เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
พันธุ์ปทุมาที่ตลาดต้องการ
   
ปัญหา :
 
 
    ผมสนใจปลูกปทุมา เพราะเห็นว่าเป็นไม้ตัดดอกที่สวยงามมากชนิดหนึ่ง นอกจากดอกมีรูปทรงสวยงามแล้ว ยังมีสีสันสวยงามอีกด้วย ซึ่งมีความหลากหลาย จึงขอเรียนถามคุณหมอเกษตร ปัจจุบันมีพันธุ์ของปทุมาที่เด่นๆ มีพันธุ์อะไรบ้าง และการเกิดโรคที่หัวพันธุ์ปทุมาจะแก้ไขอย่างไรครับ ขอคำอธิบายด้วย ขอบคุณ
วิธีแก้ไข :
 
    ปทุมา หรือ ทิวลิปแห่งสยาม เนื่องจากดอกและก้านดอกมีรูปทรงคล้ายกับดอกทิวลิปของฝรั่ง หากพูดถึงพันธุ์ของปทุมานั้นมีอยู่หลายพันธุ์และสีสันแตกต่างกันไป ปทุมาแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ ประเภทตัดดอก และประเภทไม้กระถาง ก่อนอื่นผมขออธิบายเรื่องดอกของปทุมาให้เข้าใจก่อนครับ ส่วนที่เห็นเป็นกลีบดอกสีสวยงามนั้นคือ กลีบประดับ ส่วนดอกจริงๆ มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย จะเป็นดอกขนาดเล็ก อยู่ต่ำลงมาจากกลีบประดับ จะมีกาบสีเขียวเป็นหลุม เมื่อมองเข้าไปจะเห็นดอกขนาดเล็ก จำนวน 8-10 ดอกย่อยๆ ประเภทปลูกเป็นไม้ตัดดอก เช่น พันธุ์เชียงใหม่ สีชมพู สีชมพูอ่อนและสีชมพูเข้ม ลักษณะเด่นมีลำต้นสูง 40-45 เซนติเมตร แตกกอ 10-15 หน่อ ต่อกอ ใบแผ่ตั้งแข็งแรง ใบรี แผ่นใบมีสีเขียว เส้นกลางใบมีสีน้ำตาลเหลือบขาว ช่อดอกยาว 60-70 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางก้านดอกเฉลี่ย 1 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีชมพูอ่อน สีชมพู และชมพูเข้ม กลีบดอกคล้ายดอกบัว เฉลี่ยหนึ่งกอจะให้ดอก 5-8 ดอก (กลีบประดับ) พันธุ์สโนว์ไวท์ มีลำต้นสูง 40-50 เซนติเมตร ในหนึ่งกอมี 9-12 หน่อ ใบตั้งแข็งแรง ค่อนข้างกว้าง แผ่นใบมีสีเขียวและเส้นกลางใบมีสีเขียวเช่นเดียวกัน ก้านดอกยาว 50-60 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว ในหนึ่งกอให้ดอก 5-6 ดอก พันธุ์ทรอปิคอลสโนว์ ลำต้นสูง 50-55 เซนติเมตร ในหนึ่งกอให้หน่อ 10-12 หน่อ ใบยาว แผ่ออกด้านข้าง ก้านดอกยาว 60 เซนติเมตร คอดอกค่อนข้างอ่อน กลีบประดับมีสีขาว ส่วนปลายแต้มสีเขียวเล็กน้อย กลีบรี ปลายกลีบแหลม จำนวน 10 กลีบ ให้ดอก 4-6 ดอก ต่อกอ ประเภทที่ 2 ใช้ปลูกเป็นไม้กระถาง ได้แก่ พันธุ์ไข่มุกสยาม มีลำต้นค่อนข้างเตี้ย มีความสูงเพียง 28-33 เซนติเมตร แตกกอ 6-10 หน่อ ต่อกอ ก้านดอกแข็ง ใบรีกว้าง รูปทรงสวยงาม แผ่นใบสีเขียวนวล เส้นกลางใบสีเขียว ก้านดอกแข็ง ชูดอกเหนือใบมองเห็นชัดเจน ก้านดอกยาว 35-45 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 0.6 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาวนวล ปลายกลีบแต้มสีแดง ลักษณะกลีบกว้าง ปลายมน จำนวน 9 กลีบ ให้ดอก 2-3 ดอก ต่อกอ พันธุ์บัวสวรรค์เตี้ย เป็นพันธุ์ต้นเตี้ย มีความสูงเพียง 30-40 เซนติเมตร แตกกอ 7-12 หน่อ ต่อกอ ใบเรียวแคบ แผ่นใบสีเขียว เส้นกลางใบสีน้ำตาลเข้ม ก้านดอกยาว 45-55 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีขาว 9 กลีบ ให้ดอกคราวละ 2-3 ดอก และพันธุ์บัวสวรรค์ชมพูเตี้ย ลำต้นสูง 30-35 เซนติเมตร แตกกอ 7-12 หน่อ ใบตั้งตรง รูปร่างรีและแคบ แผ่นใบมีสีเขียว ก้านดอกตั้งตรง ยาว 35-40 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6 เซนติเมตร กลีบดอกสีชมพู ปลายกลีบแต้มสีชมพูหรือแดง ให้ดอกคราวละ 2-3 ดอก ต่อกอ หรือต่อกระถาง อุปสรรคในการปลูกปทุมา คือโรคเหี่ยวหรือโรคหัวเน่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง อาการของโรคเริ่มพบว่าใบแก่ที่อยู่ตอนล่างห่อม้วนเป็นหลอดคล้ายอาการขาดน้ำ โดยเฉพาะในช่วงเช้า ต่อมาบริเวณโคนหน่อเกิดใหม่ เริ่มเกิดอาการฉ่ำน้ำหรือเป็นเนื้อแก้วและลุกลามจากใบล่างขึ้นส่วนบน ในที่สุดใบจะมีสีเหลืองซีดทั้งต้นและตาย แล้วหักพับลงดิน การเกิดโรคที่หัวอ่อนจะฉ่ำน้ำ และเน่า เป็นสีน้ำตาลคล้ำและมีกลิ่นเหม็น ส่วนการเกิดโรคที่หัวแก่จะมีสีม่วงน้ำเงินอ่อน ฉ่ำน้ำคล้ายเนื้อแก้ว เมื่อบีบส่วนหัวจะมีน้ำสีเหลืองอ่อนไหลออกมา การแพร่กระจาย เกิดจากการนำหัวพันธุ์ที่ติดเชื้อมาปลูก หรือใช้แปลงปลูกที่เคยมีการระบาดของเชื้อโรคชนิดดังกล่าวมาก่อน การระบาดรุนแรงในช่วงฤดูฝน และมักระบาดรุนแรงขึ้น หากมีการเข้าทำลายจากไส้เดือนฝอยในเวลาเดียวกัน การป้องกันกำจัด ควรเลือกแหล่งที่ไม่เคยปลูกพืชตระกูลแตง ขิง ข่า มะเขือเทศ ยาสูบ มันฝรั่ง มะแว้ง และดาวเรืองมาก่อน ให้ปลูกพืชหมุนเวียนสลับทุกปี ใช้หัวพันธุ์จากแหล่งปลูกที่ปลอดโรคเก็บตัวอย่างดินจากแปลงปลูกวิเคราะห์ความเป็นกรด-ด่าง หากเป็นกรดควรใส่ปูนขาว อัตรา 500-800 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่อพบต้นที่เกิดโรคให้ถอนและเผาทำลาย แล้วราดฆ่าเชื้อในดินด้วยคลอรอกซ์ที่ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ ก่อนเข้าแปลงปลูกต้องล้างรองเท้าด้วยคลอรอกซ์ทุกครั้ง ระวังอย่าให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นปทุมาเกิดเป็นแผล เพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย หลังเก็บดอกหรือหัวพันธุ์แล้ว ให้เก็บเศษพืชเผาทำลายทิ้งให้หมด การเก็บดอก ควรเก็บเกี่ยวเมื่อกลีบประดับบาน 4-6 กลีบ ก่อนตัดดอก ต้องรดน้ำพอชุ่ม เวลาตัดดอกดีที่สุดคือในตอนเช้า ตัดให้มีใบติดมาด้วย 1 ใบ แล้วแช่ในน้ำสะอาด หากเก็บในตู้รักษาอุณหภูมิที่ 15 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 15-25 วัน การเก็บหัวพันธุ์ ให้รดน้ำสะอาดในแปลง 1 วัน ก่อนเก็บหัวพันธุ์ เพื่อให้ดินนุ่มแล้วใช้เสียมที่สะอาดขุดหัวขึ้น ระวังอย่าให้เกิดบาดแผล เก็บหัวลงในตะกร้า เมื่อเก็บได้ปริมาณที่ต้องการแล้วฉีดน้ำล้างหัวในตะกร้าให้สะอาดแล้วแยกขนาดและผึ่งลมให้แห้ง ล้างกรรไกรที่คมด้วยแอลกอฮอล์ตัดแต่งราก และตุ้มที่ไม่สมบูรณ์ออก แล้วแช่หัวพันธุ์ในคลอรอกซ์ ความเข้มข้น 5.25 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 10-15 นาที เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย นำขึ้นผึ่งลมจนแห้ง และป้องกันเชื้อราให้แช่หัวพันธุ์ในคาร์เบนดาซิม 50 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ เป็นเวลา 30 นาที นำขึ้นผึ่งลมจนแห้ง การปฏิบัติตามขั้นตอนที่ผมแนะนำคุณจะได้หัวพันธุ์ที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศครับ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
5
ตำบล / แขวง :
โรงช้าง
อำเภอ / เขต :
ป่าแดด
จังหวัด :
เชียงราย
รหัสไปรษณีย์ :
57190
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 18 ฉบับที่ 369
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM