เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เทคนิคการปลูกยางพาราในเขตภาคเหนือให้ได้ผลดี
   
ปัญหา :
 
 
    ผมมีความสนใจจะปลูกยางพารา ที่จังหวัดแพร่ แต่เนื่องจากผมไม่ได้เข้าโครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่ ด้วยเหตุผลที่ว่าตัดสินใจช้าไป อย่างไรก็ตาม ผมมีความมุ่งหวังที่จะสร้างสวนยางให้ได้ ผมจึงขอเรียนถามคุณหมอเกษตรว่า วิธีการปลูกยางที่ภาคเหนือนั้นควรใช้ยางพันธุ์อะไร วิธีการปลูกที่เหมาะสม รวมทั้งการดูแลรักษา และแหล่งพันธุ์ ผมจะติดต่อสอบถามได้จากแหล่งใด
วิธีแก้ไข :
 
    พันธุ์ยาง ที่เหมาะสำหรับปลูกในภาคเหนือมีอยู่หลายพันธุ์ เช่น พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ เมื่ออายุ 10 ปี ให้น้ำยาง 415 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็นพันธุ์ที่ทนต่อโรคเส้นดำ และโรคใบร่วงได้ดี แต่ไม่ต้านทานโรคราสีชมพู และไม่ควรปลูกในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง พันธุ์ บี พี เอ็ม 24 ให้น้ำยาง 335 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่ออายุ 10 ปี ต้านทานต่อโรคเส้นดำ โรคราแป้ง ได้ดี แต่ทนต่อโรคราสีชมพูปานกลาง และพันธุ์ อาร์ อาร์ ไอ เอ็ม ให้น้ำยางเมื่อมีอายุ 10 ปี เฉลี่ย 340 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตจะลดลงมาในช่วงผลัดใบในฤดูแล้ง ไม่ต้านทานโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร่า ไม่ต้านทานโรคเส้นดำและโรคราสีชมพู แต่จะต้านทานโรคราแป้งและโรคจุดนูนในระดับปานกลาง ดังนั้น จึงไม่เหมาะที่จะปลูกในบริเวณฉ่ำน้ำ เพราะทำให้เกิดการระบาดของโรคใบร่วง และโรคเส้นดำอย่างรุนแรง ทั้งนี้จะให้ผลดีในที่ลาดเอียงเล็กน้อย การเตรียมดิน ให้ไถพรวนดินในแปลงปลูกอย่างน้อย 2 ครั้ง เก็บเศษตอไม้ และวัชพืชออกจนสะอาด ปรับผิวให้เรียบ หากที่ดินลาดเอียงเกิน 15 องศา ควรวางแนวปลูกตามแนวระดับแบบขั้นบันได ขนาดกว้าง 1.5-2.0 เมตร ควรวางแนวปลูกไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก ส่วนแนวยาวให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ ใช้ระยะปลูก 3x7 เมตร หรือ 76 ต้น ต่อไร่ ขุดหลุมกว้าง 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมหรือคลุกกับดินปลูกด้วยหินฟอสเฟต อัตรา 170-200 กรัม ต่อหลุม พร้อมกับปุ๋ยคอกเก่าอีก 1-2 ปุ้งกี๋ วิธีปลูก ช่วงปลูกที่ดีที่สุดคือ ฤดูฝน ปลูกด้วยกล้ายางชำถุง ที่มีใบ 2 ฉัตร หรือ 2 ชั้น ต้นกล้ายางต้องปราศจากโรคและแมลงศัตรูทำลาย ฉีกถุงเพาะต้นกล้ายางชำถุง ปลูกลงตอนกลางของหลุม ให้รอยแผลติดตาเหนือพื้นดินเล็กน้อย และควรหันแผ่นตาไปวางทิศตะวันตก ป้องกันแดดเผาช่วงที่แดดจัด กลบดินลงหลุม อัดดินปากหลุมพอแน่น เป็นรูปหลังเต่า ป้องกันน้ำขังเมื่อมีฝนตกหนัก คลุมโคนต้นด้วยฟางข้าว หรือเศษใบไม้ใบหญ้ารอบโคนต้น แต่ต้องเว้นระยะให้ห่างจากโคนต้น 5-10 เซนติเมตร หากต้นกล้ายางตายลงให้ปลูกซ่อมก่อนหมดฤดูฝน 2 เดือน การดูแลรักษา ระหว่างต้นยางอายุ 1-3 ปี ระยะนี้ต้นยางยังมีขนาดเล็ก แนะนำให้ปลูกพืชแซมด้วยพืชตระกูลถั่ว เพื่อบำรุงดินรักษาความชื้นในดินและเป็นวิธีควบคุมวัชพืชไปพร้อมกัน การใส่ปุ๋ย ระยะการเจริญเติบโตก่อนเปิดกรีด ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-12 ปีแรกให้ใส่ในอัตรา 100 กรัม ต่อต้น ด้วยวิธีหว่านรอบโคนต้นแล้วคราดกลบ แบ่งใส่ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน ปีที่ 2 ปีที่ 3 ปีที่ 4 ปีที่ 5 และ ปีที่ 6 ใส่ปุ๋ยสูตรเดียวกัน อัตรา 120 ,180 ,180 ,200 และ 200 กรัม ต่อต้น ด้วยวิธีเดียวกัน พร้อมกับปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 1-2 ปุ้งกี๋ ต่อต้น ต้นยางอายุครบ 7 ปี เริ่มเปิดกรีดน้ำยางได้ ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 30-5-18 อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง การดูแลรักษาสวนยางอย่างถูกวิธี จะได้ต้นยางที่มีเส้นรอบวงของลำต้นยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ที่ความสูงเหนือพื้นดิน 150 เซนติเมตร ใช้ระบบกรีดครึ่งลำต้น และกรีดวันเว้นวัน เปิดกรีดหน้าแรกระดับสูงเหนือพื้นดินที่ 120 เซนติเมตร ทำมุม 30 องศา กับแนวระนาบ ติดรางรองรับน้ำยางต่ำจากรอยกรีด 30 เซนติเมตร และยึดถ้วยเก็บน้ำยางด้วยลวด ใต้รางรองรับน้ำยาง 10 เซนติเมตร หลังเก็บน้ำยางแล้วให้คว่ำถ้วยเพื่อไม่ให้สิ่งสกปรกตกลงไปในถ้วย กรีดเปลือกยางให้ชิดเนื้อไม้แต่ไม่ให้กินเนื้อไม้ เปลือกยางที่กรีดออกแต่ละคราวหนาไม่เกิน 2.5 มิลลิเมตร เวลากรีดยางควรกรีดในตอนเช้าตรู่ แต่ละคนไม่ควรกรีดมากกว่า 500 ต้น ต่อวัน สิ่งสำคัญ ต้องหยุดกรีดยางในช่วงที่ต้นยางผลัดใบ หากมิเช่นนั้นแล้วจะทำให้ต้นยางโทรมเร็วขึ้น โรคสำคัญของยาง ที่พบการระบาดรุนแรงคือ โรคเส้นดำ เกิดจากการเข้าทำลายจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่บริเวณเหนือรอยกรีด เกิดรอยช้ำ ต่อมาเกิดเป็นรอยบุ๋มสีดำหรือสีน้ำตาล และขยายทั้งด้านกว้างและยาวตามแนวท่อน้ำ ท่ออาหาร ของต้นยาง การระบาดรุนแรงจะมีรอยปริแตก มีน้ำยางไหลออกมาด้วย เปลือกที่เจริญเติบโตขึ้นใหม่จะไม่เป็นปกติและกรีดน้ำยางไม่ได้ การระบาดมักพบเสมอในแหล่งที่เคยมีโรคใบร่วงระบาดมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่มีฝนตกชุก วิธีป้องกันกำจัด ไม่ควรปลูก ทุเรียน มะพร้าว โกโก้ ส้ม มะละกอ พริกไทย และยาสูบ แซมในสวนยาง เนื่องจากพืชดังกล่าวข้างต้นเป็นพืชอาศัยของโรคเส้นดำ เมื่อพบอาการของโรคให้เฉือนเปลือกยางออกแล้วทารอยแผลด้วยเมทาแล็กซิล อัตรา 280 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ หรือฟอสอีทิลอะลูมินั่มอัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นหรือทาที่บริเวณรอยแผล ทุก ๆ 7 วัน 4-8 ครั้ง อาการของโรคจะเบาบางลงและหมดไปในที่สุด การทำยางแผ่น เก็บรวบรวมน้ำยาง ถ้วยที่รองน้ำยางต้องทำความสะอาดก่อนรองรับน้ำยางทุกครั้ง รวบรวมน้ำยางใส่ลงถังที่มีฝาปิด เป็นการป้องกันไม่ให้น้ำยางกระฉอกในระหว่างนำส่งไปยังโรงทำยางแผ่น การกรองน้ำยาง ก่อนกรองน้ำยางต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชิ้นให้สะอาด นำน้ำยางที่รวบรวมได้กรองด้วยตะแกรงลวด เบอร์ 40 และ เบอร์ 60 วางทับซ้อนกันเพื่อกรองเอาสิ่งสกปรกออกจากน้ำยางจนหมด ตวงน้ำยางใส่ตะกงอะลูมิเนียม ขนาด 50x70x30 เซนติเมตร หรือขนาดใกล้เคียงกัน ปริมาตรน้ำยาง 3 ลิตร ต่อหนึ่งตะกง เติมน้ำสะอาดลงในน้ำยาง 2 ลิตร และกรดฟอร์มิก 2 ช้อนแกง เทลงผสมกับน้ำสะอาด 3 กระป๋องนม คนให้เข้ากัน เทลงในน้ำยางกวนให้เข้ากัน ทำให้น้ำยางเกาะตัวและมีความยืดหยุ่นดี ปล่อยทิ้งไว้ 30-40 นาที กวาดเอาฟองอากาศบริเวณผิวหน้าออก ปิดฝาตะกงทิ้งน้ำยางไว้เป็นเวลา 30-45 นาที เทยางที่แข็งคล้ายเต้าหู้ นวดยางด้วยไม้กลมเป็นแผ่นหนาประมาณ 1 เซนติเมตร จากนั้นนำแผ่นยางเข้าเครื่องรีด ลักษณะคล้ายเครื่องบดปลาหมึกย่าง ต่างกันเพียงขนาดใหญ่กว่าเท่านั้น รีด 3-4 ครั้ง ติดต่อกัน จะได้แผ่นยางหนา 3-4 มิลลิเมตร สุดท้ายนำเข้าเครื่องรีดดอก 1 ครั้ง ประโยชน์ของดอกยางคือ เมื่อวางทับหรือซ้อนกันแผ่นยางจะไม่ติดกันและเมื่อนำไปรมควันทำให้แผ่นยางแห้งเร็วขึ้น นำแผ่นยางล้างน้ำอีกครั้งเพื่อกำจัดกรดฟอร์มิกออกให้มากที่สุด ขั้นตอนต่อไปนำไปผึ่งลมในร่มไว้เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ครบกำหนดเวลาให้เก็บแผ่นยางไว้เพื่อจำหน่ายต่อไป ส่วนพันธุ์ยาง ให้ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนฉะเชิงเทรา กรมวิชาการเกษตร อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โทร. (038) 551-566 ในวันเวลาทำการครับ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
ร้องกวาง
จังหวัด :
แพร่
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 16 ฉบับที่ 336
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM