เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มะคาเดเมียปลูกได้ดีในแหล่งที่มีอากาศหนาวเย็นของไทย
   
ปัญหา :
 
 
    ผมสนใจต้องการปลูกมะคาเดเมีย เนื่องจากเคยรับประทานแล้วเห็นว่าเป็นพืชที่น่าสนใจ แต่ยังขาดข้อมูลเรื่องนิสัย วิธีการปลูก การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยว จึงขอเรียนรบกวนถามคุณหมอเกษตร ทองกวาว ได้กรุณาอธิบายรายละเอียดให้ทราบด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง
วิธีแก้ไข :
 
    มะคาเดเมีย (macadamia) เป็นพืชที่มีอยู่รวม 10 ชนิด ทั้งนี้ จำนวน 6 ชนิด มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศออสเตรเลีย หนึ่งชนิดพบอยู่ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และอีก 3 ชนิด พบอยู่ที่หมู่เกาะนิวคาลิโดเนีย ในแถบเดียวกับประเทศปาปัวนิวกินี ชนิด หรือ species ที่ใช้บริโภคได้มีเพียง 2 ชนิด พบอยู่ในประเทศออสเตรเลียเท่านั้น ชนิดแรกมีผิวกะลาเรียบและชนิดที่สองมีผิวกะลาหยาบขรุขระ ในปี พ.ศ. 2524 มีชายหนุ่มชาวสกอตแลนด์ได้นำมะคาเดเมียชนิดผิวกะลาเรียบไปปลูกที่รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 เริ่มมีการปลูกมะคาเดเมียเพื่อเป็นการค้าขึ้นในออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยมีการนำมาปลูกทดลองเมื่อปี พ.ศ. 2496 ด้วยความช่วยเหลือขององค์การยูซอม ของสหรัฐอเมริกา โดยกรมกสิกรรม ในขณะนั้น ก่อนรวมกับกรมการข้าว ยกระดับขึ้นเป็น กรมวิชาการเกษตร ได้นำพันธุ์ไปปลูกที่สถานีทดลองกสิกรรมในภาคเหนือหลายแห่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาในปี 2527 มีการนำกิ่งพันธุ์และเมล็ดพันธุ์มะคาเดเมีย จำนวน 8 สายพันธุ์ จากรัฐฮาวาย ไปทดลองปลูกที่สถานีทดลองเกษตรที่สูง วาวี จังหวัดเชียงราย สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง จังหวัดเชียงใหม่ และสถานีทดลองเกษตรที่สูง ภูเรือ จังหวัดเลย ปัจจุบันสถานีทดลองทั้ง 3 แห่ง สามารถกระจายพันธุ์ให้กับเกษตรกรผู้สนใจเฉลี่ยปีละประมาณ 40,000 ต้น ลักษณะนิสัยของมะคาเดเมีย เป็นพืชต้องการอุณหภูมิต่ำสุดที่ 9 องศาเซลเซียส และสูงสุดไม่เกิน 32 องศาเซลเซียส ที่อุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส จะกระตุ้นให้มะคาเดเมียออกดอกได้ดีที่สุด ในประเทศไทยที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 800-1,300 เมตร ซึ่งมีอุณหภูมิในระดับที่พอเหมาะกับมะคาเดเมีย นอกจากนี้ ยังต้องการปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,000 มิลลิเมตร ทั้งนี้ ปริมาณฝนจะขาดหายไปในช่วงฤดูแล้ง ในระยะดังกล่าวต้องมีการให้น้ำบ้าง มิเช่นนั้นผลมะคาเดเมียจะมีขนาดเล็กลง การปลูกไม้กันลม เช่น สนอินเดีย ไผ่ตง หรือไผ่ลวก จะช่วยลดกิ่งฉีกขาด หรือต้นโค่นล้ม เมื่อมีลมพัดแรง มะคาเดเมียต้องการดินอุดมสมบูรณ์และร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรดด่าง 5.6-6.0 จากผลการทดลองมาเป็นเวลานานพบว่า ปลูกได้ผลดีที่ดอยมูเซอ จังหวัดตาก เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และภูเรือ จังหวัดเลย พันธุ์ที่ปลูกได้ดีในประเทศไทย มีดังนี้ พันธุ์นัมเบอร์ 788 มีทรงต้นเป็นพุ่มกลม ใบสีเขียวปานกลาง เมื่ออายุ 10 ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 21 กิโลกรัม ต่อต้น ผลค่อนข้างใหญ่ เฉลี่ย 141 ผล ต่อหนึ่งกิโลกรัม หลังกะเทาะกะลาออกแล้วได้น้ำหนักเนื้อผล 37-40 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์นัมเบอร์ 856 มีลักษณะ ใบกว้างสีเขียวเข้ม ขอบใบมีหนามแหลมและแข็ง ผลค่อนข้างเล็ก เฉลี่ย 174 ผล ต่อกิโลกรัม ข้อเสียคือมีกะลาค่อนข้างหนา และให้ผลผลิตไม่สม่ำเสมอ จึงแนะนำให้ปลูกเพื่อนำละอองเกสรตัวผู้ไปใช้ในการผสมพันธุ์เท่านั้น และ พันธุ์นัมเบอร์ 915 เป็นพันธุ์ที่ทนต่อลมพัดแรง และความแห้งแล้งได้ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ อีกทั้งให้เปอร์เซ็นต์กะเทาะเนื้อผลสูงถึง 36-40 เปอร์เซ็นต์ ใบมีสีเขียวเกือบตลอดปี และให้ผลผลิตได้ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง 700 เมตร เท่านั้น สิ่งสำคัญคือ ติดผลดกและผลมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เฉลี่ย 134 ผล ต่อกิโลกรัม การปลูก และดูแลรักษา ระยะปลูกที่แนะนำคือ 5x10 เมตร จะได้ 32 ต้น ต่อไร่ มะคาเดเมียจะให้ผลผลิตดีได้ถึงอายุ 40-50 ปี ส่วนระยะปลูก 8x12 เมตร ใน 1-3 ปีแรก สามารถใช้พื้นที่ว่างระหว่างแถวปลูกพืชแซม เช่น ถั่วแขก ถั่วพุ่ม และพืชล้มลุกอื่นๆ เป็นรายได้เสริมให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง กรณีเป็นที่ลาดชันจำเป็นต้องปลูกเป็นแถวตามแนวระดับ หรือแนวคอนทัวร์ (Contour line) และให้ทำแนวกันไฟทุก 200-300 เมตร ขุดหลุมกว้างและลึก 50 เซนติเมตร หรือ 100 เซนติเมตร ตามความเหมาะสม คลุกดินด้วยปุ๋ยคอกเก่าอัตราหลุมละ 1-2 ปุ้งกี๋ ให้เข้ากัน รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต เกลี่ยดินผสมกลับลงหลุมปลูก นำต้นกล้าที่เพาะในถุงเพาะชำที่ได้จากการตอนกิ่ง ที่มีอายุ 1-2 ปี ฉีกถุงหรือใช้มีดคมตัดระวังอย่าให้รากฉีกขาด เปิดดินปากหลุมกว้างพอดีกับขนาดราก พร้อมวัสดุเพาะกล้ามะคาเดเมีย วางลงกลางหลุมกลบดิน กดหรือตบพอแน่น พูนดินที่โคนต้นกล้าเป็นรูปหลังเต่า หากไม่มีฝนต้องรดน้ำตามทันที ดังนั้น ช่วงปลูกที่เหมาะสมจึงควรปลูกในต้นฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคม เริ่มตัดแต่งทรงพุ่มตั้งแต่อายุ 8-12 เดือน ให้สมดุลและสวยงาม ไม่ควรปล่อยให้เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เนื่องจากใช้กิ่งตอนในการขยายพันธุ์ ดังนั้น ภายใน 1 ปี มะคาเดเมียจะเริ่มให้ดอก อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเก็บผลผลิตในระยะนี้ ควรให้มีอายุ 4 ปี ขึ้นไป จึงปล่อยให้ติดผล เนื่องจากระยะนี้มะคาเดเมียจะเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมให้ผลผลิตคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ มะคาเดเมียออกดอกเป็นช่อสีขาว มีดอกประมาณ 200 ดอก ต่อหนึ่งช่อ จะออกดอก 2 ช่วง คือระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม โดยนิสัยของมะคาเดเมียจะติดผลเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น และสามารถเก็บผลได้หลังจากดอกบานแล้ว 6-11 เดือน การให้ปุ๋ย ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แนะนำให้ใช้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 แบ่งใส่ 2 ครั้ง ต้นฤดูและปลายฤดูฝน เมื่อมีอายุ 1, 2, 3 และ 4 ปี ในอัตรา 600, 1,200, 1,800 และ 2,400 กรัม ต่อต้น หากดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง ให้ใส่ปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 3-4 ปุ้งกี๋ ต่อต้นทุกปี เพียงอย่างเดียวก็ได้ และเมื่อต้นมะคาเดเมียให้ผลแล้ว ควรเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเป็น 12-12-12-2 ปุ๋ยตัวสุดท้ายคือ แมกนีเซียม มีสมบัติในการเพิ่มปริมาณน้ำมันในผล การเก็บเกี่ยว อายุเก็บเกี่ยวอาจยืดยาวออกไป ในแหล่งที่มีอากาศหนาวเย็นมากขึ้น วิธีเก็บเกี่ยวใช้วิธีเขย่าต้น หรือใช้ไม้ตะขอสอยผลให้ร่วงลงพื้น หากให้ดีควรรองรับด้วยตาข่ายไนลอน นำผลที่ได้เข้าเครื่องกะเทาะเปลือกนอกออก อาจปรับเครื่องสีข้าวโพดกะเทาะก็ได้ แล้วนำไปผึ่งลม อีก 2-3 วัน จากนั้นนำเข้าตู้อบที่อุณหภูมิ 38, 42, 46, 48 องศาเซลเซียส และ 52 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1-2, 1-2, 1-2, 1-2 และ 1-2 วัน ตามลำดับ จนเหลือความชื้นในเนื้อผล 1-1.5 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นนำไปกะเทาะกะลาด้วยเครื่องกะเทาะที่ผลิตขึ้นเฉพาะ โรคแมลงศัตรูสำคัญของมะคาเดเมีย โรคเปือกผุ ที่เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง หากระบาดรุนแรงจะทำให้เกิดอาการเดียวกับโรครากเน่า วิธีป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ทำทางระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นเมื่อมีฝนตกหรือหลังการให้น้ำ ใช้วิธีเฉือนเนื้อไม้ที่บริเวณเกิดแผลเปื่อย ทำความสะอาดแล้วทาด้วยคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ให้ทั่วแผล อาการทุเลาลง แมลงค่อมทอง มักกัดกินใบในช่วงแตกใบอ่อนทำให้ประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงลดลง การป้องกันกำจัด แนะนำให้ฉีดพ่นด้วยคาร์บาริล ตามอัตราแนะนำ การระบาดจะหมดไปในที่สุด ต้องการข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการด้านพืช และปัจจัยการผลิตเพชรบูรณ์ 2 อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. (056) 723-056 ในวันเวลาทำการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
4
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
งาว
จังหวัด :
ลำปาง
รหัสไปรษณีย์ :
52110
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 357
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM