เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
การปลูกปาล์มน้ำมันที่ให้ผลดี
   
ปัญหา :
 
 
    ผมสนใจจะปลูกปาล์มน้ำมันที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จะได้ผลหรือไม่ และจะปลูกดูแลรักษาอย่างไรจึงจะได้ผลดี ที่สำคัญผมจะส่งจำหน่ายผลผลิตได้ที่ไหน ผมขอคำแนะนำด้วย หวังว่าคงจะได้รับความช่วยเหลือด้วยดี
วิธีแก้ไข :
 
    ปาล์มน้ำมัน เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน หรือดินร่วนเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์สูงถึงปานกลาง มีหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร ไม่มีชั้นดินดาน มีความเป็นกรดด่าง 4-6 มีระดับน้ำใต้ดินลึก 75-100 เซนติเมตร น้ำท่วมไม่ถึง และที่สำคัญต้องอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ไม่เกิน 300 เมตร ปาล์มน้ำมันต้องการปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,800 มิลลิเมตร ต่อปี การกระจายตัวค่อนข้างสม่ำเสมอ และควรมีช่วงแล้งไม่เกิน 3 เดือน จากผลการวิจัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า 14 จังหวัดภาคใต้ ปลูกได้ผลดี หากต้องการปลูกในแหล่งอื่นจะต้องมีแหล่งน้ำในปริมาณที่พอเพียงกับความต้องการของสวนปาล์ม พันธุ์ที่ทางราชการแนะนำให้ปลูก ได้แก่ พันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 ที่ได้จากต้นแม่ ดูร่า และพันธุ์พ่อ ฟิซิเฟอร่า ลักษณะเด่นคือมีกะลาบาง เปลือกนอกที่ให้น้ำมันหนากว่าพันธุ์แม่ อีกทั้งให้น้ำหนักผลปาล์มต่อทะลายสูงกว่าแม่พันธุ์ 22-25 เปอร์เซ็นต์ หรือให้ผลผลิตในปีที่ 3-5 ที่ 130 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี แหล่งจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ดี ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร. (077) 286-933 การปลูกปาล์มน้ำมัน เตรียมแปลงในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ด้วยการไถดะและไถแปร เก็บวัชพืชออกให้หมด วางผังทำถนนกว้าง 5-8 เมตร เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนส่งผลผลิตปาล์ม เป็นเส้นหลักเข้าสู่โรงงานและเส้นทางแยกหรือซอย กว้าง 4-5 เมตร เพื่อนำวัสดุการเกษตรเข้าสู่สวนปาล์ม พร้อมทำร่องระบายน้ำขอบถนนทุกสาย ขนาดกว้างและลึก 100 และ 110 เซนติเมตร การเพาะชำต้นกล้า แปลงเพาะชำต้องน้ำท่วมไม่ถึง ใกล้แหล่งน้ำ มีถนนเข้าออกได้สะดวก นำเมล็ดพันธุ์ที่แก่เต็มที่แล้วปราศจากโรคและแมลงศัตรูติดมาด้วย เพาะในถุงเพาะชำสีดำขนาด 6x7 นิ้ว หรือขนาด 6x9 นิ้ว บรรจุวัสดุปลูกที่ประกอบด้วยดินร่วน 3 ส่วน แกลบดิน 1 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน และปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน กลบเมล็ดตื้นๆ รดน้ำพอชุ่มเก็บในเรือนเพาะชำ เมื่อต้นกล้าอายุ 3 เดือน จากเมล็ดงอกจะมีใบ 3-4 ใบ จากนั้นให้คัดต้นที่ไม่ได้ขนาดทิ้งไป ดูแลต้นกล้าจนมีอายุครบ 12 เดือน จึงนำลงปลูกในแปลงปลูกได้ต้นกล้าที่แข็งแรง จะสูง 100-150 เซนติเมตร และมีใบประมาณ 9 ใบ ระยะปลูกปาล์ม นิยมปลูกเป็นรูปสามเหลี่ยนด้านเท่า ยาวต้นละ 9.00 เมตร หรืออาจเรียกว่า ปลูกแบบสลับฟันปลาก็ได้ ฉะนั้น ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ 22 ต้น ช่วงปลูกที่ดีควรปลูกในต้นฤดูฝน ขุดหลุมกว้างและลึก 45 และ 35 เซนติเมตร ตากดินไว้ 1-2 สัปดาห์ แล้วคลุกกับปุ๋ยคอกเก่าอัตราหลุมละครึ่งปุ้งกี๋ พร้อมรองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟตอัตรา 250 กรัม ต่อหลุม เกลี่ยกลับดินลงหลุม พูนดินให้เป็นหลังเต่า เปิดปากหลุม ขนาดเท่าถุงเพาะกล้า ฉีกถุงเพาะกล้า ระวังอย่าให้รากกระทบกระเทือนถึงฉีกขาด วางต้นกล้าลงในหลุม กลบดิน อัดดินรอบข้างพอแน่น พูนดินให้เป็นหลังเต่า เมื่อได้น้ำฝนระยะหนึ่งต้นกล้าจะตั้งตัวได้ และต้องปลูกซ่อมต้นที่ตายก่อนปลูกครบ 60 วัน ต้นที่มีทรงสูงและเติบโตอย่างรวดเร็ว ต้นปาล์มดังกล่าวจะเป็นต้นตัวผู้ มักเกิดขึ้นประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ การใส่ปุ๋ยในสวนปาล์ม ใน ปีแรก ใส่ปุ๋ย แอมโมเนียมซัลเฟต หินฟอสเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ คีเซอร์ไรต์ และโบเรต ปริมาณ 1.2, 1.3, 0.5 กิโลกรัม และ 30 กรัม ต่อต้น ปีที่ 2 แอมโมเนียมซัลเฟต หินฟอสเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ คีเซอร์ไรต์ และโบเรต 3.5, 3.0, 2.5, 0.5 กิโลกรัม และ 60 กรัม ต่อต้น ปีที่ 3 แอมโมเนียมซัลเฟต หินฟอสเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ คีเซอร์ไรต์ และโบเรต 5.0, 3.0, 3.0, 1.0 กิโลกรัม และ 90 กรัม ต่อต้น ปีที่ 4 แอมโมเนียมซัลเฟต หินฟอสเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ คีเซอร์ไรต์ และโบเรต 5.0, 3.0, 4.0, 1.0 กิโลกรัม และ 100 กรัม ต่อต้น ปีที่ 5 แอมโมเนียมซัลเฟต หินฟอสเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ คีเซอร์ไรต์ และโบเรต 5.0, 3.0, 4.0, 1.0 กิโลกรัม และ 80 กรัม ต่อต้น และ อายุ 6 ปี แอมโมเนียมซัลเฟต หินฟอสเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ คีเซอร์ไรต์ และโบเรต 5.0, 3.0, 4.0, 1.0 กิโลกรัม และ 80 กรัม ต่อต้น ขยายความ แอมโมเนียมซัลเฟต 21-0-0 ไนโตรเจน 21% หินฟอสเฟต 0-3-0 ฟอสฟอรัส 30% โพแทสเซียมคลอไรด์ 0-0-60 โพแทสเซียม 60% คีเซอร์ไรต์ แมกนีเซียมออกไซด์ 27% โบเรต บอแรกซ์ (ชนิดผง) 11% วิธีใส่ปุ๋ย ปาล์มน้ำมันอายุ 1-4 ปี ใส่รอบโคนต้นหลังเก็บวัชพืชออกจนหมด อายุ 5-9 ปี ใส่ห่างจากบริเวณโคนต้น 50-150 เซนติเมตร อายุ 10 ปี ขึ้นไป ให้หว่านระหว่างแถวต้นปาล์ม หลังจากกำจัดวัชพืชให้สะอาด การให้น้ำ ในช่วงที่ไม่มีฝนหรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ควรให้น้ำด้วยระบบน้ำหยด หรือระบบมินิสปริงเกลอร์ก็ได้ ในปริมาณ 150-200 ลิตร ต่อต้น ต่อวัน การตัดแต่งทางใบ ต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุ 1-6 ปี ให้ไว้ทางใบ 56-64 ใบ ทางใบที่ตัดแล้วให้นำมาเรียงรายช่องว่างระหว่างแถวแบบแถวเว้นแถว และเปลี่ยนแถวทุกๆ 4-5 ปี เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุลงดินให้กระจายอย่างทั่วถึง การดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ปาล์มอายุ 3-4 ปี จะเริ่มให้ผลผลิต ศัตรูที่สำคัญของปาล์มน้ำมัน โรคใบไหม้ เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อรา การระบาดที่ใบจะเป็นแผลบุ๋มลึกลงในเนื้อ ใบเป็นสีน้ำตาล ขอบแผลนูนฉ่ำน้ำ ลักษณะของแผลเป็นรูปกลมรี ยาว 7-8 มิลลิเมตร ทำให้แผลฉีกขาดง่าย หากเกิดระบาดรุนแรงในระยะกล้าอาจทำให้ถึงตายได้ การป้องกันกำจัด เมื่อพบการระบาดระยะแรกให้ตัดแล้วเผาทำลายทิ้ง หากระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วย ไทแรม 75 เปอร์เซ็นต์ WP 50 กรัม ทุก 5-7 วัน หากพบการระบาดลดลงเป็นปกติให้หยุดใช้สารเคมีทันที แมลง หนอนหน้าแมว เป็นตัวหนอนของผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง หนอนจะกัดกินใบจนเหลือเพียงก้านใบเท่านั้น ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต หากระบาดระยะให้ผลจะทำให้ผลผลิตตกต่ำลงมาก วงจรชีวิตของตัวหนอนจะอยู่ในระยะไข่ 4-5 วัน ระยะตัวหนอน 30-40 วัน ระยะดักแด้ 9-14 วัน และระยะตัวเต็มวัย 6-11 วัน ด้วงแรด เป็นแมลงปีกแข็งที่มีปีกแข็งแรงขนาดใหญ่ ด้านท้องสีน้ำตาลแดง เพศผู้มีเขาคล้ายนอแรด ยาวโค้งกว่าเพศเมีย แมลงชนิดนี้เข้าทำลายปาล์มน้ำมันในช่วงตัวโตเต็มวัยเท่านั้น โดยการบินไปที่โคนทางใบแล้วกัดเจาะเข้าไปในเนื้อไม้ ทำให้ทางใบหักห้อยลง บางครั้งเกิดเป็นรอยขาดแหว่งเป็นชิ้นหรือริ้วก็มี หากเข้าทำลายส่วนยอดอ่อนจะทำให้ต้นปาล์มน้ำมันตายได้ วิธีป้องกันกำจัด ให้ทำความสะอาดบริเวณพื้นสวนให้สะอาด ไม่ปล่อยเศษขยะเศษขี้เลื่อยไว้เป็นแหล่งอาศัยของตัวอ่อน หากมีการระบาดรุนแรง ให้เชื้อราเขียว อัตรา 200-400 กรัม ผสมกับซากพืชที่ผุพังแล้ว กับขี้วัว และขุยมะพร้าว คลุกเคล้าให้เข้ากัน ให้วัสดุได้ขนาด 2x2x0.5 เมตร กองสุมไว้ดักด้วงแรดให้เข้ามาพักอาศัย เมื่อด้วงแรดสัมผัส หรือกินเชื้อราเขียวเข้าไปในร่างกาย ด้วงแรดจะตายภายใน 2-3 วัน สรุปว่า หากพื้นที่ของคุณมีลักษณะคล้ายกับข้อแนะนำข้างต้น คุณก็สามารถปลูกปาล์มได้ผลดี หากมีปริมาณฝนน้อยกว่า คุณจะต้องเพิ่มต้นทุนในการพัฒนาระบบน้ำให้พอเพียงกับความต้องการของปาล์มน้ำมัน การขายผลผลิตระยะแรกคงจะเกิดปัญหาไม่น้อย แต่เมื่อมีปลูกกันมากขึ้น ตั้งแต่ 3,000 ไร่ ขึ้นไป โรงงานสกัดน้ำมันก็จะตามมาเองครับ ต้องการรายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. (077) 286-933 ในวันและเวลาทำการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
วังทอง
จังหวัด :
พิษณุโลก
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 356
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM