เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปาล์มน้ำมันพืชมีอนาคต
   
ปัญหา :
 
 
    ผมมีความประสงค์จะปลูกปาล์มน้ำมันที่จังหวัดสระบุรี จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ และการปลูกให้ได้ผลดีนั้นควรทำอย่างไร พันธุ์ที่นิยมปลูกมีพันธุ์อะไร และจะหาซื้อได้จากที่ไหนครับ ขอคำแนะนำด้วยครับ
วิธีแก้ไข :
 
    ปาล์มน้ำมัน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแอฟริกาตะวันตก มีชาวโปรตุเกสนำเข้ามาปลูกในทวีปเอเชียครั้งแรกที่สวนพฤกษศาสตร์ เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2391 ต่อจากนั้นมา จึงแพร่กระจายไปยังเกาะสุมาตรา ในปี พ.ศ. 2413 ประเทศมาเลเซียนำพันธุ์จากสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ไปปลูกที่รัฐเซลังงอเป็นแห่งแรก และมีการวิจัยอย่างจริงจังพร้อมกับส่งเสริมให้มีการปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา ปัจจุบันพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในมาเลเซียและอินโดนีเซียรวมกันประมาณ 37 ล้านไร่ ส่วนในประเทศไทยมีการนำเข้ามาปลูกทดลองครั้งแรกที่สถานีทดลองยางคอหงส์ จังหวัดสงขลา ปัจจุบันยกระดับขึ้นเป็นศูนย์วิจัยยางสงขลา และอีกแห่งหนึ่งคือที่สถานีกสิกรรมพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี การขยายพื้นที่ปลูกในเชิงธุรกิจอย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา จากสถิติปี พ.ศ. 2546 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ประมาณ 2.10 ล้านไร่ จังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือ กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชที่ต้องการปริมาณน้ำฝน 1,600 มิลลิเมตร ต่อปี ดินมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง และหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ต้องการแสงแดดจัด และอุณหภูมิ 26-28 องศาเซลเซียส การปลูกปาล์มน้ำมัน การเตรียมพื้นที่ปลูก ไถพรวนปรับพื้นที่ให้เรียบ หากเป็นสวนเก่าให้โค่นทิ้ง เผาทำลาย กำจัดวัชพืชให้สะอาด ใช้ระยะปลูก 9x9x9 เมตร เป็น 3 เหลี่ยมด้านเท่า ให้แถวต้นปาล์มอยู่ในแนวเหนือใต้ ช่วงปลูกที่ดีที่สุดคือ ต้นฤดูฝน ขุดหลุมกว้าง 45 เซนติเมตร และลึก 35 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยใบหญ้าแห้ง หรือฟางข้าว อัดพอแน่นพร้อมกับหินฟอสเฟตอัตรา 250 กรัม ต่อหลุม คลุกดินที่ขุดจากหลุมกับปุ๋ยคอกเก่าให้เข้ากัน แล้วเกลี่ยกลับลงหลุม พันธุ์ที่นิยมใช้ปลูก สุราษฎร์ธานี 1 ลักษณะเด่น ให้ผลผลิตน้ำหนักทะลายสด 3,066 กิโลกรัม ได้น้ำมันดิบ 763 กิโลกรัม ต่อไร่ สุราษฎร์ธานี 2 ให้ผลผลิตน้ำหนักทะลายสด 3,254 กิโลกรัม ต่อไร่ หีบได้น้ำมันดิบ 740 กิโลกรัม ต่อไร่ และ สุราษฎร์ธานี 3 ให้ผลผลิตน้ำหนักทะลายสด 2,357 กิโลกรัม ต่อไร่ และให้น้ำมันดิบ 760 กิโลกรัม ต่อไร่ การเตรียมกล้า นำเมล็ดพันธุ์ดี ที่แก่และสมบูรณ์ไม่มีการเข้าทำลายจากโรคและแมลงศัตรู แยกเนื้อออกจากเมล็ด ขูดเนื้อที่ติดกับเมล็ดออกให้สะอาด แช่ในสารละลายคลอรีนนาน 15 นาที นำขึ้นล้างน้ำอีกครั้ง ผึ่งลมให้แห้ง และคลุกสารกำจัดเชื้อรา ผึ่งลมต่อไปอีก 2-3 วัน นำลงแช่ในน้ำร้อนที่ 42 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที จากนั้นหุ้มด้วยผ้าขาวบางอีก 5-7 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกจึงนำไปเพาะลงในถุงเพาะชำ ขนาด 38x46 เซนติเมตร มีวัสดุเพาะประกอบด้วย ดินเหนียว 2 ส่วน ทรายและขี้เถ้าแกลบอย่างละครึ่งส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากันดี กลบด้วยดินผสมตื้นๆ นำเข้าเก็บในโรงเรือนที่มีหลังคาพรางแสง ระยะแรกต้องให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ครบ 10 สัปดาห์ ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15+1.2 ตัวท้ายคือ แมกนีเซียมออกไซด์ อัตรา 150 กรัม ละลายน้ำ 30 ลิตร รดต้นกล้าได้ 500 ต้น ให้คัดแยกต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป เช่น ต้นที่ใบย่อยไม่คลี่ ต้นสูงชะลูด ต้นแคระแกร็น และใบกึ่งกลางขอดหดสั้น ซึ่งเป็นลักษณะไม่เป็นที่ต้องการ หมั่นดูแลรักษาต้นกล้าให้สมบูรณ์จนมีอายุ 6-9 เดือน จึงนำออกจากโรงเรือนให้ได้รับแสงแดดเต็มที่เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ ก่อนนำไปปลูกลงในแปลง ให้วางต้นกล้าลงข้างหลุมปลูก เปิดดินตอนกลางหลุมที่เตรียมไว้ให้มีขนาดเท่ากับขนาดถุงเพาะชำกล้า ตัดก้นถุงให้ขาดและวางลงในหลุมปลูก ดึงขอบถุงเพาะชำออกจากวัสดุเพาะขึ้นด้านบนจนพ้นต้นกล้า เกลี่ยดินกลบโคน อัดพอแน่นให้เป็นรูปหลังเต่า ปักหลักไม้ ผูกกับต้นกล้าให้แน่นป้องกันลมพัดโยก รดน้ำพอชุ่ม และให้ปลูกซ่อมต้นที่ตายหรือไม่สมบูรณ์ภายในเวลา 1 เดือน หากเพิ่มช้าเกินไป การเจริญเติบโตต้นที่ซ่อมจะมีขนาดต่างกันเป็นคนละรุ่น ในระยะแรกต้นปาล์มน้ำมันยังมีขนาดเล็กอยู่ ทำให้มีพื้นที่ว่าง เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินและป้องกันการชะล้างหน้าดินไปพร้อมกัน จึงควรแนะนำให้ปลูกตระกูลถั่วลงในพื้นที่ว่างดังกล่าว จนย่างเข้าปีที่ 3 ต้นปาล์มน้ำมันเติบโตทำให้มีที่ว่างน้อยลง จึงงดการปลูกพืชตระกูลถั่ว การให้น้ำ ในภาคใต้ฝนจะทิ้งช่วง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนเมษายน และระหว่างเดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนกันยายน ในช่วงดังกล่าวจำเป็นต้องให้น้ำ ด้วยวิธีมินิสปริงเกลอร์ ปริมาณ 2-3 ลิตร ต่อวัน การใส่ปุ๋ย ปีที่ 1 หลังจากปลูกลงแปลงแล้ว 3 เดือน ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 21-11-11+1.2 (แมกนีเซียมออกไซด์) อัตรา 400-500 กรัม ต่อต้น ปีที่ 2 ใส่ปุ๋ยสูตร 14-9-20+2 และโพแทสเซียมคลอไรด์ อัตรา 400-500 กรัม และ 500 กรัม ต่อต้น 2 ครั้ง เมื่ออายุ 18 และ 24 เดือน ปีที่ 3 ครบอายุ 30 เดือน ปาล์มเริ่มให้ผลผลิตให้ใส่ปุ๋ยสูตร 14-9-20+2 อัตรา 800 กรัม ต่อต้น และอายุ 6 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 14-14-21 อัตราต้นละ 1 กิโลกรัม ต่อต้น ปีที่ 4 ครบ 42 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 14-9-20+2 อัตรา 1.5 กิโลกรัม ต่อต้น หินฟอสเฟต อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น และโพแทสเซียมคลอไรด์อีก 1.5 กิโลกรัม ต่อต้น เมื่อต้นปาล์มมีอายุเพิ่มขึ้นให้ใส่ปุ๋ยสูตรเดิม แต่ให้ปริมาณเพิ่มขึ้น วิธีใส่ปุ๋ย ควรหว่านใต้ทรงพุ่ม ห่างจากโคนต้นประมาณ 1 เมตร พร้อมรดน้ำตามทันที การเก็บเกี่ยวทะลายปาล์ม คัดเลือกทะลายปาล์มที่มีผลสุกแก่ที่มีสีส้มแดง จากนั้นใช้เสียมที่คมแทงตัดขั้วให้ขาด แล้วตัดแต่งขั้วให้ยาวพอเหมาะกับการขนส่งเข้าโรงงาน รวบรวมไว้เป็นกองอย่าให้เกะกะเส้นทางขนส่ง ผลปาล์มที่ร่วงหล่นตกค้างอยู่ตามกาบทางใบ ควรเก็บออกให้หมด ข้อควรพิจารณา หลังเก็บผลผลิตแล้วต้องส่งเข้าโรงงานภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ผลทะลายปาล์มต้องสะอาดไม่มีการเจือปนจากดิน หิน กรวด และทราย ทั้งนี้ต้นปาล์มจะให้ผลผลิตได้คุ้มค่าเศรษฐกิจไปจนถึงอายุ 9 ปี โรคสำคัญของปาล์มน้ำมัน ได้แก่ โรคทะลายเน่า เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง ระยะแรกจะพบเส้นใยสีขาวที่ทะลายปาล์ม ต่อมาจะเข้าทำลายเนื้อผล จนเน่าเป็นสีน้ำตาล และลุกลามไปยังทะลายอื่น ในที่สุดผลปาล์มจะเน่าเสียหายทั้งทะลาย ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ วิธีป้องกันกำจัดที่ดีที่สุด ด้วยวิธีตัดแต่งทะลายไม่ให้อัดแน่นกันมากเกินจำเป็น พร้อมตัดแต่งทางใบปาล์มออกบ้าง เพื่อให้แสงแดดส่องเข้าภายในทรงพุ่มได้บ้าง หากปฏิบัติได้ตามคำแนะนำ การระบาดของโรคจะหมดไป แมลงศัตรูสำคัญของปาล์มน้ำมัน ได้แก่ หนู เนื่องจากปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตตลอดปี จึงเป็นแหล่งอาหารอย่างดีของหนู วิธีป้องกันกำจัด ให้หมั่นทำความสะอาดในบริเวณสวนปาล์มน้ำมันอย่างสม่ำเสมอ ผนวกวิธีการทำกับดัก หากมีการระบาดรุนแรง จึงใช้สารเคมีออกฤทธิ์เฉียบพลัน ด้วย ซิงก์ ฟอสไฟด์ 80 เปอร์เซ็นต์ ชนิดผงอัตรา 1 กรัม ผสมกับปลายข้าว 75 กรัม และมะพร้าวขูดคั่วสุก 3 กรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำเหยื่อไปวางตามทางเดินผ่านของหนู หากมีฝนตกชุกควรทำบ้านขนาดเล็กสำหรับวางเหยื่อให้ ข้อควรระวังขณะผสมอาหารเหยื่อพิษ ต้องสวมถุงมือให้มิดชิด พร้อมมีฝาปิดปากและจมูก สิ่งสำคัญห้ามวางเหยื่อพิษ ในตำแหน่งที่ง่ายต่อสุนัข เป็ด และไก่ เข้ามากินได้ง่าย หากปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น การเข้าทำลายของหนูจะลดความรุนแรงลงในที่สุด จังหวัดสระบุรี นับว่าไม่เหมาะที่จะปลูกปาล์มน้ำมัน เนื่องจากหลายแห่งเป็นเขตอับฝน แหล่งพันธุ์ ติดต่อได้ที่ ศูนย์วิจัยปาล์มสุราษฎร์ธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร. (01) 373-0926 ในวันและเวลาทำการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
ลาดยาว
อำเภอ / เขต :
จตุจักร
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
10900
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 18 ฉบับที่ 373
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM