เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ความแตกต่างของบัวผัน และบัวเผื่อน
   
ปัญหา :
 
 
    ผมมีความสนใจในการปลูกบัวมาก จึงซื้อบัวจากแหล่งจำหน่ายพันธุ์ไม้มาปลูกอยู่เสมอ แต่ปลูกไปสักพักบัวกลับไม่งาม จะมีวิธีบำรุงรักษาอย่างไร ในระยะเปลี่ยนดินในอ่างหรือกระถาง น้ำมักขุ่นและขุ่นอยู่นาน ทำให้ใบอ่อนและดอกที่แทงออกมาใหม่สกปรก ไม่น่าดู จะแก้ไขอย่างไร และขอเรียนถามว่า บัวผัน กับ บัวเผื่อน ต่างกันอย่างไร หวังว่าคงจะได้รับคำตอบจากคุณหมอเกษตร-ทองกวาว
วิธีแก้ไข :
 
    ผมขออนุญาตตอบเรื่องความแตกต่างระหว่างบัวผันกับบัวเผื่อนเป็นอันดับแรก บัวผัน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแอฟริกาใต้ แต่มีผู้นำมาปลูกในประเทศไทยนานแล้ว ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ดอกค่อนข้างดก ลักษณะของดอกจะตูมและค่อนข้างป้อม ดอกบานแผ่เป็นรูปครึ่งวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ขนาด 15-20 เซนติเมตร กลีบดอกไม่ซ้อน ดอกมีกลิ่นหอมเล็กน้อย บัวผันมีนิสัยชอบกึ่งร่มกึ่งแสงแดดจ้า เจริญเติบโตได้ในน้ำหลายระดับ เกิดหัวและแตกต้นอ่อนง่าย ปลูกได้ทั้งในบ่อคอนกรีต บ่อดิน และในอ่าง จึงเหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับ ลักษณะเด่นคือ ติดเมล็ดง่าย และไม่พักตัวในฤดูหนาว บัวผันมีหลายสีตั้งแต่สีขาว ชมพู เหลือง แดง และแสด ส่วน บัวเผื่อน เป็นบัวพื้นเมืองของไทย จัดอยู่ในสกุลเดียวกับบัวผัน แต่จะมีลำต้นและดอกเล็กกว่า มักพบได้ในแหล่งน้ำตื้น ๆ บริเวณภาคกลาง และภาคใต้ของไทย ชื่อนี้เรียกกันมานาน ซึ่งเชื่อว่า คนสมัยก่อนเห็นว่าดอกบัวชนิดนี้มีสีดอกเผื่อน ระหว่างสีขาว คราม และชมพูอ่อน (สุปรานี วนิชชานนท์, 2540) บัวเผื่อนให้ดอกไม่ดกเท่าบัวผัน ดอกมีลักษณะตูมและยาว ขณะดอกบานจะแผ่คล้ายถ้วยแชมเปญ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-10 เซนติเมตร บานในช่วงเช้า และเย็น กลีบดอกซ้อนกันประมาณ 20 กลีบ ดอกที่บานวันแรกจะมีสีขาวแล้วจะเปลี่ยนเป็นเหลือบชมพูที่ปลายกลีบดอก และจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเคลือบครามในวันสุดท้าย หรือวันที่ 3 แต่ดอกไม่มีกลิ่นหอมเหมือนกับบัวผัน บัวเผื่อนปลูกได้ดีในที่มีแสงแดดปานกลางจนถึงแดดจ้า ชอบระดับน้ำตื้นระหว่าง 20-40 เซนติเมตร ปลูกได้ดีแม้มีที่จำกัดคือ มีพื้นที่เพียง 0.1-0.3 ตารางเมตร เท่านั้น ก็พอ ลักษณะเด่นของบัวเผื่อน คือ สามารถทนโรคแมลงได้ดี แต่จะมีระยะพักตัวในฤดูหนาว ติดเมล็ดง่าย จึงนิยมขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เทคนิคการใส่ปุ๋ยบัวที่ปลูกในอ่าง เมื่อสังเกตพบว่า ต้นบัวที่ปลูกไว้ไม่งามเท่าที่ควร หรือหยุดชะงักการเจริญเติบโต ใบเหลืองและมีขนาดลดลง ส่วนรากแผ่ขยายได้น้อย แสดงว่าบัวต้องการปุ๋ย บัวที่ปลูกในภาชนะนิยมบำรุงด้วยปุ๋ย สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 หรือสูตรใกล้เคียงกัน อัตราที่ใช้เพียง 1 ช้อนชา ต่อต้น ก็พอ ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ที่อ่านแล้วสัก 2 ชั้น เป็นก้อนเล็ก ๆ ฝังลงบริเวณโคนต้น ห่างออกมาประมาณ 5-6 เซนติเมตร ให้ลึกลงดินไม่เกิน 10 เซนติเมตร กลบดินพอแน่น หากบัวขนาดใหญ่ขึ้นให้เพิ่มปุ๋ยอีก 1-2 จุด รอบต้น ก็นับว่าเพียงพอแล้ว น้ำปลูกบัวในอ่างขุ่น ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากเปลี่ยนดินในอ่าง หรือในกระถางใหม่ ๆ ป้องกันและแก้ไขได้โดยใช้ดินที่เปลี่ยนใหม่ เป็นดินชนิดที่มีอินทรียวัตถุสลายตัวดีแล้ว หากมีไส้เดือนดิน หอย แมลงอื่น ๆ ติดมาด้วย ควรเก็บออกให้หมด ปรับแต่งผิวดินหลังปลูกให้เรียบร้อยแล้วจึงโรยทับด้วยทรายหยาบ หรือกรวดป่นกลบหน้าดินให้หนา ประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วจึงเติมน้ำลงในอ่างหรือกระถางปลูกอย่างนุ่มนวล จนได้ระดับพอเหมาะ ปฏิบัติได้ตามข้อแนะนำข้างต้น บัวจะงาม น้ำก็ไม่ขุ่น สมใจคุณทุกประการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
12
ตำบล / แขวง :
พลับพลา
อำเภอ / เขต :
โชคชัย
จังหวัด :
นครราชสีมา
รหัสไปรษณีย์ :
30190
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 ปีที่ 14 ฉบับที่ 291
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM