เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
รองเท้านารีปลูกเลี้ยงง่ายหากรู้วิธี
   
ปัญหา :
 
 
    ผมซื้อกล้วยไม้รองเท้านารีจากเพื่อน เมื่อนำมาปลูกและดูแลเป็นอย่างดี แต่กลับไม่สวยงาม แม้ว่าผมจะใส่ปุ๋ยและรดน้ำตามคำแนะนำของเพื่อนแล้วก็ตาม จึงขอเรียนถามว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้กล้วยไม้รองเท้านารีแข็งแรงสมบูรณ์และให้ดอกผลได้ดี ผมหวังว่าคงจะได้รับคำแนะนำจากคุณหมอเกษตร ทองกวาว เป็นอย่างดี ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง
วิธีแก้ไข :
 
    กล้วยไม้รองเท้านารี หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า เลดี้ซสลิปเปอร์ (Lady s Slipper) เนื่องจากรูปทรงของดอกคล้ายกับรองเท้าแตะของสุภาพสตรีนั่นเอง กล้วยไม้รองเท้านารีมีถิ่นกำเนิดทั้งในเขตอบอุ่นและเขตร้อน แต่ในเขตร้อนชื้นจะมีความหลากหลายมากกว่า จากผลการสำรวจของนักพฤกษศาสตร์ พบว่า ทั่วโลกมีอยู่ 5 สกุล จำแนกได้ 137 ชนิด ส่วนในประเทศไทยในธรรมชาติมีเพียงสกุลเดียวคือ แพฟิโลเพดิลั่ม (Paphio pedilum) และมี 17 ชนิด ปัจจุบันมีการนำกล้วยไม้รองเท้านารีมาปรับปรุงพันธุ์ใหม่เพื่อการค้ามากขึ้น กล้วยไม้รองเท้านารีสกุลเดียวกับของไทย ยังสามารถพบได้ที่ประเทศอินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะโซโลมอน การบันทึกการค้นพบกล้วยไม้รองเท้านารีครั้งแรก โดย ดร.นาธานิล วอลลิช ชาวอังกฤษ ที่เมืองซีลเล็ต ในบังกลาเทศ ส่วนในประเทศไทยนั้นได้รับความสนใจการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารี เมื่อ 30 ปี ที่ผ่านมาเท่านั้น กล้วยไม้รองเท้านารีทั้ง 17 ชนิดของไทย มีดังนี้ รองเท้านารีคางกบคอแดง รองเท้านารีม่วงสงขลา รองเท้านารีฝาหอย รองเท้านารีคางกบ รองเท้านารีเหลืองปราจีนหรือรองเท้านารีเหลืองกาญจน์ รองเท้านารีดอยตุง รองเท้านารีเหลืองกระบี่ รองเท้านารีเหลืองชุมพร รองเท้านารีตรังหรือเหลืองชุมพร รองเท้านารีเหลืองเลย รองเท้านารีอินซิกเน่ รองเท้านารีขาวสตูล รองเท้านารีเชียงดาว รองเท้านารีแมลงปอ รองเท้านารีอินทนนท์ รองเท้านารีช่องอ่างทอง และรองเท้านารีเกาะช้าง วิธีปลูกเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารี ให้ได้ผลดีต้องอาศัยปัจจัยสำคัญคือ โรงเรือน สร้างโรงเรือนมุงหลังคาด้วยพลาสติกใส หรือทำด้วยซาแรนพรางแสง 50-70 เปอร์เซ็นต์ สูง 2.50-3.00 เมตร ขณะเดียวกัน จะช่วยป้องกันเม็ดฝนที่ตกกระทบต้นและใบจนช้ำ ด้านข้างควรมีวัสดุป้องกันลมและช่วยรักษาความชื้นพื้นต้องสะอาด ควรปูพื้นด้วยทรายหยาบ มีชั้นวางกระถางอาจทำด้วยไม้ระแนงหรือตะแกรงเหล็ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ปลูกเลี้ยง ปัจจุบันนิยมวางบนโต๊ะสูง 60-90 เซนติเมตร กว้าง 1.0-1.5 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับขนาดของโรงเรือน วัสดุปลูก ต้องสะอาดปราศจากเชื้อโรค เก็บความชื้นได้พอเหมาะและระบายน้ำได้ดี ไม่มีคราบเกลือและสารพิษ วัสดุที่นิยมใช้กันในปัจจุบันคือ อิฐมอญทุบ ถ่านไม้ หินเกล็ด ใบทองหลาง ใบก้ามปู เศษไม้ใบหญ้าที่ผ่านกระบวนการหมักมาแล้ว ปุ๋ยคอกเก่า ดินขุยไผ่ โฟมหักเป็นชิ้นขนาดเล็ก และฟองหินภูเขาไฟเพอร์ไลต์ อัตราส่วนผสมมีหลายสูตร ทั้งนี้สูตรวัสดุปลูกที่ต้องการธาตุอาหารน้อย มีหลายสูตร ดังนี้ สูตรที่ 1 มีส่วนผสมของ ขี้เถ้าแกลบ ทรายหยาบ และโฟมหักเป็นชิ้นขนาดเล็ก ในอัตราส่วน 1 : 1 : 2 สูตรนี้เก็บความชื้นได้ดีปานกลาง สูตรที่ 2 มีส่วนผสมของขี้เถ้าแกลบ กาบมะพร้าวสับ และโฟมหักเป็นชิ้น อัตราส่วน 1 : 1 : 1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน สูตรนี้เก็บความชื้นได้สูง ส่วนสูตรเครื่องปลูกที่มีธาตุอาหารปานกลาง สูตรที่ 1 มีส่วนผสมของอิฐมอญทุบ หินเกล็ด และเปลือกถั่วลิสง อัตราส่วน 1 : 1 : 1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน สูตรที่ 2 อิฐมอญทุบ ใบไม้ผุ และหินเกล็ด อัตราส่วน 1 : 1 : 1 สูตรที่ 3 อิฐมอญทุบ ถ่านไม้ ใบไม้ผุ อัตราส่วน 1 : 1 : 2 คลุกเคล้าให้เข้ากัน และ สูตรที่ 4 ใช้เพอร์ไลต์เพียงอย่างเดียว คุณสมบัติของวัสดุชนิดนี้ทำหน้าที่ในการเก็บรักษาความชื้นให้กับรากกล้วยไม้รองเท้านารีได้ดี แต่ข้อเสียคือมีราคาแพงมาก น้ำ สำหรับรดให้รองเท้านารีต้องสะอาด ไม่ขุ่น ไม่มีกลิ่นและตะกอน มีฤทธิ์เกือบเป็นกลาง หากใช้น้ำประปาต้องเก็บไว้ในตุ่มหรือภาชนะเปิด 2-3 วัน ให้คลอรีนระเหยออกจนหมด น้ำบาดาลต้องห้ามเด็ดขาด แสงแดด กล้วยไม้รองเท้านารีต้องการแสงเพียง 30-50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก็พอกับความต้องการแล้ว หากได้รับแสงจ้า รากจะคายน้ำมากขึ้น ใบไหม้และดอกมีสีซีดจางไม่สวยงาม ก้านดอกสั้นลงไปด้วย ความชื้นสัมพัทธ์ กลางวันต้องการ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในเวลากลางคืนต้องการมากขึ้นที่ 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ภายในโรงเรือนควรให้มีการถ่ายเทอากาศได้สะดวก เพื่อไม่ให้สะสมเชื้อโรค อุณหภูมิ ที่กล้วยไม้รองเท้านารีต้องการอยู่ระหว่าง 25-28 องศาเซลเซียส และ ภาชนะที่ใช้บรรจุเครื่องปลูก ควรเป็นกระถางดินเผาที่มีรูพรุน ถ่ายเทน้ำและอากาศได้ดี หากใช้กระถางพลาสติกต้องมีรูระบายน้ำและอากาศมากขึ้น เมื่อคุณปฏิบัติได้ตามคำแนะนำข้างต้น กล้วยไม้รองเท้านารีที่ปลูกเลี้ยงไว้จะงามสมใจทุกอย่างครับ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
ลาดยาว
อำเภอ / เขต :
จตุจักร
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
10900
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 367
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM