ้มเมล็ดติดอยู่ ต้องการข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร อำเภอสวี จังหวัดชุมพร โทร. (077) 556-673 ในวันและเวลาทำการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
1
ตำบล / แขวง :
ยางหย่อง
อำเภอ / เขต :
ท่ายาง
จังหวัด :
เพชรบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
76130
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 มกราคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 18 ฉบับที่ 374
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM