เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
การเก็บเกี่ยวผลไม้ให้ได้คุณภาพเพื่อการส่งออก
   
ปัญหา :
 
 
    ผมเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามอ่านคอลัมน์หมอเกษตร ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านมาหลายปี การตอบปัญหาของคุณหมอมีประโยชน์กับผู้อ่านเป็นอย่างมาก ผมมีปัญหาขอถามคุณหมอเกษตรดังนี้ การเก็บเกี่ยวผลไม้ที่เหมาะสมและมีคุณภาพเพื่อการส่งออก เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน ส้มโอ และมะพร้าวอ่อน จะสังเกตหรือตัดสินใจอย่างไร และควรปฏิบัติอย่างไร
วิธีแก้ไข :
 
    ขอบคุณที่ติดตามอ่านคอลัมน์หมอเกษตร และนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเป็นประจำ ขอให้ติดตามต่อไป รับรองว่า ไม่ผิดหวังแน่นอนครับ อายุการเก็บเกี่ยวผลไม้นั้นนับว่ามีความสำคัญมาก การเก็บเกี่ยวผลที่อ่อนหรือแก่เกินไปจะทำให้คุณภาพของผลไม้ไม่ได้มาตรฐาน ปัญหานี้เกิดขึ้นกับการส่งออกผลไม้ไทยอยู่เสมอ อายุการเก็บเกี่ยวของผลไม้นั้นแตกต่างกันตามชนิดของพืช ดังนี้ เงาะ เก็บเกี่ยวผลได้หลังจากผสมเกสรแล้ว 100-120 วัน คือ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ไปจนถึงเดือนกันยายน ระยะที่เหมาะสำหรับเก็บเกี่ยวเมื่อผลเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีชมพูแล้ว 19-22 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวต้องงดการให้น้ำ 2-3 วัน และเก็บเกี่ยวในตอนเช้า ตัดแต่งผลออกจากช่อเป็นผลเดี่ยว ๆ ตัดก้านผลให้ชิดกับผล คัดขนาดให้สม่ำเสมอ ขนาดมาตรฐานเฉลี่ย 28 ผล ต่อกิโลกรัม ใช้แปรงปัดฝุ่นผงออกจากผล จุ่มในสารละลายบีโนมีล อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ นำขึ้นผึ่งลมจนแห้ง บรรจุกล่องกระดาษลูกฟูก เจาะรูด้านข้าง รวมน้ำหนักผลไม้ 5 กิโลกรัม เตรียมส่งจำหน่าย มังคุด เก็บเกี่ยวผลตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม หรือหลังจากผสมเกสรแล้วประมาณ 11-12 สัปดาห์ ระยะเก็บเกี่ยวผลที่ดีที่สุด เมื่อเห็นว่าเปลือกมังคุดมีลายเลือด หรือรอยจุดแต้ม หรือรอยประสีชมพูเข้ม อีก 5 วัน เป็นระยะที่เหมาะสำหรับบริโภค วิธีเก็บเกี่ยวผลใช้ตะกร้อมีถุงผ้ารองรับ ปากตะกร้อด้านในมีเคี้ยว จากตะกร้อต่อด้ามจับ เมื่อสอยผลผลจะร่วงลงที่ถุงผ้า ทำให้ผลไม่บอบช้ำ แต่ละถุงเก็บผลได้ 5-7 ผล นำผลที่เก็บเกี่ยวได้รวมในภาชนะทับกันไม่เกิน 30 เซนติเมตร ป้องกันผลช้ำ คัดผลที่สมบูรณ์ ไม่มีโรคแมลงติดมาด้วย เช็ดผิวเปลือกขูดยางออกด้วยมีดเบา ๆ ใช้เครื่องเป่าฝุ่นบริเวณขั้วผลออกจนสะอาด คัดขนาดน้ำหนัก 70-100 กรัม ต่อผล บรรจุกล่องกระดาษที่มีช่องเฉพาะผล แล้วเก็บในห้องอุณหภูมิ ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส หากขนส่งทางไกลต้องเก็บในห้องเย็น ที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 4 สัปดาห์ ทุเรียน อายุเก็บเกี่ยวทุเรียนนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ปลูก เช่น พันธุ์กระดุม เก็บเกี่ยวได้เมื่อดอกบาน และผสมเกสรแล้ว 90-100 วัน พันธุ์ชะนี 110-120 วัน พันธุ์ก้านยาว 120-135 วัน และหมอนทอง 140-150 วัน เพื่อป้องกันความผิดพลาดเกิดขึ้น ควรจดบันทึกวันดอกบานทุกรุ่น หรือผูกโยงกิ่งด้วยเชือกฟางสีที่แตกต่างกันในแต่ละรุ่นการบานของดอก หรืออาจใช้วิธีการสังเกตบริเวณก้านผล หรือปลิงที่บวมโตขึ้น ปลายหนามของผลเริ่มแห้งมีสีน้ำตาล หนามกางออก ร่องหนามค่อนข้างห่าง และบริเวณร่องหนามจะมีรอยสีน้ำตาลปรากฏให้เห็น เมื่อเคาะเปลือกเสียงจะไม่แน่น เนื่องจากมีช่องว่างระหว่างเนื้อกับส่วนของเปลือก และสีเปลือกจะเปลี่ยนจากสีเขียวสดเป็นสีเขียวอมน้ำตาลหรือเขียวอมเทา วิธีการเก็บเกี่ยวโดยการขึ้นตัดบรรจุในตะกร้าใช้เชือกโรยลงพื้นดิน อย่าให้ผลบอบช้ำ นำเก็บในที่ร่ม ลมพัดผ่านได้ ล้างในน้ำยาเช่นเดียวกับที่ใช้กับเงาะบรรจุกล่องเก็บห้องเย็นเตรียมส่งออก ส้มโอ พร้อมเก็บเกี่ยวได้หลังจากดอกบานแล้ว 7-8 เดือน พันธุ์ที่นิยมบริโภคกัน ได้แก่ ขาวทองดี ขาวพวง ขาวแป้น และพันธุ์ที่กำลังมีผู้สนใจปลูกมากขึ้น คือ พันธุ์เขียวมะนาว มีแหล่งปลูกอยู่ที่จังหวัดชัยนาท วิธีเก็บเกี่ยวด้วยการตัดขั้วผล ระวังอย่าให้หล่นกระแทกพื้นดินจะทำให้ช้ำ ทำความสะอาดผิวเปลือก บรรจุกล่องเตรียมส่งจำหน่ายได้ มะพร้าวอ่อน หรือมะพร้าวน้ำหอม เป็นผลไม้ที่ให้ผลผลิตตลอดปี โดยจะให้ผลผลิตเฉลี่ย 3,000-4,000 ผล ต่อต้น ที่ระยะปลูก 6x6 เมตร ระยะเก็บผลดีที่สุดนับหลังจากจั่นเปิดเป็นเวลา 200-210 วัน ความหวานของน้ำมะพร้าวอยู่ระหว่าง 6.6-7 เปอร์เซ็นต์บริกซ์ หรือให้สังเกตที่สีของผลบริเวณรอยต่อผลกับขั้วผล มีวงสีขาวโดยรอบปรากฏให้เห็นเพียงเล็กน้อย เป็นระยะที่เก็บผลได้ดีที่สุด การเก็บควรขึ้นตัดแล้วผูกโยงทะลายหย่อนลงพื้น ทำความสะอาดผล ปอกเปลือกออกปาด หรือเฉือนให้มีรูปทรงสวยงาม แช่ในน้ำยาฟอกขาว และในน้ำยากันเชื้อรา ห่อด้วยฟิล์มกันน้ำระเหยออกจากผล บรรจุกล่อง เก็บในห้องเย็นที่อุณหภูมิ -1.5 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 1-2 เดือน ต้องการรายละเอียดเรื่องการส่งออกผลไม้ ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณประวัติ ตันบุญเอก กลุ่มงานวิจัยโรคพืชของผลิตผลเกษตร กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-4111 ในวันเวลาราชการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
4
ตำบล / แขวง :
ท่าพล
อำเภอ / เขต :
เมือง
จังหวัด :
เพชรบูรณ์
รหัสไปรษณีย์ :
67250
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ปีที่ 13 ฉบับที่ 264
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM