เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เทคนิคการผลิตมันฝรั่งให้ได้ผลดี
   
ปัญหา :
 
 
    ผมต้องการปลูกมันฝรั่งที่จังหวัดลำปาง จะปลูกได้ผลดีหรือไม่ มันฝรั่งมีนิสัยอย่างไร มีวิธีปลูก ดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวอย่างไร ขอคำแนะนำจากคุณหมอเกษตร ทองกวาว ด้วยครับ
วิธีแก้ไข :
 
    มันฝรั่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ และเริ่มมีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไอร์แลนด์เพื่อใช้เป็นอาหาร ในต้นศตวรรษที่ 18 จึงนิยมเรียกมันฝรั่งว่า ไอริชโพเตโต้ มาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ เกือบทุกทวีปของโลก ส่วนในประเทศไทยคาดว่า ชาวจีนฮ่อ นำเข้ามาปลูกที่ภาคเหนือของประเทศแต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเมื่อใด มันฝรั่ง เป็นพืชล้มลุกจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับพริก มะเขือ และยาสูบ มีลำต้นตั้งตรงสูง 60-100 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านออกด้านข้าง ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบคล้ายใบมะเขือเทศ มีดอกสีขาว และสีม่วงอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบ ประกอบด้วย เกสรตัวผู้ 5 อัน และเกสรตัวเมียอีก 1 อัน ส่วนที่เรียกว่าหัวคือ สโตลอนส์ ทำหน้าที่สะสมอาหารและขยายพันธุ์ ผิวของหัวมันฝรั่งจะมีรูขนาดเล็กเรียกว่า เลนติเซลซ์ ทำหน้าที่ในการหายใจและถ่ายเทอากาศ ในดินที่เปียกชื้นขนาดของรูหายใจจะขยายขนาดขึ้น มีผลทำให้หัวมันไม่สวย ทั้งนี้ตาแต่ละตาสามารถพัฒนาเป็นต้นอ่อนใช้ขยายพันธุ์ได้ โดยเฉลี่ยในหนึ่งหัวจะมีตาประมาณ 15 อัน มันฝรั่งหนึ่งลูกให้หัวมัน 6-10 หัว แหล่งที่มันฝรั่งเจริญเติบโต และให้ผลผลิตได้ดี ต้องมีอุณหภูมิค่อนข้างเย็นระหว่าง 15-18 องศาเซลเซียส ช่วงฤดูปลูกในแถบจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมกราคมของปีถัดไป นอกจากนี้ มันฝรั่งยังต้องการความยาวแสงหรือเวลากลางวัน 12-13 ชั่วโมง และมันฝรั่งต้องการดินร่วนปนทราย มีความเป็นกรด-ด่าง 5.5-6.5 มันฝรั่งปลูกได้ทั้งในฤดูและนอกฤดู ดังนี้ การปลูกในฤดูปกติ เริ่มปลูกในเดือนพฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวในเดือนมีนาคม แหล่งปลูกสำคัญอยู่อำเภอแม่แตง สันทราย ไชยปราการ และฝาง การปลูกนอกฤดู มักปลูกตามที่ราบบนไหล่เขา เช่น อำเภอเชียงดาว สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 800 เมตร ขึ้นไป การปลูกนอกฤดูแบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นแรกปลูกในเดือนเมษายนและเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม ส่วนรุ่นที่ 2 ปลูกในเดือนกรกฎาคม และเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม ทั้งนี้การปลูกในเดือนกรกฎาคม ผลผลิตมักต่ำเนื่องจากมีฝนตกชุกในเดือนสิงหาคม และกันยายน พันธุ์มันฝรั่งที่ปลูกในประเทศไทยปัจจุบันนิยมปลูก 2 พันธุ์ คือ พันธุ์สปุนต้า มีทรงต้นสูง โคนต้นมีสีม่วง ดอกสีขาว ขนาดของหัวยาวและใหญ่ ตาตื้น ผิวเรียบ มีสีเหลือง หากเก็บไว้นานจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม นิยมใช้บริโภคสด จุดเด่นคือ ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี และพันธุ์เคนนีเบค เป็นพันธุ์ที่มีอายุปานกลาง ใบใหญ่ พุ่มหนา หัวค่อนข้างใหญ่ กลมรี ทรงรูปไข่ ตาตื้น ผิวสีอ่อนเรียบ เนื้อสีขาว และทนแล้งได้ดีปานกลาง การเตรียมแปลงปลูก เนื่องจากมันฝรั่งเป็นพืชหัว การเตรียมดินต้องให้ร่วนซุยดี โดยวิธีไถดะและไถแปร ลึกประมาณ 30-40 เซนติเมตร แล้วไถเกลี่ยดินให้เรียบ พร้อมเก็บวัชพืชออกจากแปลงให้สะอาด ตากดินไว้เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ แล้วไถพลิกดินอีก 2-3 ครั้ง แล้วจึงยกร่องขนาดสันร่องกว้าง 1 เมตร สูงจากระดับทางเดิน 20-30 เซนติเมตร พร้อมใส่ปุ๋ยคอกแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันดี รดน้ำพอชุ่มก่อนปลูก ระยะปลูก ระหว่างต้น 20-30 เซนติเมตร ระหว่างแถว 80-100 เซนติเมตร วิธีปลูกทำได้ 2 วิธี คือ ปลูกทั้งหัว โดยขุดหลุมลึก 5-12 เซนติเมตร กว้างพอให้วางหัวที่งอกต้นอ่อนแล้ว กลบด้วยดินที่คลุกกับปุ๋ยคอกไว้ก่อน กดดินพอแน่นและรดน้ำตาม การปลูกด้วยวิธีผ่าหัว ให้ใช้มีดคมและสะอาด ชุบแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค ผ่าหัวแต่ละชิ้นให้มีตาติดมาอย่างน้อย 1 ตา นำไปฝังลงกองในขี้เถ้าแกลบตื้นๆ รดน้ำพอชุ่มระวังอย่าให้แฉะและควรราดด้วยสารเคมีฆ่าเชื้อรา 1 ครั้ง ทิ้งไว้จนต้นอ่อนงอก ใช้เวลาประมาณ 10-15 วัน แล้วจึงถอนต้นอ่อนไปปลูกลงในแปลงปลูก เมื่อมันฝรั่งมีความสูง 15-30 เซนติเมตร ให้พูนดินกลบโคนต้นตามความยาวของแถวเป็นร่องขนาดเล็กตลอดแนว เพื่อให้มีพื้นที่ลงหัวมันฝรั่งมากขึ้น และพูนดินกลบโคนต้นครั้งที่สองเมื่อมันฝรั่งมีอายุ 30-40 วัน ระยะนี้มันฝรั่งเริ่มลงหัวพอดี จึงต้องระวังอย่าให้รากและลำต้นบอบช้ำ ให้ดินกลบโคนเป็นร่องตามแนวแถว มันฝรั่งสูงขึ้น 20-25 เซนติเมตร หลังจากพูนโคนแล้ว 2 ครั้ง จะเกิดร่องระหว่างแถวขึ้น มีลักษณะเป็นร่องน้ำ จึงเหมาะสำหรับการให้แบบส่งตามร่อง การให้น้ำมันฝรั่ง ต้องให้อย่างพอเพียง แต่อย่าให้ดินชื้นแฉะตลอดเวลา เพราะจะทำให้รูที่หัวขยายใหญ่และมีพื้นที่ให้ดินเข้าอุดรูปรากฏเป็นสีดำมากขึ้น ผิวจะไม่สวย การใส่ปุ๋ย ในดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-13-21 หรือ 14-14-14-21 อัตรา 80-100 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง พร้อมด้วยการพูนโคนต้นทั้ง 2 ครั้ง การกำจัดวัชพืช ควรหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดการแย่งน้ำ อาหาร และเป็นแหล่งอาศัยของแมลงศัตรูในแปลงมันฝรั่ง การเก็บเกี่ยว ต้องเก็บเกี่ยวหัวมันที่แก่เต็มที่ หรือมันฝรั่งมีอายุ 100-120 วัน หลังจากต้นตั้งตัว หรือสังเกตจากลำต้นล้มเอนลงระดับพื้นดินจึงให้ตัดต้นมันฝรั่งทิ้ง 7-10 วัน ก่อนขุดหัวขึ้นจากดิน การขุดควรทำอย่างระมัดระวังและไม่ควรทิ้งไว้กลางแดดเป็นเวลานาน จากนั้นให้นำหัวมันขึ้นผึ่งในร่มที่ระบายอากาศได้ดี ใช้เวลา 7-15 วัน แล้วนำเข้าเก็บในโรงเก็บที่แสงส่องไม่ถึง ระวังอย่าซ้อนทับหัวมันหลายชั้นและสิ่งสำคัญต้องให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี แมลงศัตรูสำคัญ ได้แก่ เพลี้ยไฟ แมลงชนิดนี้มีขนาดเล็กมาก ใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบหรือยอดอ่อน ทำให้ใบหงิกงอ แห้งกร้านเป็นสีน้ำตาล ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตต่ำลง ตัวเต็มวัยมีปีก 2 คู่ ลำตัวมีสีเหลือง ปีกมีสีน้ำตาล เพศเมียวางไข่ได้โดยไม่จำเป็นต้องผสมพันธุ์กับเพศผู้ก็สามารถฟักออกเป็นตัวได้ วิธีป้องกันกำจัด การระบาดที่ไม่รุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยน้ำเพิ่มความชื้นในบรรยากาศให้สูงขึ้น การระบาดจะหมดไป แต่หากเกิดการระบาดอย่างรุนแรง ให้ฉีดพ่นด้วยคาร์โบซัลแฟน 20 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 50 ซีซี ผสมน้ำหนึ่งปี๊บฉีดพ่นให้ทั่วแปลง หรือใช้อิมิดาโคลพริด 5 เปอร์เซ็นต์ เอสซี อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่น 2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน การระบาดจะหมดไปและควรเลิกใช้สารเคมีทันที โรคสำคัญ ที่พบเสมอคือ โรคไหม้ เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง การระบาดเกิดขึ้นไม่เฉพาะในมันฝรั่งเท่านั้น แต่จะเกิดการระบาดในพืชผักอื่นๆ ที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน โรคไหม้เกิดได้ทั้งที่ใบ ลำต้น และหัวมันฝรั่งที่อยู่ใต้ดิน อาการเริ่มแรกที่ใบ เกิดแผล มีจุดช้ำ ฉ่ำน้ำ รูปร่างกลม ต่อมาภายใน 2-3 วัน แผลขยายใหญ่ขึ้น ส่วนกลางของแผลจะแห้งและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ส่วนบริเวณขอบแผลมีสีดำ ในที่สุดใบจะแห้งและดำทั้งใบ การทำลายลำต้น จะเกิดแผลเน่าแห้งสีน้ำตาล เมื่อขยายจนรอบลำต้นแล้ว ต้นจะเน่าหักพับลงและแห้งตาย การทำลายหัวมันฝรั่ง การกระจายเชื้อสาเหตุเกิดขึ้นจากสปอร์ ส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราที่มีขนาดเล็กมาก ถูกชะลงดินขณะมีการให้น้ำหรือมีฝนตก ต่อมาจะเข้าทำลายหัวมันฝรั่ง ระยะแรกที่ผิวเปลือกเกิดเป็นแผลสีน้ำตาล เมื่อใช้มีดคมผ่าที่หัว จะพบเนื้อเยื่อรอบนอกแห้งเป็นสีน้ำตาล ขอบแผลไม่ชัดเจน การระบาดรุนแรงมักมีเชื้อสาเหตุอื่นเข้าร่วมทำลายด้วย ทำให้หัวมันฝรั่งเน่าเสียหายในที่สุด การป้องกันและกำจัดโรค ควรหลีกเลี่ยงปลูกมันฝรั่งในพื้นที่เคยเกิดโรคระบาดชนิดนี้มาก่อน ไม่ควรทิ้งเศษหัวพันธุ์ไว้ในแปลงปลูกหลังการเก็บเกี่ยวหัวมันแล้ว ป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งสะสมโรคและหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงให้สะอาดอยู่เสมอ หากเกิดการระบาดรุนแรง ให้ฉีดพ่นด้วย คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ ซีเน็บ หรือมาเน็บ ตามอัตราแนะนำข้างฉลาก 2-3 ครั้ง ทุก 7-10 วัน เมื่อการระบาดหมดไปให้เลิกใช้สารเคมีทันที ไส้เดือนฝอยทำลายหัวมันฝรั่ง ลักษณะทั่วไปของไส้เดือนฝอย ลำต้นกลม มีความยาวเพียง 0.2-2.0 มิลลิเมตร ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ไส้เดือนฝอยที่ทำลายหัวมันฝรั่ง เรียกว่า ไส้เดือนฝอยรากปม เป็นชนิดที่อาศัยในพืช โดยเข้าไปดูดกินอาหารในท่อลำเลียงน้ำและอาหารของส่วนต่างๆ ของมันฝรั่งทำให้ต้นแคระแกร็น การทำลายหัวมันที่ผิวเกิดเป็นหูดหรือหนังคางคก ผลผลิตขายไม่ได้ราคา วงจรชีวิตของไส้เดือนฝอยชนิดนี้ หลังจากฟักออกจากไข่จะพัฒนาเป็นตัวอ่อน แล้วเข้าอาศัยในพืชโดยเคลื่อนที่เข้าตามช่องเปิดของต้นพืช อายุเฉลี่ยของวงจรชีวิตประมาณ 30 วัน ตั้งแต่ฟักออกจากไข่ ขยายพันธุ์ และตายลงในที่สุด วิธีป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอย วิธีที่นิยมปฏิบัติกันมากคือ การไขน้ำเข้าท่วมแปลงขังน้ำไว้นาน 3-4 วัน จะสามารถลดปริมาณไส้เดือนฝอยได้เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ การปลูกพืชหมุนเวียนด้วยพืชตระกูลอื่น เพื่อตัดวงจรการระบาด ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้จุลินทรีย์ในปุ๋ยทั้งสองชนิดควบคุมปริมาณประชากรของไส้เดือนฝอยด้วยวิธีธรรมชาติ และใช้วิธีไล่ให้หนีห่างโดยปลูกสลับแถวหรือปลูกรอบแปลงมันฝรั่งด้วยดาวเรือง จะสามารถลดความรุนแรงจากการระบาดของไส้เดือนฝอยได้ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งนี้หากใช้วิธีผสมผสานหลายวิธี จะทำให้การระบาดของไส้เดือนฝอยหมดไปในที่สุด คุณถามว่าที่จังหวัดลำปางจะปลูกมันฝรั่งได้ผลหรือไม่ ทั้งนี้จังหวัดลำปาง มีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งคล้ายก้นกระทะ จึงทำให้อากาศร้อนอบอ้าวเกือบตลอดปี อุณหภูมิสูงสุดที่วัดได้ 41.6 องศาเซลเซียส และมีอากาศหนาวจัดเป็นเพียงระยะสั้นๆ ในเดือนมกราคม อุณหภูมิต่ำสุดที่วัดได้ 10.5 องศาเซลเซียส สรุป จังหวัดลำปางไม่เหมาะสำหรับใช้เป็นแหล่งปลูกมันฝรั่งครับ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
12
ตำบล / แขวง :
กลางดง
อำเภอ / เขต :
ทุ่งเสลี่ยม
จังหวัด :
สุโขทัย
รหัสไปรษณีย์ :
64150
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 362
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM