เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
หน่อไม้ฝรั่งปลูกได้ดีในประเทศไทย
   
ปัญหา :
 
 
    ผมปลูกพืชไว้หลายชนิดทั้งไม้ผลและพืชผัก แต่ระยะนี้ผมมีความสนใจต้องการปลูกหน่อไม้ฝรั่งเพื่อบริโภค หากได้ผลดีอาจจะส่งขายตลาดต่อไป ในโอกาสนี้ผมจึงขอเรียนรบกวนคุณหมอเกษตร ทองกวาว ช่วยกรุณาแนะนำวิธีการผลิตหน่อไม้ฝรั่งที่มีคุณภาพให้ด้วยครับ และสิ่งสำคัญผมจะติดต่อซื้อเมล็ดพันธุ์ได้จากที่ไหนครับ ผมขอเรียนถามปัญหาเพียงเท่านี้ก่อน
วิธีแก้ไข :
 
    หน่อไม้ฝรั่ง เป็นพืชที่ปลูกได้ดีในบ้านเรา ปัจจุบันมีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ระยอง และนครราชสีมา ทั้งนี้บริเวณที่เหมาะสมเพื่อผลิตหน่อไม้ฝรั่งให้ได้คุณภาพดี ต้องมีสภาพพื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีแหล่งน้ำสะอาดอย่างพอเพียงตลอดปี ดินควรมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินร่วน มีความอุดมสมบูรณ์สูงจนถึงปานกลาง ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี หน้าดินลึกอย่างน้อย 75 เซนติเมตร มีความเป็นกรด-ด่าง ระหว่าง 6.0-7.5 หรือมีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่างอย่างอ่อนๆ เกือบเป็นกลาง หน่อไม้ฝรั่งต้องการแสงแดดจัด อุณหภูมิกลางวัน 24-25 องศาเซลเซียส ส่วนกลางคืนไม่ต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 1,600 มิลลิเมตร ต่อปี การทำตลาดหน่อไม้ฝรั่ง จำเป็นต้องผลิตหน่อ ให้ได้ขนาดมาตรฐาน พันธุ์ที่นิยมปลูกอยู่ในปัจจุบัน มีอยู่หลายพันธุ์คือ บร็อคอิมพรู๊ฟ บร็อคอิมพีเรียล อะพอลโล ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟแคลิฟอร์เนีย เบอร์ 500 และยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟแคลิฟอร์เนีย เบอร์ 157 การเตรียมดินปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ด้วยวิธีไถดะไถแปร และตากดินไว้ 1-2 สัปดาห์ แล้วไถพรวนย่อยดินให้แตกละเอียด พร้อมหว่านปูนขาว อัตรา 100-150 กิโลกรัม ต่อไร่ พร้อมใส่ปุ๋ยคอกเก่าอัตรา 1,000-2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ไถคลุกเคล้าลงในดินอย่างทั่วถึง การเตรียมต้นกล้า ปัจจุบันนิยมเพาะในถุงเพาะกล้าสีดำ ขนาด 4x6 นิ้ว ภายในถุงบรรจุวัสดุ ประกอบด้วย ขี้เถ้าแกลบ ดินร่วนที่สะอาด แกลบดิบ และปุ๋ยคอกเก่าอัตรา 1 : 2 : 1 : 1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน อัดวัสดุดังกล่าวพอแน่นให้ปริมาณวัสดุอยู่ใต้ระดับของถุงเพาะชำประมาณ 4-5 เซนติเมตร นำเมล็ดที่แข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากการทำลายของโรคและแมลงศัตรู หุ้มด้วยผ้าขาวบางสะอาด รดน้ำให้ชุ่ม เก็บไว้ในที่ร่ม ลมพัดผ่านไม่แรง ควรระวังอย่าให้ถูกแสงแดด หากต้องการให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น แนะนำให้แช่เมล็ดลงในน้ำร้อนที่อุณหภูมิระหว่าง 50-55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ก่อนหุ้มด้วยผ้าขาวบาง ใช้เวลา 3-4 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกให้เปิดผ้าขาวบางออก นำเมล็ดเพาะลงในถุงเพาะชำพร้อมวัสดุที่เตรียมไว้ เปิดปากหลุมลึก 2-3 เซนติเมตร นำเมล็ดที่งอกแล้วกลบดินตื้นๆ รดน้ำพอชุ่ม แต่ระวังอย่าให้แฉะ วางถุงให้เป็นแถวเพื่อสะดวกในการเข้าไปจัดการในแปลง ระยะแรกพรางแสงให้ต้นอ่อนบ้าง แต่เมื่อตั้งตัวได้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องพรางแสง ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อสังเกตเห็นว่าต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโตให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือสูตร 16-8-12 อัตราหนึ่งส่วนสี่ช้อนโต๊ะ ต่อกล้า 1 ถุง โรยรอบโคนต้น ระวังอย่าให้ปุ๋ยเคมีสัมผัสโคนต้น เพราะจะทำให้ต้นหน่อไม้ฝรั่งเน่าตาย สาเหตุที่ตายเนื่องจากปุ๋ยเคมีมีความเข้มข้นมากกว่าน้ำในเซลล์พืช เมื่อเมล็ดปุ๋ยไปแตะหรือสัมผัสกับเซลล์พืช เมล็ดปุ๋ยจะดูดน้ำออกจากเซลล์พืชตลอดเวลา ทำให้ต้นพืชขาดน้ำ ต่อมาจะเกิดรอยแผลทำให้เชื้อโรคในดินเข้าไปทำลายเซลล์พืชซ้ำเติม ต้นไม้จะตายในที่สุด ดังนั้น หลังการใส่ปุ๋ยจึงแนะนำให้รดน้ำตามทันที หมั่นรดน้ำและกำจัดวัชพืช ครบอายุ 3 เดือน นำปลูกลงในแปลงได้ การย้ายกล้าปลูก ใช้ระยะปลูก 50x150 เซนติเมตร ส่วนขนาดความยาวของแถวปลูกขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแปลงปลูก ตัดยอดต้นกล้าให้มีความสูง 15 เซนติเมตร เปิดหลุมลึก 15 เซนติเมตร ขนาดกว้างเท่ากับหรือใหญ่กว่าขนาดถุงเพาะกล้าเล็กน้อย รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกเก่าอัตรา 2 กระป๋องนม และปุ๋ยสูตร 15-15-15 หนึ่งส่วนสี่ช้อนโต๊ะ กลบดินบางๆ แล้วฉีกถุงเพาะชำออก ระวังอย่าให้รากต้นกล้ากระทบกระเทือน วางลงหลุมกลบดินอัดพอแน่น รดน้ำพอชุ่ม จากนั้นหมั่นให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงให้สะอาด เมื่อต้นเริ่มตั้งตัวให้ทำราวป้องกันลมพัดต้นจนหักล้ม ด้วยวิธีปักลำไม้ไผ่หัวและท้ายแปลง ผูกเชือกขนาบต้นทั้งสองด้าน อายุครบ 1 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม ต่อไร่ โรยข้างลำต้นพร้อมพูนดินรอบโคนต้น แล้วรดน้ำตาม ใส่ปุ๋ยอีก 3 ครั้ง ทุกเดือน ด้วยปุ๋ยชนิดและอัตราเดียวกับการใส่ครั้งแรก ระยะเก็บหน่อที่ได้คุณภาพ ควรเก็บเมื่อมีอายุ 10 เดือน นับตั้งแต่เมล็ดเริ่มงอก ระยะนี้ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อไร่ และต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอกเก่า ปุ๋ยหมัก หรือเศษซากพืชอัตรา 1,500-2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ แบ่งใส่ปีละ 2 ครั้ง พร้อมกับพูนโคนยกระดับรอบแถว ย่างเข้าปีที่สองให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตราเท่ากับปีที่หนึ่ง และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 200 กิโลกรัม ต่อไร่ แบ่งใส่ 4 ครั้ง ทุกๆ 3 เดือน การเก็บหน่อ ให้ถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ออกจากแปลงทิ้งไป ทอดระยะไว้อีก 20 วัน หน่อไม้เกิดขึ้นจะแข็งแรง อวบสมบูรณ์ คัดเลือกไว้กอละ 4-5 ต้น เท่านั้น เวลาที่เก็บหน่อที่ดีที่สุดคือในช่วง 06.00-09.00 น. โดยการถอนด้วยมือ ระวังอย่าให้หน่อช้ำ หน่อที่ได้อย่าให้ถูกน้ำ นำหน่อวางในตะกร้าเอียงทำมุม 45 องศา เมื่อเก็บหน่อได้ปริมาณพอเพียงแล้ว นำเก็บในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี ระวังอย่าให้ส่วนปลายของหน่อเปียกแฉะ แล้วจึงนำมาคัดขนาดและตัดโคนหน่อให้เสมอกัน กำเป็นมัดห่อด้วยกระดาษแล้วผูกเชือก วางลงในตะกร้า ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำ คลุมหน่อไม้ฝรั่งไว้ จะเก็บได้นาน 2 ชั่วโมง ก่อนนำส่งขายตลาดต่อไป มาตรฐานหน่อไม้ฝรั่งจัดมาตรฐานไว้ 2 เกรด คือ เกรดเอ หน่อต้องตรง ยอดแน่น ปราศจากโรคและแมลง หน่อต้องเขียวตลอด ในหนึ่งกิโลกรัมมีหน่อจำนวน 34-71 หน่อ และ เกรดบี ส่วนประกอบอื่นเหมือนกับเกรดเอ ยกเว้นขนาดของหน่อ 1 กิโลกรัม มี 100-154 หน่อ หน่อไม้ฝรั่งจะให้หน่อสูงสุดในปีที่ 3 จากนั้นให้รื้อแปลงปลูกใหม่ การปลูกหน่อไม้ฝรั่งซ้ำที่เดิมมักเกิดโรคระบาด ดังนั้น จึงแนะนำให้ปลูกพืชอื่นลงในแปลงทดแทนเพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคและแมลงลง โรคระบาดสำคัญของหน่อไม้ฝรั่งคือ โรคลำต้นไหม้ เกิดจากการทำลายของเชื้อรา อาการของโรค เกิดเป็นแผลยาวสีม่วงหรือน้ำตาลเป็นแนวเดียวกับลำต้น เมื่อการระบาดรุนแรงแผลจะเชื่อมต่อกัน ทำให้เป็นแผลไหม้ขายไม่ได้ราคา มักเกิดรุนแรงในช่วงที่มีฝนตกชุก วิธีป้องกันและกำจัด เมื่อพบการระบาดระยะแรกให้ถอนต้นเป็นโรคและเผาหรือฝังทำลาย การระบาดที่รุนแรง ให้ฉีดพ่นด้วยคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ที่ลำต้นและใบ 2 ครั้ง เว้น 5-7 วัน และงดใช้สารดังกล่าวก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 2 สัปดาห์ แมลงศัตรูสำคัญของหน่อไม้ฝรั่ง ได้แก่ หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้หอมเป็นตัวหนอนของผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง ตัวเต็มวัยหลังจากผสมพันธุ์แล้ว ผีเสื้อเพศเมีย จะวางไข่เป็นกลุ่มสีขาวตามใบ ก้านใบและส่วนที่เป็นยอดอ่อน และจะฟักออกเป็นตัวภายใน 3-4 วัน แล้วเข้ากัดกินส่วนต่างๆ ของต้นหน่อไม้ฝรั่ง ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงจนเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ ต่อมาจะเข้าดักแด้อาศัยอยู่ในดิน วิธีป้องกันกำจัด แนะนำให้ไถพรวนและตากดินก่อนปลูกเพื่อทำลายดักแด้ที่อาศัยอยู่ในดิน เมื่อพบกลุ่มไข่ของผีเสื้อให้จับทำลาย การระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยจุลินทรีย์บาซิลลัสทูริงเยนซิส อัตรา 40-60 ซีซี ต่อน้ำหนึ่งปี๊บ เมื่อพบตัวหนอน 1 ต้น ต่อกอ 2 ครั้ง เว้นระยะ 5 วัน และต้องหยุดฉีดพ่น ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 วัน แหล่งจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ติดต่อสอบถามได้ที่ บริษัท ที เอส เอ จำกัด 1/1 พหลโยธิน 40 แขวงลาดยาว จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. (02) 579-7761-2 หรือ บริษัท เจียไต๋ เมล็ดพันธุ์ จำกัด 295-303 ถนนทรงสวัสดิ์ กทม. 10100 โทร. (02) 233-8191-9 ต่อ 251-254 ในวันและเวลาทำการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
1
ตำบล / แขวง :
สาริกา
อำเภอ / เขต :
เมือง
จังหวัด :
นครนายก
รหัสไปรษณีย์ :
26000
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 363
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM