เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
วิธีปลูกและดูแลผักหวานบ้าน ชะอม และกระชายดำ
   
ปัญหา :
 
 
    ดิฉันสนใจที่จะปลูกผักหวานบ้าน ชะอม และกระชายดำ แต่ดิฉันไม่มีความรู้ ทางด้านนี้ จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์เรียนถามคุณหมอเกษตร ช่วยแนะนำให้แก่ดิฉันด้วย ดิฉันมีที่อยู่ประมาณ 7-8 ไร่ และอยากทราบว่าพืชผักแต่ละชนิดนั้นควรจะปลูกในฤดูไหน การเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวนั้นจะต้องปฏิบัติอย่างไร
วิธีแก้ไข :
 
    ผักหวานบ้าน เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ลำต้นตั้งตรง เปลือกขรุขระสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีสีเขียวเข้ม ผิวเรียบ ใบเป็นชนิดใบประกอบ มีใบย่อยแยกออกคล้ายขนนก ดอกเดี่ยวออกบริเวณซอกใบ ผลกลม เมื่อแก่มีสีเขียวอมเหลือง ส่วนที่นำมาใช้ประกอบอาหารคือส่วนยอดอ่อนและใบอ่อน การขยายพันธุ์ทำได้ทั้งวิธีปักชำและเพาะเมล็ด ปัจจุบันนิยมใช้วิธีปักชำด้วยการตัดกิ่งที่ไม่แก่และไม่อ่อนเกินไป ยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร ชำลงในถุงเพาะชำที่ใช้ขี้เถ้าแกลบเป็นวัสดุเพาะ ปักลงในถุงเอียงทำมุมกับพื้น 60 องศา ลึก 6-8 เซนติเมตร เก็บในเรือนเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง หากมีฝนตกให้เว้นไป ครบ 45-60 วัน นำลงปลูกในแปลงได้ ใช้ระยะปลูก 1x2 เมตร ขุดหลุมลึกและกว้าง 25 เซนติเมตร เท่ากัน คลุกดินที่ขุดจากหลุมกับปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อหลุม ในดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์แนะนำให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 10-20 กรัม ต่อหลุม ร่วมกับปุ๋ยคอก รดน้ำพอชุ่ม ช่วงปลูกที่เหมาะสมคือต้นฤดูฝน ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงกรกฎาคม หลังจากต้นผักหวานบ้านตั้งตัวได้แล้ว อีก 60 วัน ก็เก็บยอดได้ เมื่อได้รับน้ำอย่างเพียงพอจะเก็บยอดและใบอ่อนได้ทุก 15 วัน ไปตลอดปี เก็บเกี่ยวด้วยวิธีเด็ดยอดด้วยมือหรือกรรไกรคมยาว 12-15 เซนติเมตร บรรจุลงในถุงพลาสติก ส่งขายตลาดต่อไป ผักหวานบ้านเป็นพืชที่ทนต่อโรคและแมลงศัตรูได้ดี ปัจจุบันพบเพลี้ยแป้งระบาดในช่วงแล้งของทุกปี แต่ไม่รุนแรง การป้องกันและกำจัด ให้ฉีดพ่นด้วยน้ำเป็นฝอยทั้งแปลงพอชุ่ม 2-3 ครั้ง การระบาดของแมลงชนิดนี้จะหมดไป ชะอม เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก บางครั้งมีการทอดยอด ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม ใบเป็นชนิดใบประกอบคล้ายกับขนนก ใบอ่อนและยอดอ่อนมีกลิ่นฉุน การขยายพันธุ์นิยมใช้วิธีการปักชำเช่นเดียวกับผักหวานบ้าน วิธีขยายพันธุ์ ตัดกิ่งที่ไม่แก่และไม่อ่อนจนเกินไป ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ชำลงในถุงเพาะชำเช่นเดียวกับการชำกิ่งผักหวานบ้าน ครบอายุ 45-60 วัน กิ่งพันธุ์จะมีรากและใบอ่อน นำลงปลูกในแปลงช่วงต้นฤดูฝน การปลูกในช่วงดังกล่าวจะทำให้โอกาสรอดตายสูง วิธีปลูก ขุดหลุมปลูกกว้างและลึก 25-30 เซนติเมตร คลุกดินที่ขุดจากหลุมด้วยปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 1-2 ปุ้งกี๋ รองก้นหลุมด้วยเศษไม้หรือฟางข้าว ปริมาณครึ่งหนึ่งของหลุมแล้วเหยียบหรืออัดให้แน่น เกลี่ยดินผสมปุ๋ยคอกกลับลงในหลุม ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำอาจใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 รองก้นหลุมร่วมด้วย อัตรา 1-20 กรัม ต่อหลุม ฉีกถุงเพาะชำ นำกิ่งพร้อมวัสดุปลูกวางลงกลางหลุม กลบดิน ทำเป็นรูปหลังเต่าอัดดินพอแน่น รดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอ ภายใน 1 สัปดาห์ ต้นชะอมจะตั้งตัวได้ภายใน 3-5 เดือน สามารถเก็บยอดไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ทุก 3 วัน การเก็บยอดควรใช้มีดที่คมและสะอาดเพื่อไม่ให้แผลเกิดรอยช้ำ ระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่ดีแนะนำให้เก็บเกี่ยวในช่วงเช้า เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด สิ่งสำคัญแต่ละต้นต้องรักษายอดอ่อนไว้ 3-4 ยอด เพื่อทำหน้าที่สังเคราะห์แสงผลิตอาหารหล่อเลี้ยงต้นแม่ได้ต่อไป โรคและแมลงของชะอม โรคที่สำคัญที่พบเสมอคือ โรคโคนเน่า เกิดจากเชื้อราในดินชนิดหนึ่ง แก้ไขด้วยวิธีใส่ปูนขาว ด้วยการหว่านรอบทรงพุ่ม แล้วรดน้ำตาม ป้องกันไม่ให้มีน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้น ด้วยวิธีเซาะร่องน้ำให้ระบายออกได้ง่าย หลังจากฝนตกหนัก แมลงที่พบการระบาดอยู่เสมอ ได้แก่ หนอนคืบกินใบ หนอนชนิดนี้เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อชนิดหนึ่ง ลำตัวมีสีเขียว กัดกินใบชะอมจนเกิดความเสียหาย การป้องกันกำจัด การระบาดระยะแรกที่ไม่รุนแรง ให้จับตัวหนอนทำลายทิ้งไป หากไม่จำเป็นไม่ควรให้สารเคมีกำจัดแต่อย่างใด เพลี้ยไฟ เป็นแมลงที่มีรูปร่างขนาดเล็กมาก มักเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงชะอมที่บริเวณยอดอ่อน ตายอด และใบอ่อน การระบาดรุนแรงมักเกิดขึ้นในช่วงอากาศแห้งแล้ง ป้องกันกำจัดด้วยวิธีฉีดพ่นน้ำให้ความชื้นที่ใบให้ทั่ว 2-3 ครั้ง การระบาดของเพลี้ยไฟจะหมดไปในที่สุด กระชายดำ เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดินเรียกว่า เหง้า การแตกหน่อในลักษณะเดียวกับขิง ข่า และขมิ้น แต่รูปทรงของหัวคล้ายกับขิงแต่มีขนาดเล็ก และสีคล้ำกว่า ปัจจุบันนิยมปลูกกันมากที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย และบริเวณใกล้เคียง วิธีปลูก การเตรียมดิน ไถดะหรือไถครั้งแรก ดินยังคงเป็นก้อนขนาดใหญ่ ตากแดดไว้ 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงไถแปร ตีก้อนดินให้แตกละเอียด เก็บวัชพืชออกจนหมด หว่านปุ๋ยคอกเก่าอัตรา 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ นำหัวพันธุ์ดีที่ปราศจากโรคและแมลงติดมา ตัดแบ่งหัวให้มีขนาดพอเหมาะ แช่ลงใน ไดเทน-เอ็ม 45 ก่อนนำไปปลูก ขุดหลุมตื้นๆ ใช้ระยะปลูก 20x20 เซนติเมตร กลบดินให้หัวพันธุ์อยู่ระดับผิวดิน คลุมด้วยฟางรดน้ำให้ชุ่ม ช่วงปลูกที่เหมาะสมเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ในช่วงมีฝนตกต้องงดการให้น้ำลง ครบอายุ 7-8 เดือน ให้สังเกตจากส่วนของใบจะมีสีเหลือง และยุบตัวลงมา เก็บด้วยวิธีใช้มือถอนหรือใช้จอบขุดงัดขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องปฏิบัติในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่บ้าง จากนั้นตัดแยกต้นกับหัวออกจากกัน นำหัวไปผึ่งลมหรือผึ่งแดดอ่อน 2-3 วัน จึงเก็บไว้จำหน่ายต่อไป ศัตรูที่สำคัญของกระชายดำ คือ โรคเน่า เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง มักระบาดรุนแรง หากมีการปลูกซ้ำที่เดิมหลายครั้ง วิธีป้องกันกำจัด ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิมเกิน 2 ครั้ง หรือ 2 รุ่น ให้ปลูกพืชในตระกูลอื่นสลับเพื่อเป็นการตัดวงจรของเชื้อโรคดังกล่าว หัวพันธุ์ปลูกควรนำมาจากแหล่งที่ปราศจากโรคดังกล่าว ก่อนปลูกกระชายดำควรใส่ปูนขาวอัตรา 200-300 กิโลกรัม ต่อไร่ หากบริเวณใกล้เคียงมีการระบาดของโรคให้แช่หัวพันธุ์ด้วย ไดเทน-เอ็ม 45 ตามอัตราและเวลาแนะนำข้างฉลาก ก่อนนำลงปลูกในแปลงและสิ่งสำคัญต้องทำทางระบายน้ำในแปลงอย่าให้มีน้ำขังแฉะหลังการให้น้ำและมีฝนตกหนัก หากปฏิบัติได้ตามคำแนะนำข้างต้น การปลูกพืชทั้ง 3 ชนิด จะได้ผลดีทุกประการ อย่างไรก็ตาม ระยะแรกการปลูกพืชแต่ละชนิดควรเริ่มแต่น้อยไปก่อน เช่น ชะอมและผักหวานบ้านปลูกชนิดละไม่เกิน 2 ไร่ ส่วนกระชายดำปลูกในพื้นที่ไม่เกิน 2 งาน หากได้ผลดีแล้วจึงขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หากพลาดพลั้งจะได้ไม่ต้องเจ็บตัวครับ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
4
ตำบล / แขวง :
หนองกุงทัพม้า
อำเภอ / เขต :
วังสามหมอ
จังหวัด :
อุดรธานี
รหัสไปรษณีย์ :
41280
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 17 ฉบับที่ 349
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM