เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เทคนิคการเลี้ยงแมลงดานาและและหนอนเยื่อไผ่
   
ปัญหา :
 
 
    ผมมีความสนใจอยากเพาะเลี้ยงแมลงดานาและรถด่วนหรือหนอนเยื่อไผ่ เนื่องจากเห็นว่ามีผู้นิยมบริโภคกันมาก จึงขอคำแนะนำวิธีเพาะเลี้ยงแมลงทั้งสองชนิดว่า มีวิธีการอย่างไรและมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
วิธีแก้ไข :
 
    การเลี้ยงแมลงดานา แมลงดานา มี 3 พันธุ์ คือ พันธุ์หม้อ พันธุ์ลาย และ พันธุ์เหลือง หรือพันธุ์ทอง ลักษณะของพันธุ์หม้อจะมีปลายปีกไม่หุ้มมิดส่วนท้ายของลำตัว มีการขยายพันธุ์ได้เร็วกว่าพันธุ์อื่น ๆ พันธุ์ลาย ที่ขอบปีกมีลวดลายสีทอง ส่วนปลายปีกจะหุ้มส่วนท้ายลำตัวมิด และพันธุ์เหลืองหรือพันธุ์ทอง มีสีทองตลอดทั้งตัว ข้อเสียคือ ให้ไข่น้อยกว่าพันธุ์อื่น หากจะเลี้ยงควรเลี้ยงพันธุ์หม้อ เนื่องจากขยายพันธุ์เก่ง แมลงดานาจัดเป็นแมลงสะเทินน้ำสะเทินบก สามารถอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ ฤดูฝนจะอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติในห้วยหนองคลองบึง สระน้ำ และทุ่งนา หาอาหารด้วยการจับลูกกบ เขียด อึ่งอ่าง กุ้ง ปู และปลากินเป็นอาหาร วงจรชีวิตของแมลงดานา จะลอกคราบ 5 ครั้ง กว่าจะเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลา 62-83 วัน แมลงดานาผสมพันธุ์และวางไข่ระหว่างเดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม การวางไข่จะวางตามต้นหญ้า กกและต้นไม้เล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำน้อยและน้ำต้องนิ่ง แมลงดานาจะสิ้นอายุขัยเมื่อมีอายุครบ 2 ปี สถานที่เพาะเลี้ยงแมลงดานา ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ห่างไกลที่อยู่อาศัย เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา น้ำท่วมไม่ถึง เป็นที่สงบไม่พลุกพล่านเพราะจะทำให้แมลงดานาตกใจ การสร้างบ่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 5x8 เมตร หรือ 6x10 เมตร ลึก 1-1.50 เมตร รักษาระดับน้ำไว้ที่ 70-120 เมตร อัตราปล่อย 1,000-1,500 ตัว ต่อบ่อ โดยใช้อัตราเพศผู้ต่อเพศเมีย 1 : 1 เท่ากัน การสร้างโรงเรือนคลุมบ่อเพาะเลี้ยง ปักเสาทั้ง 4 มุม คลุมด้วยตาข่ายตาถี่สีฟ้าหรือผ้ามุ้งไนลอน มีประตูเปิดปิดสำหรับเข้าและออกทางเดียว มีชานบ่อด้านใน ขนาด 0.5 เมตร ทั้ง 4 ด้าน ปลูกผักบุ้งหรือผักกระเฉดตามชายบ่อ ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ระหว่างเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม นิสัยของแมลงดานาที่ยังมีขนาดเล็ก จะชอบว่ายน้ำดำผุดดำว่าย ขณะว่ายน้ำขาคู่แรกจะชี้ไปด้านหน้า ส่วน 2 คู่หลังทำหน้าที่พุ้ยน้ำเหมือนใบพาย แต่เมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นจะเกาะอยู่กับต้นพืชในน้ำ เช่น กอหญ้า กอกก เหนือผิวดินใต้น้ำเล็กน้อย โดยยกก้นทำมุม 45 องศา กับพื้นดิน และจะโผล่ผิวน้ำมารับออกซิเจนที่ผิวน้ำเป็นครั้งคราว ในเวลากลางคืนออกซิเจนในน้ำน้อยลงไม่พอกับความต้องการของแมลงดานาขณะเดียวกันอุณหภูมิในน้ำลดต่ำลง แมลงดานาจึงบินขึ้นจากน้ำวนเวียนอยู่ใกล้ ๆ กับแหล่งน้ำที่อาศัยนั่นเอง และจะกลับลงน้ำตอนใกล้รุ่งสาง วิธีจับเหยื่อกินของแมลงดานาจะเกาะตามกอหญ้าสงบนิ่ง ปล่อยให้เหยื่อไม่ว่าจะเป็นลูกอ๊อด ลูกกุ้ง หรือลูกปลา ว่ายน้ำเล่นจนเพลิน เมื่อเหยื่อเคลื่อนที่เข้ามาใกล้จะจับเหยื่อไว้แน่นแล้วแทงด้วยปากที่แหลมคม พร้อมกับปล่อยสารบางชนิดเข้าในตัวเหยื่อจนหมดแรงและตายลงในที่สุด และดูดน้ำเลี้ยงหรือของเหลวในร่างกายเหยื่อจนหมด ทำซ้ำหลายครั้งจนอิ่มและปล่อยเหยื่อทิ้งไป แมลงดานาจะเริ่มวางไข่ รุ่นที่ 1 ในเดือนมิถุนายน รุ่นที่ 2, 3 และ 4 จะวางไข่ในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน-ตุลาคม หลังวางไข่ต้องย้ายแม่พันธุ์ลงบ่อใหม่ และหลังวางไข่ ครั้งที่ 4 แล้วให้จับพ่อแม่พันธุ์และรุ่นที่ 1, 2, 3 จำหน่าย ส่วนรุ่นที่ 4 เก็บไว้ขยายพันธุ์ต่อไป แมลงดานาจะกินอาหารที่ยังมีชีวิตและเคลื่อนไหวได้และไม่ยอมกินอาหารที่ตายแล้วหลังเตรียมบ่อ นำกอหญ้าหรือกกปลูกในบ่อเป็นแถวคล้ายกับการดำนา ให้พอเพียงกับแมลงดานาใช้เกาะอาศัย ตัดท่อนไม้ไผ่หรือท่อเอสลอน ยาว 30 เซนติเมตร วางไว้บริเวณข้างบ่อเป็นจุด ๆ ให้เป็นที่หลบภัย หรือเป็นที่อาศัยขณะขึ้นมาบนบก ปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์แล้วประมาณ 1 เดือน ในช่วงผสมพันธุ์ แมลงดานาเพศผู้จะผลิตสารที่มีกลิ่นฉุนเพื่อดึงดูดเพศเมียให้มาเป็นคู่ผสมพันธุ์ หลังจากผสมพันธุ์ไม่นานแมลงดาจะวางไข่บนกิ่งไว้เหนือระดับผิวน้ำ ประมาณ 15-20 เซนติเมตร คราวละ 100-200 ฟอง โดยมีเมือกเหนียวยึดไว้กับต้นกกหรือต้นหญ้า แมลงดานาจะวางไข่เป็นแถว ลักษณะกลมรีมีเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นยาว 0.2 เซนติเมตร สีน้ำตาลเข้ม ส่วนปลายจะมีรอยขีดและจุดสีน้ำตาลอ่อนตรงส่วนปลายสุด ไข่จะฟักออกเป็นตัวภายใน 7-8 วัน พร้อมทิ้งตัวลงน้ำในบ่อหากินอาหาร ขนาดตัวอ่อนยาว 0.8 เซนติเมตร จากนั้นจะลอกคราบ 5 ครั้ง โดยจะลอกคราบทุก ๆ 5-7 วัน และเป็นตัวเต็มวัยเมื่ออายุ 32-43 วัน วันนี้แมลงดานา 100 ตัว จะกินกบได้ 1 ตัว ต่อวัน หรือปลา 1 ตัวใช้เลี้ยงแมลงดานาได้ 1,000 ตัว เมื่อพบน้ำเริ่มเสียต้องถ่ายน้ำทิ้ง เติมน้ำใหม่จนสะอาด ศัตรูของแมลงดานา คือมดดำกินไข่ จึงหมั่นกำจัดให้หมดไป การปล่อยอัตราหนาแน่นเกินไปมักพบการระบาดของเห็บน้ำมีลักษณะกลม สีน้ำตาลอมแดง ขนาดเล็กมาก เกาะที่ท้องและคอแมลงดานา ป้องกันโดยปล่อยอัตราไม่หนาแน่นเกินไป และหมั่นถ่ายน้ำอยู่เสมอ การระบาดของเห็บน้ำจะน้อยลง เมื่อแมลงดานามีขนาดที่จะส่งจำหน่ายได้ให้จับด้วยสวิงตาห่างช้อนจับและแยกเพศผู้เพศเมียออกจากกัน การจำแนกเพศ เพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าเพศเมียเล็กน้อยและมีกลิ่นฉุนกว่าเพศเมียอีกด้วย อุปสรรคสำคัญ การเลี้ยงแมลงดานามีข้อจำกัด หากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เช่น เกิดการตกใจ มันจะกินลูกอ่อนของมันทันที หรือมีแสงไฟรบกวนในตอนกลางคืน มันจะบินเข้าหาโดยเร็ว ทำให้กระแทกกับมุ้งหรือผนังโรงเรือนเกิดการบาดเจ็บ และความเครียดทำให้การผสมพันธุ์ล้มเหลว การจะเลี้ยงแมลงดานาให้ได้ผลต้องใช้ความอดทนสูง แต่ก็ไม่ควรเกินความสามารถของมนุษย์เราไปได้ การเลี้ยงหนอนรถด่วน หรือ หนอนเยื่อไผ่ หนอนเยื่อไผ่เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง มีวงจรชีวิต 1 ปี พอดี ลักษณะเด่นคือเป็นตัวหนอนยาวนานถึง 10 เดือน ผีเสื้อตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลอมส้ม ปีกคู่บนมีลวดลายเป็นเส้นโค้งสีดำ เพศผู้ลำตัวยาว 2 เซนติเมตร ส่วนเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย หลังจากผสมพันธุ์แล้วต่อมาเพศเมียท้องแก่ จะวางไข่บริเวณโคนหน่อไม้ที่มีอายุตั้งแต่ 10-30 วัน ไผ่ที่หนอนชอบกินมี 9 ชนิด ได้แก่ ไผ่ซาง ไผ่หก ไผ่ตง ไผ่โปก ไผ่ซางคำ หรือไผ่สีทอง ไผ่บงป่า ไผ่บงบ้าน ไผ่ไร่ลอและไผ่หนาม การวางไข่จะวางเป็นกลุ่มสีขาวขุ่น ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน อีกประมาณ 5-7 วัน จะฟักออกเป็นตัวมีลำตัวสีน้ำตาลอ่อน ส่วนหัวมีสีเหลืองอมน้ำตาล ตัวอ่อนจะเคลื่อนย้ายเป็นแถวคล้ายกับขบวนรถไฟและจะเจาะส่วนที่นุ่มที่สุดของปล้องหน่อไม้แล้วจึงลอกคราบเป็นตัวหนอนสีขาว เมื่อกินเยื่อไผ่ปล้องแรกหมดจะเจาะทะลุขึ้นไปปล้องถัดไป พร้อม ๆ กับการยืดปล้องของหน่อไม้ รวมระยะทางที่กินเยื่อไผ่รวมเฉลี่ย ประมาณ 26 ปล้อง ซึ่งเป็นระยะที่เนื้อไม้เริ่มแข็ง ตัวหนอนจะถอยกลับทางเดิม และมารวมกันที่ปล้องแรกที่เจาะเข้าสู่ต้นไผ่ ขนาดรูที่เจาะไว้มีขนาด 0.5x1 เซนติเมตร พร้อมสร้างเยื่อปิดรูไว้ป้องกันการรั่วซึมของน้ำฝนเข้าสู่ปล้องไผ่และเป็นการป้องกันศัตรูเข้าไปรบกวนอีกทางหนึ่ง ตัวหนอนจะมารวมกันในปล้องไผ่เป็นเวลา 10 เดือน จากนั้นจะเข้าดักแด้นาน 40-60 วัน และจะเป็นตัวเต็มวัย เป็นระยะสั้น ๆ เพื่อผสมพันธุ์และขยายพันธุ์ เพียง 5-7 วัน เท่านั้น วัยนี้จะปรากฏให้เห็นในเดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนมิถุนายน ผลผลิตที่ได้ เฉลี่ย 80-150 ตัว ต่อต้น แต่หากปีที่ต้นไผ่ได้รับน้ำฝนอย่างพอเหมาะจะได้ตัวหนอน 100-500 ตัว ต่อไผ่หนึ่งต้น หรือหนึ่งลำ วิธีเพาะเลี้ยง เกษตรกรจะเย็บถุงตาข่ายไนลอนสีฟ้าตาถี่ ครอบหน่อไม้เจาะด้านบนให้ยอดไผ่ยืดทะลุผ่านไปได้ นำผีเสื้อตัวเต็มวัย อัตราเพศผู้ต่อเพศเมีย 1 ตัวต่อ 4 ตัว ให้ผสมพันธุ์และวางไข่ ฟักเป็นตัวเจาะเข้าสู่ต้นไผ่อ่อนหรือหน่อไม้ ศัตรูที่สำคัญ ควรระวังไม่ให้จิ้งจก นกหัวขวาน กระแต จิ้งเหลน และมด เข้าไปรบกวน การจัดการที่ดีจะนำคุณไปสู่ความสำเร็จได้ตามประสงค์ ต้องการพันธุ์หนอนรถด่วน สอบถามที่ งานวิจัยแมลงเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนพหลโยธิน จตุจักร กทม. 10900 โทร. 0-2579-9928 ในวันเวลาราชการ
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
เมือง
จังหวัด :
อุบลราชธานี
รหัสไปรษณีย์ :
34000
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ปีที่ 14 ฉบับที่ 272
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM