เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
กาแฟอาราบิก้ากับโรบัสต้า แตกต่างกันอย่างไร
   
ปัญหา :
 
 
    ผมสนใจจะปลูกกาแฟที่จังหวัดภาคเหนือ ทราบว่ากาแฟที่เหมาะกับภาคเหนือคือ กาแฟอาราบิก้า ส่วนกาแฟโรบัสต้าปลูกได้ดีในภาคใต้นั้น กาแฟทั้งสองชนิดมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และจะปลูกอย่างไรจึงจะได้กาแฟที่มีคุณภาพดี หวังว่าคงจะได้รับคำแนะนำจากคุณหมอเกษตรเป็นอย่างดี
วิธีแก้ไข :
 
    ก่อนอื่นขอเล่าถึงความแตกต่างของกาแฟอาราบิก้า กับโรบัสต้า ก่อนเป็นอันดับแรก กาแฟอาราบิก้า เป็นกาแฟที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในแหล่งที่มีอากาศหนาวเย็น ที่อุณหภูมิระหว่าง 17-22 องศาเซลเซียส มีลำต้นสูง 4 เมตร ใบมีขนาดเล็ก สีเขียวมัน มีถิ่นกำเนิดอยู่ระหว่างรอยต่อของประเทศเอธิโอเปียกับซูดาน นอกจากนี้ ยังต้องการปริมาณน้ำฝน 1,400 มิลลิเมตร ต่อปี ดินควรเป็นดินร่วนสีแดง มีหน้าดินลึก ปัจจุบันทั่วโลกปลูกกาแฟชนิดนี้ประมาณร้อยละ 80 ของการผลิตทั้งหมด ลักษณะเด่นคือ มีกลิ่นหอมและรสชาติเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ข้อด้อยคือ อ่อนแอต่อโรคและไม่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เก็บผลผลิตได้หลังจากดอกบานแล้ว 6-9 เดือน กาแฟโรบัสต้า เป็นกาแฟที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดี ที่อุณหภูมิระหว่าง 25-28 องศาเซลเซียส มีขนาดทรงต้นสูงใหญ่กว่ากาแฟอาราบิก้า ที่ความสูง 4-6 เมตร มีข้อปล้องยาว ใบมีขนาดใหญ่สีเขียวเข้มแต่ไม่เป็นมัน ต้องการอากาศร้อนชื้น ฝนตกชุกและสม่ำเสมอ มีปริมาณน้ำฝน 1,500-1,800 มิลลิเมตร ต่อปี ทนทานต่อโรค และสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนได้ดีกว่า กาแฟอาราบิก้า กาแฟโรบัสต้าพบมากที่บริเวณฝั่งทะเลตะวันตกของทวีปแอฟริกา จุดเด่นของกาแฟโรบัสต้าคือให้ปริมาณเนื้อกาแฟมากแม้จะให้กลิ่นและรสชาติด้อยกว่ากาแฟอาราบิก้าก็ตาม เก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังดอกบานแล้ว 10-11 เดือน ทั้งนี้ ผมเคยเล่าให้ท่านผู้อ่านรับทราบไปบ้างแล้ว ที่คอกาแฟได้อรรถาธิบายไว้ว่า กาแฟอาราบิก้าให้กลิ่นและรสชาติ ส่วนโรบัสต้าให้เนื้อและตัวตน ท่านทราบหรือไม่ว่ากาแฟที่ปลูกในประเทศไทย จะตรงข้ามกับการผลิตของโลก เพราะว่าร้อยละ 98 เป็นกาแฟโรบัสต้าซึ่งมีแหล่งปลูกอยู่ในภาคใต้ กาแฟอาราบิก้ามีเพียงร้อยละ 2 ของแหล่งปลูกทั้งประเทศเท่านั้น กาแฟ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีลำต้นตั้งตรง กิ่งแขนงแตกออกจากต้นแม่เป็นคู่ตรงข้ามกัน ขนานพื้นดินหรือห้อยต่ำลงเล็กน้อย ระบบรากกาแฟจะกระจายรอบทรงพุ่มและหยั่งลงดินตื้นๆ ไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลักษณะใบจะแหลม ขอบใบหยักเป็นคลื่น ดอกมีสีขาวกลิ่นหอม ออกดอกเป็นช่อและก้านสั้น ดอกเป็นชนิดสมบูรณ์เพศ ช่อดอกเกิดขึ้นที่บริเวณข้อของกิ่ง กาแฟทั้งสองชนิดจะออกดอกระหว่างเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนเมษายน การปลูกกาแฟอาราบิก้า เพื่อให้สะดวกในการจัดการสวน จึงแนะนำให้แบ่งแปลงออกเป็นแปลงย่อย ขนาดไม่เกิน 2-3 ไร่ ต่อแปลง กรณีที่ปลูกบนที่ลาดเอียง ควรปลูกตามแนวระดับระยะปลูกควรใช้ 1.5x2 เมตร หรือ 2x2 เมตร จะได้จำนวนต้น 533 และ 400 ต้น ต่อไร่ตามลำดับ หากพื้นที่เป็นไหล่เขาให้ปลูกแบบสลับฟันปลา เพื่อลดการชะล้างหน้าดินเมื่อมีฝนตกชุก เตรียมหลุมปลูก ขนาดกว้างและลึก 30 เซนติเมตร เท่ากัน คลุกดินกับปุ๋ยคอกเก่า อัตราครึ่งปุ้งกี๋ ต่อหลุม รองก้นหลุมด้วย หินฟอสเฟต อัตรา 1-2 กระป๋องนม ต่อหลุม พร้อมปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 2 ช้อนโต๊ะ เกลี่ยดินกลับลงหลุมปลูก นำกล้าที่เตรียมไว้ที่ได้จากวิธีเพาะเมล็ดในถุงเพาะกล้า ขนาด 6x9 นิ้ว ที่มีวัสดุเพาะ ใช้ส่วนผสมของดินร่วน 3 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 2 ส่วน แกลบดิน 1 ส่วน และปุ๋ยคอกเก่าครึ่งส่วน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน คัดเลือกเมล็ดที่สมบูรณ์ แยกเนื้อออกจากเมล็ด แช่น้ำไว้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ล้างเมือกออกให้หมด ล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งลมจนแห้งสนิทดี แล้วนำไปเพาะได้ทันที หากจะเก็บไว้เพาะคราวต่อไปไม่ควรเก็บนานเกิน 2 เดือน นำเข้าเก็บในเรือนเพาะชำที่มีหลังคาพรางแสง หมั่นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ ครบ 8 เดือน จะได้ต้นกล้าสูงประมาณ 50 เซนติเมตร นำไปปลูกในแปลงได้ เปิดปากหลุมให้มีขนาดเท่ากับวัสดุปลูกในถุงเพาะชำ ฉีกถุงเพาะกล้าระวังอย่าให้รากฉีกขาด วางต้นกล้าลงกลางหลุม กลบดินอัดดินพอแน่นให้เป็นรูปหลังเต่าป้องกันน้ำขัง หลังให้น้ำหรือฝนตก ปักหลักไม้ผูกกับต้นกล้าป้องกันลมพัดโยก ในบางช่วงแสงแดดจ้าอาจทำให้กาแฟเกิดอาการใบไหม้ จำเป็นต้องปลูกพืชให้ร่มเงา เช่น ทองหลางไร้หนาม แค กระถิน ถั่วหูช้าง และกางหลวง ให้ปลูกแซมลงระหว่างแปลงกาแฟ ใช้ระยะปลูก 6x6 เมตร และต้องตัดแต่งไม้ร่มเงาให้มีความสูงไม่เกิน 5 เมตร การใส่ปุ๋ยกาแฟ ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ควรใส่ปุ๋ยเคมีด้วย สูตร 15-15-15 ปีที่ 1 อัตรา 200 กรัม ต่อต้น ปีที่ 2 อัตรา 250 กรัม ต่อต้น และ ปีที่ 3 อัตรา 300 กรัม ต่อต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง เท่ากัน ในต้นฤดูและปลายฤดูฝน ส่วนใน ปีที่ 4 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มให้ผลผลิตแนะนำให้ใช้ปุ๋ย สูตร 13-13-21 หรือ 14-14-21 อัตรา 300-400 กรัม ต่อต้น แบ่งใส่สองครั้งต้นฤดูและปลายฤดูฝน วิธีใส่ปุ๋ย ให้หว่านรอบทรงพุ่มแล้วคลุมด้วยหญ้าแห้งหรือฟางข้าวแล้วรดน้ำตาม หากต้องการให้กาแฟตั้งตัวได้เร็วขึ้นแนะนำให้ปลูกในต้นฤดูฝน การให้น้ำด้วยระบบมินิสปริงเกลอร์ในช่วงออกดอก จะช่วยให้กาแฟออกดอกพร้อมกันทั้งแปลง เมื่อต้นกาแฟมีอายุย่างเข้าปีที่ 5 จำเป็นต้องตัดแต่งให้ต้นเตี้ยลง โดยเหลือความสูงไว้เพียง 30 เซนติเมตร จากระดับพื้นดิน ต่อมาอีกประมาณ 7-15 วัน ต้นกาแฟจะแตกตากิ่งและพัฒนาเป็นกิ่งจนได้ความยาว 30 เซนติเมตร จึงเลือกกิ่งที่แตกจากโคนต้นไว้ 4-5 กิ่งแขนง แล้วแต่งแยกกระจายให้เกิดความสมดุลของทรงพุ่ม บำรุงกิ่งหนุ่มสาวจนครบ 8-12 เดือน จึงปล่อยให้ออกดอกติดผล จากนั้นให้ปฏิบัติเช่นเดียวกันอีกทุกๆ 5 ปี นอกจากนี้ ควรปลิดกิ่งแขนงที่เกิดใหม่ในตำแหน่งที่ไม่ต้องการทิ้งไป เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและอาหารจากต้นไปใช้โดยเปล่าประโยชน์ ต้นกาแฟจะเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่เมื่อมีอายุย่างเข้าปีที่ 4 ผลจะเริ่มสุกแก่ในเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนเมษายนของปีถัดไป เนื่องจากผลกาแฟสุกไม่พร้อมกัน จึงเลือกเก็บเฉพาะผลสุกแก่ที่มีสีแดงสดเท่านั้น โรคสำคัญของกาแฟ คือ โรคผลเน่า เกิดจากเชื้อรา หากเกิดที่ผลจะทำให้ผลดำ เปลือกเหี่ยวย่น เมล็ดลีบและแห้งคาต้นใช้ประโยชน์ไม่ได้ วิธีป้องกันกำจัด ให้ตัดกิ่งที่เป็นโรคเผาทำลายทิ้ง พร้อมตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ลดพัดและแสงส่องเข้าในทรงพุ่มได้ทั่วถึง โรคราสนิม เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง มักระบาดในฤดูฝนเนื่องจากมีความชื้นในบรรยากาศสูง โดยเฉพาะที่ใบอ่อนจะพบเชื้อราสร้างเส้นใยกระจายเต็มพื้นที่ของใบต้นล่าง ทำให้ระบบการสังเคราะห์แสงและระบบการคายน้ำทำงานไม่เป็นปกติ ทำให้ผลผลิตต่ำลงและไม่ได้คุณภาพ วิธีป้องกันกำจัด บำรุงต้นกาแฟให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง เมื่อเกิดการระบาดรุนแรง ให้ฉีดพ่นด้วยคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 85% ดับบลิวพี ตามอัตราแนะนำ แมลงศัตรู เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงปากดูด ลำตัวกลม ปกคลุมด้วยขี้ผึ้งสีขาวคล้ายแป้ง เข้าดูดกินที่ผล ตา ดอก และยอดอ่อน ต่อมาเกิดมีเชื้อราเกาะเป็นเขม่าสีดำ วิธีป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง กรณีที่ระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยนูวาคอน 56% ดับบลิวพี อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน 2 ครั้ง การระบาดของเพลี้ยแป้งจะหมดไป การสี หรือการผลิตสารกาแฟ ทำได้ 2 วิธี 1. การสีสด นำผลสดที่เก็บจากต้น นำเข้าเครื่องสีขนาดเล็ก ล้างและขัดเอาเปลือกนอก พร้อมเมือกออกให้สะอาด ร่อนแยกเอาเฉพาะเมล็ดผึ่งให้สะเด็ดน้ำ นำเข้าเครื่องอบแห้งนาน 24-28 ชั่วโมง ทิ้งให้เย็น คัดเลือกเมล็ดดีไว้ นำเข้าเก็บในโรงเรือน เตรียมนำไปจำหน่ายได้ 2. การสีแห้ง วิธีนี้นิยมกับกาแฟโรบัสต้า ด้วยวิธีนำผลมาตากแดดให้แห้งจนสามารถเขย่าให้เกิดเสียง แล้วนำไปสี คัดแยกเอาเฉพาะเมล็ดกาแฟเท่านั้น และนำเข้าเก็บในโรงเรือน เตรียมจำหน่ายต่อไป กาแฟอาราบิก้าปลูกได้ผลดีในแหล่งที่มีอากาศหนาวเย็น ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก และแม่ฮ่องสอน การปลูกกาแฟโรบัสต้า เนื่องจากกาแฟโรบัสต้ามีขนาดลำต้นใหญ่กว่ากาแฟอาราบิก้า ระยะปลูกจึง 3x3 เมตร หรือ 3x4 เมตร ส่วนวิธีปฏิบัติอื่นๆ ให้ใช้วิธีเดียวกับการปลูกกาแฟอาราบิก้า แหล่งปลูกสำคัญของกาแฟโรบัสต้า ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และพังงา ลองนำข้อแนะนำผมไปปรับใช้กับการปลูกกาแฟของคุณ ผมเชื่อมั่นว่าจะได้ผลดีตามต้องการ สอบถามรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ถนนพหลโยธิน จตุจักร กทม. 10900 โทร. (02) 579-0583 ในวันและเวลาทำการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
4
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
วัดโบสถ์
จังหวัด :
พิษณุโลก
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 358
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM