เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
คุยเฟื่องเรื่องไผ่ไทยแลนด์
   
ปัญหา :
 
 
    ผมมีความสนใจเรื่องไผ่มาก ปัจจุบันเริ่มปลูกไผ่ไปบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นไผ่ตง ทั้งนี้ ผมมีความประสงค์อยากทราบว่าบ้านเรามีไผ่กี่ชนิด และแต่ละชนิดนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง และผมจะหาซื้อพันธุ์ได้จากที่ไหน เมื่อได้ข้อมูลรายละเอียดแล้วผมจะได้ตัดสินใจปลูกไผ่ชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมอีกต่อไป
วิธีแก้ไข :
 
    ไผ่ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว จัดอยู่ในวงศ์หญ้า และนับเป็นหญ้าที่สูงที่สุดในโลก ไผ่เจริญเติบโตได้ดีทั้งในเขตหนาว เขตอบอุ่น และเขตร้อน โดยเฉพาะในเขตร้อนแถบทวีปเอเชีย มีมากถึง 45 สกุล (genus) ส่วนในประเทศไทย มีไผ่อยู่ประมาณ 13 สกุล แต่คาดว่ายังคงมีอีกหลายสกุล อยู่ระหว่างการศึกษา ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการบุกรุกตัดไม้และแผ้วถางทำลาย ซึ่งทำให้ไผ่ที่เป็นส่วนหนึ่งของป่าไม้ลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่คนไทยควรหันมาสนใจปลูกไผ่ให้มากขึ้น เพื่อชดเชยจากการถูกแผ้วถางและนำไปใช้ประโยชน์อย่างไม่คุ้มค่า ผมขอวกกลับมาเรื่องไผ่ของไทยเรา ปัจจุบันมีการรวบรวมและจำแนกโดยกรมป่าไม้ มีรายละเอียดดังนี้ สกุลอะรันดินาเรีย มีอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกคือ ไผ่โจด พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลำต้นสีเขียวอมเทา มีความสูงประมาณ 5 เมตร ปล้องค่อนข้างสั้น ประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7-10 มิลลิเมตร ไม่มีหนาม หน่อมีสีเทาแกมเหลือง ลำต้นใช้ทำด้ามไม้กวาด จุดเด่นคือเหง้ามีรูปร่างแปลกตา จึงนิยมนำมาทำเครื่องประดับภายในบ้าน หรืออาจปลูกเป็นแนวรั้ว และปลูกเป็นไผ่ประดับใกล้บริเวณบ้าน ส่วนหน่อใช้รับประทานได้ ชนิดที่ 2 ไผ่เพ็ก หรือหญ้าเพ็ก ไผ่ชนิดนี้พบได้ทั้งในเวียดนาม กัมพูชา และไทย ในส่วนของประเทศไทยนั้นมีมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เจริญเติบโตได้ดีในเขตค่อนข้างแห้งแล้ง จึงเกิดไฟไหม้ป่าไผ่ชนิดนี้อยู่เป็นประจำ ไผ่เพ็กเป็นไผ่ขนาดเล็ก ลำต้นสูงไม่เกิน 3 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-7 มิลลิเมตร ขนาดของปล้องมีความยาว 20-30 เซนติเมตร ขึ้นรวมเป็นกอ นิยมนำมาทำแผงตากสาหร่ายทะเล สกุลแบมบูซ่า แบ่งออกได้หลายชนิดคือ ไผ่บง พบได้ทั่วไปในป่าดงดิบ เป็นไผ่ขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางปล้อง 6-10 เซนติเมตร ความยาวของปล้อง 20-30 เซนติเมตร สูงประมาณ 9-12 เมตร ลำต้นนิยมใช้ทำเสื่อลำแพนและเยื่อกระดาษ หน่ออ่อนนิยมนำมารับประทาน แม้ว่าจะมีรสขมผสมอยู่บ้างก็ตาม ไผ่ป่า หรือไผ่หนาม พบได้ทุกภูมิภาคของประเทศ ต้นอ่อนมีสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จัดมีสีเขียวอมเหลือง เป็นไผ่ขนาดใหญ่ มีหนามคมและขนมาก เส้นผ่านศูนย์กลางของปล้อง 10-15 เซนติเมตร ลำต้นใช้ทำนั่งร้านในการก่อสร้างหรือทาสีอาคาร และทำเครื่องจักสานอื่น หน่อใช้รับประทานได้ ไผ่ลำมะลอกพบได้ในทุกภูมิภาคของประเทศ แต่ในภาคใต้จะพบน้อยกว่าภาคอื่น ลำต้นมีสีเขียวเข้ม ไม่มีหนาม ข้อเรียบ กิ่งก้านและใบเกิดที่บริเวณลำต้น สูงจากพื้นดิน 6-7 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของปล้อง 7-10 เซนติเมตร สูงเฉลี่ย 10-15 เมตร ลำต้นค่อนข้างห่างไม่อัดแน่น นิยมนำมาใช้ทำนั่งร้านในการก่อสร้าง ทำเสาโป๊ะ เฟอร์นิเจอร์ และงานจักสานที่ไม่ต้องการความประณีต หน่อใช้รับประทานได้ ไผ่เหลือง หรือไผ่จีน ไผ่ชนิดนี้สันนิษฐานว่านำเข้าจากประเทศจีน จึงไม่พบทั่วไป ลำต้นมีสีเหลือง มีลายเส้นเป็นแถบสีเขียว พาดตามความยาวของปล้อง ผิวเกลี้ยง มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-10 เซนติเมตร ความยาวปล้องประมาณ 20-25 เซนติเมตร ความสูงเฉลี่ย 10-15 เมตร หน่อมีสีเหลืองอ่อน ไผ่เหลืองนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากลำต้นมีสีสวยงาม หน่อใช้บริโภคได้แต่ไม่เป็นที่นิยม ไผ่หอบ หรือไผ่หอม พบมากที่จังหวัดเชียงราย ลำต้นสูงประมาณ 10 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางของปล้อง 7.5-15 เซนติเมตร และยาว 40 เซนติเมตร ใบมีขน เมื่อสัมผัสผิวหนังจะรู้สึกระคายเคืองและคัน ลำต้นใช้ประโยชน์ได้น้อย หน่อมีรสขม จึงไม่มีการนำมารับประทาน ไผ่เลี้ยง พบมากในภาคกลาง ลำต้นมีสีเขียวสด เป็นไผ่ขนาดเล็ก ปล้องมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร และยาว 20-25 เซนติเมตร ลำต้นไม่มีหนาม นิยมใช้ทำคันเบ็ด และส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ ลำต้นแข็งแรง เนื้อต้นเกือบไม่มีช่องว่างภายใน บางแห่งนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ หน่อรับประทานได้ แต่ไม่นิยมรับประทาน ไผ่สีสุก พบได้ทั่วไป แต่พบมากในบริเวณภาคกลางของประเทศ เป็นไผ่ชนิดที่สูงใหญ่ ลำต้นสีเขียวสด หน่อมีสีเทาอมเขียว ปล้องมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7-10 เซนติเมตร ยาว 10-30 เซนติเมตร บริเวณข้อมีกิ่งคล้ายหนาม หน่อมีขนาดใหญ่ มีขนสีน้ำตาล น้ำหนักหน่อประมาณ 3-4 กิโลกรัม ไผ่ชนิดนี้มีเนื้อหนาแข็งแรง ทนทานและเหนียว จึงนิยมนำไปใช้ประโยชน์มากกว่าไผ่ชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะทำเครื่องจักสาน เฟอร์นิเจอร์ นั่งร้านในการก่อสร้าง และนอกจากนี้ส่วนโคนของลำต้นยังนิยมใช้ทำไม้คานสำหรับหาบหามได้ดีมาก ไผ่บงหวาน พบได้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบมากที่สุดที่จังหวัดเลย ลำต้นอ่อนมีสีเขียวใบไม้ เมื่อแก่มีสีเขียวเข้ม เส้นผ่านศูนย์กลางของปล้อง 5-8 เซนติเมตร สูง 5-10 เมตร มีหน่อสีเขียว น้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัม ลำต้นนิยมนำมาทำตอกมัดสิ่งของ ทำไม้ค้ำยัน บันไดและเครื่องจักสาน หน่อมีรสหวานหอมอร่อย นิยมนำมาประกอบอาหารได้หลากชนิด ไผ่คันร่ม หรือไผ่เปร็ง พบมากที่จังหวัดปราจีนบุรี ตราด และระยอง ลำต้นอ่อนมีสีเขียวใบไม้ เมื่อแก่จัดมีสีเขียวเข้ม เส้นผ่านศูนย์กลางของปล้อง 3-5 เซนติเมตร ลำต้นสูง 8-10 เมตร หน่อมีสีเขียวอมเทา แต่เปลือกหน่อจะมีสีแดง ลำต้นมีเนื้อหนา จึงนิยมนำมาทำบันได โป๊ะ และหลักของการเลี้ยงหอยแมลงภู่ ไผ่ดำ หรือไผ่ตาดำ พบมากในป่าทึบ แถบจังหวัดกาญจนบุรี และจันทบุรี ลำต้นมีสีเขียวคล้ำเกือบเป็นสีดำ ไม่มีหนาม เส้นผ่านศูนย์กลางของปล้อง 7-10 เซนติเมตร และยาว 30-40 เซนติเมตร สูง 10-12 เมตร มีเนื้อหนา นิยมนำลำต้นไปใช้ทำนั่งร้านก่อสร้างและเครื่องจักสานต่างๆ หน่อใช้รับประทานได้ และไผ่น้ำเต้า พบได้ทั่วไป เป็นไผ่ที่มีปล้องสั้น ลำมีสีเขียว อาจมีแถบสีเหลืองตามปล้องและจะโป่งออกตอนกลางปล้องและตอนกลางของกิ่ง ปล้องมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-8 เซนติเมตร สูง 3-4 เมตร แขนงแตกออกจากต้นที่สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร หน่อมีสีเหลือง ไผ่ชนิดนี้เชื่อว่านำเข้าจากประเทศจีน ไผ่น้ำเต้าส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในบริเวณบ้านหรือปลูกในกระถางไว้โชว์ สกุลเซฟาลอสทาคียัม มี 2 ชนิด คือ ไผ่ข้าวหลาม พบมากบริเวณตอนเหนือของจังหวัดกาญจนบุรีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน มีปล้องยาว 30 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของลำไผ่เฉลี่ย 5-7.5 เซนติเมตร ลำไผ่มีสีเขียวอมเทา มีความสูงเฉลี่ยระหว่าง 7-8 เมตร หน่อมีขนาดใหญ่ กาบมีสีหมากสุก ต้นไผ่นิยมนำมาทำกระบอกข้าวหลาม หน่อรับประทานได้แต่ไม่เป็นที่นิยม และไผ่เฮียะ หรือไผ่เหียะ ลำไผ่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-10 เซนติเมตร ปล้องยาว 50-70 เซนติเมตร ข้อเรียบ มีกิ่งเพียงเล็กน้อย เนื้อหนาประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีความสูง 10-18 เมตร ลำต้นนำไปทำโครงสร้างบ้านเรือนและเครื่องจักสานต่างๆ หน่อรับประทานได้แต่ไม่เป็นที่นิยมกัน สกุลเดนโดรคาลามัส ได้แก่ ไผ่ซาง หรือไผ่นวล หรือไผ่ปล้อง พบในป่าดิบทั่วไป ลำต้นมีสีเขียวนวล ปล้องยาว 50-70 เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-12 เซนติเมตร ลำต้นสูง 8-10 เมตร ไม่มีหนาม หน่อมีสีน้ำตาลปนส้มและมีขนสีน้ำตาล ไผ่ชนิดนี้เนื้ออ่อนและเหนียว สามารถจักตอกเป็นเส้นเล็กๆ ได้ จึงนิยมนำมาใช้ทำเครื่องจักสานที่ต้องการรายละเอียดสูง หน่อใช้รับประทานได้ ไผ่หก หรือไผ่นวลใหญ่ พบมากในภาคเหนือและจังหวัดกาญจนบุรี ไผ่ชนิดนี้ลำต้นมีสีเขียวอมเทา และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 15-20 เซนติเมตร ปล้องมีความยาว 40-50 เซนติเมตร ลำต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร ลำไผ่นิยมนำมาทำเยื่อกระดาษ และเครื่องจักสานต่างๆ หน่อใช้รับประทานได้แม้มีรสเข้มอยู่บ้าง ไผ่เป๊าะ หรือไผ่เปราะ พบที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลำต้นมีสีเขียว มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10-20 เซนติเมตร เนื้อแข็งเปราะ ข้อเรียบ ปล้องยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ลำต้นสูงถึง 30 เมตร หน่อมีขนาดใกล้เคียงกับลำไผ่และมีสีเหลืองอมขาว ไผ่ชนิดนี้นิยมนำมาทำกระบอกข้าวหลาม ไม่นิยมนำมาทำเครื่องจักสาน เนื่องจากมีเนื้อแข็งและเปราะ ไผ่ตง มีมากในจังหวัดปราจีนบุรี ไผ่ตงเป็นไผ่ขนาดใหญ่ ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-15 เซนติเมตร ปล้องยาว 20 เซนติเมตร ไม่มีหนาม โคนต้นมีลายสีขาวสลับเทา ลำต้นมีขนสั้นๆ ขึ้นอยู่ หน่อมีน้ำหนักประมาณ 3-10 กิโลกรัม ไผ่ตงแบ่งออกเป็นไผ่ตงเขียว ไผ่ตงดำ ไผ่ตงหม้อ และไผ่ตงหนู เนื้อไม้นิยมนำมาใช้ทำเครื่องจักสานและไม้จิ้มฟัน หน่อนิยมนำมาปรุงอาหารได้หลากชนิด ไผ่ซาง หรือไผ่นวล พบมากที่ภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศ ไผ่ชนิดนี้มีลำต้นสีเขียวอ่อน ไม่มีหนาม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-12 เซนติเมตร ลำต้นสูง 10-25 เมตร ปล้องยาวประมาณ 30 เซนติเมตร หน่อมีสีเทาปนแดง ลำต้นใช้ทำนั่งร้านก่อสร้าง ทำเครื่องจักสาน และเยื่อกระดาษ หน่อใช้รับประทานได้ สกุลไดโนเคลา ได้แก่ ไผ่ลาน หรือไผ่เลื้อย พบมากในภาคใต้ของประเทศ ลำต้นมีลักษณะคล้ายเถาวัลย์ เลื้อยหรือพาดไปตามต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียง ลำต้นมีสีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลางของต้นไผ่ประมาณ 1 เซนติเมตร เนื้อบาง ใบและลำต้นมีขนสีน้ำตาลเป็นจำนวนมาก ปล้องยาว 10-120 เซนติเมตร ไผ่ชนิดนี้นิยมนำไปใช้เป็นส่วนประกอบสมุนไพรรักษาโรค สกุลจิกแอนโทเคลา ได้แก่ ไผ่มัน หรือไผ่เปาะ พบมากในภาคใต้ของประเทศ ลำไผ่สีเขียวมัน ไม่มีหนาม เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 8-10 เซนติเมตร ปล้องยาว 30-40 เซนติเมตร ทรงกอโปร่ง ลำต้นสูง 10-15 เมตร หน่อมีสีน้ำตาลแก่ มีน้ำหนักเฉลี่ย 3-4 กิโลกรัม ลำไผ่ใช้ทำส่วนประกอบโครงสร้างบ้านเรือนและเครื่องจักสานต่างๆ หน่อใช้รับประทานได้ ไผ่ไร่ พบได้ทุกภาคของประเทศ ลำต้นมีสีเขียวปนเทา ผิวสาก แต่ไม่มีหนาม มีขนทั่วลำต้น เป็นไผ่ขนาดเล็ก มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นเพียง 1.5-2.5 เซนติเมตร ปล้องยาว 30 เซนติเมตร การแตกกอหนาแน่นมาก นิยมนำมาใช้ค้ำยันหรือเสาหลักในการเกษตรบางชนิด ไผ่ไล่ลอ ลำต้นมีสีเขียวอ่อน พบมากที่ภาคเหนือ ขณะแทงกิ่งผลิใบต้นไผ่กาบจะหลุดออกหมด มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น 3-8 เซนติเมตร และมีปล้องยาว 14-50 เซนติเมตร ลำไผ่นิยมนำมาทำรั้วบ้าน คอกสัตว์ และทำเครื่องเรือนได้ดี หน่อใช้รับประทานได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมกัน ไผ่แนะ หรือไผ่คาย พบมากในป่าดิบภาคใต้ มีลำต้นสีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ปล้องยาว 30-35 เซนติเมตร มีความสูงเพียง 3-4 เมตร หน่อมีสีเหลือง ลำไผ่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ หน่อใช้รับประทานได้ ไผ่ตากวาง พบในป่าดิบภาคใต้ ผิวลำต้นเกลี้ยง สีเขียวอมเหลือง มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำไผ่ 4-6 เซนติเมตร ปล้องยาว 30-40 เซนติเมตร สูงประมาณ 5 เมตร ลำต้นใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ หน่อใช้รับประทานได้ ไผ่ผาก พบมากที่ภาคใต้และจังหวัดกาญจนบุรี มีลำต้นสีเขียว ไม่มีหนาม ไผ่ชนิดนี้เป็นไผ่ขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำไผ่ 10-13 เซนติเมตร มีหน่อขนาดใหญ่ มีน้ำหนัก 2-3 กิโลกรัม ลำไผ่ใช้ทำเข่งใส่ถ่านเพื่อจำหน่าย เครื่องใช้ในครัวเรือนและเยื่อกระดาษ หน่อมีรสขม ก่อนนำมาประกอบอาหารต้องต้มในน้ำร้อนและเททิ้ง 1-2 ครั้ง ก็ใช้ได้ ไผ่คายดำ พบที่จังหวัดกาญจนบุรีและระนอง ลำต้นมีสีเขียวเข้ม ปล้องห่าง ข้อใหญ่ ไม่มีหนาม เป็นไผ่ที่มีลำต้นสูงใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางของลำไผ่ประมาณ 7-10 เซนติเมตร หน่อมีสีเขียว ไผ่ชนิดนี้ใช้ประโยชน์ได้น้อย ไม่เหมาะนำมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากเนื้อไผ่เปราะหักง่าย หน่อมีรสขม จึงไม่นิยมนำมาประกอบอาหาร และไผ่บงคาย พบมากที่จังหวัดเชียงราย ลำต้นมีสีเขียวอ่อน ข้อปล้องมี 2 ชั้น ชั้นล่างเรียบ ส่วนชั้นบนมีปมราก ข้อต่อมีสีเขียวหม่น เส้นผ่านศูนย์กลางของลำไผ่ 5-8 เซนติเมตร และยาว 40-50 เซนติเมตร ลำต้นสูงประมาณ 10-13 เมตร ลำต้นใช้ทำเครื่องจักสานได้ดี หน่อไม้นิยมนำมาประกอบอาหารเนื่องจากมีรสชาติดี สกุลมีโลแคนนา ไผ่สกุลนี้มีเพียงชนิดเดียว คือไผ่เกรียบ พบในป่าทึบทั่วไป เป็นไผ่มีลำต้นขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 8-15 เซนติเมตร ปล้องยาว 50-120 เซนติเมตร เนื้อหนาเฉลี่ยครึ่งเซนติเมตร ข้อเรียบ แขนงเล็ก ต้นสูง 10-15 เมตร หน่อมีขนาดใหญ่ สีเขียว กาบสีเหลืองอมส้ม บริเวณข้อมีสีแดง ไผ่ชนิดนี้นำมาใช้ประโยชน์ได้น้อย ส่วนใหญ่ปลูกไว้ประดับในสวน สกุลนีโอฮูซัว พบเพียงชนิดเดียวคือ ไผ่หลอด พบที่จังหวัดตราด ลำต้นมีสีเขียวเป็นมัน ไผ่ชนิดนี้เป็นไผ่ขนาดมีขนาดเล็ก ปล้องยาว 10-15 เซนติเมตร มีความสูงเพียง 4 เมตร หน่อมีขนาดเล็ก สีเทาในอดีตนิยมนำมาทำหลอดด้าย แต่เนื่องจากมีการนำสารสังเคราะห์มาใช้ทดแทน ปัจจุบันจึงไม่มีการนำมาทำหลอดด้ายอีกต่อไป สกุลซูโดซาซา พบมากในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีเพียงชนิดเดียว แต่ยังไม่มีการศึกษาในรายละเอียด สกุลไซโซสตาคียัม มี 3 ชนิด คือ ไผ่โป และไผ่เฮียะ พบมากที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดตรัง แต่ยังไม่มีการศึกษาในรายละเอียด สกุลเทียโนสตาคียัม มี 2 ชนิด คือ ไผ่เฮียะเครือ และไผ่บงเลื้อย พบที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดใกล้เคียง ยังไม่มีการศึกษาในรายละเอียด สกุลไธโซสตาซัส มี 2 ชนิด คือ ไผ่รวก พบมากที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นไผ่ที่มีลำต้นขนาดเล็ก มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-7 เซนติเมตร สูงประมาณ 5-10 เมตร แตกกอเป็นพุ่มแน่นพอประมาณ ลำต้นนิยมใช้ทำวัสดุก่อสร้าง ไม้ค้ำยันต้นไม้และใช้ทำเยื่อกระดาษ หน่อใช้รับประทานได้ ส่วนใหญ่เก็บถนอมด้วยวิธีทำหน่อไม้ปี๊บ และไผ่รวกดำ พบมากในภาคเหนือ ลำต้นมีสีเขียวเข้ม ผิวเรียบเป็นมัน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-7 เซนติเมตร ปล้องยาว 23-30 เซนติเมตร ลำต้นสูง 10-15 เมตร เนื่องจากลำต้นมีเนื้อไม้แข็งแรง ทนทาน จึงนิยมนำมาทำโครงร่มกระดาษและพัด เครื่องประดับอื่นๆ และเฟอร์นิเจอร์ หน่อรับประทานได้ แต่ไม่นิยม ไผ่ นับวันว่าจะมีความสำคัญมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีการนำเอาวัสดุสังเคราะห์มาใช้ทดแทนก็ตาม แต่ไม้ไผ่ก็ยังเป็นที่ต้องการของมนุษย์อยู่ดี เนื่องจากนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างอเนกประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ประจำวัน ส่วนประกอบของที่พักอาศัย ใช้ประดับในอาคารและบริเวณบ้าน ทำเยื่อกระดาษ ตะเกียบ ไม้จิ้มฟัน และอื่นๆ อีกมากมาย หรือแม้แต่ใช้ประกอบอาหารก็ตาม ผมเป็นผู้หนึ่งที่พิสมัยและใกล้ชิดกับต้นไผ่มาตั้งแต่วัยเด็ก ผมยังจำได้ว่าที่บ้านของผมมีไผ่บงเป็นรั้วบ้านแถบชายคลอง ที่อยู่ห่างจากห้องนอนไม่เกิน 10 เมตร ในยามดึกสงัดเมื่อมีลมพัดกันโชกเบาๆ จะได้ยินเสียงไผ่เสียดสีกัน พร้อมมีเสียงใบไผ่พลิ้วหวีดหวิวตามกระแสลม คล้ายเสียงซอ เปรียบเสมือนเสียงเสน่ห์ที่ธรรมชาติบรรจงสร้างให้เพื่อคลายความเงียบและวังเวงลงได้ แม้ทุกวันนี้ไผ่บงดังกล่าวยังคงยืนต้นเป็นทิวแถวอย่างสง่างามและทระนงตลอดมาไม่เปลี่ยนแปลง แหล่งพันธุ์ไผ่ติดต่อสอบถามที่ คุณสุรศักดิ์ คนารักษ์สันติ ผอ.ศูนย์ส่งเสริมการปลูกป่า 1 (ราชบุรี) โทร. (032) 312-103 ในวันและเวลาทำการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
15
ตำบล / แขวง :
ยางหย่อง
อำเภอ / เขต :
ท่ายาง
จังหวัด :
เพชรบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
76130
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 366
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM