เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มะละกอ จีเอ็มโอ คือ ปีศาจร้ายจริงหรือ
   
ปัญหา :
 
 
    ผมมีความสงสัยเกี่ยวกับมะละกอ จีเอ็มโอ ของกรมวิชาการเกษตร ที่จังหวัดขอนแก่น ถูกกลุ่ม เอ็นจีโอ หรือกลุ่มกรีนพีซเข้าทำลายต้นมะละกอที่ตัดต่อสารพันธุกรรมนั้น ผมเกิดความสับสนว่า มะละกอชนิดนี้เป็นอันตรายต่อผู้คนจนต้องสวมชุดและหน้ากากกันเชื้อโรคเลยทีเดียว จึงขอถามว่า พิษของพืช จีเอ็มโอ ร้ายกาจขนาดนั้นจริงหรือ การพัฒนาพันธุ์มะละกอ จีเอ็มโอ นั้น เป็นมาอย่างไร ความหมายของอาหารผีดิบคืออะไร ขอคำอธิบายด้วยครับ
วิธีแก้ไข :
 
    จีเอ็มโอ (GMOS : Genetically Modified Organism) สิ่งมีชีวิตที่ตัดต่อหรือดัดแปลงพันธุกรรมโดยนำสารพันธุกรรมหรือยีนที่ให้ผลผลิตสูง หรือยีนที่ต้านทานต่อโรคสูง จากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งให้กับสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ทำไม ต้องสร้างพันธุ์มะละกอ จีเอ็มโอ สืบเนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่อ่อนแอต่อโรคจุดวงแหวน (ปาปาย่า ริง สปอต ไวรัส) ที่มีความสามารถเข้าทำลายมะละกอได้ทุกระยะการเจริญเติบโต แต่จะระบาดรุนแรงที่สุดในระยะกล้า ทำให้ต้นกล้าแคระแกร็น หากระบาดระยะต้นโตเต็มที่แล้ว จะปรากฏใบมีสีเหลืองและด่าง ใบบิดเข้าหาเส้นกลางใบ ต่อมาเกิดรอยช้ำที่ก้านใบ การเข้าทำลายผลพบว่าที่ผิว เปลือกมีจุดรูปวงแหวน เมื่อผลแก่จุดวงแหวนจะแห้งมีขอบสีเทาถึงน้ำตาลบุ๋มลึกลงในเนื้อ ทำให้บริเวณดังกล่าวแข็งกระด้าง มีรสขม สุกและเน่าเละ หากการระบาดรุนแรงผลจะบิดเบี้ยว หลุดร่วง ทำให้เกิดความเสียหายทั้งสวน การระบาดของเชื้อไวรัสเกิดขึ้นโดยมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรค นอกจากนี้ การใช้มีดหรืออุปกรณ์อื่นตัดแต่งกิ่งก้านต้นที่เป็นโรค แล้วนำไปตัดแต่งต้นอื่นโดยไม่ล้างทำความสะอาดเสียก่อน จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่ายเช่นเดียวกัน ด้วยปัญหาดังกล่าว นักวิจัยจึงมีการพัฒนาพันธุ์มะละกอเพื่อให้มีความต้านทานต่อโรคจุดวงแหวนขึ้น การพัฒนามะละกอ จีเอ็มโอ ต้านทานโรคจุดวงแหวน * เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 โดย ดร.คอนโนเวอร์ และ ดร.ลิทซ์ แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการคัดเลือกพันธุ์มะละกอ มีชื่อว่า พันธุ์ คาริฟลอร่า มีความต้านทานต่อโรคจุดวงแหวนสูง ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 มร.ฟรานซิสซี นักศึกษาระดับปริญญาเอกนำไปพัฒนาพันธุ์ต่อที่มลรัฐฮาวาย โดยนำพันธุ์คาริฟลอร่าไปผสมกับพันธุ์ท้องถิ่น ชื่อว่า โซโล จนได้ลูกผสมสายพันธุ์ฮาวาย 1 สายพันธุ์ ในปีเดียวกัน ดร.เดนนิส กอนซาลเวส ผู้เชี่ยวชาญโรคจุดวงแหวนมะละกอจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา เข้ามาให้คำปรึกษาเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์มะละกอเพื่อต้านทานโรคจุดวงแหวนให้กับประเทศไทย ร่วมกับ ดร.วิไล ปราสาทศรี นักวิชาการเกษตร ขณะนั้นสังกัดอยู่ที่สำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนำพันธุ์คาริฟลอร่ามาปลูกที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อศึกษาความสามารถในการปรับตัวของพันธุ์ และสามารถคัดเลือกได้ 1 สายพันธุ์ คือฟลอริด้า ทอโลแรนต์ ที่มีพันธุกรรม ต้านทานต่อไวรัสจุดวงแหวน และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ขั้นตอนต่อมานำสายพันธุ์ฟลอริด้า ทอโลแรนต์ ผสมกับพันธุ์แขกดำ ใช้เวลานาน 5 ปี จึงได้สายพันธุ์ลูกผสมมะละกอพันธุ์ท่าพระ 1 ท่าพระ 2 และท่าพระ 3 จากนั้นคัดเลือกต่ออีก 2 ปี จึงได้สายพันธุ์ท่าพระ 2 เป็นพันธุ์ดีเด่น จึงผ่านการรับรองพันธุ์และให้ชื่อว่า พันธุ์แขกดำท่าพระ มะละกอพันธุ์ดังกล่าวได้จากการผสมเกสรด้วยวิธีดั้งเดิม ที่ได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมทนต่อไวรัสจุดวงแหวนจากสายพันธุ์ฟลอริด้า ทอโลแรนต์ จึงไม่เป็นพันธุ์ที่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม ในปี 2536-2537 เกิดการระบาดของโรคจุดวงแหวนมะละกออย่างรุนแรงขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รัฐบาลจึงส่ง ดร.นงลักษณ์ ศรินทุ และ ดร.ศุจิรัตน์ สงวนรังศิริกุล นักวิชาการเกษตร จากกรมวิชาการเกษตร ไปศึกษาและปฏิบัติงานร่วมกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยคอร์แนล เพื่อพัฒนาพันธุ์มะละกอโดยการตัดต่อพันธุกรรม ให้ต้านทานโรคจุดวงแหวน ด้วยวิธีนำยีนต้านทานโรคจุดวงแหวนจากพันธุ์ แขกดำท่าพระ จากจังหวัดขอนแก่นให้กับมะละกอพันธุ์ไทย คือ แขกดำ แขกนวล ท่าพระ 1 ท่าพระ 2 และแขกดำท่าพระ โดยวิธีนำเซลล์มะละกอเพียงเซลล์เดียวของตัวอ่อนในเมล็ด แล้วชักนำยีนต้านทานไวรัสเข้าไปแทนที่ยีนที่อ่อนแอต่อไวรัสจุดวงแหวน ด้วยปืนยิงอนุภาคซึ่งวิธีและขั้นตอนเป็นเทคนิคชั้นสูง ผมจึงขอข้ามไป เมื่อเซลล์ 1 เซลล์ ถูกแทนที่ด้วยยีนต้านทานต่อไวรัสเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องนำเซลล์ไปเลี้ยงในอาหารพิเศษ ให้พัฒนาเป็นต้นสมบูรณ์ด้วยเทคนิคเฉพาะต่อไป ดังนั้น ยีนที่ต้านทานโรคจึงมีอยู่ทุกเซลล์ของพืช จากนั้นจึงนำมาทดสอบในโรงเรือนปลูกที่มีรั้วรอบขอบชิด โดยปลูกสร้างโรงเรือนป้องกันแมลงเข้าไปรบกวน ปี พ.ศ. 2546 คัดเลือกสายพันธุ์ต้านทานไวรัสได้ 1 สายพันธุ์ คือ หมายเลข R3 300KD ให้ชื่อว่าพันธุ์ แขกนวลตัดต่อพันธุกรรม หรือ แขกนวลทรานสจินิค ดังนั้น การพัฒนาพันธุ์มะละกอด้วยการตัดต่อทางพันธุกรรม ในทางวิชาการแล้วถือเป็นเรื่องไม่น่าตื่นเต้นเท่าใดนัก วิธีดังกล่าวเป็นเพียงวิธีลัดขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์อย่างหนึ่งเท่านั้น สมมติว่าผสมพันธุ์โดยวิธีปกติ ใช้เวลา 5-10 ปี แต่ใช้วิธีตัดต่อพันธุกรรม อาจใช้เวลาเพียง 2-3 ปี โดยเฉพาะมะละกอตัดต่อพันธุกรรม เป็นการนำยีนที่ทนต่อไวรัสใบจุดวงแหวนไปสู่มะละกอพันธุ์ที่ไม่มีความต้านทานต่อไวรัสเท่านั้น ผมเองเคยรับประทานมะละกอพันธุ์ดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง ก็ยังปกติดี การบุกทำลายของกลุ่มกรีนพีซสวมชุดป้องกันเชื้อโรคเข้าไปทำลายแปลงวิจัยมะละกอที่จังหวัดขอนแก่นนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าพืชตัดต่อพันธุกรรมเป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องแต่งตัวเช่นนั้นก็ได้ เพราะว่านักวิจัยคือ ดร.วิไล ปราสาทศรี ปัจจุบันท่านโอนย้ายมาสังกัด ส่วนแยกสถานีพืชสวนขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร ยังอยู่ดีสบาย การทดลองทุกขั้นตอนนั้นมีการควบคุมอย่างใกล้ชิด ขอให้ท่านผู้อ่านสบายใจได้ โดยเฉพาะยังมีกฎหมายบังคับอยู่ คงไม่สามารถวิจัยได้ตามความพอใจของตนเองได้ ทำไม จึงมีการต่อต้านพันธุ์พืชที่ตัดต่อพันธุกรรม หากพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย ที่พอจะอธิบายได้ในทางวิชาการนั้น ปัจจุบันเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืชสัตว์และปลาด้วยวิธีตัดต่อพันธุกรรม ในยุโรปยังเทียบชั้นกับสหรัฐอเมริกาได้ กลุ่มประเทศยุโรปจึงหาทางปกป้องและกีดกันการนำพันธุ์พืช สัตว์ และประมงที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมอย่างเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว ในกรณีมะละกอตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้ต้านทานโรคจุดวงแหวนก็คล้ายกับการปลูกฝีให้กับต้นมะละกอนั่นเอง ซึ่งไวรัสชนิดนี้เป็นชนิดที่ไม่เป็นพิษกับมนุษย์แต่อย่างใด ส่วนความเป็นห่วงของกลุ่มกรีนพีซที่มีต่อมะละกอพันธุ์ดังกล่าว เกรงว่า ละอองเกสรจะปลิวไปปนเปื้อนกับมะละกอที่มิใช่ จีเอ็มโอ จนอาจทำให้เกิดเสียสมดุลในธรรมชาตินั้น ข้อนี้ทางกรมวิชาการเกษตรกำลังศึกษาอย่างจริงจัง และกำลังศึกษากันต่อไป จุดนี้ต้องขอชื่นชมกับกลุ่มกรีนพีซที่ยังเป็นห่วงสุขภาพของเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อมรอบกาย ส่วนประโยชน์ของการวิจัยดังกล่าวคือ ได้พันธุ์มะละกอตัดต่อพันธุกรรมที่ต้านทานต่อโรคใบจุดวงแหวน ส่วนโทษที่จะมีตามมาขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงของเซลล์สัตว์เลี้ยงและผลกระทบต่อพืชพรรณอื่นๆ ได้ศึกษากันมานานพอสมควรแล้ว เห็นสมควรนำมาชี้แจงให้สังคมได้รับทราบ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ถือเป็นจุดอ่อนของภาครัฐ ที่ไม่สามารถนำเสนอได้อย่างชัดเจน จนทำให้สังคมเกิดความกังขาและสับสน ในมุมมองของผม การวิจัยด้านนี้เราควรจะมีต่อไป หากมิเช่นนั้นแล้ววิทยาการของเราจะล้าหลังประเทศมหาอำนาจไกลสุดกู่ จะยิ่งทำให้เขาหลอกเราได้ แต่ทั้งนี้การวิจัยต้องมีระบบป้องกันความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ผมมักได้รับคำถามเสมอว่า พืชอาหาร จีเอ็มโอ เป็นอาหารแฟรงเก้นสไตน์ หรืออาหารผีดิบ นั้นหมายความว่าอะไร ผมขอย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน มีหนังเรื่อง ผีดิบแฟรงเก้นสไตน์ นำเข้ามาฉายในประเทศไทย เป็นที่ฮือฮากันมากในขณะนั้น ผีดิบแฟรงเก้นสไตน์ เกิดจากนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องคนหนึ่งต้องการสร้างมนุษย์ในอุดมคติขึ้นมา โดยขโมยซากศพของนักโทษที่ถูกประหารชีวิตจากคุกที่มีร่างกายกำยำล่ำสัน แล้วฆ่านายแพทย์และจิตกรชื่อดัง เพื่อนำมันสมองและมือมาใส่เข้าไปในร่างของนักโทษที่ถูกประหาร เพื่อให้ได้มนุษย์ที่มีร่างกายแข็งแรง มันสมองปราดเปรื่องและเป็นจิตกรชั้นเยี่ยมอยู่ในคนๆ เดียว แล้วปลุกให้มีชีวิตด้วยใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้น ในที่สุดชีวิตที่ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งกลายเป็นมนุษย์ครึ่งผีครึ่งคน ออกอาละวาดกันอยู่พักใหญ่ 1 ก่อนจบ แฟรงเก้นสไตน์กลับมาทำร้ายนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องจนเสียชีวิต เข้าตำราหมองูตายเพราะงูไม่ผิดเพี้ยน ดังนั้น มนุษย์ จีเอ็มโอ ตัวแรกก็คือ แฟรงเก้นสไตน์นั่นเองครับ ศัพท์คำนี้นำมาใช้กันมากในยุโรปเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ต้องการสื่อให้เห็นว่าพืชหรือสัตว์รวมทั้งปลาที่นำยีนจากสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกันมารวมไว้ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ตัวอย่างการนำยีนการให้นมของหนูถ่ายลงในวัวจนสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมในแม่วัวได้มากถึง 3 เท่า น้ำนมวัวที่ได้จัดอยู่ในอาหารผีดิบแฟรนเก้นสไตน์ หากถามว่า มะละกอ จีเอ็มโอ น่ากลัวหรือไม่ ผมขอตอบว่า ไม่น่ากลัวเลย เมื่อรู้ว่ากลไกการทำงานของเซลล์สิ่งมีชีวิตทำงานกันอย่างไร แต่เมื่อกระแสสังคมไม่ต้องการอาหาร จีเอ็มโอ ทางวิชาการก็ไม่อาจทวนกระแสได้ ทุกวันนี้เรานำเข้ากากถั่วเหลือง และข้าวโพดบดจากสหรัฐอเมริกามานานหลายปีแล้ว เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ข้อมูลดังกล่าวไม่นำมาเปิดเผย เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อไก่ไปยังตะวันออกกลาง ที่เป็นลูกค้าประจำของไทย
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
12
ตำบล / แขวง :
สวนกล้วย
อำเภอ / เขต :
บ้านโป่ง
จังหวัด :
ราชบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
70110
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 16 ฉบับที่ 343
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM