เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
วิธีปลูกมะละกอให้ได้ผลดี เทคนิคการเปลี่ยนเพศในมะละกอ
   
ปัญหา :
 
 
    ผมเป็นคนหนึ่งที่นิยมบริโภคมะละกอมาก และปลูกมะละกอไว้รับประทานในบริเวณบ้านมาได้หลายปีแล้ว แต่จนปัญญาที่จะปลูกให้งามสมใจ ผมจึงขอคำแนะนำว่าจะมีวิธีใดบ้างที่ปลูกมะละกอให้ได้ผลดี และอีกหนึ่งคำถามคือมะละกอที่ผมปลูกไว้บางต้นที่ช่อดอกยาว แต่ไม่ยอมติดผล คุณหมอเกษตรกรุณาแนะนำด้วยว่าจะแก้ไขได้อย่างไร
วิธีแก้ไข :
 
    มะละกอ จัดเป็นพืชสากลนิยมเลยทีเดียว โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย พันธุ์มะละกอที่นิยมปลูกกันอยู่ในปัจจุบันคือ พันธุ์แขกดำ แขกนวล โกโก้ และสายน้ำผึ้ง มีแหล่งปลูกอยู่ที่จังหวัดชุมพร ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และอีกหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มะละกอทั้ง 4 พันธุ์ข้างต้น มีผลขนาดใหญ่ เฉลี่ยน้ำหนัก 1-2 กิโลกรัม ในฤดูร้อนมะละกอมักติดผลน้อย จึงทำให้มีราคาแพง ในตลาดต่างประเทศที่ฮ่องกงนิยมบริโภคมะละกอผลโตและสุก ส่วนประเทศแถบยุโรป นิยมบริโภคมะละกอผลเล็กและสุกน้ำหนักน้อยกว่า 1 กิโลกรัม ที่สำคัญเนื้อต้องมีสีเหลืองส้มเพื่อนำไปแปรรูปเป็นฟรุ้ตสลัดบรรจุกระป๋อง เช่น พันธุ์ปากช่อง 1 พื้นที่เหมาะสำหรับปลูกมะละกอ ดินควรเป็นดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนเหนียว หน้าดินลึก 1 เมตร ระบายน้ำได้ดี หากมีน้ำท่วมขังเพียง 1-2 วัน ต้นมะละกอรากจะเน่าและโค่นล้มตายในที่สุด การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ซื้อเมล็ดจากแหล่งจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ แต่ก็สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นที่ให้ผลแล้วด้วยตนเอง ซึ่งทำได้โดยคัดเลือกผลมะละกอจากต้นที่ให้ผลดก ผลมีขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่า ผลจากต้นกระเทย คือต้นที่มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียในต้นเดียวกัน เมื่อนำเมล็ดพันธุ์จากผลต้นกระเทยไปปลูกจะได้อัตราต้นกระเทยต่อต้นตัวผู้เท่ากับ 2 ต่อ 1 ดังนั้น การคัดเลือกเมล็ดเพื่อใช้ปลูก จึงควรเลือกเฉพาะเมล็ดที่อยู่ตอนกลางผลจะได้เมล็ดปลูกเป็นต้นกระเทยในอัตราที่สูงที่สุด นอกจากมะละกอมีต้นกระเทยแล้ว ยังมีต้นมะละกออีก 2 ประเภท คือ ต้นมะละกอเพศเมีย หรือตัวเมียให้สังเกตที่ดอก จะมีลักษณะอวบและใหญ่ มีกลีบดอก 5 กลีบ ฉีกแยกกันตั้งแต่ขั้วดอกตอนปลายดอก มีอับเกสรตัวเมีย 5 แฉก ก้านดอกสั้นให้ผลกลมและอ้วน ภายในกลวง และอีกประเภทหนึ่งคือ ต้นมะละกอเพศผู้ ลักษณะดอกเป็นหลอดขนาดเล็ก ส่วนปลายบานแยกกันเป็นแฉก มีก้านละอองเกสรตัวผู้ 10 อัน แต่ไม่มีรังไข่และเกสรตัวเมีย ก้านดอกยาวแยกกัน แต่ละดอกมะละกอประเภทนี้จะไม่ติดผล ฉะนั้น ต้นมะละกอที่คุณถามมานั้น ความจริงแล้วเป็นมะละกอต้นตัวผู้นั่นเองครับ แต่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วย เทคนิคการเปลี่ยนต้นมะละกอเพศผู้ให้เป็นต้นกระเทย ด้วยวิธีตัดยอดต้นมะละกอด้วยมีดคมและสะอาดให้ขาด โดยเหลือใบไว้ 1-2 ใบ ก็พอ แล้วบำรุงด้วยปุ๋ยยูเรีย อัตรา 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ปี๊บ คนให้ละลายราดที่โคนต้นมะละกอ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เมื่อเห็นว่าแตกยอดใหม่สมบูรณ์ดี จึงงดการให้ปุ๋ย แต่ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 2-3 วัน ต่อครั้ง ในกรณีที่แตกยอดหลายยอด ให้ตัดออกเหลือไว้เฉพาะยอดที่สมบูรณ์ที่สุดเพียงยอดเดียว เมื่อมะละกอยอดใหม่สมบูรณ์เต็มที่ก็จะเริ่มให้ดอกชนิดดอกกระเทยทั้งหมดตามต้องการ หลังจากคัดเมล็ดจากผลสุกได้แล้ว นำเมล็ดไปล้าง แยกเยื่อหุ้มออกให้หมด เทลงในตะแกรงทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำและผึ่งลมจนแห้งดี บรรจุลงในถุงพลาสติกปิดปากถุงเก็บในตู้เย็น หรือนำไปเพาะกล้าเตรียมปลูกในแปลงต่อไป เมล็ดที่เก็บในตู้เย็น ไม่ควรเก็บในช่องฟรีซเพราะจะทำให้ตัวอ่อนตาย วิธีเก็บในตู้เย็นไม่ควรเก็บนานเกิน 6 เดือน หากเกินเวลา 6 เดือนแล้ว เปอร์เซ็นต์ความงอกจะลดลง การเตรียมต้นกล้า ให้นำดินร่วน 3 ส่วน ปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน และขี้เถ้าแกลบอีก 1 ส่วน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน บรรจุลงในถุงเพาะชำขนาด 4x6 นิ้ว กระแทกเบาๆ พอแน่นให้วัสดุเพาะอยู่ต่ำกว่าระดับปากถุงครึ่งนิ้ว ฝังเมล็ดมะละกอ 3 เมล็ด ลงในวัสดุเพาะตื้นๆ รดน้ำพอชุ่ม นำเข้าเก็บในโรงเรือน หลังคามุงด้วยซาแรนพรางแสง 25-50 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดมะละกอจะงอกรากและต้นอ่อนเมื่อครบ 2 สัปดาห์ เมื่อต้นกล้าแข็งแรงดี ให้ถอนแยกเหลือไว้เพียงต้นเดียว ระยะนี้ควรป้องกันเชื้อราและแมลงศัตรูตามความเหมาะสม หากไม่มีศัตรูรบกวนก็ไม่ควรใช้สารเคมีแต่อย่างใด ย้ายต้นกล้าปลูกลงดินเมื่ออายุครบ 45-60 วัน การเตรียมดิน หากเป็นที่ดอนไม่จำเป็นต้องยกร่อง แต่หากเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงจำเป็นต้องยกร่องสวน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ไถดะ 1 ครั้ง และไถแปรอีก 1 ครั้ง เก็บซากวัชพืชออกจากแปลงให้สะอาด จากนั้นจึงไถพรวนย่อยดินและปรับระดับให้เรียบ ขุดหลุมกว้างและลึก 50 เซนติเมตรเท่ากัน ใช้ระยะปลูก 2.5X2.5 เมตร คลุกหน้าดินที่ขุดขึ้นจากหลุม ผสมปุ๋ยคอกเก่าอัตราหลุมละครึ่งปุ้งกี๋ หินฟอสเฟตอัตรา 150-250 กรัม หรือ 2-3 กระป๋องนม และปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กรัม ต่อหลุม หากดินที่อุดมสมบูรณ์ดีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีแต่อย่างใด คลุกเคล้าให้เข้ากัน รองก้นหลุมด้วยเศษใบไม้หรือฟางข้างแห้ง อัดพอแน่น ปริมาณครึ่งหนึ่งของหลุมปลูก แล้วจึงเกลี่ยนดินผสมกลับลงหลุมจนเต็มเปิดปากหลุม ขนาดเท่ากับถุงเพาะกล้า ฉีกหรือตัดถุงเพาะชำ แยกถุงออก วางต้นกล้าลงกลางหลุม อย่างนุ่มนวล ระวังอย่าให้รากฉีกขาดแล้วกลบดินและอัดพอแน่น เป็นรูปลังเต่าป้องกันน้ำขังขณะรดน้ำหรือฝนตกหนัก ปักหลักไม้ไผ่ผูกเชือกตรึงไว้ไม่ให้ลมพัดโยกและรดน้ำตาม ระยะฝนทั้งช่วงควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอทุก 2-3 วัน ต่อครั้ง โดยเฉพาะระยะติดดอกระวังอย่าให้ต้นมะละกอขาดน้ำเพราะจะทำให้ดอกร่วง ใส่ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก ปีละ 2 ครั้ง ต้นฤดูและปลายฤดูฝน คราวละ 2 ปุ้งกี๋ และใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 100 กรัม ต่อต้น ด้วยวิธีหว่านรอบทรงพุ่ม ระวังอย่าให้เม็ดปุ๋ยสัมผัสโคนต้นโดยตรง พร้อมรดน้ำตามทุกๆ 3 เดือน ระยะติดผลให้ละลายปุ๋ยยูเรีย อัตรา 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ปี๊บ รดที่โคนต้นทุกสัปดาห์ 2-3 ครั้ง จะทำให้ผลมีขนาดใหญ่และสมบูร์ หมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงให่สะอาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและอาหารจากต้นมะละกอ อีกทั้งไม่ให้เป็นแหล่งที่พักอาศัยของแมลงศัตรูอีกด้วย เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อมะละกอมีอายุครับ 7-8 เดือน และเก็บผลผลิตได้อีกหลายครั้ง เกษตรกรจะรื้อสวนปลูกใหม่ทุกๆ 2 ปี เนื่องจากมะละกอจะมีขนาดผลเล็กลงไปพร้อมๆ กับผลผลิตก็ลดลงตามไปด้วย โรคสำคัญของมะละกอ มีอยู่หลายโรค เช่น โรคไวรัสจุดวงแหวน หรือโรคใบด่างมะละกอ โรคดังกล่าวผมได้อธิบายในรายละเอียดไปก่อนนี้แล้ว โรคแอนแทรกโนส เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราชนิดหนึ่ง การระบาดที่ผลพบว่ามีอาการเริ่มแรกที่ก้นผล มองเห็นชัดเจนเมื่อผลสุก ขนาดของแผลมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 มิลลิเมตร ต่อมาแผลจะยุบเข้าไปในเนื้อผล ทำให้ผลเน่า บางครั้งอาจเข้าทำลายที่ใบหรือก้านใบ เกิดมีจุดสีน้ำตาล ปรากฏให้เห็น ต่อมาใบและก้านจะแห้งและร่วงหล่น วิธีป้องกันและกำจัด ก่อนนำเมล็ดไปเพาะกล้า ให้แช่เมล็ดในสารละลายที่มีสารเคมีบีโนมีล 6 กรัม ผสมน้ำอุ่นสะอาดที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส เป็นวเลา 3-5 นาที ส่วนต้นที่ติดผลแล้วใหใช้บีโนมีล อัตรา 6-12 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ละลายให้เข้ากันฉีดพ่นที่ผล ทุกๆ 10-5 วัน 2-3 ครั้ง การระบาดของโโรคจะลดความรุนแรงลงและให้งดการใช้สารเคมี ก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนจำหน่ายหรือนำไปรับประทาน แมลงศัตรูที่สำคัญของมะละกอ หรือ เพลี้ยไฟ เพลี้ยชนิดนี้เป็นแมลงขนาดเล็ก ลำต้นแคบและยาวสีเหลืองอ่อน ตัวเต็มวัยมีปีกบินได้ การระบาดมักเกิดขึ้นในช่วงฝนแล้ง เพลี้ยไฟจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบและยอดอ่อน ทำให้ใบแห้งมีสีน้ำตาล วิธีกำจัด ทำได้ด้วยวิธีฉีดน้ำให้ความชื้นที่ใบมะละกอ และสร้างบรรยากาศในสวนให้ชุ่มชื้น การะบาดของเพลี้ยไฟก็จะหมดไปในที่สุด ลองใช้ข้อแนะนำของผมไปปฎิบัติในสวนของคุณรับรองได้ผลเป็นที่น่าพอใจแน่นอนครับ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
18
ตำบล / แขวง :
ดอนทอง
อำเภอ / เขต :
เมือง
จังหวัด :
พิษณุโลก
รหัสไปรษณีย์ :
65000
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 367
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM