เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ฟ้าทลายโจร และปัญจขันธ์ สมุนไพรแห่งปี
   
ปัญหา :
 
 
    ผมเคยอ่านหนังสือพิมพ์ พบเรื่องเกี่ยวกับสมุนไพรปัญจขันธ์ และฟ้าทลายโจร ทั้งนี้ไม่ได้บอกรายละเอียดว่ามีสารอะไรที่เป็นประโยชน์ในการรักษาโรค โดยเฉพาะปัญจขันธ์มีลักษณะอย่างไร จึงขอรบกวนคุณหมอเกษตรช่วยกรุณาให้คำแนะนำด้วย และผมขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
วิธีแก้ไข :
 
    ปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้สมุนไพรฟ้าทลายโจร และปัญจขันธ์ เป็นสมุนไพรแห่งปี เนื่องจากพืชสมุนไพรทั้งสองชนิด มีสารสำคัญที่สามารถรักษาโรคได้หลายชนิด อีกทั้งประเทศต่างๆ มีผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในแถบสแกนดิเนเวีย ใช้สมุนไพรฟ้าทลายโจรรักษาอาการไข้หวัดในมนุษย์มานานหลายปี ส่วนปัญจขันธ์เป็นสมุนไพรจีนที่มีงานวิจัยและการนำไปใช้ประโยชน์ในประเทศจีนมานานหลายชั่วอายุคน สมุนไพรไทยได้เลือนหายไปจากประเทศนานกว่า 5 ทศวรรษ เนื่องจากอิทธิพลของความก้าวหน้าทางการแพทย์แผนใหม่ ที่หลั่งไหลมาจากซีกโลกตะวันตกเข้าทดแทนการแพทย์แผนไทยที่บรรพบุรุษได้สั่งสมความรู้ประสบการณ์จนกลายเป็นภูมิปัญญาของชาติมาหลายชั่วอายุคน ด้วยเหตุผลที่ใช้สะดวกและได้ผลรวดเร็วทันใจ อย่างไรก็ตาม นับเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะว่าปัจจุบันสังคมไทยได้หันมานิยมใช้สมุนไพรทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยมีจีนเป็นต้นแบบของวิทยาการที่มีความก้าวหน้า การพัฒนาสมุนไพรทางการแพทย์มาเป็นเวลาอันยาวนาน ประกอบกับความต้องการใช้ทรัพยากรในประเทศและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย สมุนไพรจึงกลับมาได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้นดังกล่าวมาแล้ว ฟ้าทลายโจร มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น น้ำลายพังพอน ขุนโจรห้าร้อย ฟ้าสาง สามสิบดี ชาวจีนเรียกว่า ซิปังกิ่โขว่เช่า ฟ้าทลายโจรจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับโหระพา กะเพรา ต้อยติ่ง และทองพันชั่ง ใบของฟ้าทลายโจรมีรสขมมาก จึงได้รับสมญานามว่า ราชาแห่งความขม (King of bitterness) ฟ้าทลายโจร มีทรงต้นเป็นไม้พุ่ม ต้นเตี้ย มีความสูงเฉลี่ย 65-70 เซนติเมตร ลักษณะลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยวปลายแหลม ใบแตกออกจากข้อตรงข้ามกัน ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ออกดอกเป็นช่อ ดอกเดี่ยวมีขนาดเล็กสีขาว ออกตามง่ามใบบริเวณส่วนยอด เมื่ออายุ 85-100 วัน ดอกจะเริ่มบาน โดยบานจากโคนช่อไปส่วนยอด ดอกเดี่ยวมีห้ากลีบ ส่วนปลายบานออก ส่วนโคนเชื่อมเป็นหลอด เกสรตัวผู้มี 2 อัน ก้านเกสรตัวเมียเรียวยาว ฝักคล้ายฝักต้อยติ่ง ฝักแก่มีสีน้ำตาลแตกง่าย เมล็ดมีขนาดเล็ก การขยายพันธุ์ นิยมใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีทั้งในร่มรำไรและแสงแดดจ้า ฟ้าทลายโจรมีสารสำคัญ แอนโดรกราโฟไลด์ มีคุณสมบัติในการใช้รักษาอาการเจ็บคอ ลดน้ำมูก รักษาอาการไข้หวัด ต้านการอักเสบ ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ปัญจขันธ์ เป็นสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ เรียกชื่อภาษาจีนว่า เจียวกู่หลาน เชียนเฉ่า ญี่ปุ่น เรียกว่า อะมาซาซูรู จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับแตงน้ำเต้า เจียวกู่หลานเป็นพืชล้มลุกชนิดเถาเลื้อยไปตามพื้นดิน รากงอกออกตามข้อ ลักษณะใบเป็นกลุ่ม มีใบย่อย 5 ใบ ลักษณะเดียวกับพัดลม ขอบใบเดี่ยวเป็นหยัก ผิวบนและล่างมีขนอ่อนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักดำ ส่วนนำมาใช้ประโยชน์คือ ส่วนเหนือดิน ในจีนและญี่ปุ่นมีการวิจัยนำไปใช้ประโยชน์นานมาแล้ว อายุเก็บเกี่ยวที่ให้สารสำคัญสูงสุด เมื่ออายุ 4-5 เดือน สารสำคัญของปัญจขันธ์คือ จายพีโนไซด์ ซึ่งเป็นสารจำพวกซาโพนิน มีสูตรโครงสร้างคล้ายกับสารสำคัญที่พบในโสมเกาหลี สารสำคัญชนิดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ ลดระดับไขมันในเส้นเลือด เสริมภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบและช่วยให้นอนหลับ แหล่งเพาะปลูกสำคัญปัจจุบัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ร่วมกันปลูกในพื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกพันธุ์ดี วิธีปลูก การขยายพันธุ์และวิธีเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้สารสำคัญสูง คาดว่าจะได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ภายในปี พ.ศ. 2549 นี้ ต้องการรายละเอียดติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากปัจจุบันรัฐให้ความสำคัญกับสมุนไพรมากขึ้น แต่การวิจัยและพัฒนาสมุนไพรของไทยยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ ดังนั้น เพื่อยกระดับสมุนไพรไทยให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าประเทศอื่นๆ คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ จึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาสมุนไพรไทยขึ้น 8 ยุทธศาสตร์ คือ 1. "ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรแบบครบวงจร" เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ใช้สนับสนุนความปลอดภัยและได้คุณภาพของสารสำคัญที่ใช้รักษาโรคและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 2. "ส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพ" เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและปริมาณสม่ำเสมอและปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์และสารเคมีทุกชนิด 3. "กำหนดมาตรฐานและการควบคุมคุณภาพสมุนไพร" เพื่อให้มีการควบคุมคุณภาพ และกำหนดมาตรฐานคุณภาพวัตถุดิบของสมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ 4. "ส่งเสริมอุตสาหกรรมสมุนไพร" โดยมุ่งเน้นให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่นำรายได้เข้าประเทศ ทั้งรูปของผลิตภัณฑ์สารสกัด เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค 5. "ส่งเสริมการตลาดสมุนไพร" ปัจจุบันมีค่าประมาณการของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งยังมีโอกาสขยายเพิ่มเติมได้ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ 6. "ปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่ออุตสาหกรรมสมุนไพร" เนื่องจากประเทศไทยมีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับสมุนไพรอยู่หลายฉบับ แต่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร จึงต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน 7. "พัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้ด้านสมุนไพร" ทั้งนี้เนื่องจากความรู้ด้านสมุนไพรไทย มีการสืบทอดมายาวนาน ด้วยวิธีบอกเล่าจึงเกิดการคลาดเคลื่อนในการถ่ายทอดข้อมูล จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และ 8. "กำหนดกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน" ตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 โดยมีหลักการให้แต่ละหน่วยงานที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้ร่วมกันทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อลดการซ้ำซ้อนทั้งด้านวิจัยและการจัดสรรงบประมาณ โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่ได้ผลงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยแผนยุทธศาสตร์ข้างต้น ได้มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา สมุนไพรฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน กวาวเครือ กระชายดำ หม่อน กระเจี๊ยบแดง ชุมเห็ดเทศ ไพล บัวบก พริกไทย ส้มแขก และลูกประคบ ดังนั้น หากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินงานเป็นไปตามยุทธศาสตร์ทั้ง 8 อย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรไทยให้ก้าวหน้าในระดับสากลได้ไม่น้อยหน้าเจ้าตำรับเช่นจีนแผ่นดินใหญ่อย่างแน่นอน
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
7
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
สวนผึ้ง
จังหวัด :
ราชบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
70180
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 18 ฉบับที่ 369
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM