เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
แหล่งพันธุ์พริก วิธีการผลิตและดูแลรักษา
   
ปัญหา :
 
 
    หนูมีเรื่องจะขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการปลูกพริกขี้หนูให้ได้ผลดี ควรจะทำอย่างไร แหล่งพันธุ์ดีจะหาซื้อได้ที่ไหน โดยเฉพาะพันธุ์ซุปเปอร์ฮอท ตลอดทั้งวิธีการปลูกและดูแลรักษาควรทำอย่างไร ขอความกรุณาจากคุณหมอเกษตรด้วยค่ะ
วิธีแก้ไข :
 
    อาหารไทย หากขาดส่วนประกอบจากพริกแล้วละก็ จะทำให้อาหารจืดชืดขาดรสชาติไปทันที พริกขี้หนู จัดอยู่ในพริกชนิดเม็ดเล็ก ปัจจุบันนิยมปลูกกันหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์ห้วยสีทน ได้จากการพัฒนาพริกพันธุ์จินดา มีทรงต้นรูปตัววี แตกกิ่งจากโคนต้น ใบเรียบไม่มีคลื่น แต่มีขนเล็กน้อย ออกดอกหลังย้ายกล้าปลูกเพียง 60 วัน ขนาดผลยาว 3-5 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยว 90-100 วัน เป็นพริกที่มีรสเผ็ดจัดทั้งผลสดและแห้ง พริกพันธุ์หัวเรือ เป็นพริกขี้หนูชนิดผลใหญ่ ขนาดผลยาว 4-6 เซนติเมตร มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน หลังย้ายกล้าปลูก ผลสุกสีแดง มีรสเผ็ดจัด เนื้อมากและเมล็ดน้อย พริกพันธุ์จินดา มีผลขนาดเล็ก เรียวยาว ปลายผลชี้ฟ้า ผลดิบมีสีเขียว แต่เมื่อแก่จะมีสีแดงเข้ม ใช้ประโยชน์ได้ดีทั้งผลสดและผลแห้ง ผลแห้งโขลกให้ละเอียดง่ายและเป็นพันธุ์ที่ทนต่อโรคได้หลายชนิด และ พริกพันธุ์สร้อย เป็นพริกที่มีเนื้อมาก ผลสุกสีแดงเข้ม นิยมทำเป็นพริกแห้ง รสไม่จัดเกินไป วิธีปลูกพริก ปลูกได้ทั้งในสภาพไร่ และสภาพสวนแบบยกร่อง การปลูกสภาพไร่ มักปลูกในที่ดอน อาศัยน้ำฝนและให้น้ำเสริมในช่วงฝนแล้ง จากบ่อน้ำหรือบ่อบาดาล ซึ่งทำให้การผลิตได้ผลไม่สม่ำเสมอ การปลูกในสภาพสวน ส่วนใหญ่ปลูกในบริเวณที่ลุ่มและยกร่องสวน จึงมีน้ำหล่อเลี้ยงได้เกือบตลอดปี ทำให้กำหนดการผลิตได้ในเวลาที่ต้องการ นอกจากนี้ ยังให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกในสภาพไร่ การเตรียมดิน ดินเหนียว ภาคกลางมีระดับน้ำใต้ดินตื้น นิยมยกร่องกว้าง 2-4 เมตร ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ ขุดร่องน้ำ คั่นระหว่างแปลง กว้าง 1.00 เมตร ลึก 0.50-1.00 เมตร สภาพไร่อาศัยน้ำฝน ควรเลือกดินร่วน หรือร่วนเหนียว ระบายน้ำได้ดี ใช้ระยะปลูก 0.50x1.20 เมตร ไถดะและไถแปร ปรับพื้นให้เรียบ กำจัดวัชพืชออกจากแปลงจนสะอาด ตากดินไว้ 1-2 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคในดิน ไถคราดให้ดินแตก หากดินขาดความอุดมสมบูรณ์แนะนำให้ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 1,000-1,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ดินที่เป็นกรดให้ใส่ปูนขาวอัตรา 300-500 กิโลกรัม ต่อไร่ คลุกเคล้าลงดินให้เข้ากันและปรับผิวดินให้เรียบอีกครั้งหนึ่ง การเตรียมต้นกล้า นำเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ไม่มีการเข้าทำลายจากโรคและแมลง หุ้มด้วยผ้าสะอาดแช่น้ำจนโชก นำขึ้นวางทิ้งไว้จนสะเด็ดน้ำ เก็บในร่ม 2-3 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกราก นำเมล็ดปลูกลงในถุงเพาะกล้าขนาดเล็กสีดำที่มีวัสดุเพาะ ประกอบด้วย ดินร่วนสะอาด 2 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน แกลบดิบ 1 ส่วน และปุ๋ยคอกเก่าครึ่งส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วบรรจุใส่ถุงเพาะ รดน้ำให้ชุ่ม ทำหลังคาพรางแสงให้ต้นอ่อนครบ 30 วัน ต้นกล้าจะมี 5 ใบ ก่อนนำลงปลูกในแปลงควรงดการให้น้ำ 2-3 วัน เพื่อกระตุ้นให้แข็งแรง เปิดหลุมลึกและกว้างพอดีกับขนาดถุงเพาะตามระยะปลูกที่ปักหลักทำเครื่องหมายไว้ ฉีกถุงเพาะออก ระวังอย่าให้รากกระทบกระเทือน วางลงในหลุม กลบดินพอแน่น รดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าให้แฉะ ช่วงปลูกที่ดีคือ ตอนเย็นที่มีแสงอาทิตย์อ่อนเพราะจะทำให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วกว่าในช่วงที่มีแสงแดดจ้า หลังปลูกแล้ว 10-15 วัน ควรใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนแกง ด้วยวิธีโรยห่างโคนต้นประมาณ 1 คืบ พร้อมกลบดินและรดน้ำตาม หมั่นกำจัดวัชพืชให้แปลงสะอาดอยู่เสมอ พริกจะเริ่มออกดอกหลังจากย้ายปลูกแล้ว 60-70 วัน และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อมีอายุ 90-100 วัน เนื่องจากพริกสุกแก่ไม่พร้อมกัน จำเป็นต้องเก็บเกี่ยวเดือนละ 4-6 รุ่น เก็บไปจนหมดแล้วรื้อแปลงปลูกใหม่ พริกเป็นพืชที่มีศัตรูเข้าทำลายหลายชนิด โรคที่เกิดการระบาดอยู่เสมอ ได้แก่ โรคกุ้งแห้ง โรคชนิดนี้เกิดจากเชื้อรา การระบาดมักรุนแรงในฤดูฝนที่มีฝนชุก อากาศชื้น ความรุนแรงเกิดที่ผลพริก ระยะแรกเกิดจุดสีน้ำตาลช้ำ ต่อมาเนื้อผลจะยุบเข้าไปในเนื้อผล ต่อมาขยายวงกว้างจนเป็นแผลใหญ่และเน่าทั้งผลในที่สุด วิธีป้องกันกำจัด ให้คัดเลือกเมล็ดที่สมบูรณ์และไม่นำมาจากแหล่งปลูกที่มีโรคดังกล่าวระบาด ก่อนปลูกคลุกเมล็ดด้วย ไดเทนเอ็ม 45 ตามอัตราแนะนำ โรคเหี่ยว เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าทำลายท่อน้ำ ท่ออาหาร ทำให้รากส่งน้ำและอาหารขึ้นไปเลี้ยงลำต้นไม่ได้ ในตอนกลางวันต้นจะเหี่ยวเมื่อได้รับแสงจ้า ในตอนกลางคืนกลับฟื้นเป็นปกติ ประมาณ 2-3 วัน ต่อจากนั้นจะเหี่ยวเฉาตาย วิธีป้องกันกำจัด เมื่อพบการระบาดให้ถอนต้นที่เป็นโรคเผาทำลายทิ้งไป หว่านปูนขาวเพื่อทำลายเชื้อโรคหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตต้นที่ไม่เป็นโรคจนหมด แนะนำให้ปลูกพืชตระกูลอื่น เช่น พืชตระกูลถั่วหมุนเวียนในแปลงเพื่อตัดวงจรของเชื้อโรค แมลงศัตรูที่ระบาดรุนแรงในแปลงปลูกพริก ได้แก่ เพลี้ยไฟ มักระบาดรุนแรงในช่วงฝนทิ้งช่วง หรือช่วงที่แห้งแล้งยาวนาน เพลี้ยจะเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบอ่อน ยอดอ่อน ตาดอก ทำให้ต้นพริกแคระแกร็น อาการที่ชัดที่สุดคือ ใบจะม้วนขึ้นด้านบนของใบ ส่งให้ผลผลิตขาดคุณภาพ วิธีป้องกันกำจัด เมื่อพบการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วย ไดอะซินนอน หรือบูซูดิน ฉีดพ่นตามอัตราแนะนำทุก 5 วัน 1-2 ครั้ง หากพบว่าการระบาดลดลงในระดับปกติให้งดฉีดพ่นทันที เพลี้ยอ่อน มักพบการระบาดทั่วไปในแหล่งปลูกพริกและจะระบาดรุนแรงมากขึ้นหากปลูกใกล้กับแปลงปลูกฝ้าย การระบาดเกิดจากมดนำเพลี้ยจากต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่ง เพื่อให้เพลี้ยอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยง เมื่อเพลี้ยอ่อนขับของเสียออกมามีรสหวาน ซึ่งเป็นของโปรดปรานของมด เพลี้ยอ่อนจะดูดกินที่บริเวณยอดอ่อนและใบอ่อน ทำให้ต้นพริกแคระแกร็น วิธีป้องกันกำจัด เมื่อพบการชุมนุมของมด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นมดคันไฟ ให้ราดด้วยน้ำหมักหน่อไม้ดอง ทำให้มดตาย หรือหนีไปที่อื่น จึงเป็นการตัดตอนการระบาดของเพลี้ยไฟได้ผลดี ไรขาว เป็นศัตรูสำคัญของพริกอีกชนิดหนึ่ง ไรขาวจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับแมงมุม แต่มีขนาดเล็กมาก จนมองด้วยตาเปล่าได้ลำบาก การระบาดมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีอากาศชื้นในช่วงฝนตกชุก ด้วยการดูดน้ำเลี้ยงที่บริเวณตาดอก ยอดที่แตกใหม่ ใบพริกจะมีลักษณะเรียวแหลม ก้านใบยาว ขอบใบม้วนลงด้านล่างและยอดจะหงิกเป็นฝอย ทำให้ต้นแคระแกร็น วิธีป้องกันกำจัด เมื่อเกิดการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยกำมะถันผง หรือไดอะซินนอน ตามอัตราแนะนำ 2 ครั้ง ทุก 5 วัน เมื่อพบว่าการระบาดลดลงในระดับปกติ ให้หยุดใช้สารเคมีทันที การดูแลพริกตามคำแนะนำข้างต้น คุณจะสามารถปลูกพริกได้ผลตามต้องการ พริกพันธุ์ซุปเปอร์ฮอท ผมสอบถามไปหลายบริษัทแต่ไม่พบข้อมูล จะมีเพียงพันธุ์ บิ๊กฮอท และซูฮอท ที่ปรับปรุงพันธุ์โดย บริษัท เจียไต๋ เทคโนโลยีการเพาะปลูก จำกัด เลขที่ 295-303 ถนนทรงสวัสดิ์ กทม. 10100 โทร. (02) 233-8191-9 ต่อ 251-254 ราคาเมล็ดพันธุ์ทั้งสอง 120 บาท ต่อ 5 กรัม และพันธุ์ไทยฮอท ปรับปรุงพันธุ์โดยบริษัท ทีเอสเอ จำกัด เลขที่ 1/1 พหลโยธิน 40 จตุจักร กทม. 10900 ราคา 80 บาท ต่อ 10 กรัม ต้องการรายละเอียดสอบถามที่บริษัท โทร. (02) 579-7761-2 ในวันและเวลาทำการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
---ไม่ระบุ---
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
---ไม่ระบุ---
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 360
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM