เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
สนใจปลูกมะม่วงและน้อยหน่า
   
ปัญหา :
 
 
  1. หนูมีที่อยู่ประมาณ 15 ไร่ ที่ค่อนข้างห่างไกลจากถนนและตลาด หนูสนใจอยากจะปลูกมะม่วงและน้อยหน่า ระยะปลูก 6x6 เมตร จะปลูกร่วมกันได้หรือไม่ และใช้มะม่วงพันธุ์อะไรดี
  2. มีผลไม้อะไรที่จะปลูกแซมมะม่วงแล้วให้ผลภายใน 2 ปี นอกจากน้อยหน่า
  3. หนูสนใจการปลูกน้อยหน่า ว่ามีวิธีปลูกและดูแลรักษาอย่างไรบ้างคะ และจะหาพันธุ์ออสเตรเลียได้จากแหล่งใดบ้าง ที่เทคโนฯ พันธุ์ไม้มีหรือไม่
  4. แผนการที่หนูตั้งไว้ใช้ได้หรือไม่ กรุณาอธิบายด้วยค่ะ
วิธีแก้ไข :
 
  1. การทำการเกษตร ต้องใช้แรงงาน เวลา และเงินทุน หัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ต้องมีใจรักและความอดทนสูง ดังนั้น การเริ่มลงมือต้องเตรียมกายเตรียมใจให้พร้อม อันดับแรก ขอแนะนำให้คุณเปิดร้านชำเล็ก ๆ ที่บ้านเพื่อรวบรวมเงินทุนเอาไว้สักระยะหนึ่ง เนื่องจากประสบการณ์ที่คุณเคยทำงานในตัวเมืองมาก่อนที่สามารถนำมาพัฒนาในท้องถิ่นได้ ไม่แน่ครับ คุณอาจจะชอบงานด้านนี้ก็ได้ ขอตอบปัญหาตามที่ถามมาดังนี้ 1. ระยะปลูกมะม่วงนั้น ปัจจุบันใช้กันหลายระยะโดยขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ปลูก มีตั้งแต่ 8 x 8 เมตร, 6 x 6 เมตร, 4 x 4 เมตร และ 2.5 x 2.5 เมตร ในกรณีของคุณนั้นต้องการปลูกน้อยหน่าแซมในสวนมะม่วงจึงควรใช้ระยะปลูก 8 x 8 เมตร สำหรับสวนอยู่ห่างชุมชนขอแนะนำให้ปลูกมะม่วงแก้ว อาจใช้พันธุ์ทั่วไป หรือจะใช้พันธุ์ศรีสะเกษ 007 จะยิ่งได้ผลดี จุดเด่นของมะม่วงแก้ว คือเป็นมะม่วงที่มีน้ำอดน้ำทนสูง ให้ผลผลิตค่อนข้างสม่ำเสมอ ราคาก็ไม่ขึ้นลงชนิดหวือหวาจนน่ากลัว ตลาดยังต้องการในปริมาณมาก เพื่อนำไปแปรรูป ไม่ว่าจะนำไปทำมะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงดองหรือแม้แต่มะม่วงกวนก็ยังเป็นที่นิยมกัน
  2. นอกจากใช้น้อยหน่าแซมในสวนมะม่วงแล้ว พืชผักอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น คะน้า ผักบุ้ง ขิง ข่า ตะไคร้ หรือกล้วยน้ำว้าก็ไม่ควรมองข้าม ประการสำคัญให้ลองสอบถามตลาดสดใกล้บ้านว่ามีความต้องการผลผลิตอะไรบ้าง จะได้ใช้เป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจให้คุณได้ดีขึ้น
  3. การปลูกน้อยหน่า น้อยหน่าที่ปลูกทั่วไปมี 2 พันธุ์ พันธุ์แรกได้แก่ พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์นี้ยังแยกออกเป็นชนิด ผลสีเขียว ผลแก่มีสีเขียวอ่อน รสหวานจัดเป็นพันธุ์ที่นิยมรับประทานกันมากพันธุ์หนึ่ง ชนิดผลสีครั่ง ผลมีสีครั่ง ผลสุกรสหวานกลิ่นหอม แต่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ชนิดสีเหลืองอ่อน มีสีเหลืองอ่อนทั้งใบและผล เนื้อไม่หวานจัดจึงไม่นิยมปลูกกัน อีกพันธุ์หนึ่งคือ พันธุ์หนัง พันธุ์นี้ยังแบ่งได้ 2 ชนิด คือพันธุ์หนังสีเขียว และพันธุ์หนังสีทอง แต่พันธุ์หนังสีเขียวได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากสามารถเก็บผลสุกได้นาน ตะเข็บเปลือกไม่แตกแยกจากกัน มีเนื้อมากเมล็ดน้อย เนื้อหลุดล่อนจากเมล็ดได้ง่าย รสหวานจัด และกลิ่นหอม การขยายพันธุ์ นิยมใช้เมล็ดที่เพาะไว้จนมีอายุอย่างน้อย 1 ปี ระยะปลูกของน้อยหน่าที่ดีที่สุดคือ 4 x 4 เมตร ฉะนั้น 1 ไร่ ปลูกได้จำนวน 100 ต้น เตรียมหลุมปลูกกว้างและลึก 50 เซนติเมตร เท่ากัน รองก้นหลุมด้วยเศษไม้ใบหญ้า หรือฟางข้าว อย่างใดอย่างหนึ่งจนเต็มหลุมแล้วอัดให้แน่น เหลือปริมาณ 1 ส่วน 3 ของหลุม นำดินที่ขุดขึ้นจากหลุมเติมปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 1-2 ปุ้งกี๋ ต่อหลุม หากดินเหนียวจัดแนะนำให้ใส่ปูนขาว อัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อหลุม คลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างทั่วถึง จากนั้นเกลี่ยนดินกลับลงหลุม พูนดินให้สูงกว่าระดับผิวดินเล็กน้อย นำต้นกล้าที่เพาะไว้ ฉีกถุงเพาะนำกล้าลงปลูกกลางหลุม ด้วยการเปิดหลุมขนาดใหญ่กว่าขนาดถุงบรรจุกล้าเล็กน้อย ระวังอย่าให้รากฉีกขาด กลบดินพร้อมอัดดินพอแน่น แต่งดินให้เป็นรูปหลังเต่าเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขังขณะรดน้ำ หรือฝนตก ปักหลักไม้ไผ่ผูกเชือกกับต้นกล้าป้องกันลมโยก รดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าให้แฉะ ช่วงปลูกที่ดีที่สุดคือ ต้นฤดูฝน ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไป จะช่วยให้อัตราการรอดตายสูงกว่าปลูกในฤดูอื่น หมั่นกำจัดวัชพืชรอบโคนต้นให้สะอาดอยู่เสมอ ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมี นอกจากดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 16-20-0 หรือ 15-15-15 หรือ 16-16-16 หลังจากปลูกลงดินแล้ว 2-3 เดือน อัตราต้นละ 100-200 กรัม ด้วยวิธีโรยรอบต้นห่างจากโคนต้น 20 เซนติเมตร หรือเซาะร่องตื้น ๆ รอบโคนต้นและใส่ปุ๋ยกลบดิน แล้วรดน้ำตามทันทีเมื่อมีอายุมากขึ้นให้เพิ่มอัตราการใช้ปุ๋ยเพิ่มตามไปด้วย โดยเฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง ต้นฤดูฝนกับปลายฤดูฝน รวม 2 กิโลกรัม ต่อต้น ในปีที่ 3 น้อยหน่าจะเริ่มติดดอกออกผลให้ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ อาจใช้สูตร 13-13-21 หรือ 14-14-21 หรือ 8-10-15 สูตรใดสูตรหนึ่ง โดยใช้อัตรา 2 กิโลกรัม ต่อไร่ เช่นเดียวกัน จะทำให้การติดผลและคุณภาพของผลดียิ่งขึ้น การตัดแต่งกิ่ง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก ต้นยังมีอายุน้อยเพียง 1-2 ปี โดยตัดกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ กิ่งที่เป็นโรค หรือกิ่งที่ฉีกขาดทิ้งไป และแต่งให้ทรงพุ่มสวยงาม แสงแดดสามารถส่องเข้าภายในได้ ระยะที่ 2 ต้นน้อยหน่าที่มีอายุ 4-5 ปี จะเริ่มให้ผลน้อยลง จึงควรตัดแต่งให้เหลือตอสูงเพียง 1 ฟุต จากพื้นดิน เมื่อแตกกิ่งออกมาใหม่ตัดแต่งให้มีกิ่งหลักสำคัญ ให้มีทรงพุ่มสมดุล ส่วนกิ่งเล็กกิ่งน้อยที่แตกใหม่ที่ไม่เป็นระเบียบให้ตัดแต่งออก เมื่อครบ 1 ปี ต้นน้อยหน่าจะเริ่มให้ผลอีกครั้ง ผลจะดกและมีขนาดใหญ่ขึ้น ศัตรูสำคัญของน้อยหน่า คือ เพลี้ยแป้ง ลักษณะมีผงสีขาวหุ้มทั้งตัว แมลงชนิดนี้จะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบและผล การเข้าระบาดในผลจะเข้าทำลายตั้งแต่ผลยังอ่อนจนถึงผลแก่ ตัวเพลี้ยจะเกาะอยู่ตามร่องตาของผล ทำให้ไม่น่ารับประทานและจำหน่ายไม่ได้ราคา วิธีป้องกันที่ดีที่สุด ควรควบคุมมดที่เป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งจากต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่งได้ โดยผูกผ้าขี้ริ้วชุบน้ำมันขี้โล้ หรือน้ำมันหล่อลื่นที่หมดสภาพแล้วรอบโคนต้นน้อยหน่า หากเกิดระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น ไบดริน หรือ พาราไธออน ชนิดใดชนิดหนึ่ง 2-3 ครั้ง เมื่อไม่พบการระบาดแล้วให้เลิกใช้สารเคมีทันที ส่วนน้อยหน่าพันธุ์ออสเตรเลียไม่มีจำหน่ายที่เทคโนโลยีพันธุ์ไม้ครับ
  4. ขอให้คุณปรับแผนอีกเล็กน้อยก็ใช้ได้ แต่ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า การทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำรินั้นจะนำพาคุณไปสู่ความสำเร็จได้ หลักการสำคัญต้องสร้างแหล่งเก็บน้ำ ปรับที่ทำนา และปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น อีกส่วนจัดไว้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยพร้อมเลี้ยงเป็ดไก่ไว้บริโภค วิธีการดังกล่าว คุณจะมีผลผลิตกระจายตลอดปี ลดความเสี่ยงทั้งราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน รวมทั้งสภาพอากาศแปรปรวนอยู่เสมอ ทำให้เกิดความมั่นคงในอาชีพได้
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
10
ตำบล / แขวง :
วังนกแอ่น
อำเภอ / เขต :
วังทอง
จังหวัด :
พิษณุโลก
รหัสไปรษณีย์ :
65130
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ปีที่ 14 ฉบับที่ 275
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM