เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
วิธีผลิตกระเจี๊ยบเขียวให้ได้คุณภาพ
   
ปัญหา :
 
 
    ผมปลูกกระเจี๊ยบเขียวไว้ แต่ไม่สมบูรณ์ ต้นแคระแกร็น ผลผลิตต่ำ จึงขอเรียนถามคุณหมอเกษตรว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ได้กระเจี๊ยบเขียวที่สวยงามและได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด หวังว่าคุณหมอเกษตรจะให้คำแนะนำโดยละเอียด ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง
วิธีแก้ไข :
 
    กระเจี๊ยบ เป็นพืชที่ได้รับความนิยมบริโภคกันมาก ทั้งในญี่ปุ่นและประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะในญี่ปุ่นนั้นต้องการกระเจี๊ยบที่มีคุณภาพสูงและมีความปลอดภัยจากสารเคมี การปลูกกระเจี๊ยบให้ได้คุณภาพนั้น ควรปลูกในแหล่งที่ไม่มีการใช้สารเคมีในปริมาณมากมาก่อน ดินปลูกที่ดีที่สุด ต้องเป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรดด่าง ระหว่าง 6.0-6.5 แม้ว่ากระเจี๊ยบเขียวจะปลูกได้ตลอดปีก็ตาม แต่ตลาดมีความต้องการสูงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มิถุนายน โดยต้องเริ่มปลูกในเดือนกันยายน เพื่อให้ได้ผลผลิตตามกำหนดเวลา แหล่งปลูกต้องเป็นที่น้ำท่วมไม่ถึง แต่มีน้ำพอใช้อย่างพอเพียง พันธุ์ที่ใช้ปลูก ปัจจุบันมีสองพันธุ์คือ พันธุ์ OK 901 และยูนิซีดส์ ลักษณะประจำพันธุ์ของทั้งสองพันธุ์คือต้นสูง ฝักมีขนาดพอเหมาะ รูปร่างเป็น 5 เหลี่ยม มีสีเขียวสม่ำเสมอ และต้านทานโรค เส้นใบเหลืองได้ดี การเตรียมดิน ไถพลิกดิน เก็บวัชพืชให้สะอาดทั่วแปลง ตากดินไว้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคบางชนิดในดิน ดินที่เป็นกรดให้ใส่ปูนขาว อัตรา 200-500 กิโลกรัม ต่อไร่ พร้อมใส่ปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 1,000-1,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ไถคลุกเคล้าให้เข้ากัน จนดินแตกละเอียด ในที่ลุ่มควรยกแปลงให้เป็นสันร่องสูงจากระดับพื้น 25-30 เซนติเมตร และกว้าง 2.50 เมตร ถึง 3 เมตร เว้นช่องทางเดินระหว่างแปลง กว้าง 50 เซนติเมตร หากยกร่องจีนควรมีชานทางเดินขอบแปลงเพื่อสะดวกในการจัดการแปลงปลูก ใช้ระยะปลูก 50x50 เซนติเมตร หรือ 60x60 เซนติเมตร จะได้ 6,400 ต้น ต่อไร่ และ 4,500 ต้น ต่อไร่ เปิดหลุมตื้นๆ ลึกไม่เกิน 5 เซนติเมตร หากยังไม่ใส่ปุ๋ยคอกให้ใช้รองก้นหลุมปลูกก็ได้เช่นเดียวกัน คลุกเมล็ดด้วยไอโพรไดโอน 50 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 60 กรัม ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม ป้องกันเชื้อโรคติดมากับเมล็ดพันธุ์ ปลูกด้วยอัตรา 4 เมล็ด ต่อหลุม กลบด้วยดินบางๆ และรดน้ำตามพอชุ่มอย่างทั่วถึง เกษตรกรนิยมให้น้ำตามร่องทางเดิน และใช้กระบวยก้านยาวตักน้ำรดอีกครั้ง บางรายอาจใช้ระบบสปริงเกลอร์ก็มี การใส่ปุ๋ย ใช้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 100 กิโลกรัม ต่อไร่ ด้วยวิธีแบ่งใส่ 2 ครั้ง เท่ากัน ครั้งแรกใส่หลังถอนแยกเมื่อต้นกระเจี๊ยบเขียวมีอายุ 20 วัน เหลือไว้เพียง 2 ต้น ต่อหลุม ครั้งที่สองใส่เมื่อกระเจี๊ยบเขียวเริ่มออกดอกด้วยวิธีโรยด้านข้างแถว แล้วพรวนดินกลบพร้อมให้น้ำตามทันที การให้น้ำ ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงออกดอกและติดฝัก หากขาดน้ำจะได้ฝักขนาดเล็กลง และไม่ได้มาตรฐานที่ตลาดต้องการ การกำจัดวัชพืช หมั่นกำจัดวัชพืชตั้งแต่ขนาดเล็ก เก็บฝังหรือเผาทำลายไม่ให้เป็นแหล่งพักอาศัยของโรคและแมลงศัตรู และแย่งน้ำแย่งอาหารของพืชปลูก อุปกรณ์เครื่องใช้อื่นๆ หลังจากใช้งานแล้วต้องล้างทำความสะอาด เก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย การเก็บเกี่ยว ระยะเก็บเกี่ยวที่ดีให้เก็บเกี่ยวฝักหลังจากดอกบานแล้ว 45 วัน ระยะนี้ฝักจะมีความยาว 7-12 เซนติเมตร ซึ่งเหมาะสำหรับนำมารับประทานผลสด และขนาดความยาว 5-9 เซนติเมตร สำหรับแช่แข็งเพื่อการส่งออก ช่วงเก็บเกี่ยวควรเก็บเกี่ยวในช่วงเช้า ให้สวมถุงมือผ้าชั้นแรกและสวมทับด้วยถุงมือยางอีกชั้น ป้องกันการระคายเคืองจากขนของฝักกระเจี๊ยบเขียว ใช้มีดหรือกรรไกรที่คมและสะอาดตัดที่ขั้วฝักทีละฝัก ให้ก้านฝักมีความยาว 1 เซนติเมตร บรรจุลงในภาชนะโปร่ง น้ำหนักไม่เกิน 3 กิโลกรัม ป้องกันไม่ให้ทับกันเพราะอาจทำให้ฝักกระเจี๊ยบเขียวช้ำเสียหาย การเก็บรักษาและการบรรจุผลผลิต หลังเก็บฝักแล้วรีบนำเข้าร่ม หรือโรงเรือนที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี คัดเลือกฝักอ่อนและสด สีเขียวสม่ำเสมอทั้งฝัก มีเส้นใยน้อย ฝักมีลักษณะตรงและมี 5 เหลี่ยมความยาว 7-12 เซนติเมตร สำหรับบริโภคสด และความยาว 5-9 เซนติเมตร สำหรับแช่แข็ง ฝักไม่มีรอยแผลที่เกิดจากการเก็บเกี่ยวหรือแผลเกิดจากโรคแมลงทำลาย บรรจุลงในถุงตาข่ายไนลอนโปร่ง 5-10 ฝัก เก็บในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 10-15 องศาเซลเซียส การขนส่งหากไม่มีห้องเย็นจะต้องใช้เวลาขนส่งไม่เกิน 12 ชั่วโมง โรคและแมลงศัตรู ที่พบว่าระบาดอยู่เสมอคือ โรคเส้นเหลือง เกิดจากเชื้อไวรัส แสดงอาการที่เส้นใบเหลืองด่าง หากระบาดรุนแรงยอดจะเหลืองและม้วนงอ ติดฝักน้อย และฝักไม่สมบูรณ์ การระบาดในระยะกล้าจะทำให้ต้นจะแคระแกร็นไม่ให้ผลผลิต โรคชนิดนี้มีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรค วิธีป้องกันกำจัด แนะนำให้ใช้พันธุ์ต้านทานโรค เช่น พันธุ์ OK 9701 เมื่อพบว่ามีการระบาดระยะเริ่มต้นให้ถอนต้นและเผาทำลาย หลีกเลี่ยงการปลูกพืชบางชนิดที่เป็นแหล่งอาศัยของเชื้อโรค ห้ามใช้มีดที่สัมผัสกับต้นที่เป็นโรคไปตัดหรือสัมผัสต้นที่ยังไม่เกิดโรค เพราะจะทำให้ถ่ายเชื้อถึงกันได้ โรคใบจุด เกิดจากเชื้อรา มักเข้าระบาดในฤดูหนาว ที่มีหมอกและน้ำค้างลงจัด การระบาดเกิดขึ้นที่ใบส่วนล่างของต้น ระยะแรกพบลักษณะคล้ายแป้งสีขาวอมเทาที่หลังใบ หากระบาดรุนแรง ผงแป้งจะเปลี่ยนเป็นสีเทาปนดำ ต่อมาใบจะแห้งและหลุดร่วงในที่สุด การป้องกันกำจัด ให้คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมี ก่อนนำไปปลูกเผาทำลายต้นที่เกิดโรคทิ้ง เมื่อการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วย แมนโคเซบ 80% ดับบลิวพี อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ หรือโพรพีเนบ 70% ดับบลิวพี อัตราเดียวกัน ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน และต้องหยุดใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต 7 วัน แมลง ที่เข้าทำลายกระเจี๊ยบเขียวรุนแรงคือ หนอนเจาะสมอฝ้าย ซึ่งเป็นตัวหนอนของผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง จะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ที่ใบ ก้านใบ และยอดอ่อน หลังจากฟักออกเป็นตัวจะเจาะเข้ากัดกินภายในฝักของกระเจี๊ยบเขียว ทำให้ฝักเสียหายไม่ได้ราคา วิธีป้องกันกำจัด หมั่นเก็บตัวหนอนทำลายทิ้งไป หรือใช้ นิวเคลีย โพลีฮิโดรซิส ไวรัส อัตรา 30 ซีซี ฉีดพ่นทุก 7 วัน เมื่อพบการระบาดรุนแรง แมลงหวี่ขาว มีความสามารถทำความเสียหายได้ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เข้าดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบ ทำให้ยอดและใบเหี่ยวเฉาเสียหาย นอกจากนี้ แมลงหวี่ขาวยังเป็นพาหะนำเชื้อโรคเส้นใบเหลืองอีกด้วย วิธีป้องกันกำจัด ให้ฉีดพ่นด้วยพิโปรนิล 59% เอสซี อัตรา 40 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นเมื่อพบแมลงหวี่ขาวระบาดทุก 5-7 วัน เมื่อการระบาดหมดไปให้หยุดใช้สารเคมีทันที และต้องหยุดการฉีดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อยเป็นเวลา 7 วัน หากปฏิบัติได้ตามคำแนะนำข้างต้น คุณก็จะสามารถผลิตกระเจี๊ยบเขียวได้คุณภาพ ตามต้องการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
2
ตำบล / แขวง :
อ้อมน้อย
อำเภอ / เขต :
กระทุ่มแบน
จังหวัด :
สมุทรสาคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 358
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM