เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ไรดีดศัตรูอันตรายของการเพาะเห็ดถุง
   
ปัญหา :
 
 
    ผมเพาะเห็ดนางรมภูฐานจำหน่ายมาหลายปี นับว่าได้ผลดี แต่ต้นปีที่ผ่านมา พบแมลงขนาดเล็กมากเข้าไปกัดกินเส้นใยภายในถุงเพาะเห็ด ทั้งในระยะบ่มเส้นใยและระยะเปิดดอก ทำให้เส้นใยที่เดินเต็มถุงฝ่อหายไป เหลือไว้เพียงแต่วัสดุเพาะภายในถุงเท่านั้น แต่ในระยะเปิดดอกจะทำให้ดอกเล็กขายไม่ได้ราคา แมลงชนิดนี้เรียกว่าอะไร และจะมีวิธีป้องกันและกำจัดอย่างไร ขอคำแนะนำด้วยครับ
วิธีแก้ไข :
 
    การเข้าทำลายเส้นใยเห็ดที่เล่ามาเรียกว่า ไรดีด เป็นแมลงชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กมาก เพศเมีย มีลำตัวขาวใส ยาวเพียง 0.103 มิลลิเมตร กว้าง 0.058 มิลลิเมตร หัวและท้ายมน ขาสั้น ส่วนปากโผล่ออกจากส่วนของลำตัวเล็กน้อย ตอนท้ายของลำตัวจะมีขนเส้นใหญ่ยาวและแข็งแรง 1 คู่ ทำหน้าที่ดีดให้ตัวกระโดดได้ไกลถึง 6-10 เซนติเมตร ขาคู่แรกมีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่าขาคู่อื่นๆ ตัวเต็มวัยมีอายุได้นาน 2-3 วัน ส่วน เพศผู้ มีลำตัวยาว 0.094 มิลลิเมตร และส่วนกว้างขนาด 0.065 มิลลิเมตร แต่จะแตกต่างกับเพศเมียอย่างชัดเจนที่ไม่มีขนแข็งยาวและแหลมที่ส่วนท้ายสุดของลำตัว และมองเห็นอวัยวะเพศอยู่บริเวณส่วนกลางของลำตัว หากอาศัยกล้องจุลทรรศน์ เพศผู้มีอายุได้นาน 3-5 วัน เพศเมียเมื่อสมบูรณ์เต็มที่จะเริ่มมีไข่ หลังจากผสมพันธุ์แล้วจะฟักออกเป็นตัวและอาศัยอยู่ในตัวของแม่อีก 24 ชั่วโมง จากนั้นจึงเคลื่อนตัวออกมา การให้ลูกของเพศเมียคราวละ 128 ตัว โดยมีอัตราส่วนค่อนข้างคงที่ คือเพศผู้ต่อเพศเมีย อัตรา 1 : 40 ไรดีดสามารถเข้าทำลายโดยกัดกินเส้นใยเห็ดหลายชนิดเป็นอาหาร เช่น เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดนางรม และเห็ดนางรมภูฐาน โดยพบการระบาดครั้งแรกที่ฟาร์มเกษตรกร ที่เขตบางขุนเทียน เชื่อว่าเป็นศัตรูที่ติดมากับเห็ดที่นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากไรเห็ดชนิดนี้ดีดตัวได้ไกล จึงทำให้สามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วและจะระบาดรุนแรงในช่วงอากาศค่อนข้างร้อนต่อเนื่องกับช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนตุลาคม แต่ไรดีดชนิดนี้จะไม่ทำลายเห็ดขอนขาว เห็ดหูหนู เห็ดนางฟ้า เห็ดแครง เห็ดกระด้าง และเห็ดหอม วิธีป้องกันและกำจัดไรดีดของเห็ด เนื่องจากไรดีดมีขนาดเล็กมาก การป้องกันไว้ก่อนเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะหากเกิดการระบาดขึ้นแล้วมักจะสายเกินแก้ การสร้างโรงเรือนขนาดเล็กให้แยกโรงเรือนเพาะเห็ดและโรงเรือนบ่มเส้นใยออกจากกัน เพื่อให้มีเวลาพักทำความสะอาดโรงเรือนได้ ให้กำจัดก้อนเชื้อที่เก็บดอกเห็ดไปแล้ว เผาหรือฝังหรือนำไปเก็บรวมไว้ให้ห่างจากโรงเรือนเพาะเห็ดอย่างน้อยมีระยะทาง 1.5 กิโลเมตร การซื้อก้อนเชื้อต้องมั่นใจว่าได้จากแหล่งที่ไม่มีไรดีดระบาดอยู่ หมั่นทำความสะอาดห้องถ่ายเชื้อ โรงบ่มเชื้อ และโรงเรือนเปิดดอกหลังเก็บดอกแล้ว บุคคลภายนอกที่จะเข้าไปในโรงเรือนต้องล้างมือและเท้าให้สะอาดเสียก่อน ในระยะมีการระบาดของไรดีดรุนแรงให้เปลี่ยนมาเพาะเห็ดชนิดอื่นแทนเห็ดนางรม หมั่นตรวจดูก้อนเชื้อขณะบ่มเส้นใย โดยใช้กล้องขยาย ขนาดขยาย 10 เท่า ส่องดูตามเส้นใย หากพบว่ามีไรดีดให้ทำลายถุงก้อนเชื้อทิ้งทันที ในกรณีจำเป็นที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีได้ ให้ใช้อมิทราซ อัตรา 40 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ หรือไพริดาเบน อัตรา 15 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นกำจัดไรไม่เกิน 4 ครั้ง ต่อการเพาะเห็ด 1 รุ่น การฉีดพ่นสารเคมีกำจัดไรดีดให้ฉีดพ่นในโรงเรือน หลังจากนำก้อนเชื้อออกไปหมดแล้ว โดยเฉพาะที่ฝาผนัง ชั้นวางและบริเวณรอบโรงเรือนด้านนอก ฉีดพ่นพื้นห้องถ่ายเชื้อ ก่อนถ่ายเชื้อทุกครั้งและฉีดที่ถุงก้อนเชื้อระยะบ่มเส้นใยทุกๆ 7 วัน 2-3 ครั้ง จะช่วยลดความเสียหายจากไรดีดได้ในระดับที่น่าพอใจ หัวใจสำคัญในการเพาะเห็ดคือความสะอาด ขอให้ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวไว้ให้มาก แล้วความสำเร็จในการเพาะเห็ดอยู่แค่เอื้อม
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
4
ตำบล / แขวง :
ดงสมบูรณ์
อำเภอ / เขต :
ท่าคันโท
จังหวัด :
กาฬสินธุ์
รหัสไปรษณีย์ :
46140
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 16 ฉบับที่ 340
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM