เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
การปลูกกาแฟโรบัสต้าให้ได้ผลดี
   
ปัญหา :
 
 
    ผมมีความประสงค์จะปลูกกาแฟโรบัสต้า จึงขอเรียนถามว่า มีวิธีปลูกและดูแลรักษาอย่างไรจึงจะได้ผลดี นอกจากนี้แล้ว สถานที่ปลูกที่เหมาะกับกาแฟโรบัสต้านั้นควรเป็นอย่างไร ขอความกรุณาอธิบายให้ทราบด้วยครับ
วิธีแก้ไข :
 
    กาแฟโรบัสต้า ตามภาษาของคอกาแฟแล้ว มักพูดว่ากาแฟโรบัสต้าเป็นเนื้อกาแฟ แต่ กาแฟอาราบิก้า เป็นกลิ่นของกาแฟ เนื่องจากมีกลิ่นหอมชวนดื่มมากกว่า เมื่อนำกาแฟสองชนิดมาผสมกันตามสัดส่วนที่พอเหมาะ จะได้กาแฟคุณภาพเยี่ยม พื้นที่ปลูกกาแฟโรบัสต้าควรมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง หน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร มีการระบายน้ำได้ดี สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 700 เมตร และมีความลาดเอียงเล็กน้อย กาแฟโรบัสต้าต้องการปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี ไม่น้อยกว่า 1,500 มิลลิเมตร เลือกต้นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสม่ำเสมอ ลักษณะลำต้นตั้งตรง กิ่งยาว ข้อถี่ มีปริมาณผลต่อข้อจำนวนมาก ให้น้ำหนักผลแห้งเฉลี่ย 15 กรัม ต่อ 100 เมล็ด ต้นกล้าที่ใช้ปลูกควรมีอายุ 6-14 เดือน เป็นอย่างน้อย การปลูก ไถปรับพื้นที่ ในสภาพที่ลาดเอียง ปริมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ให้ทำขั้นบันไดขวางตามความลาดเอียง ใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 3-4 เมตร และระยะห่างระหว่างต้น 3 เมตร ขุดหลุมกว้างและลึก 50 เซนติเมตร เท่ากัน นำดินผิวหน้าคลุกผสมกับปุ๋ยคอกเก่าอัตรา 1-2 ปุ้งกี๋ ต่อหลุม ให้เข้ากันดี รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต อัตรา 200 กรัม ต่อหลุม แล้วจึงกลบด้วยดินที่ผสมไว้ แต่งหน้าหลุมปลูกให้เป็นรูปหลังเต่า ขุดดินกลางหลุม ฉีกถุงเพาะกล้าที่เตรียมไว้ลงหลุมระวังอย่าให้รากลึกขาด กลบดินพอแน่น ปักหลักผูกกับต้นกล้าป้องกันลมพัดโยก คลุมโคนต้นด้วยฟางข้าวแห้งหรือเศษใบหญ้า ฤดูปลูกที่ดีที่สุดคือ ต้นฤดูฝน หากฝนทิ้งช่วงจำเป็นต้องให้น้ำบ้างเป็นครั้งคราว ขณะต้นกล้ายังไม่ตั้งตัวให้พรางแสงด้วยทางมะพร้าว จนกว่าต้นกล้าตั้งตัวได้ดีแล้วจึงเลิกพรางแสง เมื่อต้นกาแฟมีอายุ 3-4 เดือน ให้ตัดส่วนยอดทิ้งเหลือความสูงเพียง 30-40 เซนติเมตร อีก 2 เดือน จะแตกกิ่งใหม่ เลือกกิ่งแข็งแรงสมบูรณ์ไว้เพียง 3-5 กิ่ง ต่อต้น ก็พอ การดูแลรักษา ปีแรกและปีที่ 2 ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 150 กรัม ต่อต้น ต่อปี ด้วยการแบ่งใส่ 2 ครั้ง ต้นฤดูและปลายฤดูฝน ปีที่ 3 ต้นกาแฟเริ่มติดดอก ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17 อัตรา 600 กรัม ต่อต้น ต่อปี โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง หลังออกดอกแล้ว 3 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรตัดแต่งกิ่งที่แห้งและกิ่งที่เป็นโรค เผาทำลายทิ้ง ตัดต้นกาแฟให้เหลือความสูงไว้เพียง 40-50 เซนติเมตร เมื่อให้น้ำหรือได้รับน้ำฝน ต้นกาแฟจะแตกกิ่งก้านใหม่ ควรเลือกกิ่งที่แข็งแรงไว้ 3-5 กิ่ง พร้อมใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 100 กรัม ต่อต้น ต่อปี พร้อมปุ๋ยคอกเก่าอีก 2-3 ปุ้งกี๋ ต่อต้น ระยะฝนทิ้งช่วงควรให้น้ำเป็นครั้งคราวด้วยวิธีพ่นเป็นฝอยละเอียด หมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงกาแฟให้สะอาดอยู่เสมอ ศัตรูสำคัญของกาแฟ คือ โรคแอนแทรกโนส ที่เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง เข้าทำลายได้ทั้งใบ ผล และกิ่ง อาการทำลายที่ใบ จะปรากฏจุดสีน้ำตาลขนาดเล็ก ต่อมาขยายใหญ่ขึ้น เนื้อเยื่อตอนกลางของแผลมีสีน้ำตาลไหม้ เมื่อเชื่อมติดต่อกันจะเป็นแผลขนาดใหญ่ มีอาการคล้ายใบไหม้ อาการที่เกิดกับผล เริ่มมีจุดสีน้ำตาลเข้ม เนื้อแผลยุบตัวลง ผลหยุดการเจริญเติบโตและเปลี่ยนเป็นสีดำ อาการที่เกิดบนกิ่ง เนื้อเยื่อมีแผล ต่อมากิ่งกาแฟจะแห้งเหี่ยวและใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองร่วงหล่น การระบาดของโรคมักรุนแรงในช่วงที่อากาศแห้ง วิธีป้องกันและกำจัดโรค ให้คลุมโคนต้นด้วยเศษไม้ใบหญ้ารักษาความชื้นในดิน หรือปลูกพืชร่มเงาพรางแสงให้ในพื้นที่เคยมีการระบาดของโรคอยู่เสมอ บำรุงต้นกาแฟให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ หลังเก็บเกี่ยวผลแล้วควรตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ลมพัดผ่านได้และเก็บผลที่เป็นโรคเผาทำลายทิ้ง ในกรณีที่มีการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วย แมนโคเซบ 80 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 48 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ทุก 5-7 วัน 2-3 ครั้ง และให้เลิกใช้สารเคมีก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 7 วัน หรือฉีดพ่นด้วย คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 62 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา 80 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ทุก 7-14 วัน ในระยะออกดอกและติดผล และต้องเลิกใช้สารเคมีก่อนการเก็บผลอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาการของโรคจะทุเลาลงและหมดไปในที่สุด แมลงศัตรูที่สำคัญ คือ มอดเจาะผลกาแฟ มอดชนิดนี้เป็นแมลงปีกแข็งสีดำ ลำตัวยาว 1 มิลลิเมตร เพศเมียวางไข่ที่ผลกาแฟ ตั้งแต่ผลมีขนาดเล็กไปจนถึงผลเริ่มสุกแก่ ช่วงที่ระบาดรุนแรงอยู่ระหว่างเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนมกราคมของปีถัดไป วิธีป้องกันกำจัด เก็บผลกาแฟแห้งติดค้างบนต้นหรือร่วงหล่นใต้ทรงพุ่มเผาทำลายทิ้ง ตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยวผลแล้ว หากเกิดการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วย คลอพัยริฟอส 40 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 35 มิลลิเมตร ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นทุก 15 วัน ระยะติดผล 1-2 ครั้ง และให้เลิกใช้สารเคมีก่อนการเก็บผลกาแฟ 14 วัน หรือ ไตรอะโซฟอส อัตรา 40 มิลลิเมตร ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นในระยะติดผลทุก 15 วัน 1-2 ครั้ง และให้เลิกใช้สารเคมีก่อนเก็บผลกาแฟ 28 วัน การเก็บเกี่ยว เก็บผลกาแฟได้หลังจากออกดอกแล้ว 11 เดือน ผลจะมีสีแดงหรือสีส้ม เนื่องจากผลกาแฟสุกแก่ไม่พร้อมกัน ต้องทยอยเก็บผลจนหมด ด้วยการใช้มือปลิดผลที่สุก ใส่ลงในถุงไนลอน นำไปล้างน้ำทันที คัดเลือกผลที่จมน้ำเท่านั้น ล้างจนสะอาดนำผลกาแฟขึ้นผึ่งแดด รองด้วยตาข่ายไนลอนสีฟ้าเพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายขณะฝนตก เกลี่ยผลกาแฟทับกันไม่เกิน 4-5 เซนติเมตร ให้ได้รับแสงแดดจัด หมั่นกลับกองผลกาแฟ 2-3 ครั้ง ครบ 15-20 วัน ผลกาแฟจะแห้งสนิทดี หรือมีความชื้นไม่เกิน 13 เปอร์เซ็นต์ ตรวจสอบได้ด้วยวิธีเขย่าจะมีเสียงดัง หากทุบด้วยวัตถุแข็งเมล็ดจะแตก การกะเทาะเปลือก เนื่องจากเมล็ดกาแฟสามารถดูดกลิ่นได้ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการดูดกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนา จึงต้องกะเทาะเปลือกทันทีหลังตากแห้งแล้ว ปัจจุบันการกะเทาะเปลือกกาแฟนิยมใช้เครื่องสีขนาดเล็ก กะเทาะแล้วคัดเลือกเฉพาะเมล็ดกาแฟเท่านั้น ส่วนเปลือกให้ทิ้งไปนำเมล็ดแห้งที่ได้ บรรจุในกระสอบป่านสะอาด ใหม่ และสะอาด เก็บในโรงเก็บที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ให้วางกระสอบบนแคร่ไม้เหนือพื้น 15 เซนติเมตร ห่างผนัง 50 เซนติเมตร และต่ำกว่าระดับหลังคาลงมา 1 เมตร คุณจะเก็บเมล็ดกาแฟได้นาน 2-3 เดือน โดยไม่เสื่อมคุณภาพ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร จตุจักร กทม. 10900 โทร. (02) 579-0508 ในวันเวลาทำการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
วังทองหลาง
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
10310
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 16 ฉบับที่ 342
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM